Skip to main content
sharethis

เก็บประเด็นงานเสวนาความเป็นส่วนตัวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ข้อมูลส่วนบุคคลตกอยู่ในความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ชี้ต้องมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ได้มีงานเสวนา “ความเป็นส่วนตัวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล : ชื่อเสียง ข้อมูล และตลาดออนไลน์” โดย รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และร่วมเสวนาโดย พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ บำเพ็ญนรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, ภคมน สืบไชย อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ ดร.กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คณาธิป นำเสนอประเด็นความเป็นส่วนตัว โดยกล่าวว่าสิทธิส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของคนในสังคม สามารถถูกล่วงละเมิดได้สองทางคือ โดยรัฐ และ โดยเอกชน          

การสอดส่องล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยรัฐนั้น มีประเด็นทางกฎหมายสองด้านที่เกี่ยวข้อง ด้านแรกคือ กฎหมายที่ห้ามการสอดส่อง ประกอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5-10อย่างไรก็ดี มีกฎหมายที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเอำนาจสอดส่องได้ ได้แก่ข้อยกเว้นในกฎหมายกลุ่มแรก พ.ร.บ.เฉพาะที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานตามกฎหมายนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีกระบวนการขออำนาจจากศาลและกระบวนการตรวจสอบการสอดส่องประชาชนในวงกว้าง (mass surveillance) ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจโดยเฉพาะคณาธิปกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องยังไม่น่ากลัว แต่เอกชนต่างหาก ที่มีกฎหมายควบคุมน้อยมาก

คณาธิปกล่าวถึงภาคเอกชน ว่านอกจากพฤติกรรมการใช้แอพพลิเคชั่น Line ที่เราใช้ส่งข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมการเงิน วันเดือนปีเกิด ฯลฯ และยังมีนวัตกรรมใหม่ๆเช่น Hacking team องค์กรที่ขายโปรแกรมควบคุมระยะไกล ซึ่งสามารถทำได้มากกว่าดักรับดักฟังข้อมูลแต่สามารถควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ หากรัฐจะนำเข้ามาใช้ในไทย ก็อาจจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ คอยกำกับดูแลว่าได้มาโดยชอบหรือไม่ จะมีกระบวนการขออนุญาตก่อน แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่าง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ไม่มีกฎหมายห้ามชัดเจนเพราะเป็น software ไม่ใช่อุปกรณ์ ซึ่งกฎหมายไทยยังไม่รองรับเป็นความผิดโดยสภาพ และเอกชนสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งน่ากลัวกว่า

สำหรับการรบกวนความเป็นส่วนตัวจากภาคธุรกิจ คณาธิปยกตัวอย่าง spam หรือการติดต่อโดยไม่ได้เรียกร้อง ซึ่งรวมถึงการขายตรงที่ไม่บอกกับผู้มาเข้าร่วมว่าเป็นการขายตรง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีกฎหมายควบคุมการ Spam และการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) แล้ว ด้านประเทศอังกฤษมีกฎหมาย Data Protection Act และมีกรรมการเฉพาะเรียกว่า Information Commissioner’s Office – ICO เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความยินยอมพร้อมใจเป็นหัวใจสำคัญและมี ICO เป็นผู้พิจารณา

แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ spam โดยเฉพาะ มีกฎหมายอาญาบางมาตราเช่น มีพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง แต่การเอาผิดยังต้องกระทำในสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่ในโลกออนไลน์ไม่มีสถานที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ครอบคลุม ด้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็มีมาตรา 11 แต่ระบุว่าต้องเป็นการปกปิดและปลอมแปลงถึงจะมีความผิด ทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้กับกรณีการspamได้ไม่เต็มที่

และเมื่อกฎหมายไม่ชัดเจน การกำกับดูแลเลยอยู่ใน ข้อตกลงในการใช้บริการ (term of use) ของแอพลิเคชั่นต่างๆ แต่ผู้บริโภคก็ไม่อ่านสัญญาเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้บริการอาจนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นได้ คณาธิปยกตัวอย่างแอพลิเคชั่นบล็อคเบอร์ขายประกัน ที่ใช้ระบบ crowdsourcing ให้คนรายงานเบอร์ขายประกันเข้าไปและรวบรวมจากหลายๆคน แต่ถ้ามีคนจงใจร่วมกัน report เบอร์ใดเบอร์หนึ่ง ก็จะเกิดการกลั่นแกล้งกันได้

นอกจากนี้ การตลาดในปัจจุบันยังมีระบบเก็บข้อมูลผู้บริโภคผ่านทางการเป็นสมาชิค สมัครบัตรต่างๆ หรือAdd Line เพิ่มเป็นเพื่อน ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคได้ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะกินอะไร ดูหนังตอนไหน ซื้ออะไร คำถามคือข้อมูลเหล่านั้นอยู่กับใคร เอาไปทำอะไร มีกฎหมายอะไรคุ้มครองข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่?

นอกจากข้อมูลที่ถูกเก็บไปโดยผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการยังมีพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อมูลของตัวเองอีกด้วย ทั้งเชิงบวกเชิงลบ ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งการShare ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เลย ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในมือผู้ให้บริการsocial media และapplicationและผู้ใช้บริการไม่เคยดูสัญญาว่าผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลไปทำอะไรได้หรือไม่ และเป็นประเด็นระหว่างประเทศด้วย

คณาธิปเสนอว่าประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ลักษณะเดียวกับ กฎหมายData Protection Act ของอังกฤษ ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ความยินยอมของบุคคลกำกับโดยตลอด ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูล การนำข้อมูลไปประมวล และการเปิดเผยข้อมูล แต่ในแง่พฤติกรรม คณาธิปก็ยอมรับว่าพฤติกรรมของคนไทยคือ กดตกลงหมด ดังนั้นนอกจากกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลก็ควรมีมาตรการอื่นร่วมด้วยเช่นกัน

ด้าน พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ กล่าวเสริมถึงการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้แบบผิดๆ อีกแบบหนึ่ง ซึ่งคือIdentity theft การนำข้อมูลไปสร้างเป็นตัวตนปลอมขึ้นในโลกออนไลน์ ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายรองรับ Identity theft โดยเฉพาะ มีหน่วยงาน Federal Trade Commission – FTC คอยกำกับดูแล ส่วนประเทศอังกฤษไม่มีกฎหมายเฉพาะแต่ในกฎหมาย Data Protection Act มีเนื้อหาที่ครอบคลุม identity related-crime การแอบอ้างตัวตนเพื่อกระทำอาชญากรรม และ identity fraud แอบอ้างตัวตนเพื่อเอาไปใช้ฉ้อโกง

แต่ในประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 5-10 แต่ก็ยังมีการตีความที่กว้างและไม่ครอบคลุมดังที่ได้กล่าวไป และกฎหมายที่จะใช้ในการเอาผิดหลายกรณีต้องเป็นกฎหมายระหว่างประเทศเพราะผู้ให้บริการอย่าง Facebook ยังไม่มีการตั้งศูนย์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย และหากใช้กฎหมายระหว่างประเทศ กระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ยุ่งยากซับซ้อนอีกด้วย

ภคมล กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันคนนิยมซื้อของผ่านออนไลน์ ซึ่งต้องสั่งซื้อ โอนเงินก่อนจึงจะส่งสินค้ามาให้ ลักษณะนี้อาจมีการโกงเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลอม สินค้าที่ส่งมาเป็นของปลอม และกล่าวว่าระบบข่าวสารของไทยใช้ socialnetwork เป็นสื่อสำคัญ มีคนที่เป็นเหยื่อก็ออกมาประณามทางอินเตอร์เน็ตจนเกิดความเสียหายเช่นกัน จึงสนับสนุนการมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลและฝากทุกคนว่าในแง่กฎหมาย เราก็ควรอยู่ในเส้นตัวเองไม่รุกล้ำสิทธิผู้อื่นด้วยเช่นกัน

ดร.กัลยารัตน์ กล่าวถึงมิติทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน มีหลายธุรกิจและบริการ ที่มีกลยุทธ์ทางการตลาดแบบไม่มีจริยธรรม ไม่ว่าจะการตลาดแบบขายตรง การลดแลกแจกแถมในฝาหรือฉลาก การเพิ่มเป็นเพื่อนในLine แล้วได้ส่วนลด เพื่อจะได้คอยส่งโปรโมชั่นต่อๆไปมาให้เรื่อยๆ ดังนั้นแล้วตัวเราต้องอย่าตกเป็นเหยื่อสินค้า

คณาธิปกล่าวสรุปว่า กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล กำลังอยู่ในกระบวนการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งก็คงจะยึดหลักการความยินยอมพร้อมใจแบบเดียวกับของประเทศอังกฤษ แต่ระหว่างนี้ผู้บริโภคก็ต้องระวังตัวในเรื่องข้อมูลข่าวสารเช่นกัน

อนึ่งงานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net