ครม.ทุ่มงบ 600 ล้านบาทให้บอร์ด สปสช.ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงหนึ่งแสนคนเริ่ม 1 ต.ค. 58

ทุ่มงบ 600 ล้านบาทให้บอร์ด สปสช.ใช้ดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งแรก รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เน้นดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกว่าแสนคนในปีแรก เริ่ม 1 ต.ค.58 ภายใน 3 ปี ขยายให้ครบล้านคน

 

ครม.ทุ่มงบ 600 ล้านบาทให้บอร์ด สปสช.ใช้ดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งแรก รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เน้นดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกว่าแสนคนในปีแรก เริ่ม 1 ต.ค.58 ภายใน 3 ปี ขยายให้ครบล้านคน ด้านบอร์ด สปสช.เห็นชอบหลักเกณฑ์บริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 59 รวมขยายสิทธิคลอดไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพิ่มวัคซีนป้องกันโปลิโอแบบฉีด เพิ่มป้องกันติดเชื้อเอชไอวีร่วมกับกรมควบคุมโรค และเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง พร้อมอนุมัติเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐเพื่อจ่ายช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายต่อเนื่องจากระบบที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2559 และ ผลการหารือร่วมระหว่าง สธ.และ สปสช.การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหาย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2559 ซึ่งจะเป็นปีแรกที่จะเปิดงานการดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งในปี 2559 นี้ ที่จะเริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 นั้น จะเน้นการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกว่าแสนคน ภายใน 3 ปีจะขยายให้ครบประมาณล้านคน เป็นการสนับสนุนงบให้สถานพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

นอกจากนั้นยังได้มีการขยายสิทธิการคลอดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งด้วย และเพิ่มการให้วัคซีน IPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด จากเดิมที่มีสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานเท่านั้น แต่ทั้งนี้วัคซีน IPV นั้นต้องได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน รวมทั้งเพิ่มขอบเขตบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่

“สำหรับผลหารือระหว่าง สธ.และ สปสช.เพื่อหาแหล่งงบประมาณในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย หลังจากมีข้อสรุปว่าไม่สามารถใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาจ่ายได้นั้น คณะกรรมการฯ เห็นชอบตามข้อเสนอที่ให้ใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่องค์การเภสัชกรรมสนับสนุนไปก่อน ซึ่งเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่าการจ่ายเงินดังกล่าวให้บุคลากรสาธารณสุขมีความจำเป็นและส่งผลให้เกิดการบริการและความเข้าใจที่ดีภายในระบบสาธารณสุข แต่เมื่อมีข้อสรุปว่าผิดวัตถุประสงค์ ก็ใช้เงินจากแหล่งอื่นมาทดแทนไปก่อน เพื่อไม่ให้บุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหาย รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วยก็จะได้รับการช่วยเหลือจากงบประมาณตรงนี้ด้วย” ศ.นพ.รัชตะกล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559  รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมาก โดยจัดงบเหมารายหัว 3,028.94 บาทต่อประชากร จากประชากรทั้งหมด 48.7 ล้านคน รวมเป็นเงิน 147,772 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่าร้อยละ 6 ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนภาครัฐขั้นปกติ 40,143 ล้านบาท คงเป็นเงินกองทุน 107,629 ล้านบาท ที่จะให้บริการประชาชน 48.7 ล้านคน ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัวแบ่งเป็น 8 รายการ ได้แก่ ผู้ป่วยนอก 1,103.92 บาท ผู้ป่วยใน 1,060.14 บาท กรณีเฉพาะ 305.29 บาท สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 398.60 บาท ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 16.13 บาท แพทย์แผนไทย 10.77 บาท บริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 กันไว้จำนวน 5.40 บาท

ขณะที่ค่าบริการอื่นๆ นอกเหนือจากงบเหมาจ่ายรายหัว มีดังนี้

          1.ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมป้องกันการติดเชื้อ 3,011.9010 ล้านบาท

          2.ค่าบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 6,318.0990 ล้านบาท

          3.ค่าบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง และปี 59 รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชนด้วย 959 ล้านบาท

          4.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับสถานพยาบาลในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมกรณี 3,000 อัตราของ สธ.ด้วย 1,490.2875 ล้านบาท

          5.ค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุขของ สธ. 3,000 ล้านบาท

          6.ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท