Skip to main content
sharethis

ผู้อาศัยย่านสลัมของเมืองแห่งหนึ่งในมุมไบประท้วงการถูกไล่ที่ด้วยการกลับมาปักหลักสร้างที่อยู่ชั่วคราวในที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขา ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ แต่ในที่สุดก็ถูกทางการอินเดียใช้กำลังไล่รื้อที่อยู่ชั่วคราวของพวกเขาอีกครั้ง

22 ก.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการไล่ที่ของผู้ปักหลักประท้วงในชุมชนที่เรียกว่าแมนดาลาในเขตรอบนอกเมืองมุมไบของอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อผู้อยู่อาศัยในสลัมประท้วงเรียกร้องที่พักอาศัยในราคาที่พวกเขาสามารถจ่ายได้ แต่ก็ถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง จากนั้นจึงมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างชั่วคราวของผู้ที่ปักหลักชุมนุมอยู่โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องไม้โกงกางในพื้นที่ใกล้เคียงของผู้ชุมนุม ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวหน่วยงานพัฒนาเมืองมุมไบมีแผนการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าในช่วงปี 2547-2548 โครงการต่างๆ ของทางการอินเดียทำให้มีการทุบทิ้งบ้าน 80,000 หลัง รวมถึงส่วนหนึ่งในย่านชุมชนแมนดาลา จนทำให้มีนักกิจกรรมชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งร่วมมือกับกลุ่มผู้อยู่อาศัยในย่านต่างๆ ทั่วมุมไบรวมตัวกันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีบ้านในเมืองในชื่อการเคลื่อนไหวว่า "Ghar Bachao Ghar Banao" (GBGB)

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาประชาชนจากในแมนดาลา แถบบานเมืองมานเกิร์ด (Mankhurd) และผู้สนับสนุนจากสลัมอื่นๆ ในมุมไบหลายพันคนจากการเคลื่อนไหว GBGB รวมตัวกันปักหลักบนพื้นที่ๆ ถูกทิ้งร้างหลังถูกทุบทิ้งมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว พวกเขาพากันสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ๆ เคยเป็นบ้านของพวกเขา อีกทั้งยังมีการเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานของรัฐทุกหน่วยงานเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องของพวกเขาแต่ก็ถูกบอกว่าเรื่องของพวกเขายังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้กลุ่ม GBGB ยังพยายามเรียกร้องกับหน่วยงานกรมป่าไม้ของอินเดียในเรื่องการบุกรุกทำลายไม้โกงกางแต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ซ้ำฝ่ายรัฐยังอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ทำลายไม้โกงกางเสียเอง เช่นในกรณีการไล่รื้อพื้นที่เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งทางรัฐอ้างว่าเป็นการทำเพื่อปกป้องไม้โกงกาง

ในแถบชานเมืองมานเกิร์ดยังเป็นพื้นที่ทิ้งขยะสำหรับมุมไบและเป็นแหล่งบำบัดฟื้นฟู จากรายงานของรัฐบาลอินเดียปี 2552 ระบุว่ามานเกิร์ดเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่สุดในเมืองมุมไบ โดยมีร้อยละ 77 อาศัยอยู่ในสลัม นอกจากนี้ยังมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ โดยมีประชากรไม่ได้เรียนหนังสือมากที่สุดและมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กมากที่สุดในมุมไบ อายุเฉลี่ยของคนในเขตชานเมืองนี้อยู่ที่ 39.90 ปีเท่านั้น

 

เรียบเรียงจาก

Homeless fight for their rights in India's Mumbai, Aljazeera, 13-07-2015
http://www.aljazeera.com/indepth/inpictures/2015/07/homeless-fight-rights-india-mumbai-150708090614314.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net