Skip to main content
sharethis

รวมวาทกรรมยอดฮิตที่ไม่มีทางออกและเส้นทางที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมแห่งความอดทนอดกลั้น (Culture of Tolerance)

เมื่อถึงช่วงเวลาเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ของระดับชั้นอุดมศึกษาในทุกปี ประเพณีการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะการรับน้องรุนแรงจนเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกระแสการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ใน Social Network ซึ่งกระบวนการรับน้องก็มีจุดประสงค์และวิธีการที่หลากหลายไปตามแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและรูปแบบสังคมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี วาทกรรมที่ถูกนำมาใช้กลับมีประเด็นที่เป็นจุดร่วมกัน  ดังนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนการมีกิจกรรมรับน้องมักให้คุณค่ากับความเป็นสังคม วาทกรรมที่กลุ่มนี้มักใช้อ้างอิงจะเป็นเรื่องของการส่งต่อคุณค่าและอัตลักษณ์ของสังคม กระบวนการรับน้องมีประโยชน์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและขัดเกลาให้น้องใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ เช่น การสอนร้องเพลงของคณะและเพลงเชียร์ ในหลายแห่งที่ห้องเชียร์พูดถึงประวัติศาสตร์ของคณะนั้นๆ ให้น้องได้ซาบซึ้ง นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรม เชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้น้องได้รู้จักกัน ได้รู้จักกับรุ่นพี่ เสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยระบบแขวนป้ายชื่อ ขอชื่อ เป็นต้น

อีกวาทกรรมหนึ่งที่มักพบก็คือ กิจกรรมเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับน้องในการเข้าสู่โลกของการใช้ชีวิตจริง ทั้งการรับมือกับความกดดัน ฝึกความอดทน ฝึกการทำงานร่วมกัน ในหลายคณะศิลปะที่ใช้การทำอุปกรณ์เชียร์เพื่อเป็นการฝึกทักษะในการทำงานจริง

ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้มีความเห็นสนับสนุนกิจกรรมรับน้องก็ไม่ได้สนับสนุนการว้าก การกดดันหรือใช้ความรุนแรงเสมอไป

ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านกิจกรรมรับน้องจะเป็นกลุ่มที่ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจก มักใช้วาทกรรมตอบโต้ โดยมุ่งไปที่วิธีการและรูปแบบของกิจกรรมที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะการว้ากหรือตะโกนเพื่อกดดัน การบังคับให้น้องต้องยืนนิ่ง ก้มหน้า  ซึ่งมักอ้างอิงหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิในร่างกาย การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไปจนถึงกระทั่ง “ถ้าน้องตายจะทำยังไง?”

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาคือคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี มักถูกโจมตีในฐานะสิ่งล้าหลัง หัวโบราณ วัฒนธรรมที่ตกเป็นเป้าคือ SOTUS  แต่เดิมเป็นคุณค่า 5 ข้อที่นิยมปลูกฝังให้กับน้องใหม่ ย่อมาจาก Seniority เคารพพี่ , Order มีระเบียบวินัย, Tradition วัฒนธรรมประเพณี, Unity มีเอกภาพ, Spirit มีน้ำใจ แต่ปัจจุบันถูกนำไปสร้างเป็นวาทกรรมว่าโซตัสคือการว้าก และตั้งคำถามกับคุณค่าต่างๆเช่น พี่เหนือกว่าน้องจริงหรือ? เข้ามาเรียนจำเป็นต้องมีเอกภาพ มีความเป็นรุ่นจริงหรือ?  นอกจากนี้ยังมีกระแสที่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมองค์กร เช่นการสร้างความสัมพันธ์ว่าเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์  หรือตั้งคำถามกับกิจกรรมสันทนาการว่าไม่มีสาระ เป็นต้น

ประเด็นการรับน้องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานโดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่ากระแสการตั้งคำถามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมในหลายๆมหาวิทยาลัย  ขณะเดียวกัน บนโลก Social Network กลายเป็นพื้นที่ของการปะทะ โดยมีทั้งการอ้างเหตุผลดังที่กล่าวมา  แต่นอกจากนั้นก็มีการใช้ Hate speechเข้าโจมตีกัน กลุ่มที่สนับสนุนการรับน้องก็จะถูกโจมตีว่าเป็นพวกโง่ หัวเก่า ดักดาน ในขณะที่กลุ่มผู้ต่อต้านการรับน้องก็จะถูกหาว่าเป็นพวกโลกสวย เอียงซ้าย เป็นต้น  ซึ่งในช่วง 2 – 3ปีที่ผ่านมาสามารถเห็นได้ชัดขึ้นจากการมี page ที่ตั้งขึ้นเพื่อโจมตีกิจกรรมรับน้องเช่น Anti – SOTUS, รับน้องสร้างสรรค์ เป็นต้น ความแตกต่างทางความคิดและการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ อาจทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

เพจรับน้องสร้างสรรค์

เพจ ANTI SOTUS

พรรณพิมล นาคนาวา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงความแตกต่างและวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น (Culture of Tolerance) ว่าความแตกต่างนั้นก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติพันธ์ ศาสนา มาจนถึงเรื่องความคิดความเชื่อ อุดมการณ์และวิธีการมองโลก แต่ในขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องที่ปลูกฝังในระดับลึก เป็นเรื่องของสิทธิ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการรับน้องเป็นอุดมการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีโอกาสลื่นไหลได้มากกว่า

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกคือ การยอมรับว่าความแตกต่างมีอยู่จริง และต้องเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในความคิดและความเชื่อของอีกฝ่ายก่อนจะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี การอดกลั้นหรือการเคารพความคิดความเชื่อของอีกฝ่ายไม่ได้แปลว่าเงียบ ไม่ตั้งคำถาม  แต่ในการวิพากษ์ก็ต้องรู้ก่อนว่าอีกฝ่ายนั้นมีวิธีคิดแบบใดบ้าง และวิธีคิดแบบไหนที่เราไม่เห็นด้วย วิธีคิดแบบไหนที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจ  และหากเราต้องการที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องมียุทธวิธีที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกัน  ต้องมีการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียวไม่เปิดให้อีกฝ่ายได้พูดได้นำเสนอ  ไปจนถึงภาษา วิธีการพูด หากมีการใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ก็ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ล้มเหลว

พรรณพิมล กล่าวว่า การรับน้องปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกเหมารวม จริงๆ ก็มีสถาบันที่การรับน้องไม่มีปัญหา แต่ในบางแห่งที่มีความเป็นอำนาจนิยม ก็เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่ามันไม่สัมพันธ์กับบริบทของสังคมโลกในปัจจุบันแล้ว  และเชื่อว่าเพจเช่นเพจรับน้องสร้างสรรค์ ที่มีลักษณะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กับการรับน้อง แม้ว่าในบางโพสต์จะมีตรรกะที่ไม่สัมพันธ์ แต่โดยรวมมุ่งเป้าไปที่ความเป็นอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่างและไม่เห็นด้วยกับอำนาจนิยมให้ได้แสดงออก และได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการรับน้องที่ใช้อำนาจ ที่ใช้ความรุนแรงที่ยังมีอยู่

และฝ่ายที่ถูกตั้งคำถามก็ต้องกลับมาทบทวน และคิดว่าจะตอบโต้หรือแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ทันโลก กรอบของโลกสมัยใหม่อยู่ในกระแสของสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี เช่นเดียวกับแอดมินของเพจเหล่านี้ที่ก็ต้องกลับมาทบทวน แม้ว่าเพจเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดปฏิกิริยา เกิดการพูดคุยขึ้น

และสิ่งต่อจากนั้น คือการยกระดับความขัดแย้ง ขณะที่ปัจจุบันเป็นการถกเถียงที่ไม่มีสิ้นสุด ใช้ตรรกะวิบัติและหาประเด็นไม่ได้   แต่ถ้าเราอยู่ในโลกเสรี ต่างฝ่ายต่างโยนความคิดและเหตุผลขึ้นมา เคารพและรับฟังเหตุผลของกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้น นี่คือสิ่งที่คนในสังคม ครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงสื่อมวลชนควรกระทำ ให้ความขัดแย้งมีคุณภาพ นอกจากนี้การมาพูดคุยและรับฟังกัน เพื่อหาวิธีที่สร้างสรรค์จริงๆ ก็เป็นการท้าทายความเป็นปัญญาชนของนิสิตนักศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยอีกด้วย พรรณพิมลสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net