Skip to main content
sharethis

เรื่องราวของคนขายน้ำชาข้างถนนในอินเดียผู้มีความมุมานะอยากเป็นนักเขียนถึงขั้นเร่ขายหนังสือที่ตีพิมพ์เองตามสถานศึกษาต่างๆ และมีการส่งขายทางร้านค้าอินเทอร์เน็ต เขาเคยได้รับรางวัลทางวรรณกรรมและเคยพบปะกับอดีตนายกฯ อินทิรา คานธี แต่เรื่องราวชีวิตเขาก็สะท้อนให้เห็นการแบ่งชนชั้นในวงการวรรณกรรมอินเดีย


เพจเฟซบุ๊กของ ลักษมัณ เรา ที่ลูกชายเปิดให้


3 ส.ค. 2558 สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่รายงานแนะนำให้รู้จักกับ ลักษมัณ เรา ชายคนขายชาข้างถนนที่มีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนที่มีผลงานทั้งนิยาย บทละคร และบทความทางการเมือง มากกว่า 24 เล่ม โดยมีการขายหนังสือของเขาผ่านเว็บไซต์อย่างแอมะซอน

ผู้สื่อข่าวบีบีซี อนัสสุยา บาสุ สัมภาษณ์ "ลักษมัณ เรา" ชายผู้ที่ไม่เพียงแค่เป็นคนขายชานมรสหวานบนร้านริมทางเท้าที่ดูสมถะ แต่ยังเป็นนักเขียนนิยายภาษาฮินดีผู้ที่เขียนถึงชีวิตการต่อสู้โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการพูดคุยกับลูกค้าของเขาเอง

ลักษมัณเกิดมาในครอบครัวชาวนาที่รัฐมหาราษฏระก่อนที่ต่อมาจะเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงกรุงนิวเดลีในปี 2518 เพื่อที่จะทำตามความฝันของตัวเองคือการเป็นนักเขียน เขาเคยทำงานเป็นคนงานก่อสร้างและคนล้างจานจนกระทั่งสามารถเปิดร้านขายใบพลูและยาสูบของตัวเองได้ หลังจากนั้นเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเดลีด้วยโครงการศึกษาทางไกลแล้วจึงหันมาเปิดร้านน้ำชาเพราะทำกำไรได้มากกว่า

บีบีซีรายงานว่าลักษมัณพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะหาคนตีพิมพ์หนังสือของเขา แต่ทุกครั้งที่มีการพบปะหารือกับสำนักพิมพ์ก็ทำให้เขาผิดหวังเพราะไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากเสี่ยงตีพิมพ์งานของคนขายของข้างถนน แต่ลักษมัณก็ไม่ยอมแพ้ เขาสะสมเงินตีพิมพ์ผลงานของตัวเองจนมีนิยายที่ตีพิมพ์ด้วยตัวเองเล่มแรกในปี 2522

"สำนักพิมพ์มักจะมีท่าทีถือตัวว่ามีรสนิยมกว่าคนอย่างพวกเราและต้องการเงินตีพิมพ์ผลงานของพวกเรา ผมไม่มีเงินให้พวกเขา ดังนั้นผมจึงต้องตั้งสำนักพิมพ์เอง" ลักษมัณกล่าว

อย่างไรก็ตามหนังสือของเขาก็กลายเป็นที่นิยม เช่นเรื่อง "รามดาส" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2535 เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างครูกับนักเรียน มียอดขายมากกว่า 4,000 เล่มและมีการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 อีกทั้งลักษมัณยังเคยเข้าพบกับผู้นำทางการเมืองจนเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความทางการเมือง โดยหลังจากมีนักการเมืองอาวุโสของอินเดียพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นคืออินทิรา คานธี เกี่ยวกับหนังสือของลักษมัณทำให้เขาได้รับเชิญจากนายกฯ เข้าพบในปี 2527

ลักษมัณเล่าว่าเขาไปพบอินทิรา คานธี พร้อมกับหนังสือ 2 เล่ม อินทิราดูชื่นชมผลงานของเขามากและให้กำลังใจเขาให้เขียนต่อไป เขาบอกว่าเขาต้องการเขียนเรื่องของอินทิราแต่ตัวนายกฯ เองบอกเขาว่า อยากให้เขียนถึงผลงานของเธอมากกว่าเรื่องราวชีวิตเธอเอง ทำให้ลักษมัณเขียนบทความเกี่ยวกับช่วงเวลาที่อินทิราดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2512-2515 แต่อินทิราก็ถูกยิงเสียชีวิตก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์ หลังจากอินทิราเสียชีวิต ลักษมัณก็เขียนบทละครเกี่ยวกับชีวิตของเธอในชื่อ "ประธานมนตรี" (คำที่อินเดียใช้เรียกนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหนังสือบทความ

บีบีซีระบุว่าในตอนนี้ลักษมัณขายหนังสือของเขาผ่านทางเว็บออนไลน์อย่างแอมะซอนและฟลิบคาร์ท ซึ่งทางโฆษกของแอมะซอนอินเดียให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าหนังสือของลักษมัณขายดีมากในเว็บของพวกเขาและพวกเขาก็ดีใจที่ลักษมัณใช้เว็บของพวกเขาเป็นช่องทางขายหนังสือ

เรื่องหนึ่งของลักษมัณที่ติดอันดับหนังสือขายดีคือเรื่อง 'นาร์มาดา' (Narmada) นิยายโรแมนติกที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ที่เป็นเรื่องราวความรักของชายนักศึกษาไอทีที่ตกหลุมรักกับนาร์มาดาลูกสายของหัวหน้าคนงานก่อสร้าง แต่ก็ถูกผู้ใหญ่จับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับผู้หญิงในวรรณะเดียวกับเขา

ลักษมัณยังมีผู้ช่วยประสานงานการขายหนังสือทางอินเทอร์เน็ตคือลูกชายคนโตของเขาเอง อีกทั้งยังเป็นคนเปิดเพจของพ่อเขาในเฟซบุ๊ก แม้ว่าจะขายหนังสือในอินเทอร์เน็ตได้มาก แต่ลักษมัณก็ยังคงปั่นจักรยานตระเวนขายหนังสือของเขาตามที่ต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เว็บไซต์ยัวร์สตอรี่ระบุว่าเขาปั่นจักรยานเร่ขายหนังสือในตอนเช้าเป็นระยะทางมากกว่า 60 กม. ตามสถานศึกษาและห้องสมุดต่างๆ และคนที่ซื้อหนังสือน้อยคนที่จะรู้ว่านี่เป็นหนังสือที่เขาเขียนเอง

"มองดูแล้วคงไม่มีใครคิดว่าผมเป็นคนเขียนหนังสือ พวกเขาคงมองเห็นจักรยานเก่าๆ เสื้อผ้าโทรมๆ เปราะเปื้อนด้วยโคลนและเหงื่อแล้วคงคิดว่าผมเป็นแค่คนเร่ขายของคนหนึ่ง ผมไม่บอกใครว่าผมเป็นคนเขียนหนังสือของผมจนกระทั่งจะมีคนถามถึงผู้เขียน" ลักษมัณกล่าว

ถึงแม้ว่าลักษมัณจะได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัลและได้รับการยอมรับจากอดีตประธานาธิบดีประติภา ปาฏีล แต่เขาก็ไม่เคยได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมเทศกาลวรรณกรรมในอินเดียเลยสักครั้ง นอกจากนี้อาชีพขายชาของลักษมัณก็สร้างรายได้ไม่มากนัก เขาได้เงินราว 1,200 รูปี (ราว 600 กว่าบาท) ต่อวันจากร้านน้ำชาเล็กๆ ของเขาซึ่งในอินเดียถือเป็นรายได้ที่พอมีพอกินไปวันๆ

อย่างไรก็ตาม ลักษมัณเองบอกว่าเขาเขียนหนังสือเพื่อเป็นการทำตามความปรารถนาของตนเองมากกว่าจะเป็นการหารายได้ เขาเป็นคนที่จะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเวลาที่ได้เห็นคนอ่านหนังสือของตน แต่กระนั้นสิ่งที่ลักษมัณต้องเผชิญถือเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพการแบ่งชนชั้นของศิลปินในสังคมอินเดีย ยัวร์สตอรี่ระบุว่าลักซ์มีเคยเข้าหาสังคมวรรณกรรมหลายแห่งในอินเดียพร้อมกับหนังสือของเขาแต่ก็ถูกขับไล่ไสส่งโดยที่ไม่แม้แต่จะดูผลงานของเขาเลย

"ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าคนขายน้ำชาข้างถนนจะอ่านและเขียนหนังสือได้ด้วย" ลักษมัณกล่าว

"นักเขียนหลายคนพยายามงัดกลวิธีทำการตลาดให้กับหนังสือของพวกเขา มีการทำภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์จากหนังสือของพวกเขา แต่ตัวผมเองเป็นคนเรียบง่าย ผมได้รับจดหมายส่งมาให้ที่อยู่บนทางเท้าของผมเอง หนังสือของผมมีอยู่ตามห้องสมุดของโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในเมือง แล้วตัวผมเองก็มักจะถูกเชิญให้ไปพูดในโรงเรียนหรือวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ผมคงไม่เรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง" ลักษมัณกล่าวในขณะที่กำลังส่งถ้วยชาให้กับผู้หญิงไร้บ้านคนหนึ่งที่มารอน้ำชาที่ร้านเขาอย่างอดทน

 

เรียบเรียงจาก

Indian tea-seller who hawks his books on Amazon, BBC, 03-08-2015
http://www.bbc.com/news/world-asia-india-33532665

This Delhi roadside chaiwalla cycles 100 km a day to peddle his 24 books, Your Story, 17-05-2015
http://yourstory.com/2015/05/chaiwalla-author/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ข้อมูลหนังสือเรื่อง Narmada, Amazon India
http://www.amazon.in/NARMADA-English-Edition-Bestselling-Romantic-ebook/dp/B00XKWSRNW/ref=zg_bs_2590379031_1

https://en.wikipedia.org/wiki/Laxman_Rao

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net