Skip to main content
sharethis
 
แนวโน้มลูกจ้างชีวิตดีขึ้น ยอด "กองทุนทดแทน" หด
 
นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยถิตย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท มีนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนกว่า 350,000 ราย และลูกจ้างอยู่ในความคุ้มครองกว่า 9.1 ล้านคน และในช่วง 3 ปี กองทุนฯมีรายรับปีละ 4-5 พันล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2548 มีลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนฯกว่า 210,000 คน ซึ่งสถิติลูกจ้างมาขอใช้สิทธิลดลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2557 ลดเหลือประมาณ 100,000 คน โดยเฉลี่ยกองทุนจ่ายเงินปีละ 1 พันล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่มีลูกจ้างมาใช้สิทธิกองทุนลดลง เนื่องจากการรณรงค์ลดอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงานได้ผลมากขึ้น และบางส่วนเกิดจากนายจ้างหลบเลี่ยงไม่ยอมให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน แต่ให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือประกันสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนแทน ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงาน จากข้อมูลพบว่ามีสถิติลดลงเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2548 จนถึงปี 2557 มีลูกจ้างเสียชีวิตประมาณ 1,000 คน ล่าสุด ลดลงเหลือ 603 คน กรณีทุพพลภาพมี 19 คน ขณะนี้ลดเหลือ 11 คน กรณีสูญเสียอวัยวะโดยเฉพาะตาและนิ้วมากที่สุดซึ่งโดยรวมมีกว่า 3,000 คน ล่าสุด ลดเหลือประมาณ 1,700 คน
 
นายรักษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปส.กำลังเร่งปฏิรูปกองทุนเงินทดแทนทั้งระบบ โดยเน้นการส่งเสริมการป้องกันและดูแลความปลอดภัยในการทำงานเพื่อลดจำนวนลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงานให้มากที่สุด รวมทั้งจะดูแลให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนได้ง่ายขึ้น ล่าสุด ได้เพิ่มวงเงินค่ารักษาจากเดิมจ่าย 45,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท และปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาลของกองทุน โดยจัดให้มีโรงพยาบาลสำหรับกองทุนเงินทดแทนโดยเฉพาะ ตอนนี้มีการนำร่องโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และเตรียมจะขยายเพิ่มอีก 5 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
 
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 8/7/2558)
 
หนีแล้ง! เกษตรกรบุรีรัมย์ แห่ขายแรงงานต่างประเทศ
 
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขยายวงกว้างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรที่มีอาชีพทำนา และปลูกพืชผลทางการเกษตร ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ บางรายต้องหันไปรับจ้างทั่วไป เพื่อรอน้ำฝนจากธรรมชาติก่อนจะลงมือปลูกข้าว โดยเฉพาะในอำเภอลำปลายมาศ ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี และฝนทิ้งช่วงนาน เกษตรกรชาวอำเภอลำปลายมาศ จำนวนกว่า 60 คน เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานไปหาทำงานรับจ้างเก็บผลผลิตในต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้สินทั้งใน และนอกระบบ และใช้จ่ายในครอบครัว หลังจากนาข้าวได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว และเริ่มแห้งตายเกือบทั้งหมด 
 
นอกจากนั้นพืชสวน พืชไร่ ที่ทำเป็นอาชีพเสริมระหว่างฤดูทำนา ก็กำลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำไปหล่อเลี้ยง ทำให้ใบไหม้ ต้นแห้งตาย เสียหายเป็นจำนวนมาก ขืนยังฝืนทำการเกษตรต่อไปในปีนี้ คาดว่าจะต้องประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีผลผลิตข้าวไปขาย ไม่มีแม้แต่ผลผลิตที่จะเก็บไว้บริโภคในครอบครัว หรือทำพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในปีต่อไป ทำให้เกษตรกรชายที่อยู่ในวัยแรงงาน ต้องอพยพแรงงานไปทำงานรับจ้างเก็บผลผลิตในต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว และเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของบุตร 
 
นอกจากนั้น บางรายต้องนำเงินไปชำระดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้นอกระบบ เพราะนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
 
นายอภิชาต สาระอินทร์ อายุ 48 ปี เกษตรกรบ้านสนวนพัฒนา หมู่ 13 ต.โคกสะอาด อ.ลำปลายมาศ กล่าวว่า เดิมครอบครัวของตนทำนา 23 ไร่ ระยะหลังประสบภัยแล้งต่อเนื่อง จึงหันไปปลูกผัก และพืชสวน จำนวน 8 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ทำนา 15 ไร่ แต่ปีนี้ได้ประสบปัญหาภัยแล้งพืชผักของครอบครัวตนเสียหายเกือบสิ้นเชิงกว่า 5 ไร่ ส่วนนาข้าวยังไม่มีน้ำที่พอจะหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เจริญเติบโตได้ จากเคยปักดำ มาปีนี้ต้องทำนาหว่าน เพื่อหวังว่าจะมีฝนตกลงมาให้ความชุ่มชื้นกับต้นข้าวบ้าง แม้จะไม่มากพอที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขาย ก็ขอให้มีไว้กินในครอบครัว ตนทำใจและยอมรับที่จะต้องประสบปัญหาขาดทุน และต้องไปขายแรงงานยังต่างประเทศ เพราะค่าจ้างแรงงานสูงกว่าในประเทศไทย มิเช่นนั้น ไม่รู้ว่าจะนำเงินจากไหนไปชำระหนี้นอกระบบที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา ค่าใช้จ่ายในครอบครัว และค่าเล่าเรียนลูก
 
ขณะเดียวกัน มีเกษตรกรทยอยเดินทางมาสมัครไปทำงานยังต่างประเทศ และลงทะเบียนไว้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งบรรยากาศคึกคักตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้สนใจจะเดินทางไปทำงานด้านการเกษตรในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน โดยผ่านบริษัท จัดหางานเอกชน ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน โดยทางบริษัทนายหน้า จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้สนใจไปทำงานยังต่างประเทศ จากนั้นก็จะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนา เพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ต่อไป
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 9/7/2558)
 
กลุ่มแรงงานภาคตะวันออกเรียกร้องค่าแรงแรกเข้า 360 บาท
 
(9 ก.ค.58) ที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี นายไพฑูรย์ บางหรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พร้อมตัวแทนผู้ใช้แรงงานในพื้นที่แหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ได้เดินทางเข้าพบนายธีรวุฒิ ศิริวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งยื่นหนังสือแถลงการณ์ของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เรื่องคัดค้านการประกาศใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ พร้อมทั้งเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาททั่วประเทศ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาในเรื่องปัญหาแรงงานต่อไป
 
นายไพฑูรย์ บางหรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกกล่าวว่า การเรียกร้องค่าแรงงานแรกเข้าคือผู้ที่ทำงานครั้งแรก 360 บาททั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ข้าวของแพง ประกอบกับไม่เคยปรับค่าแรงงานมานานกว่า 3 ปีแล้ว นอกจากนี้ รัฐได้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปแล้ว ทางด้านผู้ใช้แรงงานค่าแรงงานควรเพิ่มมากขึ้น การที่กำหนดให้ขึ้นทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมีความเจริญเหมือนกันหมดแล้ว และยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย
 
ด้านนายธีรวุฒิ ศิริวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีกล่าวว่า การรวมตัวของผู้ใช้แรงงานในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการที่จะให้มีการปรับค่าแรงงานขึ้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ ทางจังหวัดจะได้นำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้รับรู้ต่อไป สำหรับปัญหาในเรื่องแรงงานนั้นการแก้ไขปัญหาต้องระดับรัฐบาล
 
(มติชนออนไลน์, 9/7/2558)
 
เผยมีแรงงานไทยในตุรกี 459 คน ยืนยันปลอดภัยดีประสานบริษัทจัดส่งแรงงานและกรมการกงสุลช่วยดูแล
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุผู้ประท้วงเข้าไปทำลายทรัพย์สินในสถานกงสุลไทย ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ว่าขณะนี้มีแรงงานไทยอยู่ในตุรกีทั้งหมด 459 คน โดยในจำนวนนี้เดินทางผ่าน บริษัทจัดหางาน 2 บริษัท คือ บริษัท วินซ์ เพรสเม้นท์ 114 คน และบริษัท เกริกไทย 128 คน รวม 242 คน และมีแรงงานไทยเดินทางไปด้วยตนเอง 217 คน โดยในจำนวนนี้ทำงานด้านนวดแผนโบราณ 196 คน เป็นกุ๊กและช่างฝีมือ ทั้งนี้ ขณะนี้แรงงานทุกคนปลอดภัย โดย กกจ.ได้ประสานบริษัทจัดส่งแรงงานทั้งสองบริษัท รวมทั้งแจ้งทางกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศให้ช่วยดูแลแรงงานไทย และให้ระมัดระวังอย่าเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 9/7/2558)
 
อนุมัติลงทุน 4.3 หมื่นล้านบีโอไอเคาะ 17 โครงการดัน SME
 
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวน 17 โครงการ เงินลงทุนรวม 43,917.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก รวมทั้งมีกิจการสวนน้ำแห่งใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสวนน้ำผสมผสานอุทยานสัตว์แห่งแรกในไทย คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559
 
ทำให้ล่าสุดยอดการอนุมติคำขอส่งเสริมจากเอกชนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 มีวงเงินลงทุนที่อนุมัติไปแล้ว 412,690 ล้านบาท รวม 1,254 โครงการ โดยทั้งปีมีเป้าหมายอนุมัติให้ได้ 1.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1,700 โครงการ
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าไปลงทุนต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ปรับลดลงเหลือ 500,000 บาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรเก่ามูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทมาใช้ในกิจการได้ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีศักยภาพจริงๆ ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้
 
“การผ่อนปรนเงื่อนไขครั้งนี้ จะทำให้เอสเอ็มอีไทยเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษง่ายขึ้น และช่วยผ่อนคลายด้านการเงินของเอสเอ็มอีที่ต้องการมาลงทุน" นางหิรัญญากล่าว
 
ส่วนการกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจในระยะแรก 13 กลุ่มใหญ่ ที่แยกเป็น 62 ประเภท กำลังกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยแต่ละจังหวัดมีความต้องการที่แตกต่างกัน และนายกฯ ได้มอบหมายให้บีโอไอไปช่วยกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง ดูแต่ละพื้นที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้างที่เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในปี 2558-2559 พร้อมกับประสานกับเอกชนให้เข้ามาลงทุนโดยเร็ว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
 
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย โดยให้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่
 
แต่เดิมในบางมาตรการที่ได้รับการส่งเสริมติดเงื่อนไขบางประการทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับสิทธินั้นอย่างเต็มที่ เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เดิมให้ระยะเวลา 1 ปี ให้เป็น 5 ปี และการลดหย่อนการนำเข้าวัตถุดิบ จากเดิม 75% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเป็น 90% ใน 5 ปี และอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้ในทุกพื้นที่ ให้เหมือนกับกิจการเป้าหมายที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
(ไทยโพสต์, 11/7/2558)
 
สำนักงานประกันสังคม เร่งศึกษาการจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ ว่า คณะทำงานของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีตนเองเป็นประธาน อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดทำระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว โดยเทียบเคียงกับประเทศอื่นทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยมีรูปแบบการทำงานต่างกัน ทำให้บางสิทธิประโยชน์อาจจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของแรงงานต่างด้าว เช่น สิทธิกรณีว่างงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกรมการจัดหางาน ที่แรงงานต่างด้าวต้องกลับประเทศภายหลังครบกำหนดจ้างงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถรับสิทธิกรณีว่างงานได้ เนื่องจากเมื่อไม่มีงาน ไม่มีนายจ้าง ก็ต้องกลับประเทศ เมื่อไม่ได้รับก็อาจจะต้องตัดการเก็บเงินสมทบในส่วนนี้ ส่วนสิทธิกรณีชราภาพนั้น คณะทำงานมองว่า น่าจะให้เงินก้อนแก่แรงงานต่างด้าวที่ต้องเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวอาจจะไม่ได้กลับมาทำงานในไทยอีก ส่วนกรณีคลอดบุตรและการรักษาพยาบาล จะศึกษาว่า มีแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่าใด รวมถึงจำนวนเงินที่เบิกจ่ายออกไปมีจำนวนเท่าใด ซึ่งเห็นว่าเงินกองทุนประกันสังคม ควรแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน
 
นายโกวิท กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ประเทศอื่นไม่ได้ให้สิทธิประกันสังคมแก่แรงงานต่างด้าวในเรื่องคลอดบุตรและเรื่องว่างงาน สำนักงานประกันสังคม จะต้องศึกษาให้ละเอียดและนำมาวิเคราะห์อีกครั้ง ขณะนี้ได้เริ่มร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวไปบางส่วนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณา
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 12/7/2558)
 
ประมงสงขลาวิกฤต แรงงานหนีออกเรือไม่ได้
 
สถานการณ์ประมงใน จ.สงขลา แม้ขณะนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากเรือประมงใน จ.สงขลา ส่วนใหญ่ได้ขอใบอนุญาตต่าง ๆ และปฏิบัติตามที่ทางการออกกฎควบคุม แต่ปรากฏว่าขณะนี้เรือประมงหลายลำกลับได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนี และยังเบิกเงินล่วงหน้าไปแล้วทำให้เรือประมงบางส่วนไม่สามารถออกทำการประมงได้
 
นายสมศักดิ์ ขวัญอ่อน เจ้าของเรือและไต๋กงเรือ ส.ศักดิ์สายชล 97 ซึ่งมีลูกเรือประมงที่เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 30 คน เผยว่า ขณะนี้เจ้าของเรือประมงหลายลำต้องเจอกับปัญหาเดียวกัน คือเรื่องแรงงานต่างด้าวหลบหนีทั้งก่อนออกเรือและหลังเรือเข้าจอดและยังเบิกเงินล่วงหน้าไปแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามตามระเบียบของทางการทุกขั้นตอนเพื่อให้สามารถออกเรือได้ แต่กลับต้องมาพบกับปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีจนบางลำไม่สามารถออกเรือได้เพราะแรงงานไม่พอ
 
ที่สำคัญไม่สามารถที่จะหาแรงงานต่างด้าวใหม่ของมาทดแทนได้ เนื่องจากกลัวถูกจับกุมและเนื่องจากพ้นกำหนดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีหลายสมาคมประมงที่ทำเรื่องเสนอขอให้ทางกระทรวงแรงงานเปิดจดทะเบียนใหม่อีกรอบ เพื่อหาแรงงานมาใหม่มาทดแทนแรงงานประมงที่ขาดแคลนและหาทางแก้ปัญหาในเรื่องแรงงาน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 12/7/2558)
 
เตือนคนไทย ไปทำงานญี่ปุ่นผิดกม. โทษสูง นายจ้างโดนด้วย
 
แฟนเพจสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ได้ประกาศแจ้งคนไทยที่กำลังจะไปทำงานในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย โดยเผยว่า ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ได้ขอความร่วมมือสถานทูตฯ ประชาสัมพันธ์รณรงค์ ไม่ให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติ (ที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น) ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายนั้น สถานทูตฯ ขอแจ้งให้ทุกท่านทราบเกี่ยวกับการจ้างงานที่ผิดกฎหมายญี่ปุ่น ดังนี้
 
การลักลอบทำงานผิดกฎหมาย แบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ
 
1)กรณีการว่าจ้างให้คนต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศหรืออยู่เกินกำหนด (OVERSTAY) ทำงาน
 
2) กรณีการว่าจ้างให้คนต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เช่น ผู้ที่มาญี่ปุ่นโดยมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติ นักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน
 
3) กรณีการว่าจ้างให้คนต่างชาติที่ทำงานนอกเหนือจากประเภทงานที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เช่น คนที่ได้รับอนุญาตทำงานในโรงงานแต่กลับไปทำงานพ่อครัวแทน
 
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ดังนี้
 
– นายจ้างหรือผู้แนะนำให้แรงงานต่างชาติลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือถูกปรับไม่เกิน 3,000,000 เยน (แม้ว่านายจ้างจะอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ตาม)
 
– นายจ้างหรือผู้แนะนำแรงงานต่างชาติที่ทำตามข้อ 1 ที่เป็นคนต่างชาติอาจถูกเนรเทศออกจากญี่ปุ่นได้
 
– นายจ้างที่ยื่นเรื่องการจ้างงานเท็จ หรือไม่ได้ยื่นเรื่องในการจ้างงานจะถูกปรับไม่เกิน 300,000 เยน
 
ซึ่งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลการพำนักคนต่างชาติ เบอร์โทรศัพท์ 0570-013904, 03-5796-7112 หรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใกล้บ้าน
 
หมายเหตุ ได้ปรับเสริมการแปลข้อความบางส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเพื่อต้องการให้คนไทยทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายญี่ปุ่น และหลีกเลี่ยงการกระทำเหล่านี้
 
(news.mthai.com, 13/7/2558)
 
รมว.แรงงาน มองว่านายจ้างและลูกจ้างควรทำงานร่วมกันในลักษณะของหุ้นส่วน
 
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาตาม “โครงการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่าการประชาคมอาเซียนเป็นการพัฒนาเริ่มต้น(ก้าวเล็กๆ) ซึ่งภาคเอกชนควรให้ความสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยรัฐบาลจะช่วยผลักดัน และเร่งแก้ไขระเบียบที่ติดขัด ทั้งนี้ ในส่วนทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นอย่างไร ตนเองพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่จะทำให้แรงงานไทยมีความสามารถก้าวไกล เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ส่วนมาตรฐานฝีมือแรงงานต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ความพร้อมของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามนายจ้างและลูกจ้างควรทำงานร่วมกันในลักษณะของหุ้นส่วน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง เพื่อผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ครูฝึกดีเด่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้ชนะการประกวดเครื่องหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 คือ ภาพกดไลด์ จาก นางสาวพิริยา เดชธาดา นักออกแบบ Think Panther Design Studio
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 13/7/2558)
 
แรงงานก่อสร้าง รพ.ตร.ลุกฮือ ประท้วง บ.รับเหมาเบี้ยวเงิน
 
เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 13 ก.ค. ที่โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) นายอัมพร เกดก่อผล ผู้จัดการโครงการบริษัท NUI คอนสตรัคชั่น จำกัด พร้อมคนงานกว่า 400 คน รวมตัวประท้วงบริษัท วรสิฎฐ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อาคารบริการทางการแพทย์ สูง 20 ชั้น โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าแรง ให้กับคนงานตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งที่ได้ส่งเบิกค่างวดงานไปหลายครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 7 ล้าน แต่ทางบริษัทจ่ายมาเพียง 3.5 ล้านบาท ซึ่งไม่ยอมจ่ายส่วนต่างที่เหลือ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนงานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนต้องนัดหยุดงานประท้วง 2-3 วัน ทางบริษัทจึงยอมจ่ายเงินให้บางส่วน เพื่อให้คนงานกลับมาทำงาน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ยอมจ่ายในส่วนที่เหลือ และพยายามผลัดวันมาตลอด ทำให้คนงานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก บางคนไม่มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน วันนี้หลังเลิกงานคนงานดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องไปยังบริษัทผู้รับเหมาให้จ่ายเงินค่าจ้างตามเวลา
 
ด้าน พ.ต.ท.สันติชัย หนูทอง สารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน กล่าวว่า ทางตำรวจได้ประสานไปยัง บริษัท ผู้รับเหมาแล้ว เบื้องต้น ผู้รับเหมาได้แจ้งกับตำรวจว่า ได้มีการประสานและพูดคุยกับตัวแทนคนงานว่า พรุ่งนี้ (14 ก.ค.) ให้คนงานส่งตัวแทน เข้ามาพูดคุยตกลงกันที่บริษัท โดยจะยอมจ่ายค่าจ้างส่วนหนึ่ง ให้กับคนงานที่มาประท้วง และให้หยุดประท้วงและกลับไปพักผ่อนและให้ทำงานปรกติ
 
(เดลินิวส์, 13/7/2558)
 
ก.แรงงานจับมือ ‘ไอเอ็ม’ ส่งคนไทยฝึกงานในญี่ปุ่น
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ต้อนรับ Mr.Kyoei Yanagisawa ประธานมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ (IM Japan) หารือการส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น และการเปิดรับสมัครผู้ดูแลคนชราที่มีโครงการจะเปิดรับในปี 2559
 
นายนคร กล่าวว่า การจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นการเดินหน้า“คนไทยมีงานทำ” หางานให้คนไทยมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นการเพิ่มพูน “ต่อยอด” ทักษะและประสบการณ์ของคนไทยเพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ มีประสบการณ์กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยถือเป็นการเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ของคนไทย
 
Mr.Kyoei กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง เมื่อเทียบกับผู้ฝึกงานเวียดนามที่จัดส่งไปญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่าทั้งที่เริ่มดำเนินโครงการช้ากว่าประเทศไทย จึงขอให้กระทรวงแรงงานช่วยประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว อีกทั้งยังพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเกณฑ์อายุที่จะเข้าไปฝึกงานจากเดิมอายุ 20-30 ปี จบการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา เป็นอายุตั้งแต่ 18 ปี และจะเปิดมูลนิธิฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมจัดส่งผู้ปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงจะเปิดรับสมัครผู้ดูแลคนชราที่มีโครงการจะเปิดรับในปี 2559
 
(RYT9, 14/7/2558)
 
พนักงานยาสูบค้านย้ายโรงงาน
 
แหล่งข่าวจากโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานยาสูบ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการย้ายโรงงานยาสูบไปที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแผนของคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ เนื่องจากรักษาการผู้อำนวยการยาสูบไม่เคยแจ้งแผนการในการย้ายโรงงานใหม่ หรือแผนรองรับสำหรับการย้ายพนักงาน ตลอดจนคณะกรรมการอำนวยการ ไม่เคยทำตามบันทึกข้อตกลงลูกจ้างและนายจ้างปี 2552 ที่ว่าถ้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือมีการย้ายโรงงาน ต้องถามสหภาพแรงงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบและพนักงานยาสูบก่อน อีกสาเหคุหนึ่งที่มีการรวมตัวคัดค้านอาจเป็นเพราะ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ อาจจะไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงาน 
 
 
สำหรับการสรรหาผู้อำนวยการยาสูบที่ผ่านมา มีผู้สมัครทั้งสิ้น 4 คน โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.-9 มิ.ย.58 แต่ผ่านไปแล้ว 1 เดือนยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งในการสรรหาผู้อำนวยการยาสูบครั้งนี้ มีประเด็นข้อสงสัยและไม่เหมือนกับการสรรหาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอื่น คือ ข้อ 2.1.3 กรณีผู้สมัครมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง แต่เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ หรือรักษาการในตำแหน่งขององค์กร ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาการในตำแหน่งอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันยื่นใบสมัคร ทำให้ผู้สมัครรับการสรรหาผู้อำนวยการยาสูบเป็นกังวลว่าจะมีการให้สรรหาใหม่หรือขยายเวลาเพื่อให้ น.ส.ดาวน้อย มาสมัคร เพราะจะดำรงตำแหน่งรักษาการครบ 1 ปีในวันที่ 15 ก.ค.นี้ หากเป็นเช่นนี้การสรรหาผู้อำนวยการยาสูบจะมีความโปร่งใส คัดเลือกให้เหมาะสม และใช้เวลาดำเนินการสรรหาภายใน 3 เดือนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้
 
(บ้านเมือง, 14/7/2558)
 
ชวนข้าราชการ-ลูกจ้าง สมัครสมาชิก "สมาคมข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร"
 
นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวว่า ตามที่ได้มีการก่อตั้งสมาคมข้าราชการและลูกจ้าง กทม.ขึ้น เพื่อการจัดสวัสดิการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้กับข้าราชการ/ลูกจ้าง และเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้แนวทางการจัดสวัสดิการเบื้องต้นของสมาคม ได้แก่ การช่วยเหลือสงเคราะห์ศพแก่สมาชิก บิดาและมารดาของสมาชิก รายละ 2,000 บาท การช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอัคคีภัย การช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การมอบของขวัญแก่บุตรแรกเกิดของสมาชิก และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเมื่อเกิดปัญหาการถูกฟ้องร้องกรณีปฏิบัติงานตามหน้าที่ นั้น
 
เขตจึงขอเชิญชวนข้าราชการสามัญ ข้าราชการครู ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และบุคลากรสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวาสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ทางเฟซบุ๊ค “สมาคมข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร” แนบเอกสารประกอบใบสมัครได้แก่ รูปถ่าย สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรข้าราชการ/ลูกจ้าง หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมค่าสมัครและค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพรวม 150 บาท
 
(แนวหน้า, 14/7/2558)
 
มติ ครม. เห็นชอบการนำเข้าแรงงานจากเวียดนาม
 
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
 
1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและร่างบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายไทยในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทุพพลภาพและสวัสดิการสังคมเป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
3. เห็นชอบการนำเข้าแรงงานจากเวียดนาม ตามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และร่างบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อทำงานในกิจการก่อสร้างและกิจการประมง
 
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และร่างบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ทั้งสองฉบับนี้ มีสาระสำคัญครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจ้างงานระหว่างทั้งสองประเทศ และพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านกิจการก่อสร้างและประมงระหว่างไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้
 
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฏาคม 2558--
 
(ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี, 14/7/2558)
 
เผยรักษาไตวาย 3 สิทธิแตกต่าง ประกันสังคมด้อยกว่าบัตรทอง-ขรก.เจ๋งสุด
 
ผศ.นพ.สุรศักดิ์  กันตชูเวสศิริ  หน่วยโรคไต  ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการจำนวนมาก เพราะสิทธิบัตรทองมีการจำกัดวิธีการรักษา เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก ไม่สามารถร้องขอการฟอกเลือดล้างไตได้ ทำให้ผลการรักษาด้อยกว่าสิทธิข้าราชการ ว่า  ข้อเท็จจริงคือ การล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดล้างไต ต่างให้ผลการรักษาดีเท่ากัน คือช่วยให้ผู้ป่วยอายุยืนยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การรักษาโรคจึงต่างกันออกไปตามการวินิจฉัยของแพทย์
 
“สิทธิข้าราชการต้องยอมรับว่าสิทธิการรักษาสูงกว่าบัตรทองแน่นอน เพราะผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามความเห็นของแพทย์และเบิกจ่ายได้ตามจริง ผู้ป่วยสามารถตกลงกับแพทย์เลือกวิธีการรักษาได้ ว่าจะใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดล้างไต แต่ผู้ป่วยบัตรทองต้องรักษาด้วยวิธีการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดมาเท่านั้นคือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจ สปสช.ด้วยว่า เพราะต้องดูแลคนจำนวนมากของประเทศ จึงต้องมีการกำหนดกติกาเอาไว้ แต่การรักษาที่วางไว้ก็ถือว่ามีมาตรฐาน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เหมาะกับการรักษานั้นๆ”
 
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วการรักษาโรคไตวายเรื้อรังใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ พบว่า สิทธิประกันสังคมถือว่ามีข้อเสียมากกว่าสิทธิบัตรทองและข้าราชการ เพราะถึงแม้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมจะสามารถเลือกวิธีการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการได้ แต่กว่าที่คณะกรรมการทางการแพทย์ของประกันสังคมจะอนุมัติให้สามารถเบิกจ่ายได้ก็ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ซึ่งช่วงเวลาว่างตรงนี้ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งตกเดือนละ 2-3 หมื่นบาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่สูงมากสำหรับคนวัยทำงาน    
 
(มติชนออนไลน์, 15/7/2558)
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net