รายงาน : คุกสำหรับคนชราที่เจ็บป่วย ภาพอนาคตสมมติของ ‘บัณฑิต อานียา’

หลังจากรัฐประหารปี 2557 จำนวนนักโทษทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในคดี 112 หรือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อมูลจากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า มีผู้ต้องขังคดี 112 อยู่ในเรือนจำเกือบ 50 คน (เฉพาะข้อมูลที่ทราบ) ในจำนวนนี้มีไม่น้อยเป็นผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัวรุมเร้า การดำเนินชีวิตในคุกซึ่งยากลำบากอยู่แล้วจึงหนักหน่วงซ้ำเติมบั้นปลายชีวิตคนเหล่านี้ รวมถึงคนชราในคดีอื่นๆ ยิ่งขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวันและกระบวนการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ตัวอย่างของ ‘สมอล์ล’ บัณฑิต อานียา วัย 74 ปี ที่กำลังเผชิญหน้ากับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา112 อีกครั้งน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี ในครั้งนี้เขาตัดสินใจสู้คดีเช่นครั้งก่อนและคดีก็กำลังพิจารณาอยู่ในศาลทหาร ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายชะตากรรมจะพาให้ตัวเขาไปจบลงที่ไหน

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ประสบการณ์เฉียดคุกครั้งแรกของบัณฑิต ในปี พ.ศ.2546  สมัยที่เขายังหนุ่มกว่านี้สิบกว่าปี เขาเคยถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 มาแล้ว ครั้งนั้นเขาถูกฝากขังเป็นเวลา 98 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในศาลชั้นต้น

บัณฑิตเล่าว่าในช่วงเวลานั้นเขามีอาการของโรคต่อมลูกหมากโต และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการของโรคทำให้เขามีอาการปวดปัสสาวะตลอดเวลาและปัสสาวะได้ทีละน้อย ระหว่างถูกฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในห้องพักซึ่งนอนกัน 40 คน มีห้องน้ำเพียงห้องเดียวเท่านั้น บางครั้งเขาปวดมากจนต้องปัสสาวะในแก้วน้ำ และทำให้เขาถูกทำร้ายจากนักโทษที่เป็นหัวโจกภายในห้องขังเนื่องจากโมโหที่เขาไม่รู้จักอดทนกลั้นปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม บัณฑิตได้ต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2549 ศาลพิพากษาว่าเขามีความผิด ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ศาลเห็นว่าจำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตเภทและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี

นั่นคือการรอดพ้นคุกครั้งแรก

จากนั้นในช่วงระหว่างปี 2551-2552 บัณฑิตผ่าตัดนำไตข้างหนึ่งและกระเพาะปัสสาวะออกเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ทุกวันนี้เขาจึงใช้ชีวิตโดยมีถุงปัสสาวะแขวนไว้ข้างลำตัวตลอดเวลา เขากล่าวว่าอาการเขาดีขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารและต้องคอยเปลี่ยนถุงปัสสาวะตลอด

ชีวิตเขาคงจะดำเนินไปด้วยดี หากเขาหันไปเขียนนิยายรักและเลิกสนใจการเมือง แต่บัณฑิตไม่ใช่คนเช่นนั้น วันที่ 27 พ.ย.2557 บัณฑิตถูกจับกุมและตั้งข้อหาในคดี 112 อีกครั้งหลังไปร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนา ฉากและเหตุการณ์คล้ายๆ กับครั้งแรก หากแต่ข้อความนั้นห่างไกลกันมาก

ในคำฟ้องระบุคำพูดของจำเลยเพียง 2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวถึงความแตกแยกของสังคมไทยและสถานะของสถาบันกษัตริย์กับกฎหมาย ประโยคที่สองกล่าวถึงระบอบการปกครองว่าจะเลือกแบบใด

วาด รวี นักเขียนผู้เป็นนายประกันในคดีของบัณฑิต เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ทนายได้แจ้งว่าหากคดีนี้ถูกตัดสินว่าผิดจะโดนนับโทษรวมกับคดีเก่าด้วยเนื่องจากรอลงอาญาไว้ ทั้งที่ข้อความของบัณฑิตที่แสดงความเห็นนั้นเป็นเรื่องการปฏิรูป เขาเชื่อว่าในสถานการณ์ปกติไม่น่าจะโดนคดีด้วยซ้ำ

"แต่ตอนนี้สังคมพารานอยด์(Paranoid) เจ้าหน้าที่ก็พารานอยด์ คำพูดแกพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และไม่พาดพิงตัวบุคคลเลย" วาด รวี กล่าว

บริบทช่วงที่เกิดเรื่องเป็นช่วงหลังการรัฐประหารไม่นานนัก วาระ ‘การปฏิรูปประเทศไทย’ ถูกชูขึ้น มีการระดมความเห็นโดยส่วนต่างๆ เต็มไปหมด รวมถึงพรรคนวัตกรรมซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนก็จัดวงเล็กๆ ระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ กับเขาด้วยเช่นกัน เช่น อำนาจ กกต., ที่มา ส.ส., สถาบันกษัตริย์ ฯลฯ เพื่อรวบรวมความเห็นส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน บัณฑิตทราบข่าวจากเพื่อนจึงไปร่วมด้วย ระหว่างที่เขาแสดงความคิดเห็นอยู่ก็โดนรวบตัวทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังเกตการณ์อยู่ในงานโดยที่ยังพูดไม่จบประโยค

คดีของเขาต้องขึ้นศาลทหาร และปาฏิหารย์ก็เกิดกับเขาเมื่อศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวได้ในระหว่างสู้คดี ในขณะที่คดีลักษณะเดียวกันนี้ไม่มีใครได้รับการประกันตัว

22 มิ.ย. 2558 นัดสืบพยานนัดแรกถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 23 กันยายน เนื่องจากพยานไม่มาศาล ในวันนั้นประชาไทได้มีโอกาสได้พูดคุยกับจำเลยสูงวัยอีกครั้ง เขายังคงมีสีหน้าสดใส พูดจาฉะฉานเช่นเคย เขายืนยันว่าจะไม่รับสารภาพในคดีนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีตัวอย่างให้เห็นว่าโทษต่อกรรมของศาลทหารในคดี 112 สูงถึง 10 ปี (ขณะที่ศาลอาญาจะอยู่ที่ 5 ปี)

เขากล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า ประเมินแล้วคิดว่าโอกาสรอดอาจจะน้อย เพราะเป็นคดีภายใต้อำนาจศาลทหารไม่ใช่ศาลพลเรือน แต่ไม่ว่าอย่างไรเขาจะไม่รับสารภาพ และยอมติดคุก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าข้อความของเขาไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 แม้แต่น้อย

บัณฑิต กล่าวต่อว่า เขารู้ดีว่าชีวิตภายในเรือนจำลำบากมากแค่ไหนสำหรับชายชราที่มีโรคประจำตัว หลังจากเคยเผชิญความลำบากในเรือนจำโดยถูกฝากขังเป็นเวลา 98 วันแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือสุขภาพกายเขาทรุดลงกว่าเดิมมากในช่วงหลายปีนี้

“ผมตัดไตไปข้างหนึ่ง สุขภาพร่างกายก็ทรุด แต่สุขภาพจิตน่ะดี ดีกว่าคนอีกหลายล้านคน เพราะผม...แม้จะถูกกดขี่ ข่มเหงอย่างไร ก็ยังสามารถรักษาสภาพจิตได้ ดีกว่าปรกติด้วย คนอื่นถ้ามาเจออย่างผมนี่ คงเป็นบ้าไปแล้วจริงๆ”

“ตอนเข้าคุกครั้งแรกอายุ 60 กว่าๆ ผู้คุมเขาเห็นว่าผมเจอคดีนี้ เขาด่าผม ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ จะกระทืบผม มันกระทืบผมแทบตาย ผมเจ็บ ผมยกมือไหว้เขาโดยคิดว่าเรายกมือไหว้หมาตลอดเวลา เราจำเป็นต้องปรับเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่มีทางสู้”

“ถ้าให้เข้าอีกครั้งก็น่าจะไหวนะ ก็ชินแล้วไง ผ่านมาแล้ว มีโรคก็ไม่เป็นไร คือเราเป็นนักสู้ เราไม่ได้ขายแค่อุดมการณ์แต่เราขายหนังสือ ขายความคิดที่มีค่าของเรา เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือประจบสอพลอพวกทรชนเพื่อเอาเงิน คือผมมีเหตุมีผล”

ณ. เป็นชื่อย่อเป็นอดีตนักโทษทางการเมืองคดี112 ซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน และได้อยู่ในคุกร่วมช่วงเวลาเดียวกับ ‘อากง’

เขาช่วยให้เราเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนชรา(และไม่ชรา) ในเรือนจำได้มากขึ้น เขาบอกว่า การรักษาพยาบาลในเรือนจำไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับคนชรานั้นไม่ได้มีการดูแลใดเป็นพิเศษ การใช้ชีวิตของคนชราในเรือนจำ “ค่อนข้างสาหัส” เพราะคนชราจะมีปัญหาสุขภาพและร่างกาย ทั้งเดินช้าหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า

“มันเป็นเรื่องที่เรียกร้องอะไรไม่ได้มาก เพราะมันมีหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้รักษาพยาบาล และสภาพเรือนจำที่ย่ำแย่ไม่ต่างอะไรกับโรงเลี้ยงสัตว์” ณ.กล่าว

ในเรื่องปัญหาของ ‘สถานพยาบาลในเรือนจำ’ ซึ่งนักโทษมักเรียกกันว่า พ.บ. อดีตนักโทษเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นหัด มีจุดแดงขึ้นตามตัว เมื่อทำเรื่องไปสถานพยาบาลเพื่อทำการรักษา สถานพยาบาลไม่กักตัวทั้งๆ ที่เขาเป็นโรคติดต่อ ไม่ให้นอนพักในสถานพยาบาล ทำเพียงจัดยาให้เล็กๆ น้อยๆ แล้วให้กลับแดนของตนเอง ในขณะนั้นเขาทำงานเป็นผู้ช่วยสอนฝ่ายคอมพิวเตอร์ จึงต้องหยุดงาน 1 สัปดาห์และไปนอนตามโรงอาหารแดน 4 ปัญหาที่เขามองเห็นคือความไม่ใส่ใจของสถานพยาบาลประกอบกับความไม่เพียงพอของผู้รักษาต่อจำนวนนักโทษในเรือนจำ

ในส่วนของคนชรา เขายกตัวอย่าง กรณี ‘อากง112’ ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนหน้านั้นเมื่ออากงเข้าเรือนจำมาใหม่ๆ มีปัญหาเรื่องเดินช้าจึงมีความลำบากเวลาขึ้นเรือนนอนหรือการใช้ชีวิตอย่างแออัดในนั้น แต่ที่แย่กว่านั้นคือในช่วงที่อากงป่วย ปวดท้องด้วยโรคมะเร็ง กว่าจะมีการประสานงานส่งตัวอากงจากสถานพยาบาลไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ใช้เวลายาวนานมาก สุดท้ายอากงจึงเสียชีวิตลง ดังนั้นเมื่อถามเขาถึงกรณีลุงบัณฑิตซึ่งปัจจุบันอายุมากกว่าอากงราว 10 ปีและมีโรครุมเร้า อดีตนักโทษกล่าวว่าชีวิตความเป็นอยู่น่าจะลำบากอย่างยิ่ง

“ผมค่อนข้างไม่สบายใจนะกรณีลุงบัณฑิต พอได้ยินว่ามีถุงปัสสาวะห้อยข้างตัว ถ้ามีถุงนี่ค่อนข้างจะวุ่นวายเลยล่ะ นึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นยังไงเลย แต่เรารู้ว่ามันยากลำบากแน่ๆ”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือ ไอลอว์ ซึ่งได้เข้าไปช่วยรวมรวมข้อมูลในคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำของอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้ให้ความเห็นถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำในภาพรวมว่า ปัจจุบันเรือนจำรองรับนักโทษมากกว่าจำนวนที่กำหนด 2 เท่า ดังนั้นความต้องการทรัพยากรการรักษา บุคคลากร เวชภัณฑ์ ยารักษา จึงมีมากกว่าที่จัดเตรียมไว้ถึง 2 เท่าด้วย

ยิ่งชีพมองว่าปัญหาไม่ใช่ความผิดของคน แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ การรักษาจึงไม่ทั่วถึงและไม่มีคุณภาพเท่าการรักษานอกเรือนจำ อีกทั้งเรือนจำมีสภาพแออัด หากเกิดบาดแผลการติดเชื้อก็เกิดขึ้นได้ง่าย โรคติดต่อเองก็ป้องกันได้ยาก แต่ในกรณีที่ผู้ต้องขังมีอาการป่วยมากๆ ก็จะมีโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งสามารถแอดมิดได้และมีความสะอาด มีคุณภาพ

ยิ่งชีพกล่าวว่าในส่วนของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เขาไม่ห่วงนักสำหรับการรักษาผู้ป่วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือขั้นตอนการส่งตัว ซึ่งมีการคัดกรองหลายครั้งทำให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งตัวผู้ต้องหาเองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลของตน รวมถึงตัวพยาบาลเองที่มีจำนวนรองรับไม่เพียงพอ

ในกรณีของบัณฑิต อานียา ยิ่งชีพ กล่าวว่า หากบัณฑิตถูกพิพากษาว่ามีความผิดจริงและถูกจำคุก เขาคาดหวังว่าราชทัณฑ์จะเห็นความเหมาะสมที่จะคุมขังบัณฑิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ปะปนกับคนอื่น เนื่องจากปัญหาสุขภาพของบัณฑิตควรได้รับการดูแลและรักษา

นอกจากนี้ในฐานะที่บัณฑิต อานียา มีประวัติการป่วยเป็นโรคจิตเภทด้วย ยิ่งชีพได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงกรณีความเจ็บป่วยทางจิตใจหรือโรคทางจิตเภทซึ่งพบในคดีมาตรา 112 หลายกรณี ว่า ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยส่วนใหญ่คือไม่ยอมรับว่าเป็นโรคทางจิต ดังนั้นจึงไม่ยอมแจ้งพยาบาลประจำเรือนจำ อีกทั้งอาการทางจิตเห็นไม่ได้ด้วยตา พยาบาลเองก็ไม่ได้สังเกตโดยละเอียดหรือมีความรู้ในการแยกแยะโรคทางนี้ แต่หากผู้ต้องหายอมเดินไปแจ้งอาการทางจิตด้วยตนเอง การส่งตัวไปยังสถาบันกัลยาฯ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก ในกรณีของบัณฑิตนั้น บัณฑิตมีใบรับรองแพทย์อาการทางจิตซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาในการส่งตัวรักษา แต่ปัญหาคือหากผู้ป่วยยังพูดจารู้เรื่อง ราชทัณฑ์จะขังรวมกับผู้อื่นซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างแออัด มีกฏระเบียบ จึงอาจจะทำให้อาการกำเริบได้

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ คณะทำงานศึกษาการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิของผู้ต้องขังในประเทศไทย ในอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำรายงานสรุปสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบปัญหาในทางปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิของผู้ต้องขังหลายประการ

โดยคณะทำงานศึกษาการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิของผู้ต้องขังในประเทศไทย ได้แบ่งประเภทของสภาพปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาออกเป็นดังนี้

1.ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิที่ผู้ต้องขังพึงมีตามกฎหมาย มีสาเหตุหลักจาก

         1.1 เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการขึ้นทะเบียนสิทธิผู้ต้องขังยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะเมื่อผู้ต้องขังย้ายเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องหาหมายเลข 13 หลักและนำไปตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียน แต่ด้วยภาระงานที่มากอยู่แล้วของพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล ทำให้งานขึ้นทะเบียนสิทธิยังบกพร่อง

         1.2 ผู้ต้องขังบางคนไม่มีหมายเลข 13 หลัก ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น คนต่างชาติ หรือคนที่ต้องการปกปิดตัวตนเพื่อปิดบังประวัติการกระทำความผิด จึงใช้ชื่อปลอมและไม่เปิดเผยหมายเลข 13 หลักมาตั้งชั้นการจับกุมและชั้นศาล

         1.3 ประชากรในเรือนจำนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษสำหรับผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ต้องขังบางคนมาอยู่ในเรือนจำไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัว หรือบางคนมีความหวังว่าจะได้ประกันตัว จึงไม่ต้องการให้ขึ้นทะเบียนสิทธิกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงกับเรือนจำ 

2.ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และทรัพยากรของเรือนจำ

ปัจจุบันพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังอยู่ในอัตรา พยาบาล 1 คน ต่อ ประชากร 1250 คน หรือ 1 : 1250  ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ใช้คิดคำนวนอัตรากำลังสำหรับการจัดสรรในพื้นที่ทั่วไป ทั้งที่ในสังคมปกติผู้ที่เจ็บป่วยสามารถเลือกซื้อยามาทานได้เอง หรือใช้บริการการรักษาจากคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน แต่ในเรือนจำหากผู้ต้องขังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงเป็นการใช้อัตรากำลังที่ไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

นอกจากนี้สถานพยาบาลในเรือนจำหลายแห่ง มีพยาบาลประจำเพียงคนเดียว ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งงานธุรการ งานเอกสาร งานบันทึกข้อมูล รวมทั้งการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง ทำให้มีเวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยน้อยลง

ในส่วนของอาคารสถานที่ บางเรือนจำ สถานพยาบาลมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ดังนั้นผู้ต้องหาที่โทษเกิน 5 ปีจึงต้องกลับไปนอนพักรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นแม้จะเจ็บป่วยหนักมากก็ตาม รวมถึงผู้ป่วยจิตเวทเองก็ต้องอยู่รวมกันกับผู้ต้องขังทั่วไปเนื่องจากพื้นที่ของสถานพยาบาลไม่เพียงพอ

มาตรฐานการคัดกรองโรคเมื่อแรกเข้าของเรือนจำก็ไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการคัดกรองโรคเมื่อแรกเข้า โดยเฉพาะในโรคติดต่ออย่าง วัณโรค หรือ เอชไอวี สาเหตุหลักเป็นเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ

3.ปัญหากฎระเบียบและการบริหารจัดการ

ปัญหาการคำนวณงบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากฐานจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นตัวเลขเก่า ซึ่งผิดกับตัวเลขในความเป็นจริง ทำให้งบประมาณที่ได้รับไม่ตรงกับปริมาณงานที่ต้องแบกรับตามความเป็นจริง

ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลนอกเรือนจำ คือ เรื่องความมั่นคง เพราะการออกไปนอกเรือนจำเป็นช่องทางให้ผู้ต้องหาหลบหนี และเคยมีกรณีเกิดขึ้นมาก่อน ปัจจุบันระเบียบของกรมราชทัณฑ์จึงกำหนดว่า เมื่อผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยาบาลภายนอก 1 คนต้องมีเจ้าหน้าที่ไปควบคุม 2 คน ซึ่งทำให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลจำนวนมากและมีผลให้กำลังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นไม่เพียงพอ

ปัญหาที่คณะทำงานศึกษาการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิของผู้ต้องขังในประเทศไทยฯ เสนอนั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มิใช่แค่เพื่อสุขภาพคนชราเท่านั้น แต่ผู้ต้องขังทุกคนต่างล้วนเป็นมนุษย์ที่สามารถเจ็บไข้ได้ป่วยเช่นเดียวกับคนทุกคน และการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจะจัดหาให้กับพลเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท