เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้ สนช. ล้ม 7 รายชื่อ กสม.

4 ส.ค. 2558 เครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแถลงการณ์ได้อ้างถึงหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในตอนหนึ่งระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” บุคคลผู้เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด

ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาเองไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ”

พร้อมแสดงความห่วงใยต่อ ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในสายตานานาประเทศ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการ สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส

แถลงการณ์

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4 สิงหาคม 2558

 

ตามที่คณะกรรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันประกอบด้วย นายดิเรก  อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเพ็ง เพ็งนิติ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และนายเฉลิมชัย วสีนนท์ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ได้เลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจำนวน 7 คน ได้แก่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นายบวร ยสินทร นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ นายวัส ติงสมิตร รองศาสตราจารย์ศุภชัย  ถนอมทรัพย์ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กร และบุคคลข้างท้ายนี้  เห็นว่าการสรรหาบุคคลเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามหลักการปารีส และเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. โดยหลักการปารีสระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับไม่มีบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด

2. กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ ได้บุคคลซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์

3. จากประสบการณ์การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่สองได้แสดงให้เป็นที่ ประจักษ์แจ้งว่าการเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์จะส่งผลเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนประมาณค่ามิได้ และจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกลดระดับจากเกรด A เป็นเกรด B โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ดังนั้น ผลการสรรหาครั้งนี้จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของนานาชาติต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มที่จะบังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปอีก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรร่วมจึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส โดยให้มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนด้อยโอกาส และตัวแทนสื่อมวลชน เป็นคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายตามหลักการปารีส และกำหนดให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล

รายชื่อองค์กรและบุคคลร่วมลงนาม

1.       สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส)

2.       มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

3.       คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

4.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

5.       ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

6.       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

7.       เครือข่ายประชาชนสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม

8.       มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์

9.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) องค์กรสาธารณะประโยชน์ ๗

10.   เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)

11.   เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี

12.   ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

13.   มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

14.   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

15.   สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

16.   มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

17.   คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18.   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

19.   สมาคมผู้บริโภคสงขลา

20.   เครือข่างองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

21.   เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้

22.   กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน

23.   มูลนิธิเพื่อนหญิง

24.   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

25.   มูลนิธิพัฒนาอีสาน

26.   นายประกาศ  เรืองดิษฐ์

27.   นายสุมิตรชัย หัตถสาร

28.   นายสุรชัย ตรงงาม

29.   นางสาวกาญจนา  แถลงกิจ 

30.   นายประยงค์ ดอกลำไย

31.   นางสาวราณี  หัสสรังสี

32.   เพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

33.   นายชาญยุทธ  เทพา  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท