สปช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 'คุ้มครองสื่อ' - ตั้งสภาวิชาชีพคุมสื่อ

ที่ประชุม สปช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ 167 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ยังเห็นต่างเรื่องการตั้งสภาวิชาชีพ องค์ประกอบกรรมการสภาฯ และที่มาของรายได้สภาฯ

20 ก.ค. 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. วาระปฏิรูปที่ 32 การกำกับดูแลสื่อ วาระปฏิรูปที่ 33 สิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ และวาระปฏิรูปที่ 34 การป้องกันการแทรกแซงสื่อ และร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการทั้ง 3 วาระปฏิรูปด้วยคะแนน 187 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง เพื่อส่งรายงานพร้อมความเห็นของสมาชิกไปยังคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยคะแนน 167 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง โดยให้ส่งร่าง พ.ร.บ.พร้อมความเห็นของสมาชิกไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อประกอบการพิจารณา และให้คณะกรรมาธิการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน

ระหว่างการพิจารณา นายจุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานภาพรวมของการปฏิรูปทั้ง 3 วาระว่า จะมีกฎหมายที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระและคุ้มครองสวัสดิการของสื่อมวลชน ควบคู่กับกลไกการกำกับดูแลจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนต่อสาธารณะ กำหนดให้มีพันธสัญญาสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีสังกัดที่แน่ชัด มีระบบและกลไกด้านภารกิจประชาชนเพื่อช่วยให้สื่อมีคุณภาพ มีแนวทางปฏิรูปส่งเสริมให้สื่อมีความปลอดภัย สร้างสรรค์ เป็นโรงเรียนของสังคม ส่วนการกำกับดูแลสื่อให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำกับกันเองโดยวิชาชีพ ส่งเสริมการกำกับดูแลโดยประชาชน

นางสกัญญา สุดบรรทัด รองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้จากการปฏิรูป คือ การอำนวยประโยชน์กับประชาชน เปลี่ยนระบบการสื่อสารมวลชนของประเทศให้สื่อเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มีการแจกแจงทศวรรษแห่งการปฏิรูป 4 เฟส ซึ่งเฟส 1 คือปีแรกจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ป้องกันการแทรกแซงสื่อ เฟส 2 มีสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติเกิดรายการเนื้อหาสื่อที่ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนของสังคม ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อและตรวจสอบสื่อด้วย เฟสที่ 3 คือปีที่ 5-9 จะมีการกำกับดูแลสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ และเฟส 4 ปีที่ 10 ประเมินผลทำงาน ปรับปรุงกลไกปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพ

ขณะที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. เน้นการส่งเสริมการกำกับดูแล กำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ไม่ได้เน้นเรื่องมาตรการลงโทษที่รุนแรง เป็นการร่างกฎหมายลูกให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญปี 50 และร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างให้เป็นไปตามวาระปฏิรูปทั้ง 3 วาระ คือ ส่งเสริมสื่อบนความรับผิดชอบ กำกับดูแลสื่อและป้องกันการแทรกแซงสื่อ

นายวสันต์ ระบุว่า มาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้เป็นหน่วยงานนิติบุคคล และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ ซึ่งกำหนดให้สภามีรายได้และทรัพย์สิน จากเงินที่รัฐจ่ายให้เป็นทุนประเดิม และรายได้ร้อยละ 5 หรือไม่ต่ำว่า 50 ล้านบาท ของ กสทช. ที่ต้องส่งคืนให้รัฐ และรายได้ที่ได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาฯ รวมไปถึงเงินบริจาคด้วย

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการตั้งสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ (มาตรา 5) และเสนอให้มีองค์กรดังกล่าวระดับจังหวัดหรือภูมิภาคเพื่อกำกับดูแลวิชาชีพสื่อในท้องถิ่น หรือปรับแก้คณะกรรมการจากภูมิภาคให้มีสัดส่วนมากขึ้น แต่เรื่องรายได้มีการเสนอให้ปรับแก้ทั้งที่มาและจำนวนให้เหมาะสม (มาตรา 9) พร้อมเสนอให้ทบทวนโรดแมปว่าเฟสแรกควรเน้นเรื่องการเพิ่มความรู้ ในสถาบันการศึกษาเพื่อให้สื่อมีคุณภาพ เน้นการพัฒนาคนมากกว่าร่างกฎหมาย

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. อภิปรายว่า อยากให้แก้ไขในเรื่องสวัสดิการของสื่อมวลชนที่จะต้องดูแล แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เขียนคำว่า สวัสดิการ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญเขียนคำว่าสวัสดิภาพ ซึ่งอาจจะถูกตีความว่าเหมือนกันหรือไม่ จึงอยากให้ชัดเจนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ กรรมการสภาวิชาชีพควรจะต้องมีตัวแทนจากสื่อมวลชน ที่เป็นสื่อภูมิภาค หรือสื่อท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการเพื่อดูแลสื่อท้องถิ่น ไม่ใช่มีเฉพาะแค่ส่วนกลาง

นายทิวา การกระสัง สมาชิก สปช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะสื่อมีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนไฟที่มีทั้งโทษและประโยชน์ ต้องมีการควบคุมให้สื่ออยู่ในความพอดี สื่อสาธารณะต้องจัดเวลาเพื่อการเรียนรู้ของประชาชนให้มากที่สุดและไม่ควรรับเงินสนับสนุนจากรัฐเพราะจะทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. และร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติมากำกับดูแลการทำงานของสื่อ เพราะจะทำให้สื่อไม่มีสิทธิเสรีภาพ ควรควบคุมเนื้อหาหรือลงโทษสื่อที่เสนอเนื้อหาข่าวสารอย่างไม่เป็นกลางจะเป็นประโยชน์มากกว่า พร้อมตั้งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการว่ามีประเทศใดที่ตั้งองค์กรควบคุมสื่อ

นางถวิลวดี บุรีกุล สปช. อภิปรายว่า สื่อต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากเจ้าของสื่อหรือนายทุน ซึ่งในมาตรา 9 ที่ระบุว่า รายได้ที่เข้ามาอุดหนุนมาจาก กสทช. 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูจากรายได้เพียงแค่ 1 เดือนของ กสทช. ก็ถือว่ามีจำนวนมากที่สภาวิชาชีพจะได้รับ เป็นสิ่งที่ตนกังวลว่าจะทำให้วิชาชีพสื่ออยู่ภายใต้การกำกับของรัฐเพราะจะต้องถูกตรวจสอบ

นางภัทรียา สุมะโน สปช. อภิปรายว่า สภาวิชาชีพถูกยกสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐอยู่ภายใต้การกำกับของประธานกรรมการ ส่วนรายได้นั้นมาจาก 3 ทาง คือ 1. เงินที่รัฐบาลจัดสรร แม้จะเป็นองค์กรอิสระแต่กลับขอเงินจากรัฐเป็นทุนประเดิม ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สตง. 2. เงินที่กระทรวงการคลังจัดสรรจากรายได้ภาษีบาปของ กสทช. ร้อยละ 50 หรือไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และ 3. เงินบริจาคจากภาคอื่นๆ ด้วยเช่น บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นห่วงว่า หากมีบริษัทเอกชนที่มีวัตุประสงค์ขัดกับจริยธรรมาบริจาคจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่สามารถควบคุมผู้มาบริจาคที่มีวัตถุประสงค์อื่นใดได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ดี
      
นางเตือนใจ สินธุวนิก สปช. อภิปรายว่า ที่ผ่านมา สื่อมีการเลือกสี เลือกข้าง มีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชน และมีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียม บางคนอาศัยวงการสื่อทำมาหากิน จึงอยากให้องค์กรสื่อกล้าหาญเพียงพอที่จะตรวจสอบกันเอง ออกมามาตรการเด็ดขาดในการกำจัดสื่อที่เป็นกาฝาก ทั้งสื่อที่รีดไถรับเงิน หรือแฝงตัวเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จึงถือเป็นเวลาที่สำคัญที่ต้องตัดเนื้อร้าย คัดปลาเน่าออกจากข้องสื่ออย่างเด็ดขาด จึงเสนอให้มีการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อคัดกรองว่าใครเป็นสื่อเทียม สื่อแท้ หากใครประพฤติตัวที่ไม่ดี หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ให้มีการลงโทษตั้งแต่ตักเตือน จนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนมีศักดิ์ศรีมีเกียรติ
      
จากนั้น นายวสันต์ ชี้แจงว่า รายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. เป็นรายได้ส่วนเกินที่ได้มาจากภาษีบาปของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนเกิน 5% จะส่งกลับมาเป็นรายได้ให้สภาวิชาชีพฯ โดยเงินที่ได้มาจะนำมาสนับสนุน พัฒนาวิชาชีพสื่อ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการจะรับข้อเสนอไปปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท