มายาคติเกี่ยวกับการเมืองจีน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความต่อไปนี้ถูกเขียนขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและมิตรภาพอันแสนงดงามระหว่างไทยและจีนเพื่อสะท้อนและโต้แย้งความเชื่ออันไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของคนไทยที่มีต่อการเมืองจีน (หรืออย่างน้อยก็เป็นความเชื่อที่ต้องเปิดให้มีการถกเถียงกันอย่างมา) โดยข้อมูลนี้ผู้เขียนเก็บจากความเข้าใจของตัวเองในอดีต ความคิดของคนรอบข้างหรือสาธารณชนไม่ว่าจะเป็นสลิ่มหรือไม่เป็นสลิ่มที่แสดงผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

1.ประเทศจีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ มีประชากรมาก ชนเผ่าหลากหลายจึงต้องใช้การปกครองแบบเผด็จการอย่างคอมมิวนิสต์

เราต้องมาพิจารณาคำว่า “เผด็จการ” ให้ดี แน่นอนว่าคอมมิวนิสต์เป็นเผด็จการ (หรือจะใช้คำว่า “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์” ก็ตามแต่) แต่เผด็จการก็อาจไม่ได้หมายถึงคอมมิวนิสต์เสมอไป ลัทธิเผด็จการนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่ากษัตริย์นิยม สมบูรณาญาสิทธิราช ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ รัฐบาลทหาร พรรคการเมืองเดียว หรือแม้แต่ประชาธิปไตยเทียม สำหรับจีนนั้นก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะขึ้นมามีอำนาจในปี 1949  ก็มีการปกครองแบบเผด็จการในรูปแบบลัทธิกษัตริย์นิยมมาหลายพันปี  มีในปี 1911 เพียงช่วงสั้นๆ ที่จีนมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมในยุคของดร.ซุน ยัตเซ็นก่อนจะหันกลับมาเป็นกษัตริย์นิยมอีกครั้งในช่วงหยวน ซื่อไข่  ภายหลังการเสียชีวิตของหยวน จีนต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ ภายใต้การปกครองของบรรดาลูกน้องของเขาที่แบ่งพื้นที่กันในการปกครองประเทศโดยมีอุดมการณ์ที่เรียกกันว่าลัทธิขุนศึกนิยม ก่อนที่จะมาอยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลเจียง ไคเช็ค เป็นความจริงที่ว่าจีนเป็นปึกแผ่นอย่างมากภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ภายหลังจากรบเอาชนะจีนคณะชาติ (หรือพรรคก๊กมินตั๋ง) ของเจียงไคเช็คได้  แต่ถ้าเราลองสมมติให้จีนคณะชาติเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ดูบ้าง เจียง ไคเช็คก็คงจะใช้วิธีแบบเผด็จการแบบรวมศูนย์อำนาจในการรวมจีนให้เป็นประเทศเดียวกันได้ไม่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์เช่นใช้ความรุนแรงและการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมหรือแนวคิดเผด็จการอื่นๆ แทนลัทธิคอมมิวนิสต์

ยังเกิดคำถามอีกว่าจีนต้องถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการตลอดไปหรือไม่  ผู้เขียนก็จะเสนอคำตอบว่า “ไม่เสมอไป”   การปกครองของจีนนั้นแม้จะประกาศว่าตัวเองเป็นรัฐเดี่ยว แต่มีธรรมชาติค่อนไปทางสหพันธรัฐ (Federalism) มานานแล้ว ในปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นก็มีอยู่อำนาจอยู่อย่างมหาศาลอยู่แล้วเพียงแต่ต้องตกอยู่ภายใต้การชี้นำและการควบคุมของรัฐบาลกลางผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ประจำแต่ละพื้นที่ อันอาจสะท้อนได้ว่าคนจีนนั้นมีพื้นฐานของประชาธิปไตยในท้องถิ่นระดับหนึ่งและสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นประเทศเดียวกันได้จากจำนวนของชนเผ่าฮั่นซึ่งมีอยู่ร้อยละ 92  ยกเว้นบางพื้นที่ซึ่งมีปัญหาทางอัตลักษณ์ทางชนเผ่าและศาสนาเช่นซินเจียงและทิเบต อย่างไรก็ตามการรับรู้ของคนไทยต่อจีนมักเกิดขึ้นผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำให้รู้สึกราวกับว่าการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์หรือการมีสภาพแบบรัฐเดี่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้หรือจำเป็นต้องมีสำหรับสังคมจีนซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน (ดูมายาคติในข้อที่ 4)  นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์ยังใช้เวลากว่าทศวรรษในการสร้างความชอบธรรมของตนผ่านนโยบายการก้าวกระโดดไกลและการปฏิวัติวัฒนธรรมแต่ผลกลับตาลปัดคือได้สร้างความเสียหายไปกับสังคมจีนเป็นอย่างมาก  ผู้นำของรัฐบาลท้องถิ่นมักเอาใจพรรคคอมมิวนิสต์เสียยิ่งกว่าประชาชนของตัวเอง ดังเช่นนโยบายการก้าวกระโดดไกลที่ผู้นำท้องถิ่นมักโกหกจำนวนของผลผลิตแก่รัฐบาลกลางโดยไม่ใส่ใจต่อความเดือนร้อนของประชาชนของตน  กระนั้นพรรคคอมมิวนิสต์สามารถอยู่ได้เพราะนำเอามาลัทธิสตาลิน ของสหภาพโซเวียตมาใช้เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือในปัจจุบัน เช่นการเสริมสร้างลัทธิเชิดชูบุคลคือการโฆษณาผู้นำของพรรคผ่านสื่อต่างๆ เช่นเพลง โปสเตอร์ ภาพยนตร์  พร้อมปรัชญาและแนวคิดอันเลิศหรูเป็นบทกวี  การปลูกฝังให้คนจีนสอดส่องพฤติกรรมของกันและกัน การใช้ตำรวจและคุกลับในการเล่นงานฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ฯลฯ  ซึ่งเป็นผลประโยชน์สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าประชาชนจีน ประเทศจีนที่ปราศจากพรรคคอมมิวนิสต์อาจสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้ 30 หรือ 40 ปีก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำแม้ว่าอาจจะประสบปัญหาในการปรับตัวดังเช่นการหยั่งลึกของวัฒนธรรมขงจื้อหรือความนิยมของคนจีนที่มีต่อความเข้มแข็งของผู้นำซึ่งสิ่งนี้ก็ยังมีอยู่คู่กับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมอื่นได้อย่างเช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น

ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดประชาธิปไตยโดยยกตัวอย่างสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายในปี 1991 ว่าเกิดจากการปฏิรูปประเทศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตก่อนยุคของนายมิคาอิล กอร์บาชอฟนั้นมีปัญหาในการบริการประเทศและเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวงอย่างหนักผสมกับการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจแบบไร้ประสิทธิภาพ ถึงแม้กอร์บาชอฟจะไม่ปฏิรูปประเทศ สหภาพโซเวียตก็อาจจะล่มสลายในเวลาใดเวลาหนึ่งเช่นปลายทศวรรษที่ 90 สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมักอ้างว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยก็จะเหมือนกับโซเวียตคือประเทศล่มจม แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เพราะพรรคคอมมิวนิสต์นั้นวิเศษเลิศเลอ แต่เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรที่อยู่คู่กับจีนมานานเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตโดยการประสานตัวเองกับโครงสร้างการปกครองและสังคมจีนอย่างแนบแน่น หากพรรคล่มสลายก็จะทำให้ประเทศเกิดปัญหาในเรื่องความมั่นคงได้ยิ่งกว่าประเทศประชาธิปไตย (ก็เหมือนฉากสมมติที่ว่าเกิดคิม จองอุนถูกรัฐประหารหรือลอบสังหาร ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนในเกาหลีเหนือ) แต่ถ้าจีนไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ต้น ก็อาจไม่ประสบปัญหากับความมั่นคงดังที่มักอ้างกัน

ในทางกลับกันสมมติว่าจีนถูกปกครองโดยพรรคก๊กหมินตั๋งภายหลังสงครามกลางเมือง จีนก็จะมีการปกครองแบบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจโดยเจียง  ไคเช็คและลูกชายและใช้ความรุนแรงคล้ายคลึงกับพรรคคอมมิวนิสต์ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการปกครองของเจียงและทายาทนั้นมีลักษณะที่เปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยได้ดีกว่าพรรคคอมมิวนิสต์เพราะการที่รัฐบาลเจียงมีความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตกและเป็นสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมและจารีตจากตะวันตกมากกว่าหลายประเทศในตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แรงกดดันอย่างมหาศาลจากตะวันตกโดยเฉพาะแนวคิดด้านประชาธิปไตย จะเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้นำยุคหลังอย่างเช่นลูกชายของเจียง(ในช่วงบั้นปลายของชีวิต)หรือสมาชิกของพรรคก๊ก หมินตั๋งคนอื่นๆ ซึ่งมีหัวปฏิรูปสามารถนำประเทศจีนเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยได้ไม่มากก็น้อย อันส่งผลให้รัฐบาลจีนยุคใหม่สามารถดูดซึมเอาชนเผ่าต่างๆ มาอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสมัครใจได้ดีกว่าเดิมเพราะรัฐบาลดังกล่าวก็ไม่เหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งปฏิเสธศาสนาจึงน่าจะยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนกับผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างใน ซินเจียงและผู้นับถือศาสนาพุทธในทิเบตได้มากกว่า  เหตุการณ์เช่นนี้อาจทำให้ปัญหาด้านความมั่นคงที่จีนกำลังประสบอยู่อย่างนี้ลดน้อยกว่าเดิมด้วย  ตัวอย่างที่พอเทียบเคียงได้กับจีนเช่นอินเดียและอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดประเทศที่ใหญ่และความหลากหลายของประชากรจนต้องพบกับภัยคุกคามจากการแยกดินแดนรวมไปต่างประเทศอันนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศเสมอมา แต่ประเทศทั้ง 2 สามารถมีการปกครองประชาธิปไตยเสรีนิยมได้

2.จีนเป็นป้อมปราการสำหรับประเทศโลกที่ 3 ในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน

จีนภายใต้ยุคเหมา เจ๋อตงได้เสนอตนเป็นทางเลือกใหม่ประเทศที่เสื่อมศรัทธาหรือหวาดกลัวอิทธิพลของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจนได้รับความชื่นชอบจากประเทศโลกที่ 3 อยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกับปัญญาชนจำนวนมากในยุโรปในทศวรรษที่ 60 ต่างหันมาเรียกตัวว่าเป็นสาวกลัทธิเหมา จีนยังได้เข้าร่วมประชุมที่เมืองบันดุง อินโดนีเซียในปี 1955 อันนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-aligned movement) แม้ว่าตนจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตามแต่ก็สะท้อนจุดยืนว่าจะไม่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในค่ายเดียวกับสหภาพโซเวียต นอกจากนี้จีนได้สนับสนุนเกาหลีเหนือและเวียดนามเหนือเช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ของเอเชียในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกันและรัฐบาลของประเทศลูกสมุน แต่ผู้เขียนคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การปกครองของเหมานั้นนิยมสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับภัยคุกคามจากตะวันตกในฐานะจักรวรรดินิยม (ซึ่งเน้นย้ำบทเรียนที่จีนถูกต่างชาติเข้ายึดครองบางส่วนตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยมีวัตถุประสงค์คือการสร้างความชอบธรรมให้กับทางพรรคหรือผลประโยชน์ของประเทศจีนเสียมากกว่า  มีคำถามว่าหากเหมาต้องการให้จีนเป็นป้อมปราการในการต้านลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก เหตุใดเหมาจึงยินยอมในการเชื่อมความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในปี 1972 ทั้งที่สหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในสมรภูมิเวียดนามในฐานะผู้รุกรานที่แสนชั่วร้าย แม้การเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งนี้จะเป็นเชิงสัญลักษณ์แต่ก็ได้ทำให้นิกสันผู้ซึ่งสั่งทิ้งระเบิดในกัมพูชาและเวียดนามเหนือจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนนับแสนได้รับเกียรติและการยกย่องอย่างมาก และการเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งนี้ระหว่างเหมากับนิกสันยังส่งผลกระทบถึงความรู้สึกของรัฐบาลเวียดนามเหนือต่อจีนในด้านลบไม่มากก็น้อยอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทั้ง 2 ประเทศกลายเป็นปรปักษ์ในเวลาต่อมาจนถึงขั้นสูงสุดเมื่อจีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปี 1979 นอกจากนี้ยังมีภาพการไปเยือนสหรัฐฯ ของเติ้ง เสี่ยวผิงในปี 1979  อันเป็นยุคของจิมมี คาร์เตอร์  โปรแกรมหนึ่งในการเยือนคือการร่วมงานปราบม้าหรือวัวพยศ (โรดิโอ) ที่เมืองเท็กซัส ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนของจักรวรรดินิยมอเมริกันนั้น นายเติ้งและคณะตัวแทนของจีนได้สวมทั้งชุดเหมาและหมวกเคาบอยดูน่าขันเหมือนกับเศรษฐีบ้านนอกเข้ากรุง

หรือยังเกิดคำถามขึ้นอีกว่าหากจีนต่อต้านหรืออยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ จริงๆ แล้ว เหตุใดจีนจึงพยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลกโดยใช้เวลาถึง 15 ปี โดยได้รับการช่วยเหลือจากจักรวรรดินิยมอเมริกันในยุคของบิล คลินตันและเมื่อเข้าเป็นสมาชิกแล้วรัฐบาลจีนต้องผ่อนปรนภาษีศุลกากร โควต้ารวมไปถึงอุปสรรคทางการค้ากว่า 7,000 รายการ และการแข่งขันจากบริษัทต่างประเทศได้ถอนรากถอนโคนกลุ่มเกษตรกรรวมไปถึงก่อปัญหาให้กับองค์กรธุรกิจของรัฐแม้จะเป็นเพียงบางส่วนแต่ก็นำไปสู่ความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนชาวอเมริกันอย่างมาก ผู้สนับสนุนจีนอาจจะแก้ตัวได้อีกว่าเป็นการเสียสละเพียงเล็กน้อยเพื่อที่ประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่าหลายเท่า แต่ปัญหาก็คือผลประโยชน์ที่จีนได้จากการค้าเสรีตามแบบสังคมนิยม (Socialist Market Economy) นั้นไปกระจุกอยู่กับชนชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่มากกว่า ในปัจจุบันองค์กรที่ปราบปรามการทุจริตในวงราชการของจีนเองก็ยอมรับว่าบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐนั้นเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวงและการเล่นพรรคเล่นพวกนับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรม 

นอกจากนี้เศรษฐกิจของทั้งจีนและจักรวรรดินิยมอเมริกันจึงมีการเชื่อมโยงและพึ่งพิงกันอย่างมหาศาล ถึงแม้สหรัฐฯ จะเคยมีจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด (ญี่ปุ่นได้แซงหน้าการเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แทนเสียแล้วในปี 2015 นี้) และยังมีการค้าขายขาดดุลกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่จีนก็ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ อยู่มากอย่างเช่นสหรัฐฯ นั้นเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้ารายใหญ่ของจีน การลดกำลังซื้อสินค้าของยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของจีนจากการประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นผลให้จีนยิ่งต้องพึ่งตลาดของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จักรวรรดินิยมอเมริกันยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดสำหรับจีน  นอกจากนี้สหรัฐฯและกลุ่มประเทศหรือประเทศซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันเช่นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นนั้นยังเป็นผู้ลงทุนในจีนมากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าการแบ่งโลกออกเป็น 2  ส่วนโดยจีนนั้นเป็นผู้นำชนชาวตะวันออกเข้าโรมรันกับจักรวรรดินิยมอเมริกัน (ภาพวาดเปรียบเทียบคือพญามังกรกำลังกัดกับพญาอินทรีย์และประเทศเล็กๆ  อย่างไทยกระโดดโลดเต้นเพื่อเอาใจช่วยจีนอยู่ข้างล่าง) จึงไม่จำเป็นต้องถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่ามหาอำนาจทั้งสองจะมีการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในหลายเรื่องเช่นการทหารและเศรษฐกิจ แต่ทั้งคู่ก็อาจเห็นพ้องร่วมกันหรือประสานผลประโยชน์ได้ในบางเรื่องเช่นการค้าและการลงทุน โดยไม่สนใจกับผลกระทบด้านลบต่อประเทศเล็ก ๆ ที่หวังพึ่งอำนาจของจีนก็ได้

3.คนจีนมีความศรัทธาและพึงพอใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์  

เป็นเรื่องจริงที่ว่าคนจีนให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมืองเพราะเห็นว่ามีระเบียบวินัยและมีนโยบายเอาใจชนรากหญ้า แต่ตามความจริงแล้วภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคนจีนจำนวนมากซึ่งอาจจะไม่ใช่พวกศักดินาหรือเจ้าที่ดินเก่าเสมอไปต้องพบกับความทุกข์ยากภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงเสื่อมศรัทธาและไม่เห็นด้วยกับการทำงานพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เสมอมาดังเช่นการรณรงค์ของพรรรคอมมิวนิสต์ที่เปิดให้คนจีนสามารถวิพากษ์วิจารณ์พรรคได้ในปี 1956  โดยมีคำขวัญที่ว่า "ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก  ร้อยสำนักแข่งประชัน" เพื่อเป็นการล่อหลอกให้พวกต่อต้านการปฏิวัติหรือพวกเอียงขวาแสดงตน ผลก็คือมีการเขียนจดหมายมาโจมตี วิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและกว้างขวาง อันเป็นเหตุให้เหมา เจ๋อตงต้องระงับการรณรงค์นี้และกำจัดคนที่วิจารณ์เหล่านั้นออกไป เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้งเช่นในปี 1978  ที่เติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งเริ่มเปิดประเทศได้ยินยอมให้ประชาชนเขียนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเสรีผ่านกระดาษที่ติดบนกำแพงอิฐในนครปักกิ่งดังที่เรียกว่า  “กำแพงประชาธิปไตย “ (Democracy Wall)  โดยทางพรรคมักอ้างคำขวัญที่ว่า “การค้นหาความจริงจากข้อเท็จจริง” แต่ที่จริงเป็นการล่อให้ประชาชนเล่นงานแก๊งสี่คน อย่างไรก็ตามประชาชนก็หันมาวิจารณ์เติ้งและรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย จนเติ้งต้องระงับกลยุทธ์นี้อีก หรือเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดกรณีจตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ที่นักศึกษา ประชาชน ชนชั้นกรรมกร ฯลฯ หลายแสนคนต่างประท้วงรัฐบาลและถูกปราบปรามจนเสียชีวิตไปหลายพันคน อนึ่งตามความจริงแล้วการประท้วงไม่ได้จำกัดอยู่ที่จตุรัสเท่านั้นหากกระจายไปทั่วประเทศสามารถสะท้อนได้ว่าความไม่พอใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของคนจีนนั้นมีอยู่มาก ทั้งนี้ไม่นับคนจีนทั่วประเทศส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเสียงอันเงียบงัน (Silent Majority)  ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังนิยมพรรคคอมมิวนิสต์แต่ก็คงมีอีกมากที่หวาดกลัวต่อการใช้ความรุนแรงของพรรค

ในปัจจุบันการจะทราบว่าคนจีนศรัทธาพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็เหมือนกับการทายว่ามีอะไรอยู่ในกล่องดำ จากการปกครองแบบเผด็จการที่ปิดกั้นไม่ให้คนต่อต้านรัฐบาลแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ ไม่มีการเลือกตั้งแบบตะวันตกและไม่มีโพลแสดงความรู้สึกหรือทัศนคติของสาธารณชนในขณะที่รัฐสามารถทำการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่ออันทรงพลังอย่างเช่นซินหัวหรือไชน่าเดลลีทำให้เราไม่สามารถทราบถึงทัศนคติที่แท้จริงของคนจีนเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์  เป็นเรื่องจริงที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้ทำให้เศรษฐกิจของจีนยิ่งใหญ่จนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาหรือแซงหน้าสหรัฐฯ ไปในหลายด้านจนกลายเป็นประเทศส่งออกใหญ่ที่สุดในโลกหรือมีมวลผลิตภัณฑ์รวมในด้านความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP) มากที่สุดในโลก เช่นเดียวกับการยกระดับฐานะของคนจีนหลายร้อยล้านคนไปสู่การเป็นชนชั้นกลางอันทำให้คนจำนวนมากศรัทธาและพอใจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีคนจีนอีกจำนวนไม่น้อยไม่ว่าชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือเป็นชนเผ่าที่อยู่ในมณฑลหรือเขตปกครองตัวเองต่างๆ ที่ไม่พึงพอใจพรรคเช่นเห็นว่าทางพรรคควรปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยคือเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี  ประเทศจีนน่าจะเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริงคือไม่ได้กระจุกความมั่งคั่งและอำนาจที่บุคคลเพียงไม่กี่กลุ่มไม่ว่าผู้นำกับสมาชิกระดับสูงของพรรค  นายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่แอบอิงกับพรรค ดังจะเห็นได้จากความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ของจีนซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก อันถูกสะท้อนมาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการประท้วงของคนจีนซึ่งทำการประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ สภาพการทำงาน ความอยุติธรรมของสังคมกว่า 180,000 ครั้งต่อปี    รวมไปถึงการต่อสู้ดิ้นรนของประชาชนซึ่งต้องการมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเช่นศาสนาคริสต์คาทอลิก อิสลามหรือแม้แต่ฟาหลุนกงในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มิใยต้องกล่าวถึงประชาชนในเขตปกครองพิเศษดังเช่นชาวมาเก๊าและชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ประท้วงต่อต้านทางการเมืองต่อรัฐบาลจีนในเวลาที่ผ่านมา  นอกจากนี้คนจีนชนชั้นกลางยังได้เข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองตามแบบ Netizen หรือพลเมืองเครือข่ายอยู่ไม่น้อยผ่านเว็บไซต์หรือบล็อกเช่นเว่ยโป แต่รัฐบาลจีนได้จำกัดบทบาทของคนเหล่านั้นเช่นเพียงร้องเรียนเรื่องต่างๆ หรือการเปิดโปงการทุจริตของข้าราชการในระดับต่าง ๆ พวกเขาจึงต้องระวังไม่ให้การเปิดโปงนั้นถูกตีความว่าเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการโค่นล้มหรือทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะกฎหมายของจีนในด้านอินเทอร์เน็ตนั้นแรงมาก จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คุกขังผู้กระทำความผิดทางอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลกในปี 2014  หากทางการจีนยกเลิกกฎหมายนี้ก็จะทำให้ได้ทราบความรู้สึกที่แท้จริงของชนชั้นกลางต่อพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่น่าจะดีเท่าไรนัก

นอกจากนี้เหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ทางพรรคตื่นตระหนกก็คือความหายนะของตลาดหุ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านทำให้ประเทศสูญเสียเงินไปกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งอาจแสดงถึงสภาวะการแตกของฟองเศรษฐกิจจีนและอาจนำไปสู่ความถดถอยทางอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันสะท้อนให้เห็นในระดับหนึ่งว่าความศรัทธาของคนจีนจำนวนมากต่อพรรคคอมมิวนิสต์นั้นยังถูกกำหนดตามนโยบายและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเสียมากกว่าอุดมการณ์ซึ่งผู้นำสูงสุดมักยกขึ้นมาด้วยประโยคคำพูดสวยหรูจนถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอยู่กว่า 80 ล้านคนนั้น แม้ว่าสมาชิกจำนวนมากมีความปรารถนาดีต้องการพัฒนาประเทศในการสมัครเข้ามา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสมาชิกอีกจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าการเป็นสมาชิกของตนจะกลายเป็นบันไดเพื่อไต่ก้าวไปสู่อาชีพการงานและชีวิตที่ดีกว่าเสียมากกว่า  อันน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คอมมิวนิสต์เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง

4.พรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ทำให้ประเทศจีนยิ่งใหญ่

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พรรคคอมมิวนิสต์ต่างหากที่ทำให้จีนไม่เจริญก้าวหน้าตั้งแต่แรก หากคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศไม่ว่าจำนวนประชากรหรือทรัพยากรสำคัญหลายอย่างซึ่งจีนมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว แต่ประเทศจีนต้องก้าวเข้าสู่หายนะเพราะนโยบายเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่เคร่งครัดอย่างเช่นการก้าวกระโดดไกลหรือการเร่งพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรแบบนารวมซึ่งเหมา เจ๋อตงเลียนแบบสหภาพ โซเวียตรวมไปถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งทำให้คนจีนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนล้านๆ  สถานการณ์ของประเทศได้ดีขึ้นในปี 1978 ที่เติ้งทำการเปิดประเทศเข้าสู่ระบบตลาดเสรีอันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบคอมมิวนิสต์แบบตายตัวที่ทางพรรคเคยพยายามโฆษณาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง กระนั้นเศรษฐกิจจีนในช่วงทศวรรษที่ 80 ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก เป็นทศวรรษที่ 90 จนถึงช่วงต้นปี 2000  ที่นายเจียง เจ๋อหมิน (และนายกรัฐมนตรีจูหรงจี) ได้อิงกับระบบตลาดเสรี อันนำไปสู่การแปรรูปองค์กรของรัฐ การเปิดประเทศต่อการลงทุนของต่างชาติ บริษัทต่างชาติได้เร่งรีบมาตั้งโรงงานด้วยมีแรงจูงใจเพราะค่าแรงต่ำ  และตลาดเสรีของจีนยิ่งพัฒนามากขึ้นเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลกในปี 2001 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 2  แม้ว่าในปัจจุบันจีนจะยังคงเศรษฐกิจแบบรัฐเป็นหุ้นส่วนใหญ่ (State capitalism) อยู่ก็ตามแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้จีนยิ่งใหญ่นั้นไม่ได้เกิดจากการนโยบายหรือความชาญฉลาดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียวหากเป็นปัจจัยจากภายนอกอย่างเช่นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่  การเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติและนักลงทุนต่างชาติกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องมีธรรมาธิบาลมากขึ้น แม้ 15 ปีผ่านไปจะประสบความสำเร็จไม่มากเท่าที่ควรก็ตาม นอกจากนี้การปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์ให้ปลอดจากการฉ้อราษฎรบังหลวงและการยอมรับสิทธิมนุษยชนของผู้เห็นความต่างจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากแรงกดดันจากตะวันตกด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนยังมาสมมติว่าถ้ารัฐบาลของเจียง ไคเช็คยังคงมีอำนาจตั้งแต่ปี 1949  จีนจะเปิดตัวเองเข้าสู่ระบบตลาดเสรีในสมัยใด เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจจะเปิดประเทศก่อนทศวรรษที่ 70 ซึ่งอาจจะทำให้จีนก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ไวกว่ายุคปัจจุบันภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เสียด้วยซ้ำ (แน่นอนว่าจีนจะต้องเป็นสมาชิกของ GATT หรือความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าซึ่งเป็นบรรพบุรุษขององค์กรการค้าโลกตั้งแต่เนิ่น ๆ คือต้นทศวรรษที่ 50)  ถ้าหากเจียงสามารถแก้ไขเรื่องการฉ้อราษฎรบังหลวงซึ่งเป็นจุดด้อยของเขาได้สำเร็จ  เป็นไปได้ว่าจีนจะเจริญก้าวหน้าเหมือนหรือยิ่งกว่าทุกวันนี้ นอกจากนี้ช่วงก่อนที่จีนจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์นั้น คนจีนฐานะดีและมีความรู้จำนวนมากได้อพยพพร้อมทุนทรัพย์ไปยังฮ่องกงและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 ดังนั้นถ้าเจียงยังปกครองประเทศจีนอยู่ ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนเหล่านั้นก็ยังคงอาศัยอยู่กับจีนก็จะกลายเป็นปัจจัยด้านบวกสำหรับเจียงมากขึ้น

5.ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ล้วนแต่เสียสละ ใช้ชีวิตแบบสมถะและเป็นปึกแผ่น

การประท้วงรัฐบาลจีนของประชาชนครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมาล้วนแต่มีการประณามถึงการใช้ชีวิตแบบอภิสิทธิชนและการฉ้อราษฎรบังหลวงของผู้นำและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับตัวคนไทยที่จำนวนไม่น้อยชื่นชอบรัฐบาลจีนจะเลือกเอาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ (คนชอบรัฐบาลก็อาจจะประณามว่าคนจีนที่ประท้วงเป็นพวกคลั่งประชาธิปไตยหรือว่าถูกตะวันตกปั่นหัวมาเล่นงานตัวเอง) เช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการทั่วโลก รัฐบาลจีนเลือกเอาบุคคลตัวอย่างหรือ poster child มาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับตัวเองดังเช่นนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลซึ่งใช้ชีวิตสมถะและทุ่มเทการทำงานหนักให้กับคนจีน แต่ก็นำไปสู่คำถามที่ว่าผู้นำของจีนเช่นนายโจวจะมีเสียกี่คน เพราะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยเปิดให้สาธารณชนได้ตรวจสอบความโปร่งใสและความสุจริตในการทำงาน เราจึงไม่สามารถจะสรุปได้ว่าผู้นำของพรรคนั้นดีเลิศอย่างที่เชื่อกัน

ในทางกลับกันบุคคลอย่างเช่นเหมา เจ๋อตงซึ่งมักถูกรัฐบาลจีนนำเสนอในฐานะเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศและนำจีนไปสู่ความเป็นปึกแผ่นในปัจจุบันนั้นก็ได้มีหนังสือออกมาตีแผ่ประวัติชีวิตของเหมาว่าเขารวมไปถึงกลุ่มผู้นำของพรรคนั้นก็ใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย รวมไปถึงการฉ้อราษฎรบังหลวงไม่ต่างจากผู้นำของประเทศอื่นหรือแม้แต่เจียง ไคเช็คเลย แต่ทางพรรคสามารถปกปิดได้อย่างแนบเนียนจนถึงยุคปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคข่าวสาร ข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับต่างๆ ก็ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นระลอกๆ  อย่างเช่นหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ได้ออกมาเปิดโปงว่าครอบครัวของนายเวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สินมหาศาลรวมมูลค่าเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งความมั่งคั่งนี้น่าจะมีจุดเริ่มต้นตั้งนายเวินขึ้นดำรงตำแหน่ง  พรรคคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนอาจจะแก้ตัวได้ว่าเป็นแผนการของตะวันตกในการใส่ร้ายป้ายสีพรรค แต่การที่ทางการจีนมีความลึกลับอย่างได้กล่าวมาแล้ว การแก้ตัวของพรรคคอมมิวนิสต์จึงไม่มีความหมายอะไรนอกจากการประณามและสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลเช่นนี้ของนายเวินในจีน นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าการฉ้อราษฎรบังหลวงนั้นได้ฝังลึกในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียจนสี จิ้นผิงผู้นำคนปัจจุบันไม่สามารถกำจัดได้หมดสิ้นเพราะอาจนำไปสู่การล่มสลายของอำนาจตัวเองรวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับการฉ้อราษฎรบังหลวงในกองทัพซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลายเพราะเป็นการกระทบถึงสมดุลทางอำนาจระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน หรือแม้แต่ตัวนายสีเองก็ได้มีการเปิดเผยว่าพี่เขยของเขาซึ่งเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และนักลงทุนก็ได้มีหุ้นส่วนร้อยละ 50 ในบริษัทซึ่งมีเจ้าของร่วมกันคือเศรษฐี 2 คนที่ชนะการประมูลในด้านอสังหาริมทรัพย์จากรัฐมูลค่าเป็นเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 

ในเรื่องการเป็นปึกแผ่นนั้นก็ยังเป็นมายาคติอีกเช่นกันเพราะบรรดาผู้นำหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ล้วนแต่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าและมีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่เสมอมาจนถึงปัจจุบันไม่ต่างจากพรรคการเมืองของประเทศอื่นเช่น

-เหมา เจ๋อตงรณรงค์ให้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงปี 1966-1976 เพื่อสร้างอำนาจให้กับตนโดยการกำจัดผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนซึ่งถือกันว่าเป็นบุคคลซื่อสัตย์และเสียสละอย่างเช่นหลี เส้าสี  เติ้ง เสี่ยวผิง หรือผู้นำทางทหารดังเช่นเผิ้ง เตอะหวาย

-หลิน เปียวผู้นำทางทหารคนสนิทของเหมา เจ๋อตงวางแผนจะลอบสังหารเหมาโดยการวางระเบิดรถไฟที่เหมาเดินทางแต่ล้มเหลว หลินพร้อมครอบครัวได้พยายามหลบหนีไปกับเครื่องบินแต่เครื่องบินได้ตกที่มงโกเลียในปี 1971

-หัว เกอะฝงทายาททางการเมืองของเหมาแย่งชิงอำนาจจากแก๊ง 4 คนซึ่งมีหัวหน้าคือนางเจียง ชิง ภรรยาของเหมาได้สำเร็จในปี 1976 ต่อมาอีก 2 ปี หัวก็ถูกเติ้งเสี่ยวผิงแย่งชิงอำนาจไปในที่สุด

-รัฐบาลจีนช่วงปฏิรูปหรือกำลังเปิดประเทศแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายหัวปฏิรูปโดยมีนายหู เยาปังและนายเจ้า จื่อหยางเป็นผู้นำ และหัวอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นนายลี่ เซียนเนียน  นายเฉิน หยุน โดยมีเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้พยายามประสานการทำงานของทั้ง 2 กลุ่ม ในที่สุดแม้จีนจะมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ แต่ผู้นำหัวปฏิรูปอย่างเช่น หู เยาปังและนายเจ้า จื่อ หยางก็ถูกกำจัดออกจากพรรค นายเจ้าซึ่งออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจนักศึกษาที่ประท้วง ณ จตุรัสเทียน อันเหมินถูกกักขังไว้แต่ในบ้านจนเสียชีวิตในปี 2005

-ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการแบ่ง กลุ่มอำนาจ 2 กลุ่มใหญ่ซึ่งต่อสู้กันขึ้นมามีอำนาจได้แก่กลุ่มลูกท่านหลานเธอ (Princeling) อันหมายถึงบรรดาทายาทของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตซึ่งได้รับช่องทางและอภิสิทธิทางการเมืองจนขึ้นมาได้เป็นผู้นำสูงสุด ดังเช่นนายสี  จิ้นผิงเป็นบุตรชายของนายสี ช่องซุ่นซึ่งเคยเป็นรองประธานคนแรกของคณะกรมการเมืองถาวรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์  กับกลุ่มที่ได้รับความนิยม (Populist) อันหมายถึงบุคคลธรรมดาที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนได้เป็นผู้นำสูงสุดอย่างเช่น นายเจียง เจ๋อหมิน นายหู จินเทา และนายเวิน เจียเป่า (กระนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธถึงระบบเส้นสายของกลุ่มหลังนี้ได้อย่างเช่นนายเจียง เจ๋อหมินขึ้นมามีอำนาจในช่วงหลังการสังหารหมู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินจากการสนับสนุนของนายเติ้ง เสี่ยวผิง นายหูจินเทาและนายเวิน เจียเป่านั้นเคยเป็นลูกน้องของนายหู เหยาปังเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน)

-นายป๋อ ซีไหลอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เทศบาลนครฉงชิ่งถูกจับดำเนินคดีฉ้อราษฎรบังหลวงและเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม เขาถูกดำเนินคดีและตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นายป๋อก็นั้นเป็นเครือข่ายเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนซึ่งถูกดำเนินคดีอย่างเช่นนายจู หยงกังอดีตหนึ่งในสมาชิกของคณะกรมการเมืองถาวรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจัดว่าเป็นเด็กของอดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน (ดังที่เรียกว่า เครือข่ายเซี่ยงไฮ้หรือ Shanghai Clique)  การปราบปรามนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามของนายสีที่ต้องการทำลายโครงสร้างฐานอำนาจของนายเจียงแม้ว่าตัวนายสีเองก็ได้อาศัยความสัมพันธ์กับเครือข่ายเซี่ยงไฮ้ในการทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ  ซึ่งมีการคาดการณ์ในปี 2014 ว่าคนถัดไปที่จะถูกเล่นงานก็คือนายเจียงนั้นเอง

6.จีนไม่เคยแทรกแซงทางการเมืองภายในของประเทศใดเลย

เป็นความภูมิใจของ คสช.และผู้รักในรัฐบาลทหารที่ต้องการพึ่งพิงกับมหามิตรเช่นจีนด้วยคำชมที่ว่าจีนไม่ก้าวก่ายการเมืองของประเทศอื่นเหมือนกับสหรัฐอเมริกาซึ่งปากพร่ำแต่ประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องจริงที่ว่าจีนนั้นไม่เคยล่าเมืองขึ้นเหมือนกับยุโรปและสหรัฐฯ เพราะการมัวแต่ยุ่งอยู่กับปัญหาภายในประเทศตัวเองกว่าศตวรรษ แต่อย่าลืมว่าจีนนั้นเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายคิม อิลซุงของเกาหลีเหนือในการทำสงครามเกาหลีจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน (แต่เพื่อความยุติธรรม เราก็ต้องเฉลี่ยความรับผิดชอบไปยังประเทศอื่นเช่นสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และสหประชาชาติ)  จีนยังสนับสนุนรัฐบาลของนายโฮ จิมินห์ของเวียดนามเหนือจนถึงต้นศตวรรษที่ 70 รวมไปถึงการสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุของกัมพูชาในช่วงทศวรรษที่ 50  อันส่งผลให้พระองค์ยอมให้เวียดนามเหนือมาตั้งฐานทัพนับตั้งแต่ปี 1966  นอกจากนี้จีนยังสนับสนุนกลุ่มเขมรแดงของกัมพูชาในช่วงเรืองอำนาจคือเมื่อปี 1975-1979 ซึ่งการปกครองประเทศแบบนารวมเลียนแบบลัทธิเหมาอย่างสุดขั้วมีส่วนทำให้คนกัมพูชาต้องล้มตายไปกว่า 2 ล้านคน จีนได้ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เขมรแดงเป็นเงินกว่าพันล้านเหรียญหรือแม้แต่ตอนที่เขมรแดงแตกพ่ายกลายเป็นกองโจรภายหลังจากเวียดนามเข้ายึดกรุงพนมเปญในปี 1979 ก็ยังได้รับเงินบริจาคกว่าพันล้านจากจีนอยู่ เช่นเดียวกับการทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปีเดียว  แม้การแทรกแซงของจีนในประเทศเหล่านั้นจะน้อยครั้งกว่าสหรัฐฯ ซึ่งเข้าไปแทรกแซงประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาตลอดเวลานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่ก็ถือได้ว่ามือของจีนเปื้อนเลือดเหมือนกัน (ซึ่งมักได้รับการช่วยเหลือจากคนที่ชื่นชอบเป็นทำนองว่า “ก็ดีกว่าสหรัฐฯ ก็แล้วกัน”)

ในปัจจุบันนี้ จีนได้แพร่อิทธิพลทางเศรษฐกิจซึ่งก็ได้กลายเป็นอิทธิพลที่ทรงอำนาจและน่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าอิทธิพลทางการเมืองหรือการทหารไปทั่วโลกไม่ว่าในทวีปแอฟริกา(ซึ่งจีนไปลงทุนอยู่มาก) ทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง (หลายประเทศหันมายืมเงินจีน)  อิทธิพลของจีนอีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือสามารถโน้มน้าว ดึงดูดหรือข่มขู่ให้ประเทศต่างๆ เกิดความเกรงใจในประเด็นเรื่องไต้หวันดังนั้นในปัจจุบันจึงมีเพียง  21 ประเทศที่ให้การรับรองการเป็นประเทศของไต้หวัน ประเทศล่าสุดที่ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันคือประเทศแกมเบียในแอฟริกาเมื่อปี 2013 เพราะปรารถนาเงินลงทุนจากจีนซึ่งมีจำนวนมากกว่าไต้หวัน นอกจากนี้โครงการมหึมหาของจีนในการการก่อตั้งธนาคารธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) และ เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ก็เป็นการสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจซึ่งแยกไม่ออกกับอิทธิพลทางการเมืองให้กับจีนอย่างมหาศาล หากมองในด้านบวกโครงการเหล่านี้เป็นทางเลือกใหม่แก่โลกนอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงินที่ถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ เป็นต้นมา แต่ถ้าเป็นด้านลบก็คือการที่จีนพุ่งขึ้นมาเป็นประเทศจักรวรรดินิยมใหม่แทนสหรัฐฯ และก็กอบโกยผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้นในอนาคตไม่ต่างจากสหรัฐฯ เลย

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกำลังเผชิญกับยักษ์ใหญ่ 2 ตัวคือสหรัฐฯ และจีน ประเทศเหล่านั้นจึงอาศัยต้องเอาทั้ง 2 ประเทศมาคานอำนาจกันเองเช่นเดียวกับการดึงมหาอำนาจอื่นมาเกี่ยวข้องเช่นญี่ปุ่น อินเดียและรัสเซีย สำหรับรัฐบาลทหารไทยถึงแม้จะเป็นสลิ่มตัวพ่อแต่ก็น่าจะตระหนักดีว่าไทยไม่สามารถพึ่งพิงประเทศใดอย่างสนิทใจนักแม้ว่าชาวสลิ่มจำนวนมากจะมองว่าจีนนั้นเปรียบได้ดัง “ทรราชตะวันออกผู้มีเมตตา” หรือป้อมปราการสำหรับคุ้มภัยไทยในยุครัฐบาลทหาร แต่มหาอำนาจก็คือมหาอำนาจที่คำนึงถึงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ของตัวเองอยู่วันยังค่ำ รัฐบาลทหารน่าจะตระหนักดีว่าการผลักสหรัฐอเมริกาและตะวันตกออกไปย่อมจะทำให้ไทยนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมากเกินไป ดังเช่นการสั่งซื้อเรือดำน้ำจากจีนและการส่งชาวอุยกูร์ไปให้รัฐบาลจีนแทนที่จะไปยังตุรกีได้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลไทยในเรื่องความน่าเชื่อถือในด้านความเป็นอิสระของนโยบายต่างประเทศตน จนในที่สุดแล้วพลเอกประยุทธ์ก็อาจได้ชื่อว่าเป็น Jingping ’s Poodle หรือสุนัขพูเดิลของนายสี จิ้นผิงเหมือนกับสื่อมวลชนที่ล้อเลียนนายโทนี แบลร์ของอังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทหารตามประธานาธิบดีบุชว่า Bush’s poodle หรือสุนัขพูเดิลของนายบุชก็เป็นได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท