Skip to main content
sharethis

วิทยากร ชี้ การมีส่วนร่วม และสิทธิชุมชนเป็นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐไทยกลับจัดวางสิ่งเหล่านี้อยู่ใต้วาทกรรม 'ผลประโยชน์แห่งชาติ' และผู้ได้รับประโยชน์คือ นายทุน

25 ก.ค. 2558 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดห้องเรียนสาธารณะครั้งที่ 2 “การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “หลักการ และแนวคิดว่าด้วยการมีส่วนร่วม และสิทธิชุมชน” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมาย เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการดำเสวนาโดย วีรบูรณ์ วิสาทรสกุล อาจารย์ประจำ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หมายเหตุ: การจัดงานครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลากหลายองค์กรประกอบด้วย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อี๊งภากรณ์, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

สุนี ไชยรส  เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง หลักการและแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน ว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับ ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ เพราะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิชุมชน อย่างไรก็ตามเมื่อมองออกไปในภาพระบบสังคมใหญ่ๆ จะต้องมองเห็นว่า ประชาธิปไตยใม่ใช่เรื่องการเรื่องตั้งอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถที่จะตรวจสอบได้ และมีความสามารถที่จะควบคุมได้โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

สุนี อธิบายต่อไปว่า เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน มักจะเกียวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่องฐานทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นมาเนินนาน วิธีชีวิตความชุมชนเป็นเรื่องปกติที่จะมีความผูกโยงเกี่ยวข้องกับทรัพยากรในท้องถิ่น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิชุมชนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการตื่นตัว ตระหนักในเรื่องสิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2558 พบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกทำให้เสียชีวิตทั้ง 21 ราย โดยที่ 18 รายเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อฐานทรัพยากรของชุมชน ฉะนั้นนี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการจัดการ

สุนี กล่าวต่อไปว่า ต้นตอปัญหาในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องมาจากประเทศไทย เป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มี แต่ว่ามีความเหลือมล้ำในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ถูกผูกขาดโดยภาครัฐ  ประกอบกับการที่รัฐมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่เน้น หรือไม่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นการโครงการสร้างพัฒนาขนาดใหญ่ การที่ยังไม่มีกฎหมายอื่นๆ ที่มารับรองเรื่องสิทธิชุมชน ทั้งเรื่องที่ดิน ป่าไม้ แร่ และปิโตรเลียม

สุนี กล่าวต่อไปว่า ทัศนคติที่อ้างผลประโยชน์ของชาติ เองก็เป็นปัญหาสำคัญที่ลดทอนคุณค่าของสิทธิชุมชน การอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติหลายๆ ครั้ง นายทุนกลับเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ส่วนชาวบ้านตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

สุดท้ายสุนี เสนอว่า รัฐต้องมีกลไกในการปกป้องชุมชน ช่วยมีกฏหมายลูกต่างๆ ออกมาเพื่อยื่นยันสิทธิชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีช่องทางที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนของตัวเอง

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง สิทธิชุมชนในบริบทของสังคมไทย โดยกล่าวว่า เวลามีการพูดเรื่องสิทธิชุมชน จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญคือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสิทธิชุมชน เรามักนึกถึงเรื่องชุมชนเข้มแข็ง และอาจมองว่าถ้าชุมชนจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ไม่เห็นต้องสนใจรัฐ แต่ว่ามองแค่นั้นคงไม่เพียงพอเพราะเราก็เห็นแล้วว่าชุมชนไม่ได้อยู่โดดๆ แต่อยู่อย่างมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐด้วย และรัฐ หรือบริษัทก็มักจะเข้ามาแทรกแซงชุมชนเสมอ

เบญจรัตน์ กล่าวต่อไปว่า คำว่า สิทธิชุมชน มักจะถูกเอาไว้ใต้แนวคิดเรื่องผลประโยชน์ชาติ ความมั่นคง และระเบียบสังคม โดยยกตัวอย่างการให้ความหมายเรื่องสิทธิชุมชนของรัฐไทย ที่สะท้อนแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนของรัฐได้ได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือจากนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ จุลานนท์ (ด่วนที่สุด) นร. 0503/1184 ลงวันที่ 16 มกราคม 2551 อ้างถึงในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 15/2552 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 (กรณีว่าร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ผ่านสนช.เมื่อปี 2550 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่)

“สิทธิของชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 66 บัญญัติรับรองไว้นั้น เป็นสิทธิที่เกิดจากการสั่งสมด้วยการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตของ ชุมชนอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจนมาเป็นเวลานาน

สิทธิที่ก่อร่างขึ้นในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงมิใช่สิทธิที่รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง แต่เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรู้ ให้การรับรองและประสงค์จะส่งเสริม ให้ชุมชนได้ใช้สิทธินั้นอย่างเหมาะสม

การออกกฎหมายเพื่อให้ชุมชนได้ใช้สิทธิในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนโดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขบางประการ จึงไม่ใช่การลิดรอนสิทธิชุมชนแต่อย่างใด”

เบญจรัตน์ ชี้ว่าจากข้อความในหนังสือข้างต้น เราจะเห็นอีกความหมายหนึ่งของสิทธิชุมชน นั่นคือไม่ใช่สิทธิมนุษยชนในแง่ที่ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดมากับความเป็นมนุษย์ของเรา แต่เป็น “สิทธิ” ของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ชุมชน” ที่มีคุณสมบัติบางประการ และสิทธิที่ว่านี้ก็มีข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะในแง่เรื่องผลประโยชน์ของชาติ

ขณะเดียวกัน เบญจรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อดูที่รัฐธรรมนูญทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 จะพบว่าความหมายเรื่องสิทธิชุมชน คือการนิยามสิทธิที่ผูกอยู่กับความดีของชุมชน

อีกแง่มุมหนึ่งของประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน  เบญจรัตน์ กล่าวว่า มักจะมีการมองว่าสิทธิชุมชน เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ คนส่วนมากมักจะมีความรู้สึกเห็นด้วยการการรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากกว่า เรื่องราวของวิถีชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชน เหตุที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่อยากเห็นอะไรที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ได้สนใจกระบวนการ ดังเช่นที่นักสิ่งแวดล้อมชื่อดังคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า

"เขา(รัฐบาลทหาร) มาแค่ชั่วคราว แถมยังมาด้วยวิธีไม่ปกติก็คงต้องรอให้มีรัฐบาลนั่นแหละถึงจะคิดเรื่องปรับฐานการพัฒนาประเทศได้  ตอนนี้แค่อยากให้วางรากฐานอะไรให้ดีๆ ใช้ความรวดเร็วขณะที่บ้านเมืองยังไม่มีฝ่ายค้านสะสางปัญหาต่างๆเช่น การปราบปรามขบวนการลักลอบ ตัดไม้พะยูง รีสอร์ทที่บุกรุกป่า จัดระเบียบชายหาด ที่ทำอยู่นี้เป็นเรื่องน่าชื่นชม หรือการออกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่คิดว่าคงไม่มีใครชงเข้าไปหรอก เพราะยุคนี้เป็นยุคของการพัฒนา ไม่ใช่ยุคของสิ่งแวดล้อม"

เบญจรัตน์ ชี้ว่า ปัญหาของการคิดอย่างนี้คือ การสนใจเฉพาะผลที่เกิดขึ้น ไม่สนกระบวนการ จึงมีท่าทีที่พอใจกับรัฐบาลที่เด็ดขาด ที่เข้ามาจัดการ จัดระเบียบ ทว่าการเข้ามาจัดระเบียบดังกล่าว เป็นการปิดปากประชาชนให้เงียบเสียง ห้ามตั้งคำถาม ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ และมีหลายกรณีที่การจัดเวทีเพื่อพูดคุยถึงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนถูกทหารคุกคาม แม้จะเหมือนมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นในแง่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายตามกระบวนการประชาธิปไตย

เบญจรัตน์ กล่าวว่า อยากให้มองเห็นสิทธิชุมชน จากมิติเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นพลเมือง โดยมองว่าสิทธิชุมชนคือสิทธิมนุษยชนของคนที่อยู่กันเป็นชุมชน เป็นสิทธิของคนในชุมชนที่ใช้ชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่เท่ากันของรัฐนี้ โดยให้ความสำคัญกับแก่นกลางของการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน นั่นคือสิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เกี่ยวข้องกับชุมชน

เบญจรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร สิทธิในฐานะพลเมืองของเราแทบไม่เหลือ เราต้องทำตามสิ่งที่ทหารสั่ง ห้ามตั้งคำถาม ห้ามบ่น ห้ามยืนยันว่านี่เป็นเรื่องของฉัน ห้ามบอกว่าฉันขอกำหนดชีวิตตัวฉันเอง  ปัญหาเหล่านี้มีอยู่มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เดิมแม้รัฐบาลจะดีจะชั่วอย่างไร เราก็ยังพูดได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ถูกปิดปากไปหมด นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาฝากความหวังไว้กับคุณธรรม ความดี ไม่ใช่การให้อนาคตของเราไว้ในมือของคนที่เราเชื่อว่ามีคุณธรรมดีกว่านักการเมือง ความดีของเขาอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราก็ได้  สิ่งที่เราต้องทำเป็นเรื่องของการสร้างระบบตรวจสอบ การสร้างอำนาจต่อรอง

สามชาย ศรีสันต์ เริ่มต้นอภิปรายด้วยการกล่าวว่า หลายๆ คนในสังคมไทยคงรู้สึกได้ว่า คนไม่เท่ากัน เช่น คนที่สืบวงศ์ตระกูลสูง ก็จะมีสิทธิที่มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องการจะบอกก็คือ คนเราเท่ากันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเราเกิดมา เรามีสภาพร่างกายความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน และสิ่งที่ทำให้เราต้องมีการรับรองสิทธิมนุษยชน สามชายเสนอว่า เพราะว่ามนุษย์มีความสามารถพิเศษที่สิ่งมีชีวิตอื่นไม่มีคือ การสื่อสารโดยสัญลักษณ์ มีอารมณ์ มีความรู้สึก รู้จักเจ็บปวด ฯลฯ แต่สิ่งมีชีวิตอื่นอาจจะไม่มีการสื่อสารเช่นนี้

สามชาย กล่าวต่อว่า เมื่อเรามีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มนุษย์จึงสามารถที่จะทำข้อตกลงการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุขได้ และเพราะความแตกต่างเราจึงได้รับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ก็คือ ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากที่คนอื่นเขาให้แต่มันติดตัวเรามากับร่างกายของเรา เราจึงสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงออกได้ โดยต้องไม่ละเมิดผู้อื่น เพื่อให้สังคมสงบสุข

ข้อตกลงดังกล่าวนี้คือข้อตกลงที่เป็นสิทธิร่วมกัน เราควรยึดถือเพื่อให้สังคมสงบสุข ถ้าคุณไม่ยึดถือและให้โอกาสเขาในการใช้ร่างกายของเขา แต่กลับละเมิด ข่มขู่ คุกคาม รังแก ไปริดลอนทรัพย์สินของเขา กฎระเบียบที่มีการตกลงร่วมกันจะใช้ไม่ได้ และจากนั้นก็จะไม่มียึดถือตามอีก สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือสงคราม ซึ่งมนุษย์จะไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ต่อมาเมื่อคุณใช้ร่างกายของคุณในการทำงาน ใช้ทรัพยากรในถิ่นอาศัยของคุณมาชั่วลูกชั่วหลาน  การลงแรงด้วยร่างกายคุณ สมองของคุณ ในทรัพยากรเหล่านั้น ผลงานที่เกิดขึ้นนั้น ก็ควรจะเป็นของคนที่ลงแรง นี่คือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์พอในที่จะมีอยู่

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรองรับสิทธิที่เรามี ในเสรีภาพทางร่างกายและทรัพย์สินที่เราลงแรงไป อย่างไรก็ตาม สามชายกล่าวว่า สิทธิร่วม แม้จะเป็นข้อตกลงของสังคม แต่เป็นสิทธิที่เรามองไม่ค่อยเห็น เพราะเราเข้าใจว่า สิทธิทางร่างกายหรือทรัพย์สิน เป็นสิทธิปัจเจก แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยึดถือร่วมกันมันจะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นในอีกมิติ สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เราแชร์กันอยู่

สิทธิร่วม เช่น ชาติ คงไม่สามารถมีใครผูกขาดความรักชาติได้ แต่มันเป็นการร่วมกันของคนไทยทุกคนที่แชร์และเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อเป็นเจ้าของร่วม เราก็ต้องมีส่วนที่จะวิพากษ์หรือแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่เราแชร์ความเป็นเจ้าของอยู่ และยังมีทรัพยากรหลายอย่างที่ไม่ได้มีเจ้าของเป็นปัจเจก เช่น สายน้ำ ป่า สิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สินร่วม ซึ่งรัฐเข้ามาเป็นผู้จัดการให้ การที่รัฐเกิดขึ้นมาเพราะเรามอบสิทธิให้รัฐเข้ามาจัดการ แบ่งสรรอย่างยุติธรรม แต่การที่เราจะมอบสิทธิร่วมเหล่านี้ให้กับใครเราต้องแสดงเจตจำนงค์ ไม่ใช่การที่อยู่ๆคุณบอกว่า ฉันจะเข้ามาจัดการ เพราะบ้านเมืองไม่สงบสุข แล้วเอาปืนมายืนคุมไม่ให้สูบน้ำ เป็นต้น กรณีเช่นนี้คือการขโมยสิทธิประชาชนไป มันจะไม่มีปัญหาเลยถ้าเรามอบสิทธิเหล่านี้ให้กับรัฐอย่างชอบธรรม เช่น ผ่านการเลือกตั้ง แต่เราไม่เคยได้มอบเลย ไม่เคยมีโอกาสได้มอบหรือได้พูด การเลือกตั้งก็ถูกขัดขวาง และนี่คือการล่วงละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงที่สุด

สามชาย มองว่า การมอบสิทธิร่วมให้รัฐได้จัดการเรื่องราวต่างๆ รัฐในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ได้เป็นการมอบอำนาจให้ทำในฐานะเจ้านาย แต่เป็นฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจโดยประชาชน  จากสิทธิของแต่ละคนที่แชร์กันอยู่ในตัวคนๆนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ บอกว่าอันนี้ไม่ทำให้เราเกิดความสุขเลย แต่เราทำไม่ได้เพราะรัฐถือว่านี่คือสิทธิส่วนบุคคลที่เขาได้มาด้วยตัวเอง ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่

สามชาย กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายว่า การที่ใครเข้ามาแล้วบอกว่าเข้ามาเพื่อจัดการความสงบเรียบร้อย โดยการจัดการนั้นกลายเป็นการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในตัวมันเอง เพราะมีการละเมิดต่อความสุขสุดท้ายของมนุษย์ ซึ่งติดตัวทุกคนมาและเป็นเจ้าของ มันไม่มีทางเกิดความสงบสุขได้ ไม่มีรัฐบาลไหนที่อยู่ได้โดยการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“ผมว่าไอ้เรื่องสิทธิเสรีภาพมันถูกทำให้เป็นเรื่องของการค้า คืออะไรก็ตามที่ถูกทำให้เป็นการค้าเนี่ยคุณปฏิเสธไม่ได้หรอก การค้าในระบบทุนนิยมน่ะ...คุณมีสิทธิเสรีภาพในการเงิน ในการสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ การเดินทาง สายการบินต่างๆนี่ราคาถูกมากเลยนะ คุณมีสิทธิเสรีภาพในการที่คุณจะศัลยกรรมร่างกายของตนเอง ทุกอย่างเมื่อถูกทำให้เป็นการค้าไม่ต้องบอกว่าพอเพียง เพราะว่าพอคุณบอกว่าพอเพียง ความพอเพียงก็ถูกทำให้เป็นสินค้า เพราะฉะนั้น คุณปฏิเสธมันไม่ได้ในโลกของทุนนิยมแบบนี้ และเมื่อมันกลายเป็นสินค้าคุณจำกัดมันไม่ได้ แล้วผมคิดว่ายิ่งจำกัดก็จะยิ่งเกิดการต่อต้านรุนแรง เพราะว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์มีอยู่ตอนนี้ คือความสุขมันหมดไปแล้วน่ะครับ ผมไม่คิดว่ามันจะมีความสุขอะไรไปมากกว่าการที่เราจะแชร์เสรีภาพทางร่างกายของเราได้”

เดโช ไชยทัพ กล่าวว่า ความหมายของสิทธิชุมชนในปัจจุบัน ถูกเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของคนชายขอบในการเรียกร้องต่างๆ ซึ่งเดโชคิดว่า สิทธิชุมชน ควรถูกยกไปในมิติที่กว้างขึ้น ภายใต้ร่มหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังมากขึ้น นี่คือโจทย์ที่เราต้องช่วยกันคิดให้ได้ทั้งในเรื่องของเนื้อหาและกระบวนการ ให้สิทธิชุมชนไม่ใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าเป็นพหุวัฒนธรรม

เดโช กล่าวต่อว่า ในหลักที่ต่อเนื่องกันนั้น หลักสิทธิชุมชน ต้องเชื่อมต่อไปยังหลักปฏิรูป และการจัดการทรัพยากร ซึ่งเดโชเสนอว่า เราต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากร จากการรวมอำนาจ สู่การกระจายอำนาจ ในการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการนั้น ต้องมีการร่วมด้วยของสถาบันอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่รัฐอย่างเดียว เช่น สถาบันชุมชน หมู่บ้าน ฯลฯ และในแง่การปฏิรูปการจัดการทรัพยากร ต้องมีการปฏิรูปในส่วนของความสามารถในการบริหารจัดการและองค์ความรู้  ดังนั้นการปฏิรูปนั้นจะทำให้การขับเคลื่อนในประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนชายขอบหรือกลุ่มคนด้อยโอกาสเท่านั้น

เดโช มองว่า ในเรื่องสิทธิชุมชน ควรเป็นเรื่องของหลายระดับ ต้องมีหลายเลเวล เช่น ระดับหมู่บ้าน อำเภอ ชุมชน รัฐ ฯลฯ และในอีกแง่ กฏหมายที่เกี่ยวข้องเองก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการปะทะของหลักกฏหมายรัฐและหลักสิทธิชาวบ้านเหมือนเดิม

เดโช เสนออีกประเด็นในมุมมองของเขา ว่าหลักสิทธิชุมชนนั้นเป็นหลักหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ไม่อยู่ภายใต้หลักกฎหมายอย่างหนึ่ง ถ้าเราเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาอยู่ใต้หลักกฏหมาย ในบางครั้งที่เราสู้ในหลักกฏหมายบางทีเราก็แพ้ ดังนั้นบางทีหลักสิทธิชุมชนอาจจะใหญ่กว่ากฏหมายหรือ พ.ร.บ. ที่บัญญัติอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันดูต่อไปว่า ถ้าเราผูกมัดหลักสิทธิมนุษยชนกับหลักกฏหมายจนเกินไปมันก็จะกลายเป็นว่า เมื่อเราสู้แล้วแพ้แสดงว่าเราไม่สิทธิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net