Skip to main content
sharethis
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรองไว้พิจารณาด้วยคะแนน 189 เสียง แนะควรชี้แจงถึงกรอบหน้าที่ แนวทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับให้ชัดเจน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มี พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง รมช.กลาโหมชี้กำลังพลจะต้องเกณฑ์ทหารตามปกติ บุคคลเพศที่ 3 ตามบทบัญญัติไม่ได้ระบุให้ยกเว้น
 
17 ก.ค. 2558 วิทยุรัฐสภา รายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้และได้แสดงข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะไว้อย่างหลากหลาย อาทิ ควรชี้แจงถึงกรอบหน้าที่ แนวทางปฏิบัติ ระยะเวลาการฝึก ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ การรับบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรอง สิทธิของนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นกำลังผลสำรองอย่างละเอียดชัดเจน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง นอกจากนี้ได้เสนอว่า ควรให้ รมต.กลาโหมเป็นประธานคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.) หรือไม่ พร้อมตั้งข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าหากเป็นกำลังพลสำรองแล้วไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารหรือไม่
 
ด้านพล.อ.ดุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการที่เห็นว่าควรให้ รมต.กลาโหมเป็นประธาน คกส.นั้น เนื่องจากกำลังพลสำรองไปเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ครอบคลุม การสั่งการมีประสิทธิภาพจึงกำหนดให้ผู้ที่เป็นประธานมีระดับสูงกว่าเจ้ากระทรวง และที่ว่าจำนวนกำลังพลสำรองมีกว่า ล้านคน ที่บรรจุทุกเหล่าทัพจะบรรจุในส่วนของกำลังพลเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์และในแต่ละปีจะใช้กำลังพลหมุนเวียนกัน 45,000 คน ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะดำเนินการบรรจุตามนี้ แต่หากมีเหตุจำเป็นเช่น เกิดสงคราม เกิดภัยพิบัติรุนแรง ก็อาจจะต้องเรียกเกินจำนวนที่ระบุไว้ ส่วนระยะเวลาการฝึกที่ระบุไว้ 2 เดือนก็เพื่อให้เกิดความครอบคลุม แต่ถึงเวลาฝึกจริงจะไม่ถึงที่ระบุไว้ จึงไม่กระทบกับภาระของนายจ้างและลูกจ้างมากนัก
 
รมช.กลาโหม ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า กำลังพลจะต้องเกณฑ์ทหารตามปกติ บุคคลเพศที่ 3 ตามบทบัญญัติไม่ได้ระบุให้ยกเว้น พร้อมกันนี้จะขอรับข้อเสนอที่ว่า ให้ประชาสัมพันธ์ความจำเป็นหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตและต้องเรียกกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่ให้ประชาชนทราบอย่างระเอียดเพื่อความร่วมมือในการปฏิบัติ ไปพิจารณา จากเหตุผลที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตราพ.ร.บ.นี้ ซึ่งเป็น ร่างพ.ร.บ.ที่รวบรวมเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อสะดวกต่อการบังคับใช้และแก้ปัญหาเหตุการณ์วิกฤติของประเทศชาติได้อย่างทันท่วงที
 
ภายหลังอภิปรายและรับฟังคำชี้แจงจากรมช.กลาโหม ที่ประชุมมีมติเห็นรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.กำลังพล พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 60 วัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net