บทความ Foreign Affairs: แนะสหรัฐสู้ภัยก่อการร้ายด้วยการหนุนฝ่ายปฏิรูปอิสลาม

นักเขียนและกิจกรรมผู้สนับสนุนการต่อสู้ของหญิงชาวมุสลิมเขียนบทความเว็บไซต์วารสารด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ ควรช่วยเหลือและคุ้มครองความปลอดภัยของชาวมุสลิมรักสันติที่ต้องการปฏิรูปศาสนา ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญในการต่อต้านภัยก่อการร้าย

อยาน ฮีรสิ อาลี นักเขียนและนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีเขียนบทความในนิตยสาร Foreign Affairs เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุถึงสาเหตุที่สหรัฐฯ ควรสนับสนุนการปฏิรูปศาสนาอิสลาม เนื่องจากปัญหาภัยก่อการร้ายเกิดจากเพียงแค่บางกลุ่มที่ตีความและยึดหลักศาสนาอย่างสุดโต่ง เช่นกลุ่มไอซิส

ในขณะที่ผู้นำทหารสหรัฐฯ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว (2557) ว่าพวกเขาไม่เข้าใจกลุ่มไอซิสและกว่าจะเข้าใจก็คงสามารถกำจัดกลุ่มเหล่านี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตามอาลีระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือนักการเมืองสหรัฐฯ ไม่สามารถสกัดกั้นภัยการก่อการร้ายจากกลุ่มติดอาวุธทางศาสนาไว้ได้ และถึงขั้นล้มเหลวโดยเฉพาะใน "การสู้รบเชิงความคิด"

อาลี มองว่าการใช้ถ้อยคำสามารถส่งผลใน "การสู้รบเชิงความคิด" เธอระบุว่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวปฏิเสธความเกี่ยวข้องระหว่างไอซิสกับศาสนาอิสลามมาโดยตลอดรวมถึงในการแถลงข่าวของทำเนียบขาว แต่โดยส่วนตัวเธอแล้วมองว่าควรมีการพูดถึงในแง่กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดอุดมการณ์ของพวกเขา

อย่างไรก็ตามอาลี มองว่าการต่อสู้เชิงแนวคิดในตอนนี้เป็นเรื่องของกลุ่มอิสลามสายปฏิรูปศาสนากับกลุ่มปฏิกิริยาที่ต่อต้าน ซึ่งสหรัฐฯ ควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มอิสลามที่ใฝ่สันติให้ได้รับชัยชนะ

บทความของอาลีระบุถึงการที่ทางการสหรัฐฯ พยายามวิเคราะห์เรื่องสาเหตุของการก่อการร้ายไปในหลายแนวทาง ทั้งในแง่การก่อการร้ายระดับโลก กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา เป็นเรื่องแรงจูงใจจากความยากจน หรือมีการสนับสนุนจากประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียซึ่งหลุดรอดสายตาของฝ่ายการต่างประเทศสหรัฐฯ แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องแรงจูงใจได้ชัดเจนจึงเลิกประเมินถึงเรื่องนี้ไป ทำให้ฝ่ายการทูตของสหรัฐฯ ขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในแง่การทำงานเชิงความคิดต่อประเด็นนี้

บทความของอาลีระบุต่อไปว่า หลังจากนั้นทางการสหรัฐฯ จึงหันมาใช้ยุทธวิธี "การพยายามเข้าถึงโลกมุสลิม" โดยส่วนหนึ่งใช้วิธีการเชิงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีกส่วนหนึ่งเป็นการสนับสนุนสื่อภาษาอาหรับ แต่ก็ไม่มีการแตะต้องประเด็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเลย มีการเปิดเผยว่ายุทธวิธีนี้เป็นความพยายามเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเพื่อชักจูงให้พวกเขาไปในทางอื่นโดยไม่ได้สนใจเรื่องการโต้แย้งด้านความคิดอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งอาลีวิจารณ์ตรงจุดนี้ว่าเป็นจุดที่สหรัฐฯ ผิดพลาดเพราะไม่เข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างผู้ที่ "เทศนา" ถึงการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับผู้ที่ก่อเหตุ

ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ กล่าวถึง 2 สาเหตุที่พวกเขาหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นศาสนาอิสลาม สาเหตุแรกคือพวกเขาพยายามจะรักษาผลประโยชน์กับกลุ่มประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ สาเหตุที่สองคือพวกเขาเกรงว่าจะเป็นการกล่าว "ล่วงละเมิด" ต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศตนหรือเกรงว่าจะเป็นการสร้างความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่ออิสลาม (Islamophobes) แต่อาลีก็มองว่าสหรับฯ ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งกับการรักษาผลประโยชน์กับชาติอิสลามและภัยจากกลุ่มก่อการร้ายก็ร้ายแรงกว่าภัยจากความหวาดกลัวอิสลามมาก

อาลีระบุว่าสหรัฐฯ ต้องเล็งเห็นว่ากลุ่มที่ทำสงครามศาสนามีการยกระดับความรุนแรงมากขึ้นและมีชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งสนับสนุนพวกเขาหรือมีเป้าหมายบางอย่างเหมือนกัน มีคนหนุ่มสาวละทิ้งเสรีภาพแบบอเมริกันเพื่อไปเข้าร่วมกับพวกไอซิสมากขึ้น ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางก็เริ่มเรียกกลุ่มก่อการร้ายศาสนาอิสลามว่าเป็น "เนื้อร้าย" และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางศาสนาของอิสลามกระแสหลัก

ในฐานะที่กำลังมีการปฏิรูปศาสนาอิสลามในระยะเริ่มต้น อาลีระบุว่าควรต้องสร้างความเข้าใจด้วยการแบ่งชาวมุสลิมออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่มองว่าการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ซึ่งเป็นกฎหมายตามหลักศาสนาอิสลามถือเป็นเรื่องหน้าที่ทางศาสนา กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของชาวมุสลิมทั่วโลกคือกลุ่มที่เชื่อฟังตามคำสอนหลักๆ ทางศาสนาและมีศรัทธาแรงกล้าแต่ก็ไม่มีแนวดน้มจะใช้ความรุนแรงหรือเทศนาให้ใช้ความรุนแรง กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มแบบของอาลีเองที่รู้สึกถูกบีบบังคับจากศาสนาซึ่งต้องการความเปลี่ยนแปลงกลุ่มที่ 3 นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องการให้มีการปฏิรูปศาสนา ในจำนวนนี้มีครูสอนศาสนาที่เริ่มเล็งเห็นว่าศาสนาของพวกเขาควรต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้มีความรุนแรงขึ้นอีก

อาลีชี้ให้เห็นว่ามีอุปสรรค 2 อย่างที่ขัดขวางการปฏิรูปศาสนาอิสลาม อย่างแรกคือผู้ที่ต้องการปฏิรูปศาสนามักจะถูกข่มขู่คุกคามโดยกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตหรือผู้เลิกศรัทธา อย่างที่สองคือชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่แม้จะมีความสันติแต่ก็ไม่ยอมเล็งเห็นปัญหาหรือต่อต้านการอ้างความเชื่อเพื่อให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรงหรือความไม่อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างซึ่งเป็นสิ่งที่มีระบุอยู่ในคัมภีร์ของพวกเขา

มีชาวมุสลิมชั้นนำส่วนหนึ่งเช่นอดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัลอัซชาร์ในอียิปต์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของมุสลิมนิกายซุนนีกล่าวว่าสิ่งที่ไอซิสทำคือการนำสิ่งที่เขียนไว้มากระทำจริง แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ต้องการเดินรอยตามการใช้ความรุนแรงแบบของไอซิส แต่ก็มีนักศึกษาในอัลอัซซาร์หลายคนที่ยังเชื่อมั่นในคำสอนที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่อุดมการณ์เหล่านี้ไปในชุมชน

อย่างไรก็ตามอาลีชี้ว่าแนวคิดเชิงวิพากษ์เป็นส่วนสำคัญสำหรับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม รวมเริ่มมีชาวมุสลิมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนาตนในเมืองสำคัญหลายเมืองที่ไม่พอใจการปกครองโดยใช้ศาสนาเช่นในกรุงเตหราน ประเทศอิหร่าน หรือในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในยุคอินเทอร์เน็ตก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาด้วย โดยนอกจากบทบาทสำคัญจะตกอยู่กับประชาชนชาวมุสลิมผู้เรียกร้องการปฏิรูปศาสนาเองแล้ว กลุ่มครูสอนศาสนาก้มีบทบาทสำคัญเช่นกัน มีครูสอนศาสนาบางคนเห็นว่าอิสลามควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามแบบแผนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับที่ศาสนาคริสต์และยูดายเกิดความเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้านี้แล้ว

"แต่การต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปศาสนาจะประสบผลไปไม่ได้ถ้าคนทั้งโลกยังทำเหมือนว่านี่เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในเพียงอย่างเดียวแล้วก็นั่งมองอยู่เฉยๆ มองความพินาศเกิดขึ้นเรื่อยๆ" ฮัสเซน ชาลกูลมี ครูสอนศาสนาอิสลามในมัสยิดดรานซี ใกล้กับกรุงปารีส กลาว

เหล่านักคิดชาวมุสลิมมองว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนการสอนศาสนาอิสลามให้ออกห่างจากเรื่องสงครามสักดิ์สิทธิ์ เรื่องการสละชีพ และเรื่องชีวิตหลังความตาย เช่น อับด อัลฮามิด ฮัลอันซารี อดีตคณบดีด้านกฎหมายอิสลามจากมหาวิทยาลัยกาตาร์กล่าวว่าเขาต้องการให้ผู้สอนศาสนาสอนให้คนหนุ่มสาวมองเห็นชีวิตในแง่ของความรักมากกว่าเรื่องของความตาย แม้จะมีครูสอนศาสนาบางส่วนอ้างว่าคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคำสอนจากพระเจ้าโดยตรง แต่ศูนย์วิจัยสื่อตะวันออกกลางเสนอว่าควรใข้หลัก ฟิกฮ์ อัลมากาซิด (fiqh al-maqasid) หรือหลักการตีความกฎอิสลามที่เปลี่ยนแปลงได้

อาลีชี้ว่ามุสลิมควรมีการตีความคัมภีร์ของตนใหม่ด้วยแนวคิดเชิงวิพากษ์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปศาสนาเช่นเดียวกับที่คริสต์และยูดายทำมาแล้วเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งในยุคสมัยก่อนหนทางอาจจะยากลำบาก มีคนที่เปิดเผยความจริงทางศาสนาถูกลงโทษ แต่ในยุคหลังจากนั้นก็ช่วยทำให้เกิดอิสรภาพทางความคิดและการตื่นรู้

ในแง่นี้การช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อาลีระบุว่าทางการสหรัฐฯ ควรจะเลิกพูดในเชิงทำให้อิสลามที่ยังไม่ถูกปฏิรูปดูบริสุทธิ์แล้วหันมาสนับสนุนปกป้องกลุ่มมุสลิมที่ต่อต้านศาสนาแบบเก่าและต้องการปฏิรูปผ่านทางการทูตทั้งกับประเทศมิตรและศัตรู เช่นที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนนักคิดฝ่ายซ้ายที่ไม่สนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบสหภาพโซเวียตในฐานะ 'สถาเพื่อเสรีภาพทางวัฒนธรรม' (Congress for Cultural Freedom) ซึ่งมีบางส่วนเป็นอดีตนักคิดสายคอมมิวนิสต์ที่เตือนเรื่องอันตรายจากการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

อาลีระบุว่าแนวคิดส่วนใหญ่ที่มองว่าชัยชนะในสงครามเย็นของสหรัฐฯ มาจากเรื่องเศรษฐกิจเป็นแนวคิดที่เข้าใจผิด แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ เสนอคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า หลักนิติธรรมที่มากกว่า และพื้นฐานเสรีภาพเชิงปัจเจกบุคคลที่ดีกว่า ให้กับผู้คนที่อยู่ภายใต้ 'ม่านเหล็ก' ของฝ่ายโซเวียต มีผู้ต่อต้านโซเวียตจากภายในหลายคนประณามระบอบของโซเวียตไม่ใช่เพราะมีสินค้าบริโภคที่คุรภาพแย่มีปริมาณน้อย แต่เพราะระบอบแบบโซเวียตมีลักษณะหลอกลวง ไร้กฎเกณฑ์ และทุจริต

อาลีระบุอีกว่าสหรัฐฯ เข้าใจผิดที่คิดว่าพวกเขาจะไม่ต้องเผชิญกับความท้าทางด้านแนวคิดอุดมการณ์อีกหลังจากยุคสงครามเย็น ซึ่งสถานการณ์ก่อการร้ายโดยอ้างศาสนาในปัจจุบันเป็นเรื่องเชิงแนวคิดอุดมการณ์เช่นเดียวกับยุคสงครามเย็นที่มีคนในบางส่วนที่ไม่พอใจสภาพความเคร่งแนวคิดอุดมการณ์และพยายามต่อสู้กับมัน แต่ในแง่ของผู้ต่อต้านแนวคิดเคร่งอิสลามจัดนั้นสหรัฐฯ กลับละเลยพวกเขาเหล่านี้ อาลีอยากให้ทางการสหรัฐฯ เข้าใจว่าการสนับสนุนกลุ่มผู้ต้องการปฏิรูปอิสลามไม่ใช่การทำสงครามศาสนา และอยากเห็นคนเหล่านี้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ หรือสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ในหลายภาษา ซึ่งจะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ได้พันธมิตรเป็นชาวมุสลิมหลายกลุ่มที่มีแนวคิดค่านิยมไปกันได้

ทั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น อาลีระบุว่าภาคประชาสังคมก็ควรมีบทบาทในการช่วยให้เกิดการปฏิรูปศาสนาอิสลาม รวมถึงภาคมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ยังคงกลัวถูกกล่าวหาว่าเป็น "จักรวรรดิ์นิยมทางวัฒนธรรม" หรือ "แนวคิดบูรพนิยม" (หมายเหตุ Orientalism - เป็นชื่อหนังสือของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด ว่าด้วยวาทกรรมการมองตะวันออกโดยชาติตะวันตก) อาลีผู้ที่มีเชื้อสายเป็นโซมาเลียกล่าวว่าตัวเธอเองก็เหมือนผู้วิจารณ์อิสลามคนอื่นๆ ที่มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกบูรพนิยมหรือเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ แต่เธอก็ยืนยันว่าเธอไม่เชื่อว่าชาวอาหรับหรือชาวแอฟริกันจะมีความล้าหลังอยู่ในตัวเองแต่เธอเชื่อในหลักสากลนิยมที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการใช้เหตุผลและจิตสำนึกได้ รวมถึงชาวมุสลิมด้วย

"ในปัจจุบันมีชาวมุสลิมบางคนที่ละทิ้งเหตุผลและจิตสำนึกโดยการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิสและโบโกฮาราม อ้างคำสอนและบัญญัติศาสนาเพื่อให้ความชอบธรรมการเข่นฆ่าและจับผู้อื่นเป็นทาส แต่อาชญากรรมของพวกเขาก็ทำให้ต้องมีการสำรวจตีความคำสอน หลักการ และกฎเกณฑ์ทางศาสนาใหม่อีกครั้ง กระบวนการนี้ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ไม่ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องการปฏิรูปศาสนามากเพียงใดก็ตาม" อาลีระบุในบทความ

อาลีสรุปว่าหน้าที่ของการปฏิรูปศาสนาเป็นของชาวมุสลิมเองและเป็นหน้าที่ของโลกตะวันตกที่จะต้องให้ความช่วยเหลือคุ้มครองนักปฏิรูปศาสนา เช่นเดียวกับที่ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนก่อนหน้านี้เคยกล่าวไว้ในปี 2555 ว่าสหรัฐฯ ละเลยในเรื่องการต่อสู้เชิงอุดมการณ์และควรจะต้องย้อนกลับไปต่อสู้ในจุดนั้นด้วย

 

เรียบเรียงจาก

A Problem From Heaven : Why the United States Should Back Islam’s Reformation, Ayaan Hirsi Ali, Foreign Affairs https://www.foreignaffairs.com/articles/2015-06-16/problem-heaven

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Ayaan_Hirsi_Ali

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท