ความเป็นมาของชาวอุยกูร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ชาวอุยกูร์ เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยในบริเวณที่จีนเรียกว่า “ซินเจียง” ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารเพราะตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายทากลามากัน เมื่อมองจากภูมิประเทศ หลายคนอาจคิดว่าซินเจียงเป็นเพียงดินแดนไกลปืนเที่ยงที่ไร้ผู้คนและด้อยความสำคัญ แต่อันที่จริงแล้วซินเจียงมีความสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เพราะเป็นที่ตั้งของ “แอ่งทาริม” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจีน และซินเจียงตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมองโกเลีย ชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกติดกับ รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน ปากีสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน

การที่อยู่ใกล้กับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศ ทำให้ประชากรพื้นเมืองของซินเจียงไม่ใช่ชาวจีนแต่เป็นคนเชื้อสายอื่นๆ จากการทำสำมะโนประชากรในปี 2000 ปรากฏว่า ซินเจียงประกอบด้วย ประชากรทั้งสิ้นประมาณ 19.25 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นมุสลิม ร้อยละ 54.96 ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวอุยกูร์ ร้อยละ 42.21 ชาวคาซัค ร้อยละ 6.74 ชาวหุย ร้อยละ 4.55 ชาวตงเซียง ร้อยละ 0.30 ชาวทาจิค ร้อยละ 0.21 ชาวอุซเบค ร้อยละ 0.066 และชาวซาลาร์ ร้อยละ 0.02[1]

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับชาวอุยกูร์ในซินเจียงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าหยั่งลึกในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ซินเจียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน การที่ซินเจียงเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ทำให้ซินเจียงเจริญถึงขีดสุดในยุคที่การค้าบนเส้นทางสายไหมรุ่งเรือง ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้นถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมุสลิมนิกายซูฟีทั้งสิ้น นครการค้าอย่างนครคาซการ์กลายเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบเอเชียกลาง จนถึงช่วงศตวรรษที่ 14 บรรดาสุลต่านแห่งนครทั้งหลายในแถบนี้ ก็เรียกดินแดนของพวกเขาอย่างรวมๆ ว่าเตอร์กิสถานตะวันออก

ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในเวลานั้นจีนมีนโยบายที่จะปกครองชาวอุยกูร์อย่างผ่อนปรนและให้ชาวอุยกูร์ปกครองกันเอง ให้เสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา

ต่อมาในศตวรรษที่ 18 จีนและรัสเซียแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชียกลาง จีนจึงมีนโยบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเจียง และเมื่ออิทธิพลของอังกฤษแผ่เข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียกลางในศตวรรษที่ 19 จีนก็ยิ่งต้องแสดงความเป็นเจ้าของซินเจียงเพื่อทัดทานกับการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศจึงถูกเขียนขึ้นล้อมอาณาจักรจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ตัดขาดชาวมุสลิมในซินเจียงกับมุสลิมในเอเชียกลาง อำนาจปกครองก็ถูกรวบไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซินเจียงกลายเป็นเพียงดินแดนชายขอบของอาณาจักรจีนอันไพศาล อารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากอารยธรรมของจีนซึ่งเป็นศูนย์กลาง ซินเจียงค่อยๆหมดความสำคัญในฐานะดินแดนการค้าลง แล้วเศรษฐกิจก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นเพียงดินแดนที่ยากจน

นอกจากนี้ จีนได้ส่งขุนนางจีนไปปกครองซินเจียงแทนการให้ชาวมุสลิมในท้องถิ่นปกครอง ขุนนางที่ถูกส่งไปมักเป็นขุนนางโฉดที่ถูกลงโทษให้ไปลำบากในแดนไกล แต่การที่อยู่ไกลเมืองหลวงมากเปิดช่องให้ขุนนางเหล่านี้กดขี่ประชาชน ขูดรีด ทุจริต และไม่เคารพต่อประเพณีมุสลิม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวอุยกูร์อย่างมาก จุดนี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้ชาวอุยกูร์เกลียดชังรัฐบาลจีน และมีเหตุสู้รบต่อต้านทางการนับครั้งไม่ถ้วน

รัฐบาลแห่งราชวงศ์ชิง มีนโยบายต่อชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านคือ การปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทำให้ชาวอุยกูร์ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ความเกลียดชังก็ยิ่งเพิ่ม นโยบายนี้จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยิ่งใช้ก็ยิ่งกระพือปัญหาให้ลุกลามมากขึ้น

เมื่อเกิดปัญหาการเมืองภายในจีน จนนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในปี 1912 ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ ในซินเจียงก็เคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช และประกาศตั้ง “สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก” ในปี 1933 โดยใช้ธงชาติเป็นธงพื้นสีฟ้า มีรูปดาวและดวงจันทร์เสี้ยวสีขาว

จีนหันไปปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 กองทัพจีนกรีฑาทัพเข้ายึดซินเจียง รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในยุคแรกๆ พยายามแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายควบคุมชาวอุยกูร์อย่างเข้มงวด ศาสนาถือเป็นสิ่งงมงายและกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ศาสนสถานของทุกศาสนาถ้าไม่ถูกเผาทำลายก็ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ มัสยิดในซินเจียงถูกทำลายและปิดร้าง มีการสังหารชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านรัฐบาลหลายแสนคน แต่ผลของนโยบายดังกล่าวกลับไม่ก่อให้เกิดความสงบราบคาบตามที่รัฐคาดหวัง นโยบายต่อต้านศาสนาของจีนคอมมิวนิสต์ กลับยิ่งทำให้เกิดขบวนการต่อต้านจีนหรือขบวนการเรียกร้องเอกราชกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมากมาย จนรัฐบาลจีนต้องหาทางลดแรงกดดันด้วยการประกาศให้ซินเจียงเป็น “เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง” ในปี 1955 โดยตั้งนครอูรุมฉีเป็นศูนย์กลาง[2]  แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงใช้ความเด็ดขาดในการปกครองและควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด ประกอบกับได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนระหว่างปี 1966-1976 ซึ่งนำไปสู่การกดขี่และปราบปรามผู้นับถือศาสนาต่างๆในจีนอย่างรุนแรง มีการเผาทำลายคัมภีร์ทางศาสนา มีการสังหารหมู่ผู้ต่อต้าน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่ามีการทำแท้งหญิงชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อจำกัดจำนวนประชากร เช่น ในทิเบต และในซินเจียง[3]

ในปี 1976 เมื่อเหมาเจ๋อตงถึงแก่อสัญกรรม และบรรดาคนสนิทถูกตัดสินประหารชีวิต ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงกลายเป็นผู้นำจีน การปฏิวัติวัฒนธรรมจึงสิ้นสุดลง จีนมีนโยบายที่ผ่อนปรนกับผู้นับถือศาสนาต่างๆ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจีนพบว่าการตั้งเขตปกครองตนเองไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ก็หันไปเลือกใช้นโยบายให้เสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มขึ้น ในปี 1983 รัฐบาลได้ยกเลิกกฎต่างๆ ที่เคยประกาศมาตั้งแต่ปี 1949 แล้วหันไปทำนุบำรุงมัสยิดที่ถูกปิดร้าง ส่งเสริมการตั้งสมาคมชาวอุยกูร์ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา4 แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ชาวอุยกูร์รู้สึกดีต่อรัฐบาลจีน เพราะพวกเขาเห็นว่าผู้นำศาสนาที่จีนส่งเสริมนั้น มีแต่พวกที่ฝักใฝ่อิทธิพลทางการเมืองกับตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ในศาสนาอย่างแท้จริงหรือมีจริยวัตรที่ดีงามและไม่ใช่บุคคลที่ชุมชนชาวอุยกูร์เคารพนับถือ

จีนดำเนินนโยบายต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง 2 นโยบาย คือ “นโยบายการจู่โจมให้หนัก” กับ “นโยบายการจัดการแบบผสมผสานหลายด้าน”

“นโยบายการจู่โจมให้หนัก” หมายถึง “นโยบายการจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบอย่างหนักและเด็ดขาด โดยใชกำลังตำรวจและกำลังทหารเข้าจัดการควบคุมสถานการณ์” โดยมีหลักตามกฎหมายปราบปรามอาชญากรรมของจีน 3 ประการ[4] คือ (1) ใช้กำลังเข้าปราบปราม (2) ลงโทษอย่างรุนแรง (3) โทษสูงสุดคือการประหาร นโยบายนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับชนกลุ่มน้อยในทิเบตในปี 1983 ต่อมาทางการจีนได้นำนโยบายนี้มาใช้ในซินเจียงตั้งแต่ปี 1991 ภายหลังมีการเพิ่มความเข้มข้นในปี 1997 และต่อมาก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในปี 2001

แนวทางการปฏิบัติของ “นโยบายการจู่โจมให้หนัก” คือ

1.เร่งสืบหาและกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้ทางการจีนได้ กระจายกำลังเจ้าที่ตำรวจ และทหารหลายพันนายออกสืบหา และจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบตามเขตเมืองใหญ่ๆ และหมู่บ้านที่รายรอบเมืองใหญ่ เดือนกุมภาพันธ์ปี 1996 มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย 2,773 ราย มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด 6,000 ราย และมีคนถูกสอบสวนและคุมประพฤติ 31,000 ราย[5]

2.ใช้ความเด็ดขาดในการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับในการสอบสวนนั้นบ่อยครั้งได้ใช้วิธีการที่บีบคั้นจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การบังคับให้ผู้ต้องหารับประทานเนื้อสุกรรมควัน เป็นต้น เมื่อเข้าสู่การลงโทษผู้กระทำผิดก็จะลงโทษสถานหนักที่สุด นั่นก็คือ การประหารชีวิต และมักจะไม่เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์[6]

แนวทางการปฏิบัติของ “นโยบายการจัดการแบบผสมผสานหลายด้าน” [7]  คือ

1.ควบคุมโรงเรียนและการสอนศาสนา ทางการจีนได้ตรวจสอบคำสอนและการสอนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทุกแห่งในซินเจียง หากโรงเรียนใดมีเนื้อหาการสอนที่ทางการเห็นว่าเป็นภัยก็จะทำการปิดโรงเรียนนั้นทันทีและได้สั่งห้ามสอนคัมภีร์อัลกุรอ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต[8]   

2.ควบคุมมัสยิดอย่างเข้มงวด ทางการจีนควบคุมมัสยิดทุกแห่งไม่ให้มีการชุมนุมเผยแพร่อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการจีน ที่สำคัญคือ ทางการได้สั่งปิดมัสยิต 50 แห่ง ทั่วซินเจียง นอกจากนี้ ยังทำการอบรมการเมือง และสอบการเมืองกับบรรดาอิหม่ามในซินเจียง หากอิหม่ามคนใดสอบไม่ผ่านก็จะถูกถอดถอนใบอนุญาตสำหรับอิหม่ามทันที[9]

3.ควบคุมข้าราชการและลูกจ้างรัฐที่เป็นมุสลิม โดยทางการจีนทำการควบคุมความประพฤติ และสอบประวัติครอบครัวข้าราชการและลูกจ้างรัฐที่เป็นมุสลิมทั่วทั้งซินเจียง นำไปสู่การปลดข้าราชการและลูกจ้างรัฐ จำนวน 25,000 คน[10]

4. เลือกปฏิบัติกับประชาชนในการรับนักศึกษา ข้าราชการ และการจ้างงาน โดยจะเลือกชาวจีนฮั่นก่อนชาวอุยกูร์เสมอ[11]

5. ประกาศให้เลิกสอนภาษาท้องถิ่น (ภาษาอุยกูร์) ที่ใช้ตัวเขียนเป็นอักษรอาหรับ โดยสั่งห้ามในการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ยกเว้นในมหาวิทยาลัยซินเจียง (Xinjiang University) อนุญาตให้ยังมีการสอนต่อไปได้ในสาขาวิชาวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี[12]

 ความขัดแย้งที่มีมาแต่เดิม และนโยบายของรัฐบาลจีน ก่อให้เกิดความกดดันและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหมู่ชาวอุยกูร์ ด้วยเหตุนั้น ชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งผันตัวสู่การเป็นนักรบกู้ชาติ ซึ่งในสายตาของทางการจีนเขาย่อมมีฐานะเป็นโจรแบ่งแยกดินแดนหรือผู้ก่อการร้าย ในขณะที่ชาวอุยกูร์จำนวนมากเลือกที่จะอพยพ โดยยอมเสี่ยงต่อการกลายเป็นนักโทษอาญาในคดีหลบหนีออกนอกประเทศตามกฎหมายจีน แล้วกลายเป็นผู้ลี้ภัยในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนมีชาติพันธุ์และภาษาคล้ายคลึงกันที่สุด นอกจากนี้ยังได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยในหลายประเทศทั่วทวีปยุโรปและในสหรัฐอเมริกา ชาวอุยกูร์อพยพเหล่านี้ยังคงมีการพบปะรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างคนที่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกัน เช่น การประกอบศาสนกิจ และงานสังคมต่างๆ อย่าง งานแต่งงาน งานศพ โดยยังคงใช้สัญลักษณ์ร่วมกันเป็นธงพื้นสีฟ้าที่มีรูปดาวและดวงจันทร์เสี้ยวสีขาว เพื่อระลึกถึงสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกซึ่งเหลือเพียงอดีตและความทรงจำ

 

ปล. ส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “นโยบายของจีนต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียง” เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันนี้ อยู่ในหนังสือเรื่อง “มุสลิมบนเส้นทางสู่เสถียรภาพความมั่นคง และสันติภาพของรัฐจากอุษาคเนย์สู่ผืนทวีปเอเชียและยุโรป” บรรณาธิการโดย ดลยา เทียนทอง ตีพิมพ์โดย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2556

 



[1] Department of Population, Social, Science and Technology Statistics of the National Bureau of Statistics of China (国家统计局人口和社会科技统计司) and Department of Economic Development of the State Ethnic Affairs Commission of China (国家民族事务委员会经济发展司), eds. Tabulation on  of  Nationalities of 2000 Population Census of China (  2000 年人口普查中国民族人口资料 )  Beijing: Nationalities Publishing House (民族出版社), 2003.

[2] “เขตปกครองตนเองของชนส่วนน้อย” อีก 4 แห่ง ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซีย (Ningxia Hui Autonomous Region)  เขตปกครองตนเองมองโกลเลียใน (Inner Mongolia Autonomous Region : IMAR)  เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี(Guangxi Zhuang Autonomous Region : GZAR) เขตปกครองตนเองซีจั้ง(ทิเบต) (Tibet Autonomous Region : TAR )

[3] Clyde-Ahmad Winters, Mao or Muhammad : Islam in the People's Republic of China., (Hong Kong : Asian Research Services, 1979).

[4] Tibetan Centre For Human Rights And Democracy. “Strike Hard” Campaign : China’s Crackdown on Political Dissidence  available from  http://www.tchrd.org/publications/topical_reports/strike_hard-2004/strike_hard-2004.pdf  (accessed March 4, 2007)

[5] Dru C. Gladney, “Responses to Chinese Rule,” in  Xinjiang : China’s Muslim Borderland , S. Frederick Starr, ed. (London : M.E. Sharpe, 2004) , p. 379.

[6] Ibid., p. 85.

[7] Michael Dillon,  Xinjiang – China’s Muslim Far Northwest, Durham East Asia Series (London : Routledge Curzon, 2004), p. 84.

[8] Lilion Craig Harris,  “Xinjiang, Central Asia and the Implications for China’s Policy in the Islamic World,” China Quarterly  133(1993), p 121.

[9] Michael Dillon, op.cit., p. 74.

[10] Michael Dillon, op.cit., p. 73.

[11] Calla Weimer, “The Economy of Xinjiang,” in   Xinjiang : China’s Muslim Borderland , S. Frederick Starr, ed. (London : M.E. Sharpe, 2004) , p. 179.

[12] Arienne M. Dwyer, The Xinjiang Conflict: Uyghur Identity, Language. Policy, and
Political Discourse
. East-West Center. Washington, 2005, p. 40.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท