Skip to main content
sharethis

Amnesty International Thailand จัดงานรำลึก เนลสัน แมนเดลา พร้อมจัดวงเสวนาเรื่อง นักโทษทางความคิด และนักโทษทางการเมือง วิทยากรชี้ สังคมที่มีนักโทษทางการเมือง สะท้อนอำนาจที่ถูกสั่นคลอน

เมื่อวานนี้(17 ก.ค. 2558) Amnesty International Thailand ได้จัดงาน 'Light Up Night: A human rights hero is gone, but his legacy lives on.' เพื่อรำลึกถึง เนลสัน แมนเดลา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536 ผู้ถูกจองจำเป็นเวลานานถึง 27 ปี จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการแบ่งแยกเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ และสีผิว ทั้งนี้แมนเดลา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556 โดยในวันที่ 18 ก.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิดของแมนเดลา

ภายในงานได้มีการติดป้าย กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับกุมเนื่องจากออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ก่อนจะถูกปล่อยตัวออก ขณะนี้อยู่ในช่วงพิจารณาคดีโดยศาลทหาร

งานครั้งนี้ได้มีการจัดวงเสวนาในประเด็นเรื่อง นักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด และสิทธิมนุษยชน โดยมีวิทยากรประกอบด้วย วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, สมชาย หอมลออ, กิตติชัย งามชัยพิสิฐ และประทับจิต นีละไพจิตร ทั้งนี้ตลอดการเสวนามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายภาพ และบันทึกวิดีโอตลอดเวลา

เสวนา : นักโทษทางความคิด นักโทษการเมือง และสิทธิมนุษยชน

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ อดีตนักโทษทางการเมือง ซึ่งถูกจองจำในสมัย 6 ตุลาคม 2519 เป็นเวลา 2 ปี เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง สีชุดที่ใส่มาร่วมงานในวันนี้ว่า เป็นสีเดียวกันกับ ชุดของนักโทษ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าตนเองเป็นนักโทษการเมืองยุคสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่พอมาถึงสมัยนี้กลับยังมีนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด และยังมีการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารอยู่ ไม่แตกต่างไปจากสมัย 6 ตุลาคม 2519

วิโรจน์ เล่าถึงช่วงบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยในสมัยที่ตนเองเป็นนักศึกษา โดยกล่าวว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการปิดกั้นทางความคิดมาก ก่อน 14 ตุลาคม 2516 คนในประเทศแทบจะไม่รู้จักสิ่งที่เรียก ‘สิทธิมนุษยชน’ คนรู้จักเพียงแค่คำ 3 คำคือ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ โดยวิโรจน์มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การที่คนเริ่มรู้จัก และตระหนักในเรื่องของ สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ในช่วงรัฐเผด็จการ แต่กลับถูกกดทับทางความคิด ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด พร้อมกับการตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเกิดเป็นบรรยากาศของการสร้างความเกลียดชัง การมองเห็นคนไม่เป็นคน ในที่สุดนำมาซึ่งการล้อมปราบนักศึกษา และจับกุมนักศึกษาเป็นนักโทษทางการเมืองนับพันคน และมีจำนวน 19 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างรุนแรง ซึ่งถูกจองจำเป็นเวลา 2 ปี โดยที่ยังไม่มีการพิพากษา


สมชาย หอมลออ ได้ให้ข้อมูลว่า ในกรณีของนักศึกษาสมัย 6 ตุลา 2519 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้เข้ามามีส่วนช่วยในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยการส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจดหมายจากทั่วโลกที่มาจากสมาชิกของ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งมาที่ประเทศมีราว 1 แสนฉบับ

สมชายกล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองช่วงหลัง 6 ตุลาคม มีการปิดกั้นสื่อในประเทศไทยอย่างมาก แต่ว่าไม่สามารถที่จะปิดกั้นประเทศจากโลกภายนอกได้ หมายความว่าคนในประเทศจะรู้ข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า คนที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อภาพต่างๆ และข้อมูลข่าวสารออกไปนอกประเทศ แอมเนสตี้ฯ ก็เข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือผ่านการรณรงค์ สิ่งแรกที่ได้คือ การที่รัฐยอมให้ฝ่ายนักศึกษาที่ถูกจับกุม สามารถมีทนายความได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่อนุญาตให้มีทนายความ
สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วงเวลานั้น สมชาย เล่าว่า กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวลานั้นถูกจับกุมจำนวนมาก บางส่วนหลบหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิสต์แห่งประเทศไทย ในส่วนของกลุ่มที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ตุลา ทั้งที่ถูกจับกุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มที่ถูกตามไปจับที่บ้าน มีจำนวนนับพันคน แต่ว่าก็ได้มีการทยอยปล่อยตัวออกมา โดยอัยการได้สั่งฟ้องจำนวนหนึ่ง และตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรง เช่นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล้มล้างการปกครอง และข้อหาคอมมิวนิสต์

สมชาย ยังกล่าวถึงความต่างระหว่างนักโทษทางความคิด และนักโทษทางการเมืองว่า หลักการที่แอมเนสตี้ฯ ยึดอยู่คือ การถือว่าเสรีภาพทางความคิด เป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ไม่อาจจะจำกัดได้ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นองค์กร หรือเป็นรัฐก็ตาม เพราะบุคคลมีเสรีภาพที่จะคิดที่เชื่อ ตราบเท่าที่การคิด การเชื่อนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการกระทำที่ส่งผลให้เกิดการสร้างความเกลียดชัง หรือความรุนแรง ถ้ารัฐเข้ามาจำกัดเสรีภาพเหล่านี้โดยการจับกุมคุมขัง นั่นเท่ากับว่ารัฐกำลังจับกุมนักโทษทางความคิด ต่อกรณีนี้จุดยืนของแอมเนสตี้ฯ คือเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ นักโทษทางความคิดต่างจากนักโทษทางการเมืองคือ อาจจะมีการใช้ความรุนแรง แต่ว่าจุดยืนของแอมเนสตี้ฯ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนคือ การมองเห็นว่าคนเหล่านี้แม้จะมีการใช้ความรุนแรง หรืออาจจะไม่ใช้ความรุนแรงจริง แต่ถูกใส่ร้าย สิ่งที่ต้องมีอย่างขาดไปไม่ได้คือ การให้กระบวนการพิจารณาคดีที่มีความเป็นธรรม อย่างเช่น ตอนนี้ก็มีการดำเนินการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอยู่คือ การที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน สมชาย มองว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการยืนยันในเรื่องความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกอย่างเสรี แต่กระนั้นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวผู้มีอำนาจ หรือการที่มีอำนาจลดการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ หากแต่อยู่ที่ผู้คนในสังคม จะทำอย่างไรให้คนตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยสมชายมองว่า การใส่อารมณ์ หรือการใช้ถ้อยคำในลักษณะดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น


กิตติชัย งามชัยพิสิษฐ พูดถึงประเด็นนักโทษทางความคิด นักโทษทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า เมื่อพูดถึงคำว่านักโทษทางความคิด ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่า ในปัจจุบันเรากำลังเป็นนักโทษทางความคิดกันอยู่หรือไม่ แม้จะไม่ได้อยู่ในเรือนจำก็ตาม มีหลายเรื่องที่เราตั้งคำถามไม่ได้ ซึ่งการตั้งคำถามอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในสองระดับคือ จากค่านิยม ความเชื่อ บรรทัดฐานของคนในสังคม ซึ่งพร้อมจะลงโทษผู้คนที่คิดต่างออกไป เช่นการด่าทอ และการประณาม ขณะที่ระดับที่สองคือ การลงทัณฑ์จากรัฐ ซึ่งนำไปสู่การติดคุก การต้องรับโทษตามกฎหมาย

กิตติชัย เล่าต่อไปถึงขบวนการสันติวิธีว่า การที่จะออกมาเคลื่อนไหวและกลายเป็นนักโทษทางความคิด อย่างกรณีของกลุ่มดาวดิน กรณีกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือคนที่กำลังโดนเล่นงานอีกหลายคน ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นอยู่ดีๆ ก็ออกมาพูดเพราะมีเบื้องหลัง มีคนจ้างมา แต่มีกระบวนการในการเรียนรู้ปัญหาสังคม และตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การไปพบเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ การให้สัมปทานปิโตรเลียม ฉะนั้น การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินมีเบื้องหลังมาจากปัญหาทางสังคมเหล่านี้ ปัจจัยต่างๆ ที่หล่อหลอมพวกเขามา ทำให้เขามีความรู้สึกใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เขาจึงเลือกเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีโดยที่อาจจะไม่ได้เรียนเรื่องสันติวิธีมาโดยตรง แต่โดยพื้นฐานแล้ว เขายอมรับในหลักการเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คนควรเท่าเทียมกัน คนควรมีสิทธิเสรีภาพ คนจะได้พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย ฉะนั้นด้วยความเชื่อแบบนี้ถ้าเขาไปใช้ความรุนแรงนั่นแปลว่าเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาเชื่อ สันติวิธีจึงเกิดขึ้นเองด้วยความเชื่อว่าคนเท่ากัน

กิตติชัย พูดถึงเครื่องมือของสันติวิธี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ การชักจูง โน้มน้าว ให้ข้อมูล ถกเถียง เพื่อเปลี่ยนใจคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แต่ว่าเป็นวิธีที่สำเร็จยาก เพราะหลายกรณีเป็นเรื่องที่คุยกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงเข้ามาสู่เครืองมือที่สองคือ การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ เช่นการถอนความร่วมมือ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การถอนเงินออกจากธนาคาร ไม่จ่ายภาษี เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อฟัง และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เครืองมือที่สามคือ การเข้าไปแทรกให้กิจกรรมที่เขากำลังจะทำ หรือทำอยู่ให้หยุดชะงัก เช่นการที่ดาวดินชูสามนิ้ว ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ ที่จ.ขอนแก่น หรือกรณีของจิตรา คชเดช ชูป้ายดีแต่พูด ต่อหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กิตติชัย กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานรณรงค์ไม่ใช่เป็นการทำงานเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว หากต้องเป็นการทำงานประสานกันกับหลายกลุ่มหลายองค์กร เพื่อลดความมุทะลุ ลดการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว พร้อมกับการให้คนอื่นเป็นกระจกสะท้อนเพื่อที่เราจะได้ไม่มองเห็นตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว การมีเครือข่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้มีแต่ผู้ปฏิบัติการพียงอย่างเดียว ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งแนวหลัง และคนจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าเพื่อควบคุมไม่ให้การเคลื่อนไหวเป็นเงื่อนไข หรือนำไปสู่ความรุนแรง

“หลายครั้งมีคนบอกว่า สันติวิธีใช้ไม่ได้ผลหรอก หลายกรณีเกิดจากการไม่เตรียมการ ไม่วางแผน ไม่ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” กิตติชัยกล่าว

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กรณีที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกจับกุม กิตติชัยมองว่า เป็นเพราะกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม ได้สั่นคลอนอำนาจบางอย่าง หรือเล่นกับค่านิยมบางอย่าง เวลาเกิดการตั้งคำถามหรือ สั่นคลอนอำนาจ แล้วนำไปสู่การจับกุมนักโทษทางความคิดเหล่านี้ นั่นแปลว่า ทางฝ่ายผู้มีอำนาจเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนแล้ว
เมื่อถามถึงจำนวนนักโทษทางการเมืองในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ประกอบบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน กิตติชัย แสดงความเห็นว่า ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งที่ไม่มีใครกล้าพูดถึงขบวนการการเคลื่อนไหว หรือวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาล เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปนับจากนี้สำหรับประเทศไทยคือ การรักษาเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับไต่เส้น ขยับเส้นออกไปเรื่อยๆ พร้อมกันกับการทำความเข้าใจ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับคนในสังคม


ประทับจิต นีละไพจิตร เริ่มต้นด้วยการจำกัดคำนิยามของคำว่า นักโทษทางความคิด และนักโทษทางการเมือง ว่าเป็นกรณีเดียวกัน แต่เห็นว่าควรใช้คำเดียวคือ นักโทษการเมือง เพราะว่าเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนักโทษทางความคิด หรือนักโทษทางการเมือง เรากำลังพูดถึงสิ่งเดียวกันคือเสรีภาพ ซึ่งคือศักยภาพที่มีมาโดยกำเนิด และเป็นศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ บนพื้นฐานของความจริงที่หลากหลาย (virtues) ซึ่งเสรีภาพต้องมี 2 สิ่งประกอบกันคือ เสรีภาพที่จะเชื่อ และเสรีภาพที่จะกระทำ ส่วนในเรื่องการใช้ความรุนแรง หรือไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่แยกออกไป ขึ้นอยู่กับว่า จะใช้วิธีการแบบไหนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแยก เพราะเวลาที่มีคนเป็นนักโทษทางความคิด ก็จะมาจากความคิดทางการเมืองอยู่ดี

ประทับจิต กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลเมื่อปี 2538 พบว่ามีผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยการกระทำต่างๆ วิธีการของการจัดการสิทธิเสรีภาพภาพในเรื่องอันดับหนึ่งอยู่ที่ลอบยิง อันดับสองคือการอุ้มหาย อันดับสามคือการจับกุม ซ้อมทรมาน ขณะที่ในปัจจุบันมีวิธีการในการจับกุมแบบใหม่ๆ เช่น การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการใช้กระบวนการยุติธรรมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการแทรกแซงไม่ให้ใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความแนบเนียนมากขึ้น และมีการพุ่งเป้ามาที่คนธรรมดาทั่วไป จากเดิมที่นิยมจำกัดเฉพาะเพียงแกนนำ ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว โดยเปลี่ยนวิธีการในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้การถูกลอบยิง หรืออุ้มหาย จะลดน้อยลงในช่วงหลัง แต่ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากรัฐเปลี่ยนรูปแบบในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขยายวงจากการจำกัดที่แกนนำไปสู่คนทั่วไป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ในตอนนี้ กรณีที่มีการจำกัดเพดานในการพูดเรื่องบางเรื่อง ประทับจิตเสนอว่า ต้องทำให้คนในสังคมมองลงไปลึกถึงรากถึงโคน เพื่อที่จะมองเห็น และเข้าใจผู้อื่นที่แตกต่างไปจากเรา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง ความเชื่อ หรือเรื่องอื่นๆ มองให้เห็นสิ่งที่เรามีเหมือนกันมากที่สุดบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งคือ ความเป็นมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net