Skip to main content
sharethis

รายงานกระแสแชร์โควทอธิบดีDSI ปมทหารใช้กระสุนยางสลายแดง53 ตรวจสอบไม่พบที่มา ด้านเจ้าตัวยันไม่เคยพูด พร้อมย้อนดูยอดใช้กระสุนรวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด และเปิด 12 คำสั่งศาลชี้ชัดกระสุนจริงจาก จนท.สังหาร

หลังจากกรณีการแชร์ข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงสัปดาห์ก่อน โดยอ้างว่า สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารกรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 53 นั้นใช้ ‘กระสุนยาง’ โดยข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่มีการระบุที่มาแต่อย่างใด

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวอธิบดีดีเอสไออย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ ซึงมีผู้กดถูกใจเพจถึงกว่า 2.6 แสนไลค์ โพสต์ข้อความและภาพ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.58 เวลา 7.59 น. (URL : https://www.facebook.com/cheeryingluck/photos/a.211041105592928.57507.210602172303488/1018704568159907/ ) ในลักษณะดังกล่าวอีก จนมีผู้กดถูกใน 2,900 ไลค์ และแชร์กว่า 259 แชร์

โพสต์เจ้าปัญหาจากเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ 

จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ข่าวสดออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า สุวณา ออกมาให้ข่าวถึงความคืบหน้าของคดีสลายการชุมนุมปี 53 ว่า คณะพนักงานสอบสวนได้หารือกันในส่วนของสำนวนการสอบสวนคดี 99 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เพื่อดูความสมบูรณ์ของสำนวน และเตรียมเสนอความเห็นให้อัยการสั่งฟ้องภายในเดือน ส.ค. นี้

โดยจากรายงานข่าวของทั้งข่าวสดฯและผู้จัดการฯ ไม่พบว่า สุวณา ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้เพียงกระสุนยาง ตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กแต่อย่างไร มีเพียงรายงานข่าวตอนท้ายที่ระบุว่า

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ..จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทั้งที่บริเวณแยกคอกวัว บริเวณ ถ.ราชปรารภ บริเวณ ถ.พระราม 4 และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนเรียกเข้ามาให้ปากคำนั้นยืนยันว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันและเวลาดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และยืนยันด้วยว่าใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติของการสอบสวน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งสรุปสำนวนคดีนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย (คลิกอ่านรายละเอียด)

อธิบดีDSI ยันไม่เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นทหารไม่ใช้กระสุนจริง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ ได้รายงานถึงคำชี้แจงของ สุวณา ต่อกรณีดังกล่าวด้วยว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือยืนยัน เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดเพราะเป็นเรื่องในสำนวนการสอบสวน 

"ที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์เพียงว่าเป็นการทำงาน ในรูปแบบคณะพนักงานอบสวนระหว่างตำรวจกองบัญชาตำรวจนครบาล และดีเอสไอ ไม่เคยระบุถึงเนื้อหาในสำนวนการสอบสวนว่าบุคคลต่างๆให้การว่าอย่างไร"อธิบดีดีเอสไอกล่าว

สวุณา กล่าวว่า ในเนื้อหาที่ปรากฎในข่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของตนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นรายงานข่าวเรื่องการสอบสวน โดยได้สอบถามกับรองอธิบดีดีเอสไอที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการให้ข่าวเช่นกัน

ญาติกังวล ขอป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลมาประกอบ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี สุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้แทนรับหนังสือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าว นั้นหลังเหตุการณ์ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว การดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการกับผู้สั่งการและผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดยังไม่มีคืบหน้าเท่าที่ควร อีกทั้งกรรมการป.ป.ช.บางรายได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงทำให้ญาติผู้เสียชีวิตเกรงว่าจะไม่ได้ความเป็นธรรม

พร้อมทั้ง ขอให้ป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลและรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมาประกอบการพิจารณาและสอบพยานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งขอให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย (อ่านรายละเอียด)

ยอดใช้กระสุน ปี 53 รวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด

ขณะที่หากย้อนกลับไปถึงยอดการใช้กระสุนในการสลายการชุมนุมปี 53 นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงาน เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 โดยอ้างถึงวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้โพสต์ภาพพร้อมเขียนข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam (เมื่อ ก.ย.55) ว่า “กระสุนศอฉ.53....รายงานที่ คอป.อาจยังไม่เคยเห็น...ทบ.สรุปรายงานยอดกระสุนที่ใช้สลายม็อบแดง 191,949 นัดแม้จะพยายามหามาคืนให้มากที่สุดแล้วก็ตาม เผย “พล.อ.ประยุทธ์” (จันทร์โอชา ผบ.ทบ.) เร่งสรุป ให้ตัวเลขน่าพอใจและยอมรับได้ แต่อ้างใช้กระสุนซุ่มยิง sniper หลายแบบ แต่ที่เป็น sniper จริงๆของหน่วยรบพิเศษ รวมใช้ 500 นัด แต่ปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 4,842 นัด....ทบ.เพิ่งสรุปยอดกระสุนที่ใช้ไปในตอน ศอฉ.สลายเสื้อแดง 2553 ได้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 2 ปี ทบ.แจ้งให้หน่วยที่เบิกจ่ายไปส่งคืน ครั้งแรก ตัวเลขกระสุนสูงปรี๊ด จนไม่กล้าสรุป ทบ.ให้เวลาหน่วยไปหากระสุนมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด จนมีการส่งคืนครั้งที่ 2 แล้วสรุปออกมาว่า มีการเบิกจ่ายกระสุนไป 9 ชนิด รวม 778,750 นัด และมีการส่งยอดคืน จำนวน 586,801 นัด สรุปใช้ไปจำนวน 191,949 นัด แม้ตัวเลขรวมจะมากกว่ารายงานของ คอป. แต่ยอดกระสุนสไนเปอร์จริงๆ รวม 500 นัด ..โดยรายงานนี้จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หลังกลับจากเยือนอินโดนีเซีย”

‘อภิสิทธิ์’ รับกับ BBC ยันใช้กระสุนจริงเป็นสิ่งจำเป็น

ที่มาของภาพ: คัดลอกจาก BBC World News

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 55 รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม (อ่านรายละเอียด)

เปิดคำสั่งศาล กรณีระบุตายจากการปฏิบัติหน้าที่ จนท.

กระบวนการไต่สวนการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งเริ่มกระบวนการมาได้กว่า 5 ปีแล้วนั้น มีหลายกรณีที่ศาลมีคำสั่งระบุถึงสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ตายมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ดังนี้

“พัน คำกอง” 

คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"

“ชาญณรงค์ พลศรีลา”

คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ภาพเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงถูกถ่ายและเผยแพร่โดยช่างภาพต่างประเทศ นิค นอสติทช์

ศาลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต” 

คำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่

"ชาติชาย ชาเหลา”

เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ถนนพระราม 4 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ต่อจาก เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”
 
ศาลระบุด้วยว่า ในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน  ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 
ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งจุดเกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. กระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเจ้าพนักงานที่ใช้ประจำการ

"ด.ช.อีซา"

ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เข้าช่องท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ 

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 20 ธ.ค.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

คำสั่งศาลระบุด้วยว่า แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

“พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ”
ทหารสังกัด ร.พัน. 2 พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ ทหาร กับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553

ศาลมีคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกระโหลกศรีษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต”

“ฟาบิโอ โปเลนกี”

ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

“6 ศพวัดปทุมฯ”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”

ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า

1.     เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร

2.     ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน

3.     การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ

4.     กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว

“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1  ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

“ถวิล คำมูล”
ถวิล คำมูล ศพแรก 19 พ.ค.53 บริเวณศาลาแดง ข้างตึก สก. รพ.จุฬาลงกรณ์

ศาลศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ”

“ชายไม่ทราบชื่อ”

ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ”

“นรินทร์ ศรีชมภู”

ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 25 มี.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

“เกรียงไกร คำน้อย”

โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยถูกยิงข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. 53 และเสียชีวิตวันต่อมา

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 4 ก.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก จากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net