Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

บทนำ

เมื่อหลายปีก่อนสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาถูกเผาและเอกสาร บรรณสารถูกรื้อค้น นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งแต่คราวนี้เป็นกรณีของสถานกงสุลไทยประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกีถูกบุกรุกและทำลายจากลุ่มผู้ประท้วง ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สถานกงสุลไทยที่อิสตัลบูลถูกบุกรุกและทำให้เสียหายว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง เหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศสองเรื่องคือกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลและความรับผิดระหว่างประเทศของรัฐ (State responsibility)


1.หลักความละเมิดมิได้ของสถานที่ทางกงสุล (Inviolability)

อนุสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 ข้อบทที่ 31 บัญญัติว่า สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ นอกจากนี้ในข้อเดียวกันยังกำหนดอีกว่า รัฐผู้รับมีหน้าที่พิเศษที่จะดำเนินการทั้งปวงที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสถานที่ทางกงสุลจากการบุกรุกหรือความเสียหายใดๆและเพื่อป้องกันการรบกวนต่อความสงบของสถานที่ทางกงสุลหรือการทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของสถานทำการกงสุล จะเห็นว่าสถานที่ทางกงสุลก็เป็นสถานทีที่ไม่อาจละเมิดดุจเดียวกับสถานทูตเพียงแต่กรณีสถานที่ทางกงสุลมีข้อยกเว้นอยู่สองประการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับสามารถเข้าไปในสถานที่ทางกงสุลได้คือกรณีไฟไหม้กับหรือภัยพิบัติอื่นๆ (other disaster) ซึ่งข้อยกเว้นสองข้อนี้ไม่มีในสถานทูต ส่วนกรณีสถานที่ทางกงสุลที่มีหัวหน้าเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ก็ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน หน้าที่ในการคุ้มครองสถานที่กงสุลนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐผู้รับ (Receiving state) ซึ่งกรณีนี้คือประเทศตุรกี ส่วนประเทศไทยนั้นมีสถานะเป็นรัฐผู้ส่ง (Sending state)


2.รัฐบาลตุรกีต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงหรือไม่

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐไม่ต้องรับผิดจากการะทำของเอกชน (ที่มิได้ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ) กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกระทำของเอกชน (หรือประชาชน) ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการกระทำของรัฐ อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่ารัฐจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง หากต่อมารัฐได้ออกมายอมรับ หรือให้การรับรองการกระทำของเอกชนในภายหลัง กรณีนี้ถือสามารถถือได้ว่าเป็นการกระทำของรัฐได้แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือคดีการจับตัวประกัน (Hostage case) ข้อเท็จจริงย่อมีว่า นักศึกษาและประชาชนชาวอิหร่านได้บุกรุกและทำลายสถานทูตและสถานกงสุลของสหรัฐอเมริกาที่ประจำอยู่ในอิหร่าน ต่อมาภายหลังรัฐบาลอิหร่านได้ประกาศยอมรับหรือรับรองในเหตุการณ์ดังกล่าวอีกทั้งรัฐบาลอิหร่านยังได้ละเลยเพิกเฉยที่จะป้องกันมิให้มิการบุกรุก สหรัฐอเมริกาฟ้องต่อศาลโลกๆตัดสินว่า อิหร่านละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการกงสุล ค.ศ. 1963

คำถามมีว่า รัฐบาลตุรกีในฐานะรัฐผู้รับได้มีมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมมิให้สถานกงสุลไทยถูกบุกรุกและทำลายมากน้อยเพียงใด หลังจากเหตุการณ์นี้ จึงน่าติดตามว่ารัฐบาลตุรกีจะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีที่สถานกงสุลของไทยในกรุงอิสตัลบูลได้รับความเสียหาย จะมีการชดใช้ค่าเสียหายและการขอโทษ (formal apology) กรณีทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของสถานทำการกงสุลตามข้อบทที่ 31 (3) ของอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1963 หรือไม่อย่างไร เท่าที่ทราบตอนนี้จากข่าว รัฐบาลตุรกีได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยสถานทูตไทยในกรุงอังการาแล้วเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก


3.การละเมิดสถานที่การกงสุล

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา สถานทูตและสถานที่การกงสุลเป็นเป้าหมายโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้งจนกระทั่งสหประชาชาติต้องข้อมติเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงหน้าที่ในการป้องกันมิให้สถานทูตและสถานที่การกงสุลถูกบุกรุก ทำลายหรือรบกวน โดยที่ผ่านมารูปแบบของการทำลายหรือรบกวนมีได้หลายรูปแบบ เช่น การปาระเบิด การบุกรุก การพ่นสีกำแพงด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือมีนัยทางการเมือง การทำลายหรือรื้อค้นเอกสารและบรรณสาร เป็นต้น ฉะนั้น ประเทศผู้รับจะต้องปฎิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันปัญหาหรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นหรือลุกลามได้


บทส่งท้าย

ประเทศไทยเป็นทั้งรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาบานปลายอันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันมิให้สถานทูตจีนและสถานทูตตุรกีประจำประเทศไทย (รวมถึงที่พักส่วนตัวของตัวแทนทางทูต) ได้รับความเสียหายหรือถูกรบกวนจากผู้ชุมนุมประท้วงด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net