คุยกับ ‘ลูกเกด' ชลธิชา แจ้งเร็ว: แม่ - เรือนจำหญิง - ความรัก

เปิดใจ ‘ลูกเกด’ 1 ใน 14 น.ศ. ผู้หญิงคนเดียวที่โดนหมายจับ ลูกเกดเล่าถึงเรื่องราวชีวิตส่วนตัว อาการป่วย ครอบครัว ตลอดจนเรื่องราวในคุกหญิงตลอด 12 วัน ความรัก และการจดทะเบียนสมรส

‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว เธอคือผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม 14 นักศึกษาซึ่งถูกควบคุมตัวจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา หลังจากศาลทหารได้อนุญาตฝากขังในคืนเดียวกัน เธอถูกฝากขังในเรือนจำหญิงกลาง ในขณะที่เพื่อนๆ อีก 13 คนซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมดถูกฝากขังรวมกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ระหว่างการฝากขัง มีข้อความจากเพื่อนทั้ง 13 คนและคนอื่นๆ บอกให้เธอประกันตัว เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าคุกหญิงนั้นไม่สะดวกสบายและมีกฎระเบียบเข้มงวดกว่าคุกชายมากนัก อีกทั้งลูกเกดยังมีอาการป่วยซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 ที่ผ่านมา แต่เธอไม่ยอมประกันตัว แถมยังฝากบอกกลับมาอย่างจริงจังและหนักแน่นว่า  “ไอ้เหี้ย กูเข้มแข็งกว่าพวกมึงอีกเว้ย” “ถ้าจะออกก็ออกพร้อมกันสิวะ”

หลังจากฝากขังครบผัดแรก ศาลทหารไม่อนุมัติการขอฝากขังของพนักงานสอบสวนในผัดที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58  ลูกเกดและเพื่อนอีก 13 คนถูกปล่อยตัว และคดียังคงดำเนินต่อไป แต่ถึงอย่างนั้น ผู้หญิงตัวเล็ก ผมสั้น สวมแว่นกลมๆ อันใหญ่ ยังคงมีรอยยิ้มบนใบหน้าตลอดเวลาที่พูดคุยกับเรา เธอตอบทุกคำถามด้วยน้ำเสียงสดใสและฉะฉาน 

ด้านล่างนี้คือบทสนทนากับลูกเกด เธอได้เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้ง ก่อน-ระหว่าง-หลัง การถูกควบคุมตัวในเรือนจำหญิง รวมถึงเรื่องครอบครัว เพื่อน แฟน การจดทะเบียนสมรส และแม่ ผู้เป็นพลังสำคัญของเธอนับตั้งแต่วันที่เธอถูกควบคุมตัว...

หลังจากออกจากคุก ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง?

หลังจากออกจากเรือนจำ เรื่องแรกที่ต้องเคลียร์คือสุขภาพตัวเอง พอออกจากเรือนจำเป็นคิวนัดของหมอที่โรงพยาบาลราชวิถี จริงๆ เกดไปมาตั้งแต่ 25 พฤษภาแล้ว หลังจากวันที่ถูกจับหน้าหอศิลป์ฯ

พอออกจากเรือนจำมีคิวไปหาหมอที่ราชวิถี แต่ถึงตอนนี้ (16 ก.ค.) ก็ยังไม่ได้ไป มีโอกาสได้พบหมอหลายที่ แต่ว่ามันค่อนข้างเหนื่อยเพราะไปหาหมอแต่ละที่ มันมีเรื่องของการเดินทาง เสียเวลา เราต้องเคลื่อนไหวร่างกายด้วย ตรวจก็ค่อนข้างเยอะ แต่ละที่ตรวจไม่เหมือนกันอีก และมุมมองที่มีต่ออาการป่วยของเราก็แตกต่างกัน อย่างที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลราชวิถี เขาบอกว่าน่าจะเป็นปลายประสาทอักเสบ มันไม่ถึงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาตแน่ๆ แต่ว่าคือมันอาจจะเป็นอาการของปลายประสาทชา ใช้เวลาฟื้นตัวสองสามเดือนเดี๋ยวก็หาย แต่มันต้องควบคู่ไปกับการกินยาและทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเอง มันก็ดีขึ้น แต่หมออีกที่ก็บอกว่า เป็นแค่กล้ามเนื้อเพราะเราเครียดหรือเปล่า

ส่วนอาการร่างกายตอนนี้ เดินได้ แต่ยังวิ่งไม่ได้ (หัวเราะ) คือมันมีอาการชาบ้าง เสียวๆ เวลาลงน้ำหนักที่ขาข้างซ้ายมากไป ฝ่าเท้าข้างซ้ายจะแปล๊บขึ้นมาเลย มันไม่ทรมานนะ เราไม่ได้โฟกัสตรงนั้นอยู่แล้ว ถ้าจะทรมานคือทรมานที่ว่าเราจะคิดทำกิจกรรมยังไงต่อดีวะ กูจะล้ม คสช.ยังไงดีวะ กูจะทนอยู่ร่วมในสังคมกับมันยังไงดี อะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

หลังจากสุขภาพ ต่อมาก็คือหาลู่ทางในการทำงาน ก่อนหน้านี้มีบริษัทหลายที่ให้เราเข้าไปเซ็นสัญญาทำงาน แต่ด้วยความที่เรื่องสไตล์การทำงาน ไม่ชอบเข้าออฟฟิศทุกวัน และเรารู้สึกเลยว่าเรายังตัดไม่ขาดกับเรื่องของการทำกิจกรรม การเคลื่อนไหวตรงนี้ เราก็เลยลังเล แต่เราก็ต้องพยายามรับผิดชอบชีวิตตัวเราเองด้วย ต้องรับผิดชอบแบ่งเบาภาระทางบ้าน ก็เลยหางานทำ ตอนนี้ก็ทำงานกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ก็จะช่วยเขาในการเก็บข้อมูลต่างๆ

แม่เขาค่อนข้างกังวลเรื่องสุขภาพเรามากเพราะเขาเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กๆ เขาจะรู้เลยว่าเราเป็นเด็กขี้โรค แต่อีกอย่าง...คือแม่ห่วงเรื่องความปลอดภัย ก็คือเขาก็รู้มาว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารคอยตามเราตลอด ตอนนี้ก็มีไปที่บ้านเรา อยู่แถวหน้าหมู่บ้าน แม่ก็ไปฉะกะยามหน้าหมู่บ้านมาเพราะยามปล่อยให้เข้ามาได้ยังไง อย่างที่มีข่าวอาชีวะออกมาว่าจะมาเคลื่อนไหวสนับสนุนประยุทธ์ เขาก็เลยยิ่งกังวล เขากลัวว่าคนกลุ่มที่คิดต่างกับเราหรือเห็นด้วยกับประยุทธ์จะไม่พอใจเราแล้วจะทำร้ายเราหรือเปล่า

แต่เราก็พยายามชี้แจงนะ เราว่าสังคมเรามันอาจจะไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นหรือเปล่า คือมองโลกในแง่ดีไง คือเราฝันถึงสังคมที่มันเปิดกว้าง ทุกคนยอมรับในความคิดที่มันแตกต่างหลากหลายอะไรแบบนี้ แล้วก็พยายามที่จะอยู่ในสังคมแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดเราก็คิดว่าเราควรจะเริ่มจากตัวเราเอง ในการยอมรับคนที่เขาคิดไม่เหมือนกับเรา

เกดเคยบอกว่าความคิดเห็นทางการเมืองของเกดกับที่บ้านไม่ตรงกัน หลังจากออกจากเรือนจำ ที่บ้านเข้าใจเรามากขึ้นไหม?

สถานการณ์โดยรวมเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็โอเคนะ ติดอยู่แค่เรื่องเดียวคือความเป็นห่วง แต่ความเข้าใจเราว่ามันดีกว่าเดิมเยอะ เขาเริ่มมองมุมมองแบบเรามากขึ้น เขาเริ่มเปิดรับตรงนี้มากขึ้น

หลังเหตุการณ์มีการคุยกันมากขึ้นนะ ก็มีการแลกเปลี่ยนกัน เวลาเราไปไหนแม่ก็จะรู้จักคนที่ทำกิจกรรมร่วมกับเรามากขึ้น เขาก็จะได้มุมมองใหม่ๆ มา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองเราก็กล้าจะคุยกับแม่มากขึ้นว่า เออเนี่ย...ทำไมเราไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เขาก็รับฟังแล้วก็เข้าใจเรามากขึ้น

เกดกับแม่ค่อนข้างสนิทกันนะ เป็นแม่ลูกกันแต่ว่าเวลาคุยกันจะเหมือนเป็นเพื่อนกันอะ เราก็ไม่ได้จะพูดไพเราะกับแม่ขนาดนั้น ก็จะแบบ เออๆ อะไรเนี่ย... แบบนี้คือแบบจะมีมุมของคนที่เป็นเพื่อนกันเพราะอายุไม่ได้ห่างกันเยอะขนาดนั้นไง แม่จะมีนิสัยเด็กๆ ด้วย ก็จะคุยกัน

แต่เรื่องที่ไม่เคยคุยกันหรือแลกเปลี่ยนกันคือเรื่องการเมืองเราค่อนข้างกังวลไง ว่าเขาจะโอเคไหมถ้าเราเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมตรงนี้ ซึ่งเขาไม่โอเคแน่ๆ เพราะพ่อเราเป็นทหาร รับราชการ แล้วทุกการกระทำของเราจะส่งผลต่อหน้าที่การงานของพ่อ ก็อาจจะมีโดนผู้ใหญ่เรียกไปพบได้ เราก็เลยไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนประเด็นตรงนี้

พ่อว่ายังไงบ้างล่ะ?

ตอนแรกเลยออกมาก็ไม่กล้าคุยกับพ่อเพราะเรารู้สึกผิด เราทำพ่อเดือดร้อน และยังมีญาติผู้ใหญ่เรา ตระกูลข้างพ่อเขาจะค่อนข้างไม่พอใจ เขาจะโทรมาต่อว่าว่า...เออ เป็นทหารทำไมเลี้ยงลูกให้มาต้านรัฐประหาร ทำไมเลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบไม่ได้ ให้ลูกมายุ่งการเมืองทำไม เราก็รู้สึกผิดที่ทำให้พ่อเดือดร้อน แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าพ่อเขาเข้าใจเรามากขึ้นนะ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตัดไม่ได้เลยคือเรื่องของความเป็นห่วงน่ะ อันนี้คือต้องเข้าใจว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ความเป็นห่วงลูกมันค่อนข้างสำคัญ เรื่องความปลอดภัย เขาจะคอยห่วงตลอด คอยโทรตามโทรจิก

วันที่แม่ไปหาเกดหน้า สน. พระราชวัง พอได้เจอแม่แล้วรู้สึกยังไงบ้าง?

เท้าความให้ฟังก่อน มันเป็นเรื่องไม่ค่อยดีหรอก อาจจะมองได้ว่าเราเห็นแก่ตัวที่เราเลือกที่จะทำอะไรตามอำเภอใจเรา แต่ในขณะเดียวกันเราก็มองว่า เราอยากให้ทางบ้านเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เคารพในการตัดสินใจการเลือกใช้ชีวิตของเรา พอมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัววันที่ 8 เป้าของแม่คือต้องการให้เราไปรายงานตัวแต่เราไม่ไปรายงานตัว  ซึ่งวันที่ 8-10 มิ.ย. เกดไปทะเลกับเพื่อนกับแฟน เราก็อยู่ทะเลไง กลับมาวันที่ 10 มิ.ย. พอถึงกรุงเทพฯ ปุ๊บ แม่ก็โทรหาว่า หมายเรียกฉบับที่ 2 มาแล้วนะ ทำไมเราไม่ไปรายงานตัว แล้วก็ด่าเรา ด่าหนักมาก แล้ววินาทีนั้นเราก็ร้องไห้และเครียดด้วย เราก็เลยตัดสินใจหนีออกจากบ้านในวันนั้น

ไม่ได้เจอแม่เกือบ 20 วัน ที่ สน. (26 มิ.ย.58) เป็นวันแรกที่ได้เจอแม่ คือแฟนเราโทรไปบอกแม่ว่าเราถูกจับ เราก็ด่าใหญ่เลยว่าไปบอกแม่ทำไม ทำไมต้องบอกแม่ เราไม่อยากให้แม่เดินทางมาไง เราเป็นห่วงเขาด้วย แล้วไม่อยากให้เขาเป็นห่วงเราขนาดนั้น แต่คือเขามาวันนั้นเขาก็ไม่ได้ร้องไห้นะ เราก็ไม่ร้อง ก็แค่นั่งคุยกันใน สน. เขาก็ถามว่าอีกนานไหม จะได้กลับไหม เราก็ว่าไม่รู้สิ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง อยู่ได้

วันนั้นเขาก็ดูใจดีขึ้น หรืออาจจะเพราะเสียใจมาก (หัวเราะ) อะไรแบบนี้หรือเปล่า...เลยด่าเราไม่ถูก

แต่เกดบอกแม่ว่า...แม่ดูคนข้างหน้า สน. สิ เห็นไหมมีคนอีกตั้งมากมายที่เขาออกมาสู้ ที่เขากล้าที่จะออกมาสู้

เรื่องเล่าในคุกหญิง

วันแรกคือวันที่ 26 มิ.ย. ไปถึงปั๊บก็จะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำส่วนหนึ่งมารอรับเรา ทำประวัติ ตั้งแต่ตีหนึ่งครึ่ง เราไปนอนในแดนแรกรับตอนตีสอง แล้วคือเพื่อนนักโทษในแรกรับเขาก็จะมองเราแปลกๆ เพราะเราเข้ามาเป็นเคสพิเศษมาก คือ เขาบอกว่า ‘กูติดคุกมากเป็นสิบปีกูไม่เคยเห็นนะ ศาลที่ไหนแม่งเปิดรอรับมึงยันตีสองอะ’ หรือ ‘มึงไปทำคดีอะไรมา ไปโดนคดีอะไรมา’ เขาก็ถามว่าเรามาจากไหน เราก็บอกว่าจากศาลเลย เขาก็ว่าศาลที่ไหนเขาจะเปิดนานขนาดนั้น เราก็บอกว่า อ๋อ...เขาเปิดรอหนูอยู่อะไรแบบนี้อะ

อยู่แดนแรกรับไม่กี่ชั่วโมง พอตื่นมาตอนเช้า อาบน้ำ กินข้าวกันแล้วเขาก็พาเราไปทำประวัติ แต่เพราะเราทำอะไรช้า เราต้องเดินลากเท้าไง เขาเลยเป็นห่วงก็เลยให้ไปอยู่ที่สถานพยาบาลเลย เท่ากับว่าเราอยู่ในแรกรับ 5-6 ชั่วโมงเอง ส่วนที่อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์คือแค่ 3-4 วันก่อนกลับ

แล้วที่สถานพยาบาลเป็นยังไงบ้าง?

ที่สถานพยาบาลเนี่ย นักโทษด้วยกันบอกว่ามันจะสะดวกสบายกว่าแรกรับแต่กฎระเบียบเยอะกว่าในบางส่วน เช่น ห้ามเอาของมีคมเข้าไป อย่างปลากระป๋องเนี่ย เอาขึ้นไม่ได้นะ หรือแม้กระทั่งโรลออนที่เป็นขวดแก้วก็เอาขึ้นไม่ได้

ในคุกอย่างแรกที่ทำเลยก็คือเรื่องของการปรับตัวในการใช้ชีวิต คือตื่นเช้ามาก ตีสามให้อาบน้ำแล้ว เฉพาะที่สถานพยาบาลนะ แล้วก็ค่อยกลับไปนอนต่อรอเวลา ประมาณตี 5-6 โมง เขาก็นับยอด 7โมงเช้ากินข้าวเช้า ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงเรากินข้าวเช้า 11 โมง (หัวเราะ) แล้วกลางวันก็กินข้าวตอน 11 แล้วเที่ยงๆ คืออาบน้ำเย็น บ่าย 2 ครึ่งก็คือกินข้าวอีกรอบ บ่าย 3-4 เขาก็เตรียมให้เรานอน แล้วก็จะขังเราไว้ในห้องที่เรานอน

ส่วนมากในนั้นที่ทำก็จะได้สวดมนต์เล็กๆ น้อยๆ ตามกิจกรรมของคนป่วย ส่วนกิจกรรมส่วนตัว เราไม่ได้อะไรเลย คือหนังสือส่วนใหญ่ในเรือนจำมีแต่หนังสือพระ แต่ว่าไอ้หนังสือที่เราขอเอาเข้าไปเราเอาเข้าไม่ได้ เราไม่ได้รับหนังสือเลยเพราะกฎระเบียบค่อนข้างเยอะและจุกจิกกว่าผู้ชาย ในขณะที่เราออกมาปุ๊บ ถามพวกไอ้โรม (รังสิมันต์ โรม) ไอ้บาส (รัฐพล ศุภโสภณ) มันบอกว่าในฝั่งชายได้หนังสือ 20-30 เล่มที่ขอเอาเข้าไป

ในคุกเหมือนคนใช้ชีวิตกับการหายใจไปวันๆ หนึ่งอะ ซึ่งหากกำลังใจคุณไม่เข้มแข็งจริงมันก็อยู่ยากไง คือไม่มีทางที่เราจะรู้ข่าวสารด้านนอก

เราเข้าไปวันศุกร์ เสาร์-อาทิตย์ไม่มีใครมาเยี่ยม แต่พอมาวันจันทร์เขาซื้อของเยี่ยมให้เราเยอะมาก พวกพี่ทนาย ในขณะเดียวกันไอ้ความลำบากคือเราได้ของจริงๆ วันพุธ เห็นไหมว่าระยะเวลามันนานมากในขณะที่ฝั่งผู้ชายอ่ะ คือแป๊ปเดียวเขาก็ได้ของแล้ว เราก็เลยได้แปรงฟันวันพุธ เหี้ยมาก (หัวเราะ)

แต่ในระหว่างที่เรายังไม่มีของใช้เนี่ย ได้คุยกับนักโทษในสถานพยาบาล ก็จะมีกลุ่มเพื่อนเรา...ก็เรียกว่าเพื่อนได้เลย คือช่วงสองวันแรกในนั้นเรายอมรับเลยว่ามันเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดเลยอะ เราไม่มีข้าวของอะไรเลย ไม่ได้แปรงฟัน อาบน้ำก็ต้องขอสบู่คนอื่นใช้ แล้วเราก็ไม่รู้ข่าวคราวด้านนอกว่าเป็นไง กำลังใจเรานี่แบบ ฮวบเลย ช่วงแรกๆ  แต่พวกนักโทษด้วยกันเนี่ย เขาก็จะรู้แล้วว่าเราเป็นใครเขาก็จะเอาของมาให้เราใช้ ในคุก ‘รสดี’ ค่อนข้างสำคัญ ยิ่งกว่าทองอีก เพราะอาหารมันจะจืดไงต้องใช้รสดีช่วย เขาก็จะแบ่งรสดีให้เรา แบ่งนมให้เรา แบ่งน้ำผลไม้ให้เราตลอดอะ เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้เจอพวกเขาอะ ถ้าไม่ได้เจอพวกเขามันคงแย่มากในช่วงแรกๆ

พอเรามีของปุ๊บ วันพุธ ของเยอะมาก มีของทนาย มีของแม่เราอีก มีของที่แฟน อาจารย์ ซื้อให้ ปรากฏพอเยอะปุ๊บเราไม่มีที่เก็บ เราก็ต้องแบ่ง เราก็ให้เขา ก็เหมือนแบ่งกันใช้อะ แล้วก็แบ่งผ้าขนหนู แป้ง นมให้

เพื่อนบางคนในนั้นคลอดลูกในคุกแล้วอุ้มลูกกลับมาหาเกด เราอุ้มเด็กแล้วอยากมีลูกเลย (หัวเราะ)  แต่เขาก็บอกว่าไม่อยากให้ลูกรู้ว่าเกิดมาในคุกนะ เขาก็จะระบายกับเราเรื่องนี้ตลอด ช่วงแรกๆ เขาก็จะกล่อมเราเรื่องนี้ให้ประกันออกไปเถอะ ประกันออกไป... พวกพี่ยังอยากออกเลย

มันจะมีกฎระเบียบเช่น การวางตัวของเรากับผู้คุมที่เหมือนมีการแบ่งชนชั้นในนั้น บางคนก็ให้เหตุผลว่าเป็นการควบคุมคน แต่ตอนที่เราเข้าไป เราค่อนข้างไม่ชินกะเรื่องตรงนี้ คือการวางท่าทีกับผู้คุมด้วยกัน อย่างเช่นเขาเดินผ่านปุ๊บเราต้องนั่งลงหรือผงกหัวให้เขา ต้องหยุดนิ่ง ห้ามเดินสวน ต้องใช้สรรพนามในการคุยกับเขา เราไม่ชอบ แล้วเราไม่ชิน ตอนแรกก็ดื้อเหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดเราไม่อยากทำตัวเองเป็นปัญหา เราก็พยายามปรับ แต่เราก็รักษาความเป็นเราอยู่ ส่วนไหนที่เราว่าเราไม่เห็นด้วยขนาดนั้นเราก็มีการดื้อแพ่งบ้าง


8 ก.ค. 2558 นักกิจกรรม-นักศึกษาทั้ง 14 คนได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เกดเป็นผู้หญิงคนเดียวใน 14 คนที่โดนจับกุม คิดว่าการไม่ประกันตัวของเกดเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการต่อสู้ไหม?

เกดมองว่า ไม่ว่าจะเป็นเกดหรือไอ้โล้นทั้ง 13 คน เกดคิดว่าพอเรามีคดีร่วมกันเลยสนิทกันน่ะ เกดมองว่าจริงๆ แล้วตัวเราเองไม่ได้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเคลื่อนไหวหรือทำให้กระแสมาขนาดนี้ แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของทุกๆ คน ในทั้ง 14 คนเลยที่ไม่ประกันและลือกที่จะสู้ไปพร้อมๆ กันน่ะ ถามว่าถ้าในระหว่างนั้นมีคนใดคนหนึ่งประกันออกไป เชื่อเถอะว่าขวัญกำลังใจของคนที่เหลือเนี่ยมันก็ต้องสั่นคลอนบ้าง

แต่เกดมองส่วนตัวนะว่าบุคลิกของเกดก็คือ เป็นคนที่เหมือนดื้อเงียบ รั้น ถามว่าเราเข้าใจเหตุผลของเพื่อนไหม ตอนที่มันบอกว่าให้ประกันตัว ฝากทนายมาบอกว่า เออ ประกันออกไปเถอะนะ จนมันเกิดคำพูดด่าออกไปของเกด จริงๆ แล้วถามว่าเราได้ยิน เราน้ำตาคลอเลยนะ เรารู้สึกเลยนะที่เพื่อนเป็นห่วงเรา รู้สึกดีมาก เหมือนมันเป็นช่วงเวลาที่เราสู้อยู่ด้วยกันแล้วมันมีเพื่อนทั้ง 13 คนเนี่ย มาเป็นห่วงเราแบบนี้เราก็รู้สึกดีไง แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็คิดว่า เพื่อนก็ต้องเข้าใจเราเหมือนเรา เราเองเราก็ไม่ได้อยากปล่อยให้เพื่อนแค่ 13 คนหรือเปล่า มันไม่ใช่การต่อสู้ของแค่คนใดคนหนึ่งแต่มันก็คือการต่อสู้ของเราด้วย เป็นการต่อสู้ของทั้ง 14 คน มันคือการต่อสู้ของคนข้างนอกด้วย คือเรามองไปไกลถึงขั้นที่ว่ามันเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ว่าการทำกิจกรรมของเราตรงนี้มันไม่ผิด ถ้าจะมีกลุ่มคนอื่นมาทำแบบเรามันก็ต้องไม่ผิดเหมือนกัน คืออยากให้มันเป็นบรรทัดฐาน

ฟันเฟืองสำคัญเลยและอยากให้สังคมโฟกัสคือคนที่อยู่ด้านนอก คือคนที่สู้อยู่ด้านนอก เกดคิดว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วเนี่ย บทบาทการต่อสู้แต่ละคนมันต่างกัน แต่ละคนก็สู้ในแนวทางของตนเองที่ถูกบีบคั้นต่างกัน อย่างเกดและอีก 13 คนเนี่ย ก็คือต้องสู้ในเรื่องคดีและการเมืองที่เป็นคดีทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันน่ะ คนด้านนอกก็ต้องต่อสู้ อย่างแรกที่พวกเขาต้องต่อสู้คือ เอาชนะความกลัวของตัวเองเพื่อจะออกมาและทำกิจกรรม ปรากฏการณ์ตรงนี้เราถึงจะเห็นได้ว่า มันจะมีคนหน้าใหม่ คนอื่น หรือคนที่อยู่ตรงกลางจำนวนมากที่เลือกที่จะออกมาแสดงความเห็นหรือสู้กับเรา

เราดีใจอย่างหนึ่งที่เขากล้าที่จะออกมาตรงนี้ เกดไม่อยากให้เขามองแค่ว่าเขาต้องสู้ให้พวกเราทั้ง 14 แต่อยากให้เขามองไปไกลมากกว่านั้นว่าเขาออกมาเพื่อสู้ให้ตัวเขาเองด้วย

ได้ข่าวว่าเกดจดทะเบียนสมรสกับแฟนแล้ว เรื่องเป็นมาอย่างไร พอเล่าได้ไหม?

เรื่องนี้ฮานะ (หัวเราะ) คือวันที่19 มิ.ย. มันเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 เราคุยกันแล้วว่าเราจะไม่ไปรายงานตัวนะ ซึ่งมันมีโอกาสที่เขาจะออกหมายจับวันนั้นเลย แล้ววันที่ 18 คืนนั้นเราจำได้ว่าเราอยู่กับเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกัน แฟนเราก็อยู่ด้วย ด้วยความที่เราเพลีย จากการเดินทางไปคุยกับคนอื่นเยอะ เราก็นอน แล้วเพื่อนเรามันก็คุยกับแฟนเรา จู่ๆ เราก็ไม่รู้ว่ามันคุยกันเรื่องอะไร คือตอนนั้นเราหลับ แต่เราตื่นขึ้นมาตอนพูดกันว่า ‘เออ ไปจดทะเบียนสมรสเลยไหม?’ คือเพื่อนเราก็ถามแฟนเรา แฟนเราก็ตอบ “เอาดิ”

เหมือนตอนนั้น พ้อยท์การจดก็น่าจะเป็นเรื่องของสิทธิต่างๆ ทางกฎหมาย การทำเอกสาร มันจะสะดวกกว่าไง ปรากฏว่าพอเพื่อนเราถามแล้วแฟนเราบอก เอาดิ มันก็กรี๊ดกร๊าดกันใหญ่เลย แล้วเราก็งง อะไรกันวะ แล้วมันก็ถามกันว่า ไปพรุ่งนี้เลยไหม กี่โมงดี

คือเหมือนว่าจดกันเพราะการเมือง แต่เรื่องของความรักมันมีอยู่แล้วไง ร่วมทุกข์ร่วมสุข ถูกคุมตัวกันมาหลายรอบ (ถูกทหารคุมตัวหลังชวนไปกินกาแฟ ก่อนทำกิจกรรมกินแซนวิช ที่พารากอน เมื่อครั้งครบหนึ่งเดือนรัฐประหาร ต่อมา ถูกคุมตัวเวลาทำกิจกรรม โปรยใบปลิว ปิคนิก) (หัวเราะ) ก็จดทะเบียนวันที่ 19 มิ.ย. ในระหว่างที่ทุกคน (7คนที่เหลือ หน้าหอศิลป์ฯ) กำลังเครียดกันว่า เอ...กูจะไปอยู่ตรงไหนดี จะถูกจับก่อน 24 มิ.ย.ไหม แต่ปรากฏในขณะที่ทุกคนเครียดกัน เราอยู่ที่สำนักงานเขตจ้า แล้วรัฐเปลี่ยนระบบ มันค่อนข้างช้า นานมาก พนักงานก็ไม่ชินระบบใหม่ เราก็รอแล้วก็กลัวว่าจะถูกจับไหม (หัวเราะ)

ก็ดีใจนะ คือเราก็รู้สึกขอบคุณน่ะ รู้สึกแบบ...ขอบคุณจริงๆ ขอบคุณเขามากที่ คือเขาก็รู้นะว่าการจดทะเบียนสมรสเนี่ย แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาก็จะมี พอจดทะเบียนสมรสแล้วเขาก็จะกลายเป็นสามีโดยชอบธรรม ทีนี้แล้ว พอมีปัญหาขึ้นมานอกจากพ่อแม่เราจะโดนแล้ว ตัวเขาเองก็จะโดนเพ่งเล็งไปด้วย

แต่ยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ด้วยกัน แม่ก็ตกใจเหมือนกันนะ เขาว่า...อ้าว ยังไม่ได้แต่งงานเลย เราก็บอก...บ้า ก็แค่จดทะเบียนจะแต่งทำไม ยังไม่แต่งนะ ไม่ต้องมาจัดงานให้ด้วย (หัวเราะ)

อยากจะบอกอะไรกับครอบครัวและแฟนไหม?

สำหรับพ่อกับแม่ ก็คง...ขอบคุณนะที่เข้าใจกันและขอบคุณที่เปิดใจรับฟังเราบ้าง

ส่วนแฟน...ขอบคุณที่สู้ด้วยกันตลอดและไม่ทิ้งกัน คือเราเป็นแฟนกันก็จริงแต่ว่าเราก็เป็นเหมือนเพื่อนกัน เราก็เลยรู้สึกว่าการที่ได้สู้มาด้วยกันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เราถูกจับและปล่อยตัวออกมา มันค่อนข้างสำคัญ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท