18 องค์กรประชาสังคมชายแดนใต้ แถลงเรียกร้อง จนท.หยุดคุกคามประชาชน-นักกิจกรรม

18 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) อ่านแถลงการณ์ชี้แจงการคุกคามประชาชน-นักกิจกรรมชายแดนใต้  หลังคำขอเข้าพบแม่ทัพภาค 4 ไม่ได้รับคำตอบ เรียกร้องเจ้าหน้าที่หยุดละเมิดสิทธิประชาชน หยุดคุกคามองค์กรภาคประชาสังคม

14 ก.ค.2558 ตอนสายของวานนี้ ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี 18 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดการละเมิดสิทธิของประชาชน และหยุดการคุกคามองค์กรภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

การอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ครบ 1 เดือนที่เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพยื่นหนังสือขอเข้าพบพลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 เพื่อขอคำชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่คุกคามประชาชน นักกิจกรรมเพื่อสังคม และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ทางเครือข่ายจึงร่วมกันจัดแถลงเพื่อสื่อสารให้สาธารณะรับทราบ

แถลงการณ์กล่าวว่า ในห้วงเวลาของการดำเนินการนโยบายตามความมั่นคงต่อการแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้  ภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ก็เกิดการคุกคามการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคม และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพ ในรูปแบบที่ไม่เคารพต่อหลักการมนุษยธรรมและหลักการประชาธิปไตยที่ให้สิทธิในความเท่าเทียมกัน ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพได้ดำเนินการติดต่อประสานงานขอพบแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จนถึงบัดนี้ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ เป็นเวลา 1 เดือนแล้ว

ในช่วงเวลาของการรอการตอบรับจากแม่ทัพภาคที่ 4 นั้น ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ได้มีความเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารต่อสาธารณะในสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามด้วยวิธีการที่สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน

1. การคุกคามด้วยยุทธการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมซ้อมทรมาน เช่น การตรวจค้นศูนย์ประสานงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จังหวัดยะลาและสำนักงานศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน (BUMI) ตั้งอยู่ที่พื้นที่อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นต้น

2. การคุกคามด้วยการข่าวแบบปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ IO (Information Operation) ปฏิบัติการสารสนเทศในลักษณะการทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งเชื่อว่ามีคนของฝ่ายราชการบางคนอยู่เบื้องหลัง เช่น การเสนอข้อมูลผ่านโซเซียลมีเดียให้ร้ายประธาน PerMAS เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือกรณีการเสนอข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กให้ร้ายคณะทำงานของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความเสียหาย และล่าสุดกรณีการเสนอข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้อำนวยการ LEMPAR เป็นต้น

3. การคุกคามในลักษณะการบีบบังคับให้อนุญาตตรวจสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ จากบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ต้องหา จนถึงการขอจัดเก็บดีเอ็นเอของบุคคลที่อยู่ภายในบ้านที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นยังไม่ได้ตกอยู่ในสถานะผู้ต้องหาหรือต้องสงสัยแต่อย่างใด มีการเก็บดีเอ็นเอจาก บิดา มารดา ภรรยา พี่น้อง โดยไม่คำนึงถึงหลักความจำเป็นใดๆ แม้อาจได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ถูกเก็บดีเอ็นเอ แต่ก็เป็นเอกสารหลักฐานที่บุคคลนั้นอยู่ในสถานะที่จะปฏิเสธไม่ยอมเซ็นเอกสารได้ และฝ่ายเจ้าหน้าที่ทราบและเข้าใจเป็นอย่างดีว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทบทวนในส่วนของการตรวจสอบการเก็บดีเอ็นเอ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

4. การคุกคามในลักษณะใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต เช่น การให้ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และได้รับการปล่อยตัว เข้าร่วมโครงการการพาคนกลับบ้าน เพื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปลดหมายจับให้ ทั้งที่หมายจับดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับใดๆ อีกต่อไปนับตั้งแต่คนคนนั้นถูกจับแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายได้เสนอข้อเรียกร้อง 2 ข้อดังนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติพฤติกรรมคุกคามและละเมิดสิทธิของประชาชนทั่วไป ยุติพฤติกรรมการคุกคามละเมิดสิทธินักกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อสันติภาพในทันที

2. ให้กำชับ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ให้คำนึงถึงและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัด

นายตูแวดานียา  ตูแวแมแง ประธานสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)  กล่าวว่า ส่งหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ผ่านผู้ประสานงานของแม่ทัพตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา แต่ไม่มีการตอบรับอย่างชัดเจน ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งถูกทำลายความน่าเชื่อถือและมีการคุกคามในลักษณะของการปิดล้อมตรวจค้น หากประเด็นการคุกคามเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ ก็ไม่สามารถประเมินสถานะความปลอดภัยที่จะเกิดกับบรรดานักกิจกรรมและเครือข่ายได้ และต่อจากนี้ คงต้องประเมินสถานการณ์ว่าทางแม่ทัพภาค 4 หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตอบรับเมื่อไร อย่างไร

ที่มา สำนักสื่อ wartani

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท