สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 2558

สถานการณ์แรงงานชุมนุม ลดลงจากปีก่อน ส่วนเลิกจ้าง-แรงงานสัมพันธ์ปกติ
 
นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานสัมพันธ์ในช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2557 – 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาว่า  สถานการณ์ด้านการชุมนุมนั้น พบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 59 ครั้ง มีการผละงาน 14 ครั้ง เพื่อเรียกร้องโบนัส 11 ครั้ง ในจังหวัดอยุธยา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานีและพิษณุโลก เรียกร้องเรื่องค้างจ่ายค่าจ้าง 2 ครั้ง ในจังหวัดนครราชสีมาและสมุทรสาคร และไม่พอใจหัวหน้างาน 1 ครั้ง ในจังหวัดสงขลา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามีการชุมนุมลดลง 7 ครั้ง ส่วนการผละงานมีเพิ่มขึ้น 8 ครั้ง
 
นายปฐม กล่าวอีกว่า มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำนวน 404 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 234,161 คน แบ่งเป็น เกิดข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 110 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 68,010 คน และเกิดข้อขัดแย้ง จำนวน 94 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 77,004 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสถานประกอบการที่ยื่นข้อเรียกร้องลดลง 6 แห่ง มีข้อพิพาทเพิ่มขึ้น 8 แห่ง และมีข้อขัดแย้งลดลง 49 แห่ง นอกจากนี้มีการผละงานในสถานประกอบการ 14 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 5,380 คน ปิดงาน 3 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 2,500 คน ไม่มีการนัดหยุดงาน มีการตกลงกันในเรื่องสิทธิประโยชน์การจ้างงานจำนวน 468 แห่ง คิดเป็นจำนวนเงิน 29,034,709,605 บาท (29,000 ล้านบาท) 
 
นอกจากนี้ นายปฐมกล่าวว่า กรณีที่บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ประกาศปิดกิจการนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าทำให้จำนวนออเดอร์ลดลง ถือเป็นปัญหาเฉพาะราย ไม่ได้เกี่ยวเนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างและสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ขณะนี้อยู่ในภาวะปกติ แต่ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กสร.จังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างให้พูดคุยกันด้วยเหตุผล หากมีปัญหาข้อพิพาทก็ให้เจ้าหน้าที่กสร.ลงไปช่วยเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
 
(มติชนออนไลน์, 22/7/2558)
 
เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ หยุดดำเนินธุรกิจเดิม และเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 58 เป็นต้นไป
 
นายเอกมินทร์ งานทวี กรรมการ บริษัท เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ CIRKIT แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 22 กรกฎาคม 2558 ว่า บอร์ดอนุมัติการหยุดการดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัท และการพิจารณาโอกาสในการเข้าทำธุรกิจใหม่ เพราะบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน และการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงปี 2546
       
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทจึงได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 และบริษัทได้ดำเนินการตามแผนฟื้้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จ และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 
       
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้บริษัทโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ที่ดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งบริษัทใช้เป็นฐานการผลิตในการประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท รวมถึงส่วนควบอื่นๆ เพื่อชำะหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงินของบริษัทและจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้
       
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทจะอยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่บริษัทยังมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่บริษัทมาโดยตลอด แต่บริษัทพบว่า เกิดการชะลอตัว และการลดกำลังการผลิตของผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญของบริษัท ทำให้บริษัทไม่สามารถพัฒนายอดขาย หรือสร้างรายได้ในระดับที่สามารถสร้างเสถียรภาพในการประกอบธุรกิจแบบยั่งยืนต่อไปได้ อีกทั้งธุรกิจผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนการผลิตสูง หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปก็มีแนวโน้มสูงว่า การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลขาดทุนมากกว่ากำไร อันจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไปในอนาคต
       
ด้วยสาเหตุหลักข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท (ในฐานะผู้บริหารแผน) ซึ่งได้ประชุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 จึงได้มีมติอนุมัติให้บริษัทหยุดการดำเนินธุรกิจผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเลิกจ้างพนักงานของบริษัททั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปี 58 เป็นต้นไป เพื่อรักษาสถานะทางการเงินของบริษัท และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และให้พิจารณาโอกาสและศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อไป
       
พร้อมกันนี้ บอร์ดยังขายเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี 35,200,529.06 บาท ให้แก่บริษัท อีเอ็นเอฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ประกอบกิจการค้าและผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรอะลูมิเนียมประกอบระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการประมูลทรัพย์สินดังกล่าว ในราคา 475,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,040,750 บาท
       
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขายทรัพย์สินหลายรายการภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน รถยนต์ ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้น 8,567,327 บาท และขายทรัพย์สินบางรายการตามมติที่บอร์ดเห็นชอบราคารวมทั้งสิ้น 3,181,356 บาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/7/2558)
 
เผยมีตำแหน่งงานรอแรงงานโคราชที่ถูกเลิกจ้างรอเกือบ 3,000 อัตรา
 
นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางาน จ.นครราชสีมา เชิญสถานประกอบการ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง มาเปิดจุดรับสมัครงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ว่างงานและผู้ที่สนใจได้เลือกตำแหน่งงานว่าง พร้อมกับยื่นใบสมัครงานและสอบสัมภาษณ์ทันที
 
ทั้งนี้ มีสถานประกอบการมารับสมัครงานจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้ว่างงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานของบริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ที่สนใจสมัครงาน ซึ่งการเปิดรับสมัครงานนี้ เพื่อลดปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงแรงงานในพื้นที่ต่างๆ อีกทางหนึ่ง
 
ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่แจ้งต้องการแรงงานทั้งสิ้น 27 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างเกือบ 3,000 อัตรา โดยส่วนใหญ่ต้องการแรงงานในตำแหน่งผู้ปฏิบัติการด้านเครื่องจักรในโรงงาน รองลงมาเป็นช่างเทคนิค, พนักงานบริการ และพนักงานขาย ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีตำแหน่งงานว่างมากที่สุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจาก ผู้ว่างงานมักเลือกในงานที่ตนเองชื่นชอบ จึงทำให้เกิดปัญหาว่างงาน
 
(Spring News, 23/7/2558)
 
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในกรุงโซล ให้ปราบปรามและลงโทษหญิงไทยที่ลอบไปทำงานนวดในเกาหลี เพราะเป็นอาชีพสงวนให้คนตาบอดเกาหลี
 
23 ก.ค. 2015 สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ได้นำสมาชิกจำนวน 60 คน น่ังรถบัสไปจอดรถที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เวลา 14.00 น. และเตรียมการมาประท้วงใหญ่ หากทางสถานเอกอัครราชทูตไทยไม่รับข้อเสนอของผู้ประกอบอาชีพหมอนวดชาวเกาหลี กรณีหญิงไทยลักลอบเข้าไปประกอบอาชีพนวด อันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และแย่งอาชีพนวดที่สงวนไว้ให้ผู้พิการทางสายตา โดยมีเจ้าหน้าท่ีตำรวจเกาหลี ประมาณ 100 นาย ใช้รถบัส 3 คัน ไปจอดบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล คอยรักษาความปลอดภัยแก่ข้าราชการไทย ลูกจ้างท้องถิ่นและอาคารสถานเอกอัครราชทูตอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล นางวไลพร ศิวรักษ์ อัครราชทูต เปิดโอกาสให้ตัวแทนของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี จำนวน 4 คน เข้าพบและยื่นหนังสือเรียกร้องให้สถานเอกอัครราชทูตไทยเร่งแก้ปัญหาหญิงไทยลักลอบเข้าไปประกอบอาชีพนวดในเกาหลี สำหรับข้อเรียกร้องของหมอนวดเกาหลี ยื่นข้อเสนอให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล พิจารณาออกนโยบายปราบปรามและลงโทษหญิงไทยที่ลักลอบทำงานนวดในเกาหลี เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนของคนพิการทางสายตาเกาหลี ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนวด ทั้งนี้สมาคมฯ ถือว่าหญิงไทยดังกล่าวคุกคามสิทธิในการหาเลี้ยงชีพของคนพิการทางสายตาเกาหลี
 
หลังรับหนังสือร้องเรียนแล้ว นางวไลพร ได้แจ้งให้ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ทราบว่าจะรีบรายงานให้นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ทราบ เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงให้ทราบว่า ก่อนหน้านี้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้ออกประกาศเตือนหญิงไทย ท่ี่ลักลอบไปทำงานนวดในเกาหลีมาก่อนแล้วว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลีพอใจจึงพากันกลับ และจะติดตามการแก้ไขปัญหาของทางสถานเอกอัครราชทูตไทยต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้าที่กลุ่มหมอนวดพิการทางสายตาชาวเกาหลีจะมายื่นหนังสือร้องเรียนนี้ นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ออกประกาศเตือนหญิงไทย ที่ลักลอบไปทำงานอาชีพนวดที่ประเทศเกาหลีว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นอาชีพสงวนไว้ให้คนพิการทางสายตา และอย่าหลงเชื่อนายหน้าที่หลอกพาไป เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ เนื่องจากมีการจับกุมหญิงไทยที่ลักลอบไปนวด และขายบริการทางเพศมาก่อนแล้วด้วย
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 23/7/2558)
 
ไฟไหม้แคมป์คนงานก่อสร้างคอนโดฯ จ.ปทุมธานี
 
วันที่ 25 ก.ค. 58 นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปทุมธานี เปิดเผยกับเกาะติดข่าวต้นชั่วโมงสปริงนิสวส์ว่า เกิดเหตุไฟไหม้ที่พักคนงานก่อสร้างกว่า 300 ห้อง และมีถังแก๊สครัวเรือนระเบิดระหว่างไฟไหม้
 
ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุเป็นที่พักคนงานก่อสร้างของคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ในพื้นที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ล่าสุดสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัดได้แล้ว แต่ยังต้องระดมฉีดน้ำดับเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพราะไฟยังลุกไหม้เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 2 คน และมีผู้หญิงสำลักควันไฟ 1 คน เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมเวชแล้ว
 
(Spring News, 25/7/2558)
 
สปช. หนุนตั้งสภาประกันสุขภาพฯ ไม่รวมสามกองทุน ย้ำเก็บร่วมจ่าย
 
(26 ก.ค.58) พญ.พรพรรณ บุญรัตพันธ์ุ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ(กมธ.สธ.สปช.) กล่าวถึงกรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เตรียมเสนอการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า  ประเทศไทยต้องมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมและบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลของประเทศโดยมีคณะกรรมการนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่การบริหาร  แต่ยังไม่ใช่การรวมการบริหารจัดการ 3 กองทุนทั้งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม
 
ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองที่ปัจจุบันมีราว49 ล้านคน มีคนจนจริง ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพเพิ่มราว 20 ล้านคน อีก 30 ล้านคนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินทำประกันสุขภาพเองเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิจำเป็นพื้นฐานใครมีมากก็จ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ไม่ควรมีการใช้เงินภาษีแบบ 100 % เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีภาษีปานกลาง เราต้องยอมรับความจริง 
 
นอกจากนี้ พญ.พรพรรณกล่าวว่า ในส่วนผู้ใช้สิทธิข้าราชการก็อาจจะต้องส่วนร่วมประกันสุขภาพด้วย โดยอาจจะหักเบี้ยประกันจากเงินเดือนหรือให้หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชอบ ซึ่งรูปแบบก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป ข้าราชการจะได้รับสวัสดิการบริการที่ดีขึ้น เพราะบางส่วนข้าราชการก็ได้รับน้อยกว่าบัตรทอง หากมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบบนี้แล้วรพ.เอกชนก็ดึงเข้ามาร่วมมากขึ้น บริการการรักษาพยาบาลก็ดีขึ้น ความแออัดในรพ.รัฐก็ลดลง ประชาชนก็ได้รับประโยชน์สูงสุด
 
(มติชนออนไลน์, 26/7/2558)
 
เปิด ก.ม.ฝีมือแรงงานใหม่ จ้างมี  “ใบรับรอง”
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเผยว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ปรับปรุงจากกฎหมายเดิมเมื่อปี 2545 ซึ่งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลสาขาอาชีพตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพไม่มีความชำนาญในการทำงาน ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของสถานประกอบกิจการ ชุมชน สังคม และศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก่การรับรองความรู้ความสามารถ ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งจะต้องผ่านการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถโดยวัดจากค่าทักษะความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ หรือความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และคุณลักษณะส่วนบุคคล
 
นั่นคือต้องไปยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ เพื่อทำการทดสอบ และเมื่อผ่านการประเมินก็จะได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เป็นการการันตี สามารถประกอบอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะได้อย่างปลอดภัย และถูกต้องตามขั้นตอน สร้างความมั่นใจต้อผู้ประกอบกิจการหรือนายจ้าง ที่ว่าหากต้องการจ้างแรงงานในสาขาอาชีพที่อาจต้องเป็นอันตรายต่อสาธารณะก็ต้องจ้างแรงงานที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้
 
สาขาที่มีการกำหนดไว้ตามกฎหมายนี้ประกอบด้วย 3 ช่างอาชีพ คือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร และช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม โดยกำหนดกรอบเฉพาะการปฏิบัติงานกับอาคารสาธารณะ 5 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ สถานที่ราชการ โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานบริการและห้างสรรพสินค้า 
 
ที่สำคัญ หากนายจ้างและลูกจ้างเพิกเฉยในการจ้างแรงงานที่มีไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายนี้จะมีโทษอีกด้วย โดยลูกจ้างที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ขณะเดียวกันนายจ้างหรือสถานประกอบการที่จ้างแรงงานโดยมีไม่หนังสือรับรองของลูกจ้างจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทอีกด้วย ช่างไฟฟ้าทั้ง 3 สาขาที่ต้องการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมิน สามารถขอรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือฯ ได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว 
 
(บ้านเมือง, 27/7/2558)
 
การบินไทย"อาการหนัก" จ้างออกพนง.กว่า 1,400 ตำแหน่ง หลังยกเลิกเที่ยวบินไปแอลเอ-โรม
 
"รอยเตอร์ส"รายงานว่า สายการบิน"ไทย แอร์เวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล"หรือการบินไทย มีแผนที่จะปรับลดพนักงานผ่านโครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจเป็นจำนวน 1,401 อัตรา ภายในปีนี้ และระงับการให้บริการบินไปยังเมืองลอสแองเจลิส ของสหรัฐ และกรุงโรม ของอิตาลี ในแผนปรับโครงสร้างใหม่ของการบินไทย 
 
รายงานระบุว่า การบินไทยมีแผนที่จะลดค่าใช้จ่าย และลดจำนวนการจุผู้โดยสารลง  20 เปอร์เซ็นต์ภายใต้แผนปรับโครงสร้างองค์กรที่จะใช้เวลา 2 ปี รวมทั้งการขายเครื่องบินของสายการบิน และการลดพนักงานสายการบินด้วย โดยสายการบินเป็นหนึ่งในหลายบริษัทภายใต้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลทหาร ที่มุ่งเป้าที่จะปฎิรูปภายหลังขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2014 
 
โดยนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า การบินไทยได้ตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจนี้ เป็นจำนวนเงิน 151.86 ล้านบาท โดยถือเป็นสิ่งธรรมดาที่การบินไทยต้องตัดลดค่าใช้จ่ายและปรับลดเที่ยวบินลง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน  และว่า การบินไทยมุ่งเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากกว่า  9 พันล้านบาทในปีนี้ 
 
รายงานระบุว่า การบินไทยมีกำหนดจะยุติเที่ยวบินกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และกรุงเทพ-โรม ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการบินไทยได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี และถือเป็นปิดฉากการให้บริการทุกเที่ยวบินไปยังสหรัฐ หลังจากก่อนหน้านี้การบินไทยได้ระงับเที่ยวบินไปนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากเป็นเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร รวมทั้งลดจำนวนเที่ยวบินไปเมืองกัลกัตต้า ของอินเดีย และเพิ่มเที่ยวบินไปยังไฮเดอราบัด ของอินเดีย,ฉางชา ของจีน และหลวงพระบาง ของลาว  ให้กับสายการบิน"ไทย สมายล์"ของการบินไทย 
 
ทั้งนี้ ในการออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ การบินไทยระบุว่า มีเที่ยวบินเป็นจำนวน 50 เที่ยวบินที่ทำให้การบินไทยขาดทุนหรือมีรายได้ต่ำ
 
(มติชนออนไลน์, 27/7/2558)
 
ไทยถูกจัดค้ามนุษย์ ‘เทียร์3’ ตามเดิม
 
สถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในสายตามหาอำนาจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี 2014 ตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่ม “เทียร์" (Tier 3) ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด
 
ล่าสุดทางการสหรัฐฯจัดอับดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยให้คง Tier3 ไว้ โดยให้เหตุผลว่าไทยไม่มีความพยายามในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์อย่างที่หวังไว้  ทั้งนี้เป็นผลจากเนื้อหาในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2015 ของไทยแทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว ไทยยังคงเป็นแหล่งส่งออก นำเข้า และจุดเปลี่ยนถ่ายแรงงานทาสของภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันการคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้การค้ามนุษย์ยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น และยังมีการดำเนินคดีกับสื่อที่เผยแพร่เรื่องโรฮิงญาอีกด้วย
 
การจัดอันดับครั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศซูดานใต้, เกาหลีเหนือ, แกมเบีย, และแอฟริกา เป็นต้น ส่วนประเทศคิวบาและมาเลเซีย ที่เคยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 เหมือนไทยในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ปรับให้อยู่ในระดับ Tier 2
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 27/7/2558)
 
ชาวนาในพื้นที่ชัยนาท กับนครสวรรค์ เกือบ 500 คน แห่สมัครรับจ้างแรงงานเกษตรกันอย่างคึกคัก แต่งบประมาณมีจำกัด รับได้แค่ 190 คน ต้องให้ชาวนาจับสลากเสี่ยงดวงกันเอง
       
วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ อ.มโนรมย์ อ.เมือง จ.ชัยนาท และชาวนาในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ที่ใช้น้ำจากคลองสายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก ได้พากันเดินทางไปสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ตามความช่วยเหลือรับสมัครจ้างงานเกษตรกรของกรมชลประทาน ตามมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยากันคึกคัก
       
โดยมีเกษตรกรมาสมัครงานทั้งสิ้น จำนวน 492 คน แต่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ สามารถรับเข้าทำงานได้เพียง 190 คน เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ เงินงบประมาณเหลือน้อยทำให้ไม่สามารถจ้างงานได้หมดทุกคน ทางโครงการฯ จึงต้องใช้วิธีการจับสลากคัดเลือกผู้เข้ามาปฏิบัติงาน
       
ทั้งนี้ ชาวนาที่จับสลากได้จะได้รับการจ้างงานเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 3 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ในวันทำงานราชการ ได้อัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท 45 สตางค์ ปฏิบัติงานกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำ 6 สาย งานบำรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่สายซอยในเขตจังหวัดชัยนาท และจังหวัดนครสวรรค์ ในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์
       
อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะท้อนจาก นายคำร้อง บุญเพชร อายุ 45 ปี ชาวนา ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ว่า แม้ตนจะรู้สึกดีใจที่จับสลากได้จะมีรายได้ไปช่วยเหลือครอบครัวในช่วงที่ยังไม่ได้ทำนา แต่ก็อยากให้มีการจ้างงานมากกว่านี้จะได้ช่วยเหลือชาวนาได้มากกว่านี้ เพราะยังมีคนที่ไม่ได้ทำนา และไม่มีรายได้อีกจำนวนมาก
       
นายสงัด ปล่องทอง อายุ 51 ปี ชาวนา ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท บอกว่า แม้ตนจะจับสลากไม่ได้ก็ไม่เสียใจมากนัก แต่อยากขอให้ ธ.ก.ส. และสหกรณ์ช่วยพักชำระหนี้ และหยุดเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ รอให้ทำนาได้ก่อนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ชาวนา
       
ด้านนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า จะเร่งนำรายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับเข้าทำงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27/7/2558)
 
สรส. แถลงเจตนารมณ์-จุดยืนคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ห่วงตั้งนักธุรกิจเข้ามาเป็นซูเปอร์บอร์ดชุดใหม่
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพแรงงาน พร้อมตัวแทนสมาพันธ์แรงงานฯ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และจุดยืนต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ว่า สรส. และองค์กรสมาชิก พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง แต่ขณะนี้ สรส. ยังมีความกังวลในหลายประเด็นของร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. ... อาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปอยู่ในมือเอกชนในภายหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ สรส. คัดค้านมาโดยตลอด นอกจากนี้ สรส. ยังเป็นห่วงการแต่งตั้งนักธุรกิจเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วม ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ชุดใหม่
 
(ไอเอ็นเอ็น, 28/7/2558)
 
ผู้ว่าฯ ลำพูนสั่งจับตา รง.โละคนงาน
 
นายณรงค์อ่อน สะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเยียวยาแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือลดเวลาการทำงาน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 75 ต้องให้ทั่วถึง หลังมีโรงงานในนิคมฯ ลำพูนบางแห่งเลิกจ้างคนงาน
       
ซึ่งภาพรวมโรงงานทั้งหมดกว่า 1,400 แห่งมีการจ้างคนงานกว่า 6 หมื่นคน เลิกจ้างเพียง 4 แห่ง ถือว่ายังน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลิกจ้างยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็ได้เฝ้าติดตามตลอด
       
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในนิคมฯ ลำพูน 4 แห่งทยอยเลิกจ้างพนักงาน บางส่วนขอใช้กฎหมายตามมาตรา 75 คุ้มครอง ให้พนักงานหยุดงานอยู่บ้าน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
       
ซึ่งบริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตกล้อง และฮาร์ดดิสก์ ของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 4,400 คน เริ่มใช้มาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 58 ให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75%, บริษัท ทีเอสพีที, บริษัท เคอีซี และบริษัทลำพูนซิงเดนเก้นท์ เป็นต้น ส่วนโรงงานอื่นๆ ยังคงปกติ
       
ด้านนางสาวชุลีพร แก้วมา อายุ 21 ปี บ้านเดิมอยู่จังหวัดเชียงราย หนึ่งในพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ตนเรียนจบในระดับ ปวช.จากบ้านเกิด มาทำงานเป็นสาวโรงงานได้ยังไม่ถึงปีก็มาถูกเลิกจ้างอีก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไหนจะค่าผ่อนรถ ค่ากิน ค่าเช่าหอพัก ไหนจะต้องส่งให้ครอบครัวที่บ้านอีก ก็ได้แต่ภาวนาให้เศรษฐกิจกลับมาดีเร็วๆ ฝากถึงผู้บริหารบ้านเมืองด้วยพวกตนกำลังจะแย่ 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28/7/2558)
 
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีสัญญาณทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคบริการจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี และผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -8.9 ต่อปี สำหรับในด้านอุปสงค์ พบว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
 
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี และ 4.7 ต่อเดือน ตามลำดับ จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่และจัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี แต่แผ่วลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวดีขึ้นแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์กลับมาขยายตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี และ 15.7 ต่อเดือน ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาคอย่างไรตาม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และ -11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ตามรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงหดตัว สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องทั้งในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ที่ร้อยละ -35.4 และ -27.3 ต่อปี ตามลำดับส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 63.8 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลกับสถานการณ์การส่งออกและปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจากอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูการออกขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี
 
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 แม้มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี และ 0.9 ต่อเดือน ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี และ 10.2 ต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี แต่หดตัวที่ร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี -9.2 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมิถุนายน 2558 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือและรถไฟขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี
 
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2558) พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 201.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 569.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมิถุนายนมีจำนวนทั้งสิ้น 257.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 รายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 653.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลเกินดุลงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 146.5 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เกินดุล 91.0 พันล้านบาท
 
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวลงส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดโลกชะลอลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงชะลอตัวลง และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือนมิถุนายน 2558 มาจากการส่งออกสินค้าในหมวดยานพาหนะ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอุตสาหกรรมเกษตร สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมิถุนายน 2558 ได้แก่ ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย และอาเซียน-5 ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 การส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี
 
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวโดยในเดือนมิถุนายน2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 2.28 ล้านคน ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 53.1 ต่อปี แต่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลส่วนหนึ่งเนื่องจากเดือนรอมฎอลที่เหลื่อมเดือนเร็วขึ้นจากปีก่อน ส่งผลทำให้กลุ่มตะวันออกกลางมีการเดินทางลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวได้ดีทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี และ 8.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี และ -7.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ84.0 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้ง และความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.22 แสนคน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปีสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 160.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
 
(สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, 28/7/2558)
 
ชงขึ้นเงินเดือนพนักงาน สกสค.
 
(28 ก.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ(สกสค.)ได้เสนอขอปรับขึ้นบัญชีเงินเดือนพนักงาน สกสค. ตามที่รัฐบาลได้มีมติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยที่ประชุมได้ขอให้ สกสค.กลับไปทบทวนรายละเอียดรวมถึงให้ไปศึกษาข้อมูลเงินเดือนขององค์กรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่น  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เป็นต้น เพราะหากขึ้นให้กับพนักงาน สกสค.ก็อาจจะต้องไปดูในส่วนของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ องค์การค้าของ สกสค.ด้วย 
 
“ขณะนี้ สกสค.มีพนักงานทั่วประเทศ รวม 670 คน เงินเดือนพนักงานแรกเข้าอยู่ที่  17,920บาท อายุงาน 5 ปีขึ้นไปได้รับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาท อายุงาน 10 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท ส่วนระดับผู้อำนวยการสำนักอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท ทั้งนี้บัญชีเงินเดือนดังกล่าวมีการจัดทำมาตั้งแต่บอร์ดชุดเก่า ดังนั้นในหลักการนี้จึงต้องเสนอให้บอร์ดใหม่พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งหากมีข้อมูลเปรียบเทียบแล้วก็อาจจะต้องดูว่า ระดับไหนควรได้รับการปรับเพิ่มเท่าไหร่ เพราะเงินเดือนพนักงาน สกสค.ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว” นพ.กำจรกล่าวและว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฐานะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ซึ่งจะเข้ามาดูข้อกฎหมายของกองทุนที่อาจจะต้องมีปรับแก้ โดยเฉพาะข้อที่กำหนดให้ เลขาธิการ สกสค.มีอำนาจตั้งคณะกรรมการกองทุนต่าง ๆ ได้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สกสค. ขณะเดียวกันตนได้ขอให้ศ.ดร.สุรพลช่วยดูข้อกฎหมายในการติดตามกลุ่มครูที่ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด และต้องใช้เงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯชำระแทนไปถึงกว่า 4,000 ล้านบาทแล้ว
 
(เดลินิวส์, 28/7/2558)
 
แรงงานต่างด้าวทำงาน “ช่างเครื่องยนต์เรือประมง” ได้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมฯได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีใบประกาศนียบัตรช่างเครื่องเรือ หรือหนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพช่างเครื่องเรือจากส่วนราชการไทย สามารถทำงานในตำแหน่ง “ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล” ได้ โดยนำเอกสารดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขออนุญาตเปลี่ยนงานจากตำแหน่งกรรมกร เป็นช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล มีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอเปลี่ยนงานฉบับละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาต ครั้งละ 1,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการประมงทะเลที่จ้างแรงงาน 3 สัญชาติ ซึ่งทำงานได้เฉพาะงานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้านเท่านั้น แต่บางส่วนมีความจำเป็นต้องให้แรงงานกลุ่มนี้ทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์
       
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิมและนำเข้าในรูปแบบ MOU ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานอยู่แล้ว สามารถยื่นคำขออนุญาตทำงาน หรือคำขออนุญาตเปลี่ยนการทำงานจากตำแหน่งงานกรรมกรเป็นงานในตำแหน่งช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเลได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายภายใต้การนำเข้า MOU ซึ่งเข้ามาใหม่ สามารถขออนุญาตฯและดำเนินการได้เช่นเดียวกัน โดยมีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 3,000 บาท ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพู ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้สามารถทำงานในตำแหน่ง ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเลได้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29/7/2558)
 
อนุฯค่าจ้างขั้นต่ำ 6 จว. เสนอปรับขึ้น 2-60 บาท บอร์ดค่าจ้างเตรียมเคาะ ตุลาคมนี้
 
(29 ก.ค.58) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จัดการเสวนาในหัวข้อ "ทำไมต้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ" โดยมีนักวิชาการและเครือข่ายแรงงานเข้าร่วม โดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการ คสรท.กล่าวในการเสวนาว่า ตามที่ คสรท.และเครือข่ายได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 360 บาท ในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เครือข่ายแรงงานจึงนัดหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป 
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐเปิดเวทีกลางเพื่อเป็นพื้นที่ให้นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ได้มาพูดคุยถึงเหตุผลในการพิจารณาปรับค่าจ้างว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับข้อสรุปในการปรับค่าจ้าง ซึ่งคสรท.ขอยืนยันว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพของแรงงานในทุกพื้นที่ใกล้เคียงกัน
 
น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางส่วน มองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาถูกนำไปยึดโยงกับนโยบายทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองนั้น ตนไม่อยากให้มองด้านเดียว แต่อยากให้มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของฝ่ายการเมือง ทำให้แรงงานได้ประโยชน์ อีกทั้งยังถือเป็นการกระตุ้นให้เงินหมุนเวียนในระบบด้วย นอกจากนี้อยากให้นักวิชาการที่เห็นต่าง หันมาทำงานวิจัยถึงค่าครองชีพแรงงานเชิงลึกเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
 
ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มองว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้น อีกทั้งปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมองภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและชีวิตคนงานอย่างน้อยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้แรงงานมีกำลังซื้อ
 
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรทำในลักษณะของค่าจ้างแรกเข้าและมีการปรับค่าจ้างประจำปี โดยพิจารณาจากอายุงานและความสามารถ ซึ่งฐานค่าจ้างแรกเข้าในแต่ละจังหวัดอาจกำหนดตามสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขที่เครือข่ายแรงงานเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาทนั้นด้วยสภาพเศรษฐกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล นายจ้างน่าจะมีความสามารถที่จะจ่ายได้ แต่สำหรับต่างจังหวัดอาจจะมีกำลังจ่ายน้อยประมาณวันละ 320 บาท ทั้งนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด ได้เสนอความเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมายังบอร์ดค่าจ้างแล้ว 76 จังหวัด โดยจำนวน 70 จังหวัดไม่มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนอีก 6 จังหวัดมีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ประกอบด้วย ปราจีนบุรีเสนอปรับขึ้นเป็น 302 บาท สมุทรปราการเสนอปรับขึ้นเป็น 310 บาท ภูเก็ตเสนอปรับขึ้นเป็น 320 บาท ฉะเชิงเทรา เสนอปรับขึ้นเป็น 321 บาท ชลบุรี เสนอปรับขึ้นเป็น 335 บาท และสระบุรี อนุกรรมการฝ่ายนายจ้างเสนอปรับขึ้นเป็น 315 บาท ส่วนอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอปรับขึ้นเป็น 360 บาท โดยให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณาตัดสิน 
 
ส่วนกรุงเทพมหานคร อนุกรรมการฯ ขอชะลอการพิจารณาเสนอความเห็นไว้ก่อนเนื่องจากต้องการรอพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีการเสนอความเห็นก่อนที่บอร์ดค่าจ้างจะมีการประชุมภายในเดือนตุลาคมนี้
 
(มติชนออนไลน์, 29/7/2558)
 
โรงงานผลิตเสื้อกีฬาส่งออกไปยุโรปอุดรธานีปิดกิจการหลังยอดสั่งซื้อหด พร้อมจ่ายเงินชดเชยพนักงาน 322 คน
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.นายภาณุ เหี้ยมหาญ แรงงานและสวัสดิการสังคม จ.อุดรธานี พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคม จ.อุดรธานี สำนักงานจัดหางาน จ.อุดรธานี เดินทางไปที่โรงงานของ บริษัทไทย ท็อป อีเกิ้ล การ์เมนท์ จำกัด เลขที่ 261 ถนนมิตรภาพ หมู่ 1 ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ผู้ผลิตชุดกีฬาส่งออกไปยุโรป เพื่อติดตามการนัดหมายจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าชดเชย หลังบริษัทประกาศเลิกกิจการในวันที 31 ก.ค.นี้เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มียอดสั่งซื้อสินค้าน้อยลง และประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยให้กับพนักงาน 322 คน
 
นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวภายหลังพบกับนายเชลโซ่ แองเจอเลส กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารโรงงาน พร้อมกับนายภาณุ แรงงานและสวัสดิการสังคม จ.อุดรธานี ว่า ได้ทราบล่วงหน้าว่าโรงงานนี้จะปิดกิจการ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พบว่าโรงงานค่อนข้างจะไปไม่ไหวต้องปิดกิจการ จึงแจ้งให้ทุกหน่วยมาดูแล หากจะปิดกิจการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของไทยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเจ้าของกิจการพร้อมจ่ายทั้งหมดผ่านโอนเข้าบัญชีของคนงาน
 
นายชายชาญ กล่าวอีกว่า ได้คุยกับผู้บริหารของโรงงานที่รับมอบอำนาจจากนายทุนที่ประเทศจีนว่าที่ปิดโรงงานเนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว ต้องการไปทำกิจการอย่างอื่น เนื่องจากงานสิ่งทอคู่แข่งเยอะจึงหันไปมองธุรกิจตัวใหม่
 
ด้านนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ปิดกิจการเป็นไปตามภาวะตลาดโลกที่หดตัว แต่คงไม่กระทบต่อภาพทางเศรษฐกิจของ จ.อุดรธานี เพราะที่ผ่านมาเน้นในภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรายได้หลัก
 
(โพสต์ทูเดย์, 29/7/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท