Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ข้ออ้างสำคัญที่ คสช.ใช้ในการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ คือ ความไม่สงบ

คสช.เองยอมรับว่ากำลังปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบ คสช.จึงต้อง ‘ขอเวลา’

ที่ว่า ‘ขอเวลา’ นั้น มีความหมายเป็น 2 อย่าง อย่างแรก คือ ขอเวลาที่จะปกครองในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปก่อน อย่างที่ 2 คือ ขอเวลาที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญและลงมือปฏิรูป รวมทั้งวางแผนการปฏิรูปต่างๆเพื่อสร้าง ‘ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน’

การรัฐประหารที่ผ่านมาและการปกครองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะพิสูจน์ว่าฝ่ายไหนมากกว่ากันก็เห็นจะยังไม่ได้ แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าอยู่ในสภาพจำยอม บางส่วนจำยอมเพราะไม่รู้ว่าจะไปคัดค้านโต้แย้งอะไรได้ และอีกบางส่วนจำยอมเพราะเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร

ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยดูเหมือนจะพอใจก็ตรงที่บ้านเมืองไม่ต้องขัดแย้งวุ่นวายอย่างในอดีต และนี่ก็มักถูกใช้เป็นข้ออ้างที่คสช.จำเป็นจะต้องปกครองในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป

แต่การปกครองแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเป็นการปกครองที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จึงไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ทำให้มีคนมาลงทุนหรือคบค้าด้วยน้อย เมื่อประสบปัญหาระหว่างประเทศก็ไม่สามารถเจรจาหาทางแก้ได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ยังไม่สามารถหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาบริหารประเทศได้ ทำให้การบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ

ยิ่งไม่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนในการแก้ปัญหาต่างๆก็ยิ่งไม่ประสบความสำเร็จ สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งแย่ลง และประชาชนต้องเดือดร้อนมากขึ้น

การที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจำยอมให้มีการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย และจำทนกับสภาพที่ประเทศตกอยู่ในสภาพเสียหายตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่ ก็เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็นสุดวิสัยและชั่วคราว คงไม่มีใครที่เห็นว่าควรจะให้บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบปัจจุบันนี้และอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่นี้ตลอดไป แต่คิดว่า จำทนชั่วคราวแล้ววันข้างหน้าบ้านเมืองก็คงจะดีขึ้น

ใครๆก็บอกว่าจุดหมายปลายทางคือ ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยดูจะต่างๆกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันก็คือ สุดท้ายแล้วต้องการเห็นบ้านเมืองที่สามารถพัฒนาไปได้อย่างราบรื่น ผู้ที่เห็นต่างกันก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ต้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และผู้คนอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

คือต้องการเห็น ‘ความสงบที่ยั่งยืน’ นั่นเอง

คำถามก็คือ หลังจากที่คสช.ได้ ‘ขอเวลา’ และใช้เวลามาระยะหนึ่งแล้ว สังคมไทยกำลังจะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่ว่านี้จริงหรือ

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อไม่มีคสช.แล้ว รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะบังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอย่างที่แล้วมาได้หรือไม่

หากพิจารณาจากปัญหาในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญหรือแผนการต่างๆ คงต้องบอกว่าไม่มีวี่แววเลยว่าสังคมไทยจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งสับสนวุ่นวายขึ้นอีก

ตรงกันข้าม ถ้าวิเคราะห์กันดีๆ หากแม่น้ำ 5 สายยังไหลไปเรื่อยๆแบบทุกวันนี้ ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยอาจจะพบกับความขัดแย้งวุ่นวายยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนการรัฐประหารก็ได้

หมายความว่าความสงบในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ‘ความสงบที่แท้จริง’ และไม่ใช่ ‘ความสงบที่ยั่งยืน’

เหตใดจึงกล่าวเช่นนั้น

1. จนถึงบัดนี้ สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องการแก้ปัญหา ยังไม่ได้ร่วมกันวิเคราะห์หรือเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้งเพื่อสรุปบทเรียน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างในอดีตขึ้นอีก

2. ยังไม่มีการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ที่มีทั้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ และอ่อนแอจนไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงถึงการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล บทบาทของระบบยุติธรรม การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการสนองตอบของกลไกรัฐต่อการสั่งการของรัฐบาล

3. การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆและบริหารบ้านเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนรวมจากประชาชนฝ่ายต่างๆ กำลังสะสมปัญหาความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้ และยากแก่การแก้ไขในอนาคต

4. การร่างรัฐธรรมนูญและการวางแผนปฏิรูปกำลังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งการทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และยังจะซ้ำเติมปัญหาเดิมด้วยการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระในการกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาล ลดอำนาจของรัฐบาลในการบังคับบัญชาข้าราชการประจำและกลไกของรัฐ ทั้งนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นได้

5. ยังไม่มีการชำระล้างค่านิยมความเชื่อผิดๆที่ว่า "หากมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ" และ "หากรัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย ก็ชอบแล้วที่จะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น"

จากสภาพปัญหาทั้ง 5 ข้อนี้ จะเห็นว่าความสงบที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังพึงพอใจอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ ‘ความสงบที่แท้จริง’ และ ‘ไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน’

นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการและรอคอย หากต้องการให้เกิด ‘ความสงบที่ยั่งยืน’ จริง ก็จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

คำถามคือ แล้วต่อจากนี้ประเทศไทยจะเกิดความสงบที่ยั่งยืนได้อย่างไร ?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net