สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ก.ค.-5 ส.ค. 2558

 
ฝีมือคนพิการพัฒนาขึ้น “นคร” หนุนสังคมจ้างงาน ชี้ความสามารถสู้คนปกติได้
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องช่องว่างระหว่างคนปกติกับคนพิการ ทั้งในด้านการศึกษา การจ้างงาน และการเข้าถึงบริการของรัฐประเภทต่าง ๆ ขณะเดียวกัน คนทั่วไปก็ยังมีทัศนคติที่ว่า คนพิการคือผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น ภาคสังคมและภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติมาให้การสนับสนุนคนพิการให้มีทักษะในการดำรงชีวิต เพื่อหาเลี้ยงชีพ และเพิ่มโอกาสในการศึกษาให้มากขึ้น สำหรับการแข่งขันฝีมือคนพิการ เราต้องการให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถบอกตัวเองและสังคมอย่างภาคภูมิใจได้ว่า คนพิการมีความสามารถในทักษะที่เข้าแข่งขัน สามารถทำงานในโรงงาน หรือตามสถานประกอบการต่าง ๆ ได้ โดยที่คุณภาพของงาน หรือสินค้าอยู่ในระดับดีเป็นที่ยอมรับ และหากคนพิการได้รับการส่งเสริมในด้านทักษะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็สามารถทำทุกสิ่งได้เท่าหรือเกือบเท่ากับคนร่างกายปกติหรืออาจจทำได้ดีกว่าด้วย
       
นายนคร กล่าวว่า ผลการแข่งขันในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการเทคนิค ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ได้ประเมินผลงานในภาพรวมของผู้เข้าแข่งขันแล้วมีความเห็นว่า แทบทุกสาขาที่จัดแข่งขัน พบว่า ผลงานมีคุณภาพที่สูงขึ้นกว่าการแข่งขันครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านฝีมือของผู้เข้าแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าเดิม สำหรับผู้ชนะการแข่งขันในครั้งนี้จะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล ดังนี้ รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 9,000 บาท และรางวัลชมเชย 3,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ชนะบางสาขาอาจมีโอกาสได้รับการพิจารณาให้เข้าเก็บตัวฝึกซ้อม เพื่อรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฝีมือคนพิการนานาชาติ ครั้งที่ 9 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในปี 2559 ด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/7/2558)
 
นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการสุโขทัยนำเหยื่อเข้าแจ้งความ ถูกสาวหลอกลวงไปทำงานประเทศญี่ปุ่นเรียกเก็บหัวละ 25,000 บาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานนท์ เกิดเกตุ นักวิชาการแรงงานปฏิบัติการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วย น.ส.สุนิสา นันดาวงค์ และพวกรวม 4 คน ได้เข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.นิกร มงคลประดิษฐ์ ร้อยเวร สภ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กรณีถูก น.ส.ปาริชาติ จักรบุตร หลอกลวงไปทำงานประเทศญี่ปุ่น
 
นายอานนท์เปิดเผยว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุโขทัยได้รับเรื่องร้องทุกข์จาก น.ส.สุนิสา และพวกรวม 4 คน ว่าได้รับการชักชวนจาก น.ส.ปาริชาติ ให้สมัครไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเรียกเก็บเงินคนละ 25,000 บาท แต่ไม่สามารถจัดส่งไปทำงานได้ตามที่กล่าวอ้าง
 
จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.ปาริชาติไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของบริษัทจัดหางานใด การกระทำของ น.ส.ปาริชาติจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานฯ มาตรา 30, 82 และมาตรา 91 ตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเรียกตัวมาสอบสวนดำเนินคดีต่อไป.
 
(ไทยโพสต์, 30/7/2558)
 
ผอ.ช่างสิบหมู เผยคนรุ่นใหม่สนใจเทคโนโลยี เมินงานช่างศิลป์ ห่วงข้าราชการเกษียณ ไร้ผู้สานต่อ - เสนอเปิดเวทีแสดงผลงานช่างศิลป์
       
นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า ในขณะนี้สำนักช่างสิบหมู่ มีบุคลากรข้าราชการ และลูกจ้าง ประมาณ 200 คน ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อยในการดำเนินการสืบทอดและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ถ้าหากบุคลากรราชการที่ครบวาระเกษียณแล้ว ทางผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปิดรับบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้การตอบรับที่เข้ามารับหน้าที่ในการผลิตผลงานด้านช่างศิลป์มากนัก เนื่องจากปัจจุบันนี้ได้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปสนใจงานด้านเทคโนโลยีแทน ขณะเดียวกัน หลักสูตรการเรียนการสอนด้านงานช่าง งานฝีมือที่ลดน้อยลงด้วย ทำให้บุคลากรด้านงานแกะสลักไม้ งานด้านฝังมุก ศิลปะปูนปั้น และอื่น ๆ มีจำนวนน้อย
       
“น่าห่วงงานช่างฝีมือกำลังจะสูญหายไปเรื่อย ๆ เนื่องจากข้าราชการด้านช่างศิลป์เกษียณ อาจจะทำให้ขาดช่วงรับต่อในการทำงาน ที่สำคัญ ผู้ที่ทำงานด้านช่างแต่ละคนต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ 5 - 10 ปี กว่าจะมีความเชี่ยวชาญผลิตชิ้นงานได้อย่างงดงาม สำหรับแนวทางการแก้ไขในเบื้องต้นสำนักช่างสิบหมู่ ต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก ทั้งสถานศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย รวมทั้งแนะแนวกระบวนการผลิตผลงานด้วยฝีมือ ให้การสนับสนุนงานด้านศิลปะปูนปั้น พร้อมดำเนินการให้เยาวชนได้มีเวทีในการนำผลงานมาแสดง และเกิดความกล้าแสดงออก รวมทั้งยังเกิดแรงบันดาลใจจากผู้ถ่ายทอดผลงานก่อนหน้า เพื่อให้ผลิตชิ้นงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งผลที่ได้จากแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว จะทำให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่จะผลิตงานศิลป์และผู้ที่เสพผลงานเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นผลดีต่อการมีผู้สืบทอดงานช่างให้คงอยู่สืบไป” ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/7/2558)
 
'ปวีณา'ช่วย 69 ลูกเรือไทยเหยื่อค้ามนุษย์พ้นอินโดฯ
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 ก.ค. นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย 69 คน กลับจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ถนนรังสิต-นครนายก คลอง 7 ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ลูกเรือประมงไทย 69 คน หลังถูกทางการอินโดนีเซียจับกุมฐานลุกล้ำน่านน้ำ และถูกควบคุมตัวที่เมืองปอนเตียนะก์ จังหวัดกะลิมันตันตะวันออก นานกว่า 6 เดือน ต้องทนทุกข์ทรมาน ด้านนายจ้างก็ไม่เหลียวแลให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด จนกระทั่งทั้งหมดรวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือผ่านเฟซบุ๊คมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ขอให้ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือให้ได้กลับบ้านเกิด โดยลูกเรือประมงไทยทั้ง 69 คน มีจำนวน 39 คนที่ร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ส่วนอีก 30 คนร้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงต่างประเทศ
 
จากการประสานงานของมูลนิธิปวีณาฯ และกระทรวงการต่างประเทศที่เร่งให้การช่วยเหลือ ทำให้ทางการอินโดนีเซียยอมปล่อยตัวลูกเรือประมงไทย 69 คน และทั้งหมดเดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสายการบิน Air Asia เที่ยวบินที่ QZ 252 เมื่อเวลา 20.10 น. วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้แรงงานประมงไทย ที่ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ ยังตกค้างอยู่อีก 13 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 1 คน ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเร่งช่วยเหลือแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ที่ตกค้างไม่มีหลักฐานใดๆ ทางมูลนิธิปวีณาฯ จึงได้ประสานไปยังตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) เพื่อหาหลักฐานจากทะเบียนกลางให้การรับรองความเป็นคนไทยเพื่อให้สามารถเดินทางกลับประเทศได้
 
ด้านนายทวีวัฒน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ชาวร้อยเอ็ด 1 ในลูกเรือประมงที่ถูกหลอกไปทำงาน เปิดเผยว่า เดินทางมาหางานทำที่กรุงเทพฯ ถูกหลอกจากหัวลำโพง และมีหลายคนที่ถูกหลอกไปจากสนามหลวงและหมอชิต โดยมีนายหน้าชักชวนให้ไปทำงานคัดแยกปลาที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร จะมีรายได้ดี แต่เมื่อเดินทางไปถึงที่มหาชัย กลับถูกส่งต่อไปลงเรือที่สงขลา แรงงานบางคนปฏิเสธไม่ยอมลงเรือ แต่นายจ้างอ้างว่าได้จ่ายเงินให้กับนายหน้าที่พามาส่งแล้วก็ต้องทำงานใช้หนี้โดยไม่ได้รับค่าแรง หากอยากได้เงินต้องลงเรือออกไปหาปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย และนายจ้างได้จัดทำหนังสือคนประจำเรือให้ จนถูกจับกุมตัวในที่สุด
 
ส่วนนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงงานประมงทั้ง 39 คนอยู่ในความดูแลของมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี และได้จัดที่พักให้อยู่ร่วมกับญาติระหว่างที่ต้องสอบปากคำเพื่อคัดแยกเหยื่อ โดย พล.ต.ต.ธิติ แสงสว่าง ผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ผบก.ปคม.) ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ปัญญา ปิ่นสุข รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (รอง ผบก.ปคม.) และ พ.ต.ท.ชูศักดิ์ อภัยภักดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ สอบข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในจำนวน 39 คนมีส่วนหนึ่งที่เข้าข่ายถูกหลอกค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เมื่อทางการอินโดนีเซียตรวจสอบกับทางการไทยก็พบว่าหนังสือคนประจำเรือทั้งหมดเป็นเอกสารปลอม
 
วันจันทร์ที่ 3 ส.ค.นี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ จะนำผู้เสียหายทั้งหมดไปสอบปากคำอย่างเป็นทางการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) โดยมีพนักงานสอบสวน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน ร่วมสอบปากคำ ซึ่งแรงงานทั้งหมดประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเรือ นายหน้า และผู้ที่หลอกลวงค้ามนุษย์ เนื่องจากนายจ้างได้ให้แรงงานทุกคนใช้หนังสือคนประจำเรือปลอมเพื่อให้ทางการอินโดนีเซียเชื่อว่าทางการไทยได้อนุญาตให้แรงงานทำการประมงบนเรือจริง แต่เอกสารทั้งหมดเป็นของปลอม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และแรงงานประมงทั้งหมดจะทำการฟ้องร้องร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกเงินชดเชยค่าแรงที่ไม่ได้รับระหว่างที่ทำงานบนเรืออีกด้วย
 
วันเดียวกันนี้ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือเพื่อส่งตัวลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างอยู่ที่เกาะอำบน และเกาะอื่นๆ ในอินโดนีเซีย กลับไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57 จนถึงวันที่ 29 ก.ค.58 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอสรุปมีรายละเอียดดังนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57 จนถึงวันที่ 28 ก.ค.58 กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการส่งตัวลูกเรือประมงกลับไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว 1,184 คน และในวันที่ 29 ก.ค.58 ได้ดำเนินการส่งกลับอีก 60 คน ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการส่งกลับรวมทั้งสิ้น 1,244 คน และขณะนี้ได้ออกหนังสือรับรองสัญชาติ (Certificate of Identity-C.I.) แล้วประมาณ 150 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อส่งตัวกลับในโอกาสแรก โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
 
วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 9 เม.ย.58 ส่งกลับ 232 คน เดือน เม.ย.58 ส่งกลับ 137 คน เดือน พ.ค.58 ส่งกลับ 372 คน เดือน มิ.ย.58 ส่งกลับ 308 คน วันที่ 1 ถึง 29 ก.ค.58 ส่งกลับ 195 คน
 
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อน และ
 
ความสัมพันธ์ที่ดี สำหรับลูกเรือที่กลับมาแล้วกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านของการเยียวยาและการสอบสวนหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีความห่วงใย และมุ่งช่วยเหลือชาวไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศทุกคน รายละเอียดความคืบหน้าจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป
 
(บ้านเมือง, 31/7/2558)
 
กรมจัดหางานเตือนสาวไทยโดนหลอก
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูล จากสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยรายหนึ่งที่ถูกหลอกลวงจากนายหน้าจัดหางานให้ลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ที่ร้านอาหาร Mingies Restaurant and Bar ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐปาเลา ซึ่งเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเจ้าของร้านเป็นชายชาวไต้หวัน โดยอ้างว่าจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ไม่รวมค่าทิปที่จะได้จากลูกค้า โดยเป็นการไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีใบอนุญาตทำงาน และนายจ้างจ่ายเงินค่าประกันสังคมให้
 
แต่เบื้องต้นต้องลักลอบเดินทางไปในลักษณะนักท่องเที่ยวก่อนแล้วไปขอใบอนุญาตทำงานกับทางการปาเลาในภายหลัง โดยได้จ่ายเงินค่านายหน้าฯ จำนวน 20,000 บาท แต่เมื่อไปทำงาน ปรากฏว่าในแต่ละเดือนจะถูกหักค่าจ้างเป็นค่าภาษีอีก เดือนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 660 บาท และไม่ได้รับเงินค่าทิปตามที่นายหน้าอ้างฯ จะได้รับก็ต่อเมื่อคนงานนั่งดื่มและยินยอมให้บริการทางเพศกับลูกค้าเท่านั้น จึงรู้ว่าถูกนายหน้าหลอกลวง แต่เนื่องจากทำสัญญาจ้างงานไว้กับนายจ้าง จึงยังไม่สามารถกลับประเทศได้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญาจ้างในเดือนเมษายน พ.ศ.2559 จึงได้มาขอความช่วยเหลือเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
 
อีกกรณี ได้รับการรายงานการให้ความช่วยเหลือหญิงไทย จำนวน 25 คน ที่ถูกทางการประเทศมาเลเซียส่งตัวกลับประเทศไทยหลังจากครบกำหนดการคุมขังในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจากการสอบถามกลุ่มหญิงไทยดังกล่าว ทั้งหมดให้การว่าถูกเพื่อนที่อยู่ในประเทศไทยชักชวนให้เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ในฐานะนักท่องเที่ยว เมื่อสามารถเข้าประเทศมาเลเซียได้แล้วก็จะมีคนมารับไปส่งในสถานบันเทิงต่างๆ เพื่อลักลอบทำงาน จนกระทั่งมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียเข้าไปจับกุม ซึ่งพวกตนถูกจำคุกอยู่คนละประมาณ 1-3 เดือน
 
กรมการจัดหางานจึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อสาย นายหน้าหรือบุคคลใดที่ชักชวนให้ลักลอบเข้าไปทำงานโดยอ้างว่าจะช่วยให้ได้ใบอนุญาตทำงานภายหลัง โดยเฉพาะงานนวด โคโยตี้ นักร้อง นั่งเชียร์ดื่ม นั่งชั่วโมงในบาร์หรือคอกเทลเลานจ์ เนื่องจากการทำงานอย่างถูกต้องในประเทศมาเลเซียจะต้องได้รับเอกสารยืนยันการอนุญาตให้ไปทำงาน (Calling Visa) จากสถานทูต/สถานกงสุลของมาเลเซียในประเทศไทยโดยที่นายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างถูกต้องเท่านั้น หากประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ แต่หากต้องการร้องทุกข์ หรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน ติดต่อได้ที่ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน โทร.0-2245-6763 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
(บ้านเมือง, 31/7/2558)
 
รง.ส่งลิเกไทยไปอิสราเอล ร่วมสร้างสัมพันธ์สองประเทศ
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานประสานความร่วมมือกับ สถานทูตไทย ณ ประเทศอิสราเอล, กองทุนโฮลี่แลนด์ทรัสต์และเทศบาลกรุงเยรูซาเลม จัดกิจกรรม ลิเกไทย “ชูแรงใจ สู่แรงงานไทยในอิสราเอล” เพื่อสร้างความสุขและกำลังใจในการดำเนินชีวิตให้แรงงานไทย นับเป็นครั้งแรกที่คณะลิเกจากสถาบันคริสเตียนนิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยพายัพ ทั้งคณะใหญ่จำนวน20 คน จะเดินทางไปเปิดการแสดงที่ประเทศอิสราเอล ระหว่างวันที่ 3-13 สิงหาคม 2558 เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2558 สถานทูตไทยประจำประเทศอิสราเอล ได้จัดให้คณะลิเกไทยไปแสดงในงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจผู้ใช้แรงงานไทย รวมถึงนายจ้างชาวอิสราเอลด้วย ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ช่วยสร้างความบันเทิงและเสริมสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตให้แรงงานไทยและผู้ที่พักอาศัยในประเทศอิสราเอล เป็นประโยชน์และความสุขที่ได้รับเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย
 
สำหรับจำนวนแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีประมาณ 28,146 คน ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร 27,396 คน อยู่ในภาคบริการร้านอาหารและโรงแรม ประมาณ 500 คน ภาคดูแลคนชราหรือผู้พิการ ประมาณ 200 คน และในภาคการก่อสร้างอีกประมาณ 50 คน
 
(RYT9, 31/7/2558)
 
สอท. แนะ ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมวัตถุดิบ รับคำสั่งซื้อช่วงเทศกาลปลายปี ที่จะปรับเพิ่มขึ้น 10%  มองไทยหลุดเทียร์ 3 ได้ปีหน้า ยัน ไม่กระทบการค้า การส่งออก
 
นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึง สถานการณ์คำสั่งซื้อสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ ร้อยละ 10 ตามกำลังซื้อที่จะเพิ่มเป็นประจำในช่วงปลายปี โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่จะเช้ามาในช่วงปลายเดือนกันยายน - ตุลาคม  จากอานิสงส์ของเทศกาลต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งวัตถุดิบและแรงงานในการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ ส่วนคำสั่งซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอ ยอดขายสินค้าจะเพิ่มขึ้นได้ ต้องมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยยอดขายสินค้าเกษตรและอาหาร จะเป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อของผู้บริโภค และแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจ
 
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาสินค้า เพราะต้นทุนการผลิตไม่ได้ปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ภาครัฐปรับรูปแบบการจำหน่ายสินค้าธงฟ้า โดยควบคุมราคาจำหน่ายสินค้าทุกชนิดตั้งแต่ต้นทาง จากปัจจุบันที่มีการลดราคาสินค้าเฉพาะบางชนิดทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเสียเปรียบ และอาจขายสินค้าไม่ได้จนถึงขั้นเลิกกิจการ
 
ส่วนกรณีที่ไทยยังถูกสหรัฐอเมริกาคงสถานะรายงานการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไว้ที่อันดับเทียร์ 3 ว่า จะไม่มีผลต่อการค้า เนื่องจาก ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคู่ค้าของผู้ประกอบการแต่ละราย และไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคการค้าการส่งออกในภาพรวม ซึ่งปัจจุบันคู่ค้าต่างประเทศยังคงสั่งซื้อสินค้าจากไทย เช่นเดิม ทั้งนี้ การพิจารณาจัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ เป็นการพิจารณาจากสถานการณ์ปีที่ผ่านมา แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องขณะนี้ ที่ได้ร่วมกันแก้ไขอย่างดีที่สุดแล้ว และจะมีผลในการปรับอันดับในปีหน้า ดังนั้นจึง มั่นใจว่า ไทยจะเลื่อนอันดับขึ้นเป็นเทียร์ 2 ได้ หรืออาจมีแนวโน้มถูกเลื่อนอันดับขึ้นเป็นเทียร์ 1 ได้ในปี 2559
 
(ไอเอ็นเอ็น, 1/8/2558)
 
แนะรัฐบาลถอดบทเรียนซัมซุงโคราช ยกเลิกฐานการผลิต รีบสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ
 
วันที่ 1 ส.ค.58 ดร.สัมพันธ์  ศิลปะนาฏ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ว่า ยังไม่ปรากฏสัญญาณน่าเป็นห่วง ของบรรดาโรงงานที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เป็นการปรับขึ้นลงตามกระแสของโลก โดยโรงงานซัมซุง จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 1.5 พันคน ขณะเดียวกันโรงงานมินิแบ จังหวัดลพบุรี ต้องการพนักงานเพิ่มกว่า 3 พันอัตรา ต้องทำความเข้าใจยุคเปิดเสรีทางการค้าบริษัทชื่อดังระดับโลก ที่มีฐานการผลิตในหลายประเทศ มีนโยบายลดต้นทุนพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพสินค้า โดยควบรวมกำลังซื้อ เดิมเคยซื้อชิ้นส่วน อุปกรณ์จากหลายโรงงาน จะยุบซื้อน้อยราย เพื่อเพิ่มยอดการผลิตให้กับโรงงานที่เป็นเครือข่าย สามารถลดต้นทุนต่อหน่วยและสามารถปรับปรุงคุณภาพสินค้าได้  รวมทั้งโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่รัฐบาลให้แรงจูงใจกับนักลงทุนต่างชาติ  
 
ฉะนั้นภาครัฐต้องประสานกับภาคเอกชน จัดประชุมหารือ เพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาโรงงานผลิตอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยถอดบทเรียนกรณีโรงงานซัมซุง มิฉะนั้นอาจมีโรงงานขนาดใหญ่ทยอยย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอีก
 
(มติชนออนไลน์, 1/8/2558)
 
ยืนยันเชลล์ไม่เลิกจ้างในไทย
 
กระทรวงแรงงานเผยตรวจสอบบริษัทเชลล์ในไทยหลังบริษัทแม่ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 6 พันคน ยืนยันไม่มีการเลิกจ้างในไทย
 
(เนชั่นทีวี, 1/8/2558)
 
แรงงานเสนอตั้งหน่วยวินิจฉัย เจ็บป่วยจากการทำงาน
 
ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย นางสมบุญ ศรีคำดอกแค เปิดเผยว่า เครือข่ายได้เสนอให้สปส.ปรับปรุงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลกรณีผู้ประกันตนบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เนื่องจากมองว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทน
 
โดยเมื่อมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานก็ให้สามารถไปใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ทันที ไม่ต้องไปใช้สิทธิเงินกองทุนประกันสังคมระหว่างรอแพทย์วินิจฉัยว่าเข้าข่ายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกันตนหลายคนที่ สปส.ให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม แต่แล้วในที่สุดก็ไม่สามารถย้อนกลับมาใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ ทำให้ผู้ประกันตนเสียสิทธิประโยชน์กองทุนทดแทนที่ควรได้รับ รวมทั้งสามารถยื่นใช้สิทธิได้ภายใน 1 วัน ไม่ต้องรอถึง 3 วัน
 
ส่วนกรณีแพทย์วินิจฉัยว่าเข้าข่ายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหรือไม่ซึ่งปัจจุบันกระบวนการวินิจฉัยใช้เวลานาน 8 เดือนถึง 6 ปี ก็ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่วินิจฉัยโดยเป็นองค์กรอิสระอยู่ภายใต้การกำกับของกองทุนเงินทดแทนและมีคณะกรรมการวินิจฉัยประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ผู้แทนกองทุนเงินทดแทน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) โดยใช้เวลาวินิจฉัยไม่ควรเกิน 3 เดือน และกรณีหยุดงานตามใบรับรองแพทย์ 1 ปี ควรได้รับเงินทดแทนจากปัจจุบันอยู่ที่60 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายเดือนให้เพิ่มเป็น100 เปอร์เซ็นต์
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์ติดตามการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ประกันตนที่บาดเจ็บจากการทำงานโดยหลังออกจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานแล้ว ควรมีการติดตามดูแลในระยะยาวทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอาชีพ ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ประกันตนออกจากศูนย์ฟื้นฟูแล้วขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง
 
(เนชั่นทีวี, 1/8/2558)
 
กพร.เปิดคอร์สโลจิสติกส์ ช่วย ป.ตรีที่ว่างงาน
 
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน มล.ปุณฑริก สมิติ บอกว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโครงการตอบสนองนโยบายการแก้ปัญหานักศึกษาปริญญาตรีที่จบใหม่แต่ไม่ได้ทำงานนั้น ซึ่งจากข้อมูลกรมการจัดหางาน พบว่า ที่ผ่านมามีนักศึกษาปริญญาตรีที่มาสมัครงานทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นคน บางส่วนได้งานทำไปแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ กพร.จะเข้าไปวางแผน เพื่อฝึกอาชีพให้ ซึ่งในวันที่ 3 สิงหาคมนี้จะเปิดตัวหลักสูตรใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฝึกระยะยาว และระยะสั้น อาทิ ธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าอบรมต้องเข้ารับการทดสอบภาษาต่างประเทศและความรู้ทั่วไป จากสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศไทย เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในระยะเวลา 4 เดือน ที่จะได้ฝึกงานจากสถานที่จริง และได้รับการบรรจุงานหลังฝึกจบ กว่าร้อยละ 90 รวมทั้งหลักสูตรในการเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ เช่น ออโต้แคต ในการเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์กราฟฟิค ที่ได้ให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ เปิดหลักสูตรรองรับในพื้นที่
 
ส่วนหลักสูตรระยะสั้น เช่น การทำอาหาร และจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยจะทยอยเปิดหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ซึงจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากผลตอบรับดีจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
 
(เนชั่นทีวี, 1/8/2558)
 
นายกฯกำชับ 3 ธนาคารรัฐ เตรียมรับ กอช. เลื่อนเปิดโครงการ จาก 18 ส.ค. เป็น 20 ส.ค. หวังประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง 
 
วันที่ 2 สิงหาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ติดตามและกำชับให้การดำเนินโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งดำนินการผ่าน ธนาคารรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ให้มีความพร้อมมากที่สุด ทั้งระบบการให้บริการ การให้คำปรึกษาของเจ้าหน้าที่ และทดสอบระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และพร้อมให้บริการในวันเปิดโครงการ
 
ทั้งนี้ คาดว่าวันเปิดโครงการจะเลื่อนจากกำหนดเดิม คือวันที่ 18 ส.ค. เป็นวันที่ 20 ส.ค. เพื่อให้มีช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากที่สุด สามารถสมัครได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยใช้เอกสารหลักฐานเพียงบัตรประจำประชาชนใบเดียว เพื่อให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ ได้สร้างระบบการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของตนเอง โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้ส่วนหนึ่ง ปีละไม่เกิน 13,200 บาท เมื่อออมจนเกษียณอายุ 60 ปี กองทุนจะจ่ายเงินบำนาญให้ทุกเดือนตลอดชีพ
 
(ไทยรัฐ, 2/8/2558)
 
ลูกเรือประมงเข้าชี้ตัวผู้ต้องหาหลอกไปค้าแรงงานผิดกม.ที่อินโดนีเซีย
 
วันนี้ (3 ส.ค. 58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาลูกเรือประมง 39 คน ที่ถูกบังคับค้าแรงงานประมงผิดกฎหมายในประเทศอินโดนีเซีย เข้าพบพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์(บก.ปคม.) เพื่อชี้ตัวผู้ต้องหา หลังตำรวจสามารถจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
พล.ต.อ.เอก ระบุว่า หลังตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับเครือข่ายค้าแรงงานประมงผิดกฎหมายทั้งหมด 7 หมาย ผู้ต้องหา 5 คน ซึ่งสามารถจับกุมได้ 4 คน ถูกควบคุมตัวที่ประเทศไทย 3 คน เป็นตัวการใหญ่ของเครือข่าย ทำหน้าที่จัดหาแรงงานประมง เป็นเจ้าของเรือ และนายทุน ขณะที่มีผู้ต้องหาที่ควบคุมตัวที่ประเทศอินโดนีเซีย 1 คน ทำหน้าที่เป็นไต้ก๋งเรือ ซึ่งทั้งหมดมีความผิดฐานกระทำการประมงโดยผิดกฎหมาย
 
ขณะนี้ตำรวจยังอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พร้อมสรุปสำนวนคดีส่งพนักงานอัยการฟ้องศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ ภายใน 30 วัน
 
(TNN, 3/8/2558)
 
นักวิชาการคาดปรับค่าแรงขั้นต่ำปีหน้าจะส่งผลดีต่อศก.-การบริโภค-การลงทุนในปท.
 
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ให้ความเห็นสนับสนุนการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้าว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนในประเทศ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ ก็จะมีผลไปต่อแรงงานนอกระบบสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย การกำหนดนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้เกิดดุลยภาพระหว่าง “ความสามารถในการแข่งขัน" และ “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ"
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความสามารถในการจ่ายของนายจ้างก็ไม่เท่ากันอีกด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ต้องอาศัยทั้ง “ลูกจ้าง" และ “นายจ้าง" ในการขับเคลื่อนการผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่มี “แรงงาน" ย่อมไม่มีสิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ในโลกใบนี้เกิดขึ้น เพราะสิ่งต่างๆเกิดขึ้นด้วยการสร้างสรรค์จากแรงงานทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน หากปราศจากซึ่ง “ผู้ประกอบการ" ที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ เศรษฐกิจย่อมไม่พัฒนาเติบโต “ลูกจ้าง" และ “นายจ้าง" จึงเปรียบเหมือน “แขนขวา" และ “แขนซ้าย" ของระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มค่าจ้างโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งจ่ายให้แรงงานแรกเข้าไม่มีทักษะ) ก็ต้องพิจารณาหลายมิติ ทั้ง ความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การคุ้มครองแรงงาน ค่าตอบแทนฝีมือการทำงาน ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ การปรับฐานค่าจ้างให้เป็นธรรม ต้องทำในระยะที่เศรษฐกิจเติบโตดีและอัตราการว่างงานต่ำ การผลักดันให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดี
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจซบเซาจึงต้องดูผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กด้วย ขณะนี้ได้มีการดำเนินการผ่านอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประจำจังหวัดปรากฏว่า อาจไม่มีการขึ้นค่าจ้างในหลายพื้นที่ซึ่งตนเห็นว่าควรปรับขึ้นอย่างน้อย 12-20 บาทเป็นค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงค่อยดูอุปสงค์อุปทานตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่
 
พิจารณาดูค่าครองชีพ พิจารณาความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑลเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เมืองศูนย์กลางท่องเที่ยว ควรจ่ายตามที่ฝ่ายองค์กรลูกจ้าง (คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน) ร้องขอที่ 360 บาท ตนเสนอให้พบกันครึ่งทางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสองระดับ ระดับแรก เป็นค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำพื้นฐาน ปรับขึ้น 12-20 บาททั่วประเทศเท่ากัน หลังจากนั้นมาดูตามพื้นที่ต่างๆว่าควรปรับเพิ่มให้อีกเท่าไหร่จากค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออมบ้าง มีเงินดูแลครอบครับบ้าง จึงเสนอให้ปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำในช่วงระหว่าง 12-60 บาทเนื่องจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาเกือบ 3 ปีแล้ว ค่าจ้างลอยตัวไม่ควรใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำแต่ควรใช้กับระบบค่าจ้างทั่วไป ซึ่งระบบค่าจ้างทั่วไปขึ้นกับกลไกตลาดเป็นแบบลอยตัวอยู่แล้ว หากนำระบบลอยตัวมาใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ระบบค่าจ้างลอยตัวที่ต้องการให้นายจ้างแข่งขันกันเสนอราคาและลูกจ้างจะสามารถเลือกนายจ้างที่ตนเองพอใจทำงานด้วยเป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานตลาดแรงงานเสรีซึ่งเหมาะสมกับระบบการกำหนดค่าจ้างทั่วไป ไม่ใช่ค่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะหลักคิดของระบบค่าแรงขั้นต่ำต้องการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครับ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานอย่างเดียว อีกประการหนึ่งลูกจ้างมีอำนาจต่อรองน้อยและอัตราการรวมตัวของลูกจ้างเป็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยต่ำมาเพียงแค่ 1.5% ของกำลังแรงงาน สะท้อน ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
 
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างจากการวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า แม้นมีสถานการณ์เลิกจ้างเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมช่วง 2-3
 
เดือนที่ผ่านมาอันเป็นผลจากอัตราการขยายตัวติดลบภาคส่งออก แต่แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะยังคงหางานใหม่ทำได้เนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมยังต่ำ และคาดว่าการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำปีหน้าหากปรับในระดับที่นายจ้างมีศักยภาพจ่ายได้จะไม่มีผลต่อการจ้างงานในระยะสั้นและไม่มีผลกระทบให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ประเด็นเรื่องการเลิกจ้างหรือว่างงานจะเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซามากกว่า ในระยะยาว โครงสร้างภาคการผลิตไทยจะใช้แรงงานลดลง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นลดลง จะมีการใช้เทคโนโลยี ระบบไอทีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ทำให้ขีดความสามารถของกิจการดีขึ้นและต้องปรับเปลี่ยนคนงานให้เป็น คนงานที่มีความรู้สูงขึ้น (Knowledge Worker) มีผลิตภาพสูงขึ้น (Higher Productivity) มีมาตรฐานแรงงานดีขึ้น (Better Labour Standard) และ คุณภาพชีวิตดีขึ้น (Better Quality of Life)
 
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าติดตามปัญหาการเลิกจ้างมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องประดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เพราะคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด ส่วนภาพรวมการเลิกจ้างพบสถานการณ์เลิกจ้างยังไม่ถึงเกิดวิกฤติเลิกจ้างแต่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอในเดือนมิถุนายน มีการว่างงานขยายตัวร้อยละ 23.27 และการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 135.19 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายชะลอตัวตามการผลิตในกลุ่มปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ และผ้าผืน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเวียดนามลดการนำเข้าผ้าผืนจากไทยอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 28.24 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
 
อย่างไรก็ตามแม้นมีการเลิกจ้างในอัตราสูง แต่ก็มีการขยายตัวของการจ้างด้วยทำให้โดยภาพรวมสามารถดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้ เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดอาเซียนบางประเทศอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 115,195 คน จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์การเลิกจ้างโดยภาพรวม ณ. เดือนมิถุนายน พบว่า มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 6,340 คน(มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 9.86%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตรา 5,771 คน ดังนั้น ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงและถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการ เลิกจ้างมีอัตราการเติบโต 9.86% ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างก็สามารถหางานได้ในเวลาไม่นานนักเนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง 2%
 
นายอนุสรณ์ ยังได้วิเคราะห์ถึงกรณีที่ไทยยังถูกจัดชั้นเรื่องปัญหาเรื่องแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier3 โดยสหรัฐอเมริกา ว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศนำมาสู่การไม่สั่งสินค้าและคว่ำบาตรสินค้าไทยได้ จึงต้องเร่งชี้แจงให้ดี อาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบมากกว่า 3% ฉะนั้นต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล การรณรงค์ตอบโต้โดยการไม่ซื้อสินค้าสหรัฐอเมริกาจากกรณีดังกล่าวจะทำให้ปัญหาซับซ้อนและลุกลามมากขึ้นและเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ตรงประเด็น
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้หากสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในปีหน้าได้ คาดว่าในปีหน้าประเทศไทยของเราน่าจะถูกยกอันดับให้ดีขึ้นอันเป็นผลบวกต่อสินค้าส่งออกของไทยและเศรษฐกิจโดยภาพรวม
 
(RYT9, 2/8/2558)
 
ครุศาสตร์จุฬาฯชี้ไทยเน้นผลิตครูเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ
 
นายบัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู อาทิ คุรุสภา ได้ประชุมแนวทางบริหารการศึกษากับนักการศึกษาระดับนานาชาติ  ได้แก่ เครือข่ายโครงการความร่วมมือวิจัยการเรียนรู้ สาขาการศึกษา คณะพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และผู้เชี่ยวชาญในทีมประเมินและพัฒนาสถาบันครุศึกษา ของสิงคโปร์ พบว่า การผลิตครูของทั้ง 2 ประเทศ  มีความเชื่อมโยงตั้งแต่สถาบันการผลิตครูในระดับอุดมศึกษา สถาบันใช้ครูหรือการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และผู้ประเมินครู แต่การผลิตครูของไทยกลับทำงานแยกส่วนกัน สถาบันผลิตครูทำหน้าผลิตครูออกไปโดยคำนึงแต่ปริมาณไม่ได้มองเรื่องคุณภาพ ขณะที่สถาบันผู้ใช้ครู ไม่ได้กำหนดตัวเลขความต้องการครูในแต่ละรายวิชาอย่างชัดเจน
 
ส่วนผู้ ประเมินใช้รูปแบบการประเมินแบบเดียวแต่ใช้กับครูที่ผลิตออกมาจากสถาบันการ ผลิตครูที่แตกต่างกันทำให้ตอนนี้การพัฒนาครูในประเทศไทยจึงไม่ประสบความ สำเร็จ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 3/8/2558)
 
แรงงานทาสประมงร้องขอค่าจ้าง
 
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาแรงงานประมง จำนวน 39 คน ที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย เข้ายื่นหนังสือถึงนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนหลังไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน และนายจ้างค้างจ่าย
 
โดยนางปวีณา ระบุว่า แรงงานเหล่านี้ ถูกบังคับให้ทำงานมากกว่าวันละ 20 ชั่วโมง และถูกทรมานต่างๆ นานา หากไม่สบายก็จะถูกทำร้าย บางรายก็เสียชีวิต รวมถึงบางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ จึงพาแรงงานทั้งหมดมายื่นหนังสือร้องขอ ให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าจ้าง และเอาผิดกับนายจ้างด้วย
 
ด้าน นายพีรพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน จัดเจ้าหน้าที่ร่วมเดินทางไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา พร้อมทั้งตรวจเรือประมงบางส่วนที่เกาะอัมบน และเกาะเบนจิน่า ประเทศอินโดนีเซีย แล้วทั้งสิ้น 897 คน
 
โดยได้รับคำร้องจากแรงงานกว่า 154 คน สามารถช่วยเหลือแรงงานให้ได้สิทธิประโยชน์ 100 คน เป็นเงินกว่า 8 ล้าน 8 แสนบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งแรงงานที่ยังไม่ยื่นคำร้องนั้น เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงให้เข้าใจสิทธิตามกฎหมาย และช่องทางการยื่นคำร้องให้ทราบแล้ว
 
(ไทยรัฐ, 3/8/2558)
 
ลูกจ้างเฮ! สปสช.ให้สิทธิคลอดลูกไม่จำกัดจำนวนครั้ง
 
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบขยายสิทธิในงบรายหัว ปี 2559 ที่จะเริ่ม 1 ตุลาคม 2558 จำนวน 3,028.94 บาท แบ่งเป็น 8 รายการ ผู้ป่วยนอก 1,103.92 บาท ผู้ป่วยใน 1,060.14 บาท และครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ แพทย์แผนไทย และบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน และกันเงินไว้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือตามมาตรา 41 จากการรักษาพยาบาล แต่สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น คือการขยายสิทธิการคลอดบุตร จากเดิม 2 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง
 
ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับอัตราประชากรไทยที่ลดลงเฉลี่ยคลอดต่อปี 800,000 ครั้งต่อปี และในสวนของการส่งเสริมสุขภาพได้มีการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอจากเดิมแบบหยดให้มาเป็นชนิดฉีด พร้อมขยายคลินิกปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มอีก 400 แห่ง ส่วนงบค่าเสื่อมร้อยละ 10 ของงบประมาณ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท และงบผู้สูงอายุ 600 ล้านบาท ยังต้องรอการทำหนังสือทวงถามมติจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 กันยายนนี้
 
(โลกวันนี้, 3/8/2558)
 
สมาคมลูกจ้างประจำสพฐ. ทั่วประเทศ วอนขอค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ
 
นายสมชาย สุดลอย นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยถึงการเรียกร้องของลูกจ้างส่วนราชการ สพฐ.ในงานการประชุมสัมมนาที่เป็นการประชุมร่วมกันของสมาชิกลูกจ้างประจำทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา อาชีวศึกษา กระทรวงสาธารณสุข และการเกษตรฯ และส่วนราชการอื่นๆ ทั้ง 77 จังหวัดรวม 1,100 คน ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์โรงแรมเทพนคร จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2558โดยลูกจ้างประจำได้นำเสนอข้อเรียกร้องถึงสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ อาทิ เรื่องการเกษียณราชการแล้วลูกจ้างที่จะได้รับบำเหน็จรายเดือนว่ายังไม่ได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาล และลูกจ้างที่เกษียณอายุราชการแต่มีอายุราชการไม่ครบ 25 ปี ขาดสิทธิ์ในการ ได้รับบำเหน็จหรือบำเหน็จหลังจากทำงานเกิน 10 ปี และประการสำคัญก็คือ ลูกจ้างประจำผู้รับบำเหน็จรายเดือน สิทธิที่เขาพึงมีก่อนที่จะเกษียณสามารถเบิกค่ารักษาภรรยาและบุตรได้ แต่เมื่อลูกจ้างประจำรับบำเหน็จรายเดือนไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว โดยถูกตัดออกไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ลูกจ้างประจำเมื่อเกษียณอายุราชการออกไปควรจะต้องมีสิทธิในค่ารักษาพยาบาลไว้ดูแลเป็นการดำรงชีพอยู่ในสังคมได้
 
นายพรชัย นาคพล ลูกจ้างประจำ ตัวแทนภาคใต้ กล่าวว่า ลูกจ้างประจำที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ทั้งประเทศ ก็เพื่อต้องการหาแนวทางการพัฒนาลูกจ้างประจำไปในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะด้านค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับมันต่ำกว่ารายได้ที่พึงได้รับ พร้อมกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ควรจะได้รับจากหลังเกษียณอายุราชการ จึงอยากจะให้ผู้ใหญ่มาช่วยหาทางช่วยเหลือลูกจ้างที่ทำงานให้กับทางราชการมาหลายปีหลังเกษียณได้สวัสดิการดีกว่าที่เป็นอยู่
 
นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการลูกจ้างส่วนราชการในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งทั้งระบบเพื่อพัฒนาลูกจ้างส่วนราชการให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ พร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) และพัฒนาวิธีการทำงานเป็นทีมพร้อมการบริการที่ดีแก่ประชาชนผู้รับการบริการ (Service Mind) เพื่อเสนอให้กับทางหน่วยงานผู้มีอำนาจได้รับฟัง โดยตนอยากแนะนำว่าให้ทางสมาคมได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นโดยสมาชิกได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น คัดกรองข้อคิดเห็นเสนอผ่านสมาคม ก็จะทำให้มีพลังและทำให้ผู้บริหารในแต่ละระดับมาสังเคราะห์ และร่วมกันพิจารณาเพราะว่าไม่ใช่ลูกจ้างแค่หน่วยงานเดียวหากร่วมกันคิดร่วมกันทำก็จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนได้ทั้งประเทศ ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตการงานครอบครัวที่ดีด้วย หากผู้บังคับบัญชาให้การสนับสนุนลูกจ้างประจำให้มีค่าครองชีพที่ดีขึ้นก็จะส่งผลถึงคุณภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย พร้อมสู่การบริการประชาชนที่ดีขึ้นด้วย
 
(แนวหน้า, 3/8/2558)
 
กมธ.ด้านแรงงาน เผย สปช.เห็นชอบแผนปฏิรูปแรงงาน 3 ด้าน เน้นปฏิรูปแรงงานข้ามชาติ - จัดตั้งธนาคารแรงงาน
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ส.ค.ที่รัฐสภา พล.ท. เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน พร้อมคณะ ร่วมแถลงถึงผลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 3 ส.ค.ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบวาระปฏิรูปที่ 37 แผนการปฏิรูปการแรงงาน ทั้ง 3 ด้านดังนี้ 1.การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของแรงงานไทย 2.การปฏิรูปการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ และ 3.การจัดตั้งธนาคารแรงงานและการจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน ซึ่งการปฏิรูปการแรงงานทั้ง3 ด้านมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างกลไกลหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ โดยมีการบริหารจัดการ คนงาน เงินอย่างสมดุลเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ใช้แรงงานให้เป็นผู้มีศักยภาพทางอาชีพโดยอาศัยการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานเชิงรุกอย่างเป็นระบบเป็นสำคัญ
 
พล.ท. เดชา กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติเป็นอีกประเด็นหลักที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้แรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เพราะความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ โดยจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรวบรวมข้อมูลแรงงานข้ามชาติแบบบูรณาการและนำข้อมูลกลางเพื่อเรียกดู ประมวลผลและใช้ประโยชน์โดยเฉพาะการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ในเชิกรุกได้
 
"ด้านธนาคารแรงงานถูกเสนอให้จัดตั้งขึ้นเป็นธนาคารเฉพาะกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงิน ทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบขณะเดียวกันก็เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมการออมการวินัยทางการเงิน และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้พ้นจากวงจรความยากจน อีกทั้งเป็นเปิดโอกาสผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเข้ามาเป็นเจ้าของผ่านการซื้อหุ้นของธนาคารได้ รวมทั้งมีการบริหารจัดการปัญหาแรงงานเชิงรุกโดยจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาระบบสารสนเทศด้านแรงงานเข้าด้วยกัน ซึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักดูแลฐานข้อมูลแรงงานของประเทศ"ปธ.กมธ.ปฏิรูปด้านแรงงานกล่าว
 
(บ้านเมือง, 4/8/2558)
 
เผยผลประชาพิจารณ์นิคมฯ ลำพูน 2 หวั่นปัญหาขยะ-แหล่งน้ำ
 
(4 ส.ค.) ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 จัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากโครงการมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคบางด้านที่แตกต่างไปจากข้อมูลเดิมที่เคยเสนอในครั้งที่ 2 รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับฟังและสอบถามในรายละเอียดอีกครั้ง โดยภายในงานมีประชาชนเข้ามาร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
       
นายนราพจน์ ทิวถนอม ผู้จัดการบริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 2 ที่ผ่านมายังมีข้อบกพร่องในรายละเอียดของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รวมทั้งสาธารณูปโภคบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป บริษัท ซับเบิร์บ เอสเต็ท จำกัด และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมจึงต้องนำรายละเอียดดังกล่าวมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมมาพิจารณาและปรับปรุงในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
       
นายนราพจน์กล่าวต่อไปว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 จะช่วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเงินในระดับประเทศ, ภูมิภาค, จังหวัด และครัวเรือน ให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเน้นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร, อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
       
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ พื้นที่โครงการที่จะได้รับผลกระทบจากการปล่อยมลพิษของโรงงาน และระบบการระบายน้ำ เพราะบริเวณโดยรอบส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก กรณีที่มีโรงงานเข้ามาอาจจะมีการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอยากให้ทางโครงการพิจารณาถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณรอบข้างเป็นหลัก นอกจากนี้ยังแสดงความห่วงใยในกรณีระบบการกำจัดของโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องมีความชัดเจนว่าจะไม่มีการลักลอบนำออกมาทิ้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา
       
อนึ่ง นิคมอุตสาหกรรมลำพูนแห่งที่ 2 อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 533 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่) อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 300 เมตร และห่างจากตัวเมืองลำพูน 6 กิโลเมตร จำนวน 352 ไร่ 3 งาน 19 ตารางวา ซึ่งหากนิคมอุตสาหกรรมเปิดดำเนินการได้คาดว่าจะสามารถรองรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนได้ราว 20-25 บริษัท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ราว 10,000 คน 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4/8/2558)
 
มิตซูบิชิยันไม่ลดธุรกิจอาเซียน วางไทยระดับโลก-อินโดฯเสริม
 
นายเทะสึโระ อาอิคาวะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ถึงตลาดรถยนต์ไทยจะชะลอตัวมากในปัจจุบัน แต่ยืนยันไทยเป็นฐานการผลิตระดับโลกของมิตซูบิชิ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรืออีโคคาร์ ปิกอัพ และรถอเนกประสงค์แบบพีพีวีอย่างรุ่นปาเจโร สปอร์ต ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ไทยล่าสุด นอกจากนี้มิตซูบิชิยังมีการลงทุนตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย เพื่อรองรับการผลิตรถอเนกประสงค์แบบเอ็มพีวี และรถเพื่อการพาณิชย์ สำหรับรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกบางส่วนในอาเซียน
       
“แม้มิตซูบิชิจะลดขนาดธุรกิจในอเมริกาเหนือ ด้วยการปิดโรงงานของมิตซูบิชิที่สหรัฐอเมริกา แต่ยืนยันจะไม่มีการลดขนาดธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนแน่นอน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของมิตซูบิชิ ดังจะเห็นจากการลงทุนสนามทดสอบมูลค่ากว่า 500 ล้านบาทที่เพิ่งเปิดไป หรือล่าสุดได้แนะนำรถรุ่นใหม่ มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต ที่ผลิตจากโรงงานในไทยเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งบทบาทของไทยจะสำคัญในระดับสากล จากการเป็นฐานการผลิตส่งออกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ส่วนอินโดนีเซียจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของมิตซูบิชิในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมองทิศทางตลาดอาเซียนมีศักยภาพและจะขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต”
       
ทั้งนี้โรงงานแห่งใหม่ของมิตซูบิชิในไทยอินโดนีเซีย จะเริ่มทำการผลิตรถอเนกประสงค์รุ่นปาเจโร่ สปอร์ต ที่เพิ่งแนะนำสู่ตลาดไทยครั้งแรกในโลกช่วงเดือนเมษายน 2560 หลังจากนั้นปลายปีเดียวกันจึงจะเริ่มผลิตรถอเนกประสงค์แบบพีวีขนาดเล็ก และในปี 2561 จะมีการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งรถเอ็มพีวีเล็กที่ผลิตจากโรงงานอินโดนีเซียจะส่งออกมาขายในไทยด้วย ส่วนสาเหตุที่ต้องผลิตรุ่นปาเจโร่ สปอร์ตเหมือนกับไทย เป็นเงื่อนไขการจำหน่ายและลงทุนของทางประเทศอินโดนีเซียกำหนด โดยกำลังการผลิตที่โรงงานอินโดนีเซียอยู่ที่ปีละประมาณ 1.6 แสนคัน แบ่งเป็นทำตลาดในประเทศกว่า 80,000 คัน ที่เหลืออีกครึ่งเพื่อการส่งออก 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4/8/2558)
 
นายกรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิก กอช.คนแรก
 
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สามารถสรุปรายละเอียดการเริ่มงานกับนายสมพร จิตเป็นธม ในตำแหน่งเลขาธิการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจึงได้มอบนโยบายให้เลขาธิการ กอช. เร่งดำเนินการรับสมัครสมาชิก โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์จะมารับสมัครสมาชิกคนแรกของ กอช. ที่ทำเนียบรัฐบาล
 
“ผมอยากย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างวินัยการออมของคนไทย แม้ว่าการออมเงินกับ กอช. จะเป็นการออมเพื่อผลระยะยาว แต่หากเราไม่สร้างวินัยการออมในวันนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถพัฒนาให้เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่สำคัญ วินัยการออม ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าหากคนไทยรักการออมและมีวินัยการออมแล้ว คนไทยภายหลังการเกษียณแล้ว จะไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน” นายวิสุทธิ์ กล่าว
 
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ กอช. เร่งประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวงการคลัง ได้แก่ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์หรือ ธกส. ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้จัดทำระบบการรับสมาชิกผ่านเครือข่ายของธนาคารเหล่านี้
 
“ขณะนี้ ทั้ง 3 ธนาคาร ได้รายงานให้ผมทราบแล้วว่าทุกธนาคารมีความพร้อมในการจัดทำระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ กอช. ในวันเปิดรับสมาชิกครั้งแรก และคนไทยทุกคนที่มีคุณสมบัติในการสมัครสมาชิก กอช. สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ธนาคารเพื่อสมัครเป็นสมาชิกได้” นายรังสรรค์ กล่าว
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กอช. มีความพร้อมที่จะเปิดรับสมัครสมาชิก โดยจะมีพิธีเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ทำเนียบรัฐบาล โดย กอช. ได้เรียนเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดรับสมัครสมาชิกคนแรกของ กอช.
 
กอช. ถือเป็นหน่วยงานล่าสุดที่รัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ ได้ผลักดันจนสามารถเปิดรับสมัครสมาชิกได้ ซึ่งภารกิจสำคัญของ กอช. คือการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศที่มีอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินกรณีชราภาพ ให้สามารถใช้สวัสดิการรับเงินบำนาญผ่าน กอช. ได้ โดยผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปี แต่ปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับ ได้อนุญาตให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ทำให้ในช่วงปีแรกผู้สนใจที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครสมาชิกได้
 
นายสมพร กล่าวว่า ขณะนี้ระบบการรับสมัครสมาชิกมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมงานเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือ ธกส. ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ทั้ง 3 ธนาคารนี้จะเป็นเครือข่ายรับสมัครสมาชิกทั่วประเทศ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่สำนักงานสาขาของธนาคารทั้ง 3 ธนาคาร โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนเท่านั้น ผู้ที่ออมเร็วและออมในอัตราสูงก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท หากเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยยังชีพรวม 7,000 บาทต่อเดือน แต่หากเริ่มอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,000 บาท
 
ส่วนผู้ที่มีเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 บาท เมื่ออายุ 60 ปีจะได้เพียง 421 บาท ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพ โดย กอช.จะใช้จ่ายเป็นเงินดำรงชีพแทนในอัตราเดือนละ 600 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลเดือนละ 600 บาท รวมรับเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการดำรงชีพในวัยชราได้พอสมควร
 
“ปีนี้คาดว่าจะสามารถรับสมัครสมาชิกได้ประมาณ 100,000 คนและสิ้นปี พ.ศ. 2559 เพิ่มเป็น 1,500,000 คน โดย กอช. คาดว่าจะรับสมัครสมาชิก กอช. ได้เท่ากับเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลตั้งไว้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 คน” นายสมพร กล่าว
 
จากข้อมูลสถิติในปี 2555 แรงงานไทยจำนวน 24.6 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมดจำนวน 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน อุบัติเหตุ และเกษียณอายุ เนื่องจากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้ขาดความมั่นคงทางรายได้ ยามชราภาพจากแหล่งใด นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาลเท่านั้น
 
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชากรสูงอายุ และมีอัตราเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง อันเนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และอัตราการเกิดลดลง ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 15 หรือ 10.5 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุไทยกว่าครึ่งหนึ่งราว 2 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 400 – 3,300 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) พึ่งพิงรายได้จากบุตรหลาน และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 10 ที่พึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญที่ได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 31 ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุร้อยละ 42 มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งสังคมต้องดูแลและรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต
 
(โลกวันนี้, 5/8/2558)
 
พม.เยียวยาแรงงานประมงอินโดฯ
 
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ยังมีแรงงานเดินทางกลับจากประเทศรัฐอินโดนีเซีย อย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ   กระทรวงแรงงาน  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวง พม.
 
ทั้งนี้ กระทรวงพม. ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกผู้เสียหายโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2557 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2558 รวมจำนวนทั้งหมด 940 คน พบว่า เข้าข่ายการค้ามนุษย์ 51 คน ไม่เข้าข่าย 877 คน และมีหมายจับคดีอาญา จำนวน 12 คน
 
ส่วนการรับลูกเรือประมง ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 45 มีลูกเรือประมงจำนวน 35 คน ทางกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที โดยมีทีมสหวิชาชีพ ร่วมกันรับลูกเรือประมงไทยที่กลับจากประเทศอินโดนีเซีย ก่อนนำตัวไปคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งผลจากการคัดแยก พบว่าทั้งหมดไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์
 
กระทรวงพม. ได้ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น เช่น ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าอาหารระหว่างเดินทาง และประสานด้านการดำเนินคดี พร้อมทั้งประสานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ดำเนินการเรียกร้องค่าจ้างค่าแรงที่พึงได้รับอย่างเหมาะสม ในกรณีที่คัดแยกฯแล้วลูกเรือที่อาจจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ หรือเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ลูกเรือทราบถึงสิทธิในการเข้ารับการคุ้มครองชั่วคราวแล้ว
 
(ไทยรัฐ, 5/8/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท