Skip to main content
sharethis

พบค่าจ้างรายอาชีพปี 2557 ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 35,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,698 บาท ภาคบริการได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด อาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส และผู้จัดการ ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด และค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในพื้นที่ กทม. 


ค่าจ้างรายอาชีพปี 2557 ของคนทำงานในไทยค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 35,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,698 บาท ส่วนแรงงานก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มีค่าจ้างเฉลี่ยถึง 12,914 บาท

รายงาน "ค่าจ้างรายอาชีพปี 2557" โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้เริ่มดำเนินการปี 2553 เป็นครั้งแรก โดยศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน โดยการจัดทำข้อมูลค่าจ้างรายอาชีพปีล่าสุดคือปี 2557 กองวิจัยตลาดแรงงานได้ศึกษาจากฐานข้อมูลของการให้บริการจัดหางานของกรมการจัดหางานเท่านั้น จึงทำให้บางสาขาอาชีพอาจจะไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ (ดูนิยามศัพท์เกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพตามการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและนิยามศัพท์เกี่ยวกับภาคการผลิต ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมในส่วนท้าย)

ทั้งนี้การคำนวณอัตราค่าจ้างคิดมาจากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น โดยได้นำข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศที่มีการรับแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งข้อมูลค่าจ้างมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ ค่าจ้างรายชั่วโมง รายวัน และ รายเดือน มาประมวลผลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน คือ (1) ค่าจ้างรายชั่วโมง กำหนดให้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เดือนละ 26 วัน และ (2) ค่าจ้างรายวัน กำหนดให้ทำงานเดือนละ 26 วัน

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงาน "ค่าจ้างรายอาชีพปี 2557"  มีดังต่อไปนี้

 

1. ค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด ละค่าจ้างเฉลี่ย ภาพรวมทั้งประเทศ

ค่าจ้างรายจังหวัดปี 2557 (ที่มา : กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน)

ในภาพรวมทั้งประเทศพบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 35,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,698 บาท

โดยค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด อยู่ในกรุงเทพมหานคร 35,000 บาท รองลงมาภาคกลาง 31,200 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ 25,000 บาท จังหวัดในปริมณฑล 20,000 บาทและภาคเหนือ 15,000 บาท ส่วนค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุดเท่ากันทุกภาค 7,800 บาท

ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด อยู่ที่กรุงเทพมหานคร 10,858 บาท รองลงมา ภาคกลาง 9,768 บาท ภาคใต้ 9,427 บาท จังหวัดในปริมณฑล 9,485 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,773 บาท และภาคเหนือ 8,407 บาท

ดูเพิ่มเติมค่าจ้างรายจังหวัดและภาคการผลิตปี 2557

 

2. อุตสาหกรรมใดมีค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าจ้างเฉลี่ยในแต่ละภาคอุตสาหกรรม

พบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคบริการ 35,000 บาท รองลงมาภาคอุตสาหกรรม 30,240 บาท และภาคเกษตรกรรม 13,000 บาท ส่วนค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 7,800 บาท เป็นอัตราเดียวกันในทุกภาคการผลิต

ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด อยู่ในภาคอุตสาหกรรม 9,705 บาท รองลงมาภาคบริการ 9,694 บาท และภาคเกษตรกรรม 9,133 บาท

ดูเพิ่มเติมค่าจ้างรายอุตสาหกรรมปี 2557

 

3. ค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าจ้างเฉลี่ยในแต่ละอาชีพ

ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 14,061 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ 12,692 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 10,995 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่าง ๆ 9,909 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 9,744 บาท ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 9,301 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 9,057 บาท อาชีพงานพื้นฐาน 8,136 บาท และผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง 7,800 บาท

อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและการบัญชี 31,000 บาท ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา 30,000 บาท ช่างเชื่อมโลหะด้วยแก๊ส 26,000 บาท เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ 25,000 บาท และผู้ช่วยนักบัญชี 24,000 บาท

กิจการที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ที่ใช้ทำเคมีภัณฑ์และปุ๋ย และการขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ทางถนน 20,000 บาท การดำเนินงานของสถานที่ออกกำลังกาย 18,900 บาท การผลิตมันเส้นและมันอัดเม็ด และการผลิตฐานรองที่นอน และที่นอน 17,000 บาท กิจกรรมการกวดวิชาทั่วไป 16,525 บาท และการขายปลีกนาฬิกา แว่นตา เครื่องเพชรพลอยบนแผงลอยและตลาด 16,500 บาท

ดูเพิ่มเติมค่าจ้างรายอาชีพภาพรวมทั่วประเทศปี 2557

 

นิยามศัพท์เกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพตามการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและนิยามศัพท์เกี่ยวกับภาคการผลิต ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม

นิยามศัพท์เกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพตามการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) ปี 2544 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

หมวดใหญ่ 1 ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส ผู้จัดการ (Legislators, Senior Officials and Managers)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ ได้แก่ ผู้บัญญัติกฎหมาย นักบริหารของหน่วยงานรัฐบาลและผู้จัดการของรัฐวิสาหกิจและองค์การต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ พิจารณา ตัดสินใจ กำหนดวิธีการ กำกับดูแล หรือแนะนำเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในระดับต่างๆ หรือนโยบายขององค์กร บัญญัติกฎหมาย กฎและระเบียบสาธารณะชนต่างๆ เป็นตัวแทนของรัฐบาลหรือปฏิบัติงานแทนในนามของรัฐบาลหรือปฏิบัติงานแทนในนามของรัฐบาลรวมถึงพรรคการเมือง สหภาพ วิสาหกิจและองค์กรต่างๆ

หมวดใหญ่ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (Professionals)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานวิเคราะห์ วิจัย รวมถึงการสร้างแนวคิดทฤษฎีใหม่ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ให้คำแนะนำความรู้ทางวิชาชีพ วิชาการด้านวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์กายภาพ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต สาขาสังคม การศึกษา ศาสนา กีฬาและศิลปะ

หมวดใหญ่ 3 ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (Technicians and Associate Professionals)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าวิจัย และการประยุกต์ใช้ความคิดและวิธีปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ เช่น วิทยาศาสตร์กายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์การแพทย์ สังคมวิทยา มนุษยศาสตร์การศึกษา ศาสนา ศิลปะและการกีฬา รวมถึงการควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ

หมวดใหญ่ 4 เสมียน เจ้าหน้าที่ (Clerk)

ผู้ปฏิบัติงานในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลตัวเลขและสถิติในเรื่องต่างๆ อาจเป็นเจ้าหน้าที่ในห้องสมุด ไปรษณีย์ สำนักงาน ผู้ที่ให้บริการลูกค้าทางด้านการเงินและข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ

หมวดใหญ่ 5 พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด (Service Workers and Shop and Market Sales Workers)

ผู้ปฏิบัติงานในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ให้บริการต่างๆ ในระหว่างการเดินทางการดูแลบ้านเรือน การจัดเตรียมและการบริการอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ การดูแลเด็ก การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการดูแลอื่นๆ ในบ้านเรือนหรือสถานที่ต่างๆ การให้บริการส่วนบุคคล เช่น การเสริมสวย การทำนายโชคชะตา การป้องกันภัยต่อบุคคลและทรัพย์สินอันเกิดจากอัคคีภัยแลการกระทำผิดกฎหมาย งานแสดงแบบเพื่อการโฆษณา และงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะ การแสดงและการสาธิตสินค้าเพื่อการขาย

หมวดใหญ่ 6 ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง (Skilled Agricultural and Fishery Workers)

ผู้ปฏิบัติงานในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ที่มีฝีมือด้านการเกษตรและการประมงทำงานปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ล่าสัตว์และประมง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตสำหรับการจำหน่ายและการดำรงชีพ

หมวดใหญ่ 7 ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ (Craft and Related Trades Workers)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ที่ใช้ฝีมือและความชำนาญเฉพาะด้านประยุกต์ใช้กับงานในด้านการทำเหมืองแร่ การก่อสร้าง การขึ้นรูปโลหะ การติดตั้งและการปรับใช้เครื่องจักร การใช้ฝีมือในงานหัตถกรรม การพิมพ์ และงานฝีมืออื่นๆ รวมถึงการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรหรือเครื่องมือเพื่อการใช้งานและการควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ

หมวดใหญ่ 8 ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ (Stationary – Plant and Related Operators)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ที่ควบคุมดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์ ณ จุดที่เครื่องจักรทำงาน หรือโดยวิธีการควบคุมจากจุดอื่น ในงานอุตสาหกรรมและงานกสิกรรม รวมถึงผู้ที่ทำงานด้านการบังคับและขับเคลื่อนรถไฟ ยานยนต์หรือเครื่องจักรและอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การแปรรูปโลหะอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว เซรามิค ยาง ไม้ พลาสติก กระดาษ สิ่งทอ ขนสัตว์ เครื่องหนัง และ การผลิตอาหาร เป็นต้น

หมวดใหญ่ 9 อาชีพงานพื้นฐาน (Elementary Occupations)

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพในหมวดใหญ่นี้ได้แก่ ผู้ที่ทำงานเรียบง่ายและเป็นประจำหรือทำซ้ำๆ หากมีการใช้เครื่องมือก็จะเป็นเครื่องมือแบบใช้มือถือ ไม่ซับซ้อนและใช้แรงกาย อาชีพในหมวดนี้รวมถึงผู้ขายสินค้าและให้บริการตามท้องถนน ที่สาธารณะ บริการทำความสะอาด ซักล้าง รีดผ้า ดูแลบ้านพักห้องเช่า โรงแรม สำนักงานและอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บริการรับส่งข้อมูล เอกสาร ขนสัมภาระเฝ้าประตู ยามรักษาการณ์ในสถานที่ต่างๆ กวาดถนน ขนขยะ รวมถึงการปฏิบัติงานเรียบง่ายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง ล่าสัตว์ เหมืองแร่ ก่อสร้าง การผลิตและประกอบสินค้าด้วยมือ รวมทั้งการขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยแรงกาย เช่น รถเข็น สามล้อถีบ เป็นต้น

 

นิยามศัพท์เกี่ยวกับภาคการผลิต ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

1) ภาคเกษตร หมายถึง สถานประกอบการที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรม (A) เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง

2) ภาคอุตสาหกรรม หมายถึง สถานประกอบการที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรม (B) การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน (C) การผลิต (D) ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบการปรับอากาศ (E) การจัดหาน้ำ การจัดการน้ำเสียและของเสียรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และ (F) การก่อสร้าง

3) ภาคบริการ หมายถึง สถานประกอบการที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรม (G) การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (H) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (I) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (J) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (K) กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย (L) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (M) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ (N) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนอื่นๆ (O) การบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ (P) การศึกษา (Q) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ (R) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ (S) กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ (T) กิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือน กิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน ซึ่งไม่สามารถจำแนกกิจกรรมได้อย่างชัดเจน (U) กิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศและภาคีสมาชิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net