Skip to main content
sharethis

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยูทาห์ทำการศึกษาระบบนิเวศของน้ำฝนและหิมะที่ตกลงบนพื้นที่ผืนดิน (continent) แล้วไม่ได้ไหลลงสู่มหาสมุทร โดยทำการสำรวจจากทั่วโลกในแง่ของปริมาตรเพื่อเป็นพื้นฐานในการประเมินเรื่องคุณภาพน้ำ เรื่องภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อการเกษตรได้


ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลับรัฐยูทาห์ทำการศึกษาเรื่องวัฏจักรของน้ำที่ตกลงบนผืนดินอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าน้ำจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ไหลจากพื้นดินลงสู่มหาสมุทรจะอยู่ที่ไหนบ้างก่อนจะระเหยกลายเป็นไอ

เว็บไซต์ Phys.org ระบุว่า น้ำฝนและหิมะมากกว่า 1 ใน 4 ที่ตกลงบนผืนดินจะสามารถไหลลงสู่มหาสมุทรได้ ในชณะที่งานวิจัยล่าสุดนำเสนอปริมาตรของน้ำซึ่งถูกเก็บกักไว้ในที่ต่างๆ ก่อนจะระเหยกลายเป็นไอ เช่น 2 ใน 3 ของปริมาตรทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในพืชก่อนที่จะคายออกมา มีอยู่มากกว่า 1 ใน 4 ที่ระเหยหลังจากตกลงบนใบไม้ ที่เหลืออีกจำนวนน้อยกว่าจะระเหยจากดิน หรือจากแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ หรือลำธาร

เกบ โบเวน นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่าการวิจัยของพวกเขามาจากคำถามว่าหลังจากฝนตกลงมาบนผืนดินแล้วมันไปที่ไหนหมด ซึ่งการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์เพราะน้ำบนผืนดินเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่อระบบนิเวศและการเกษตรของมนุษย์ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจปริมาตรที่ชัดเจนว่าน้ำเหล่านี้ไปอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะมีคนบอกว่าน้ำส่วนใหญ่ถูกใช้และถูกปล่อยออกมาโดยพืชแต่ผลการวิจัยล่าสุดระบุว่ามีการใช้และปล่อยออกมาจากพืชน้อยกว่าที่ตั้งสมมุติฐานกันไว้ก่อนหน้านี้

ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้คือ สตีเฟน กูด นักอุทกวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ เขาทำการวิจัยโดยค้นหาว่าน้ำที่มาจากฝนหรือหิมะที่ละลายจะเดินทางผ่านไปยังที่ใดได้บ้าง ทีมนักวิจัยทำการสำรวจสัดส่วนไอโซโทปธาตุไฮโดรเจน (hydrogen isotope ratios) ของน้ำฝน น้ำในแม่น้ำและน้ำในบรรยากาศจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ รวมถึงมีการวัดผลจากดาวเทียมของนาซาเพื่อตรวจหาปริมาตรน้ำจากฝนหรือหิมะบนที่ตกบนผืนดินยกเว้นแหล่งน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล

ผลการวิจัยพบว่าปริมาตรน้ำร้อยละ 64 ซึ่งคิดเป็น 55,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร (ลบ.กม.) มาจากการคายน้ำของพืชซึ่งน้อยกว่างานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ซึ่งระบุว่ามีการคายน้ำจากพืชมากถึงร้อยละ 80 ผลวิจัยระบุต่อไปปริมาตรน้ำว่าร้อยละ 6 ระเหยจากดินคิดเป็น 5,000 ลบ.กม. ร้อยละ 3 ระเหยจากทะเลสาบ สำธาร และแม่น้ำ คิดเป็น 2,000 ลบ.กม. และจากงานวิจัยก่อนหน้านี้มีการระบุว่าน้ำร้อยละ 27 ซึ่งคิดเป็น 23,000 ลบ.กม. จะตกสู่ใบของพืชแล้วระเหยซึ่งเรียกว่าปรากฎการณ์ที่น้ำถูกยึดไปโดยส่วนของพืช (Interception)

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจปริมาตรน้ำจากฝนและหิมะที่ไหลผ่านทางดินเพื่อให้พื้ชได้นำไปใช้ โดยระบุว่ามีร้อยละ 38 เท่านั้นที่ไหลผ่านทางดินก่อนที่จะไปสู่น้ำใต้ดินหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ในจำนวนนอกจากนี้จะไหลไปสู่แหล่งน้ำดังกล่าวอย่างรวดเร็วโดยไม่ใช้เวลาอยู่กับพื้นดินมากนัก โบเวนชี้ให้เห็นถึงการสำรวจเรื่องปริมาตรดังกล่าวว่ามันจะช่วยประเมินในเรื่องคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศของน้ำ และเรื่องภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นบนผิวดินมีกระบวนการทางชีวภาพหลายอย่าง รวมถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยและการปนเปื้อนของผิวดิน ซึ่งโบเวนมองว่าถ้าหากน้ำที่ตกมาไหลผ่านผิวดินไปอย่างรวดเร็วก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการเหล่านี้ได้น้อย

กูดบอกว่าระบบนิเวศของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อโลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อน ทำให้ต้องศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรน้ำที่มีต่อระบบนิเวศโดยรวมและต่อการเกษตร โดยมีการยกตัวอย่างว่าเมื่อใบของพืชคายน้ำจะมีการดูดก็าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ซึ่งช่วยลดสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้

มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่าในแต่ละปีจะมีปริมาตรน้ำราว 496,000 ลบ.กม. ระเหยจากทั้งมหาสมุทรในปริมาตรร้อยละ 83 และพื้นที่ผืนดินในปริมาตรร้อยละ 17 ก่อนจะกลายเป็นฝนซึ่งฝนร้อยละ 77 จะตกลงสู่มหาสมุทรและร้อยละ 23 ตกลงสู่พื้นที่ผืนดิน

เรียบเรียงจาก

Where does water go when it doesn't flow?, Phys, 09-07-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net