สื่อต่างชาติมองวิกฤตหนี้บรรษัทจีน ส่อกระทบเศรษฐกิจยิ่งกว่าวิกฤตหุ้น

สื่อต่างชาติยังคงจับตามองภาวะวิกฤตทางการเงินของจีนหลังจากที่ทางการจีนพยายามแก้ปัญหาตลาดหุ้นตกต่ำ อย่างไรก็ตามนอกจากจีนจะถูกวิจารณ์เรื่องการแทรกแซงตลาดหุ้นที่จะส่งผลกระทบต่อสถาบันทางการเงินแล้ว ยังมีคนชี้ว่าปัญหาของจีนจริงๆ คือหนี้สินบรรษัทจำนวนมหาศาล

22 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ตำหนิการแทรกแซงตลาดหุ้นโดยทางการจีน โดยบอกว่าจะส่งผลเสียต่อสถาบันทางการเงินอย่างธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน เพราะจะทำให้เกิด "เครดิตด้านลบ" และส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นได้

ทางด้านสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ อีกแห่งหนึ่งคือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) แสดงความเป็นห่วงว่าถึงแม้ทางการจีนจะรอดพ้นจากวิกฤตตลาดหุ้นมาได้ด้วยวิธีการเข้าแทรกแซงอย่างหนัก แต่สิ่งที่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจของจีนมากกว่าคือหนี้สินบรรษัทขนาดใหญ่ที่สุดในระดับติดลบ 16.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจัดการได้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเรื่องหนี้สินบรรษัทจีนโดยศึกษาจากบรรษัท 1,400 แห่ง พบว่าปริมาณหนี้สินบรรษัทจีนมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 160 ของจำนวนผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 120 ในปี 2556

หลังจากที่ธนาคารจีนมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วทำให้มีการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการบูมแต่ก็ไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการกู้ยืมมีการนำไปใช้ลงทุนในแบบที่ทำให้เกิดผลกำไรในเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมซึ่งยังมีการกู้ยืมในระยะยาวอยู่สูงและธนาคารก็รั้งรอที่จะแบกรับความเสี่ยง การแทรกแซงเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ทางการจีนมีเป้าหมายเพื่อต้องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งถือได้ว่าตกต่ำมากที่สุดในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาโดยให้มีเครดิตกระจายไปอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กซึ่งภาคส่วนนวัตกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ผลก็เกิดในทางตรงกันข้าม

S&P ประเมินว่าหนี้สินบรรษัทในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2562 จนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไล่ไม่ทันและอาจจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในตลาดการเงินด้วย ซึ่งทางรอยเตอร์ระบุว่าภาระหนี้สินของบริษัทในจีนทำให้ผลกำไรของพวกเขาลดลง เช่นในปี 2557 หนี้ของบริษัทวัตถุดิบมีมากถึง 5.3 เท่าเมื่อเทียบกับผลกำไรหลัก บริษัทพลังงานมีหนี้สิน 4.4 เท่าเมื่อเทียบกับกำไรหลัก และบริษัทอุตสาหกรรมมีหนี้สิน 4.2 เท่า

จายาน ดรู หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับบรรษัทและโครงสร้างพื้นฐานของ S&P กล่าวว่า หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณหนี้สินเมื่อเทียบกับจีดีพี ความไม่โปร่งใสของตลาดจีน และการสูญเสียความเชื่อมั่นหลังเกิดการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ ปัจจัยทั้งหมดนี้สร้างความเสี่ยงให้กับจีนมากขึ้น

ทางด้าน เตา หวัง นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ยูบีเอส กล่าวว่าเงินกู้ยือชุดใหม่ที่มาจากการกระตุ้นทางการเงินของรัฐบาลจีนส่วนมากจะไปตกอยู่กับรัฐวิสาหกิจจีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่เควิด กุย นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่าการจัดการกับหนี้สินเสี่ยงอันตรายมากกว่าการจัดการกับตลาดหุ้น เพราะตลาดหนี้สินมีขนาดใหญ่กว่า

เรียบเรียงจาก

S&P glum on risks in China debt markets, but Moody's and Fitch more optimistic, SCMP, 16-07-2015

China's corporate debt pile is a huge threat to its slowing economy, Business Insider, 19-07-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท