Skip to main content
sharethis

วงเสวนาวิชาการสตรีศึกษาฯ มธ. ถกวาทะกรรมมนุษย์เมนส์ – ยาคุมกำเนิดเพศชาย กับการสร้างและลิดรอนบทบาทการเป็นผู้นำและอำนาจต่อรองของผู้หญิง

เมื่อวันที่5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษาฯ วิทยาลัยสหวิทยาการจัดเวทีวิชาการในหัวข้อ "(Auto) ethnography เควียร์ ความรุนแรง ความรัก ความตาย (และอื่นๆ) จากมุมมองสตรีนิยม"  ที่ห้อง 103 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน คือช่วงแรกพูดถึง  เควียร์ : องค์ความรู้ที่ท้าทายจากชายขอบ ช่วงที่สองพูดถึงข้อถกเถียงเรื่องความรุนแรง ความรัก และความตาย ในสื่อร่วมสมัย  ช่วงที่สามพูดถึง เรื่องของแม่ ตำนานเหล่าม่า การเมืองเรื่องการตีตรา “สามีฝรั่ง” และปัญหาของผู้หญิงในโรงศาล และช่วงสุดท้ายพูดถึงอำนาจของภาษาในอนุสาวรีย์  “ยาคุม” ที่ไม่ใช่ของสตรี และมายาคติเรื่องประจำเดือน

ประชาไท เก็บความจากการนำเสนอ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ “ ฉันกับการ (กลายเป็นมนุษย์เมนส์)” โดย นันทพร ชุมพงษ์ศักดิ์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงเป็นมนุษย์เมนส์แต่แรกหรือเพราะถูกกระทำให้เป็น ในเรื่องที่สองคือ “ยาคุมของเพศชายกับพัฒนาการภาพสะท้อนของกำหนดบทบาททางสังคม”  โดย บุญเลิศ ลิ่มวงศ์สุวรรณ โดยพูดถึงสภาวะการเป็นรองของผู้หญิงในมิติการใช้ยาคุมกำเนิด


ฉันกับการ (กลายเป็นมนุษย์เมนส์)  นันทพร ชุมพงษ์ศักดิ์

นันทพร กล่าวเกริ่นว่าจะเล่าเรื่องมนุษย์เมนส์ผ่านมุมมองของตัวเอง นันทพร กล่าวต่อไปว่า มนุษย์เมนส์  คือ สภาวะของผู้หญิงที่ เหวี่ยง วีน เศร้า ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย โดยทางการแพทย์ มีศัพท์เรียกว่า Premenstrual syndrome (PMS) คือเป็นสภาวะที่มีการผิดปกติทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงในช่วงที่จะเป็นประจำเดือนในแต่ละระลอก ในส่วนการรักษาก็จะมีหลายๆแบบ ถ้าไม่รุนแรงมากก็จะรักษาด้วยการออกกำลังกาย กินอาหาร แต่ถ้ามีอาการรุ่นแรงอาจจะต้องได้รับยา

นันทพร กล่าวต่อไปว่า ผู้เชียวชาญด้านจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตว่าผู้หญิงมักคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์เมนส์ จะมีอาการเป็น PMS หมดเลย แต่ในงานวิจัยจริงๆแล้ว อาการ PMS จริงๆมีแค่ร้อยละ 3-8 หรืออาการ PMS ที่รุนแรงจริงแล้วมีแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นเอง ตนเลยนึกสงสัยว่าผู้หญิงทุกคนหลอกตัวเองมาตลอดว่าตัวเองเป็น PMS

นันทพรตั้งคำถามว่า เพราะอะไรทำให้ผู้หญิงมักคิดว่าตัวเองเป็น PMS ซึ่งเธอค้นพบคำตอบของตัวเองว่าตัวเองรู้จักนิยามคำว่า มนุษย์เมนส์มาจาก การแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 9 ของอุดม แต้พานิช ที่มีการพูดถึงผู้หญิงเมื่อเป็นเมนส์แล้วเกิดอาการผิดปกติ เหวี่ยง วีน จึงอยากจะตั้งคำถามว่าจริงๆแล้ว อะไรทำให้ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์เมนส์ หรือเพราะสิ่งที่ผู้หญิงรับมาทำให้ตัวเองเป็นมนุษย์เมนส์ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม หรือมายาคติของมนุษย์เมนส์เอง

นันทพรกล่าวต่อไปว่าโดยส่วนตัวแล้วตนชอบเล่นเฟซบุ๊กมาก และจะเจอข้อความเป็นสถานการณ์ที่มีการแชร์กัน เป็นภาพผู้หญิงเสียสติ ทำให้ภาพผู้หญิงตอนเป็นประจำเดือนเป็นผู้หญิงโหดร้าย  นอกจากผู้หญิงจะยอมรับวาทะกรรมนี้แล้วยังพยายามจะเอาความเชื่อนี้ไปเผยแพร่ให้แฟนตัวเองเข้าใจว่าเวลาผู้หญิงเป็นประจำเดือนจะมีอาการแบบนี้ พยายามจะอธิบายว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิด พยายามจะบอกให้ผู้ชายเข้าใจว่าเวลาผู้หญิงเป็นเมนส์ แล้ว ฮอร์โมนจะแปรปรวน  เพื่อให้ผู้ชายยอมรับ

นันทพรกล่าสรุปโดยอ้างถึงคำกล่าวที่ถูกใช้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง ซึ่งเธอได้ยินตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียนในโครงการสตรีศึกษาคือ เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิงโดยธรรมชาติ แต่เราถูกทำให้กลายเป็นผู้หญิง จึงเริ่มเอะใจว่า หรือที่จริงแล้วเราไม่ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์เมนส์โดยธรรมชาติ แต่มาจากการเสพสื่อ และถูกตอกย้ำว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ จากการที่ผู้นิยามแบบนี้มา หรือวาทกรรมทางการแพทย์ว่ามี PMS แบบนี้ ขณะที่ในอีกด้านก็มีทัศนคติบางอย่างที่เชื่อว่าคนที่จะก้าวไปเป็นคนหัวหน้าคนหรือตำแหน่งสูงๆ ก็ไม่ควรจะมีอารมณ์แปรปรวน วาทกรรมเช่นนี้จึงถูกนำมาใช้กับผู้หญิง ทำให้เห็นว่า ผู้หญิงอาจจะไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งสูงๆ ก็เป็นได้ ดังนั้นวาทกรรมว่าด้วย PMS ที่เริ่มจากข้อเท็จจริงในวงการแพทย์ ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดบทบาทของผู้หญิงในสังคมด้วยเช่นกัน


ยาคุมของเพศชายกับพัฒนาการภาพสะท้อนของกำหนดบทบาททางสังคม   โดย บุญเลิศ ลิ่มวงศ์สุวรรณ

บุญเลิศ กล่าวว่าเมื่อยาคุมกำเนิดไม่ใช่แค่เพียงเรื่องสำหรับเพศหญิง  เมื่อยาคุมไม่ได้มีมิติแค่เพียงเรื่องการคุมกำเนิด และจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าเรามาไกลมากแต่ในปัจจุบันเป้าหมายการคุมกำเนิดยังมุ่งไปที่เพศหญิงอยู่  โดยไปขัดขวางฮอร์โมนเพศหญิง ถึงแม้จะเป็นการคุมกำเนิดได้ ไม่ว่าจะเป็นยากิน หรือ ยาฉีดฮอร์โมน หรือ แม้แต่การใส่ห่วงอนามัย แต่ถึงจะป้องกันการคุมกำเนิดได้แต่ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เมื่อเทียบกับการสวมถุงยางอนามัย แต่ว่า เพราะอะไร ผู้หญิงก็ยังใช้การคุ้มกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆอยู่ด้วย ถึงแม่จะมีวิธีที่ดีที่สุดแล้วก็ตามในการสวมถุงยางอนามัย  และ เมื่อผู้หญิงมีหน้าที่รับบทบาทในการป้องกันการคุมกำเนิด แล้วผลกระทบก็จะตกกับผู้หญิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ถ้านับจากเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างอาการอาเจียน ปวดเต้านม  และยังอาจจะรุกลามไปยังอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่นผลต่อตับ และการแข็งตัวของเลือด  นอกจากนี้ยาฮอร์โมนเพศหญิงก็ส่งผลต่อฮอร์โมนเพศชายได้เหมือนกัน  คือจะส่งผลต่อการเป็นเพศชาย

บุญเลิศ กล่าวต่อไปว่าในมิติของยาคุมกำเนิดส่งผลต่อการเป็นเพศหญิง ประโยชน์อื่นๆที่ได้รับ  ก็คือ ข้อบ่งใช้ของยาคุมกำเนิดบางตัว ในขณะที่เราให้คุณค่าและความหมายของการกินยาคุมกำเนิด ว่ามีผลต่ออารมณ์แปรปรวนด้วย มันจะเป็นไปได้ไหมว่าจะมีการผลิตซ้ำอารมณ์ของเพศหญิง ผ่านมุมมองทางการแพทย์ผ่านการวินิจฉัยที่ดูเหมือนจะมีเหตุผลมีหลักการ 

บุญเลิศกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดก็ยังมีการประกอบสร้างการเป็นเพศหญิงอย่างอื่นด้วย ยาคุมกำเนิดจะช่วยลดการเกิดสิว ได้ในบางตัว  ลดขน และลดความมันบนใบหน้า  เพราะฉะนั้นยาคุมกำเนิดย่อมชัดว่าจะส่งผลต่อการเป็นเพศหญิง จากการศึกษาระบาดวิทยาของการใช้ยาฮอร์โมนเพศชาย  จะใช้การสำรวจในกลุ่มสตรีข้ามเพศที่พัทยา  คนที่เป็นนางโชว์ก็จะมีปัญหาต่างๆตามมาจากการใช้ยาคุมกำเนิดมากมาย แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังคงใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพสหญิงต่อไป ต่อให้จะมีความเสี่ยงแค่ไหนก็ตามพวกเขาก็ยังคงใช้ยาคุมกำเนิดต่อไปเพื่อจะครอบครองความเป็นเพศหญิง

บุญเลิศตั้งข้อสังเกตว่าแล้วถ้าเกิดว่ามียาคุมกำเนิดสำหรับเพศชาย จะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็มียาคุมกำเนิดเพศชายที่ผลิตแล้วซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะวางในตลาดในเร็วๆวันนี้  คล้ายๆเป็นวุ้นจะฉีดไปที่ท่อนอสุจิ และจะขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิ ไม่ให้เข้าไปสู้เพศหญิงได้  คำถามที่สำคัญก็คือ  แล้วยาคุมกำเนิดนี้จะส่งผลต่อการเป็นผู้ชายหรือเปล่า ตัวฮอร์โมนจะถูกส่งผ่านเส้นเลือด  ที่เป็นคนละส่วนกันเพราะฉะนั้นมันไม่น่าจะรบกวนการทำกิจกรรมทางเพศ  ก็น่าจะใช้การได้ปกติ 

บุญเลิศตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า คำถามในโลกสมัยใหม่ก็คือ  ใครจะเป็นคนใช้ยาคุมกำเนิด ในเมื่อใช้แล้วต้องรับความเสี่ยงจากการใช้ด้วย แล้วการสร้างยาคุมกำเนิดสำหรับเพศชาย  จะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของผู้ชายจริงๆหรือไม่ หรือว่าผู้ชายรู้สึกว่าไม่สามารถรับภาระในการดูแลคนอื่นๆได้  หรือว่าผู้ชายยังมีอำนาจในการต่อรองแล้วผู้ชายจะใช้ยาคุมกำเนิดแทนที่จะใช้ถุงยางอนามัย ด้วยถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อได้ดีกว่าด้วย สมมุตว่าหลังจากการวางขายของผลิตภัณฑ์มีรายงานผลเสียของผลิตภัณฑ์หรือบางคนที่เคยใช้แล้วคิดว่ามันส่งผลต่อกิจกรรมทางเพศของเขา เขาก็อาจจะเกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้ได้

บุญเลิศกล่าวปิดท้ายว่า ผู้ชายเกิดความกลัวต่อการตังครรภ์ รู้สึกว่าผู้หญิงเป็นภาระ  เป็นการตอกย้ำความเชื่อของคนในสังคมว่า ผู้หญิงต้องการการพึ่งพา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net