ทำไมต้องรอซีไรต์เพียงแค่เล่มเดียว? 2 สำนักพิมพ์จับมือชวนอ่าน นวนิยาย 18 เล่ม รอบ Long List

แพรวสำนักพิมพ์ จับมือ มติชน จัดงาน “อ่านก่อนซีไรต์”... 18 นวนิยาย Long List ทำไมต้องรอแค่เล่มเดียว พบปะ พูดคุย 10 นักเขียน บอกเล่าแรงบันดาลใจ ทำไมถึงเขียนเล่มนี้...

5 ส.ค. 58 - แพรวสำนักพิมพ์และสำนักพิมพ์มติชน ร่วมกันจัดงานเสวนา ‘“อ่านก่อนซีไรต์” … 18  นวนิยาย Long list ทำไมต้องรออ่านแค่เล่มเดียว’ ณ ร้านบีทูเอส เซ็นทรัลพระราม9 เพื่อชักชวนให้คนอ่าน อ่านหนังสือที่เข้ารอบ Long list รางวัลซีไรต์ประจำปี 2558  มากกว่าที่จะรออ่านเล่มชนะเลิศแค่เล่มเดียว เนื่องจากเล็งเห็นว่ารางวัลซีไรต์เป็นรางวัลวรรณกรรมอันดับหนึ่งของประเทศ หนังสือที่เข้าชิงมีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือต่อผู้อ่าน

ในงานมีนักเขียนผู้เข้ารอบ Long list รางวัลซีไรต์ปี 2558 เข้าร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายของตัวเอง จำนวน 10 คน คือ ปราบต์, นิธิ นิธิวีรกุล, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, ผาด พาสิกรณ์, สุวิชานนท์ รัตนภิมล, เงาจันทร์, รัตนชัย มานะบุตร, วีรพร นิติประภา, วิภาส ศรีทอง, จเด็จ กำจรเดช จากนักเขียนผู้เข้าชิงรางวัลซีไรต์ที่เข้ารอบ Long list ทั้งหมด 16 คน

แนะนำนิยาย -  บอกเล่าแรงบันดาลใจ...ทำไมนักเขียนจึงหยิบประเด็นนี้มาเล่า?

นิธิ เจ้าของนวนิยายเรื่อง ‘ดังนั้นจึงสิ้นสลาย’ กล่าวว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 เป็นนวนิยายที่พูดเกี่ยวกับสังคม และครอบครัวที่มีเรื่องราวการเมืองมากระทบตลอดเวลา นิธิกล่าวว่า เขาไม่สามารถเขียนนิยายโดยไม่ยึดโยงเรื่อยราวของตัวเองได้ นิยายเล่มนี้จึงเล่าผ่านตัวละครตัวหนึ่งซึ่งเขาได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเอง และใส่เรื่องราวของการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2490, 2519, 2549 ไล่มากระทั่งปัจจุบัน นิธิมองว่าการเมืองและเรื่องราวส่วนตัวเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ โดยนิธิกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาหวังและต้องการให้นิยายเรื่องนี้ในแง่หนึ่ง เป็นสาส์นที่ส่งไปให้คนที่เห็นด้วยกับรัฐประหารได้อ่านความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง

00000

สุวิชานนท์ ผู้เขียน ‘พันธุ์ไร้ราก’ จับประเด็นความไร้รากของคนในสังคมมาเขียนเป็นเรื่องราว โดยพยายามสื่อสารเพื่อบอกว่า ในปัจจุบัน ดูราวกับว่า สังคมเมืองขยายออกไปจนไร้พรมแดน จนเราไม่รู้ว่าชนบทที่แท้จริงอยู่ไหน เพราะชนบทถูกผลักออกไปไกลออกไปเรื่อยๆ

‘พันธุ์ไร้ราก’ พูดถึงการอพยพของคนหลายกลุ่ม คนเมืองที่อพยพไปอยู่ชนบท เพื่อต้องการสูดอากาศที่บริสุทธิ์ อยากปลูกพืช ทำไร่ ฝันหวานถึงภาพชีวิตสงบสุข โดยสุวิชานนท์กล่าวนิยามเสริมว่าสิ่งเหล่านี้ก็เหมือนเพียงแค่เอาชีวิตไปแขวนไว้ ในขณะเดียวกันในชนบทนั้นก็มีกลุ่มคนที่อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นคนที่อพยพมาเหมือนกัน สุวิชานนท์บอกว่าในจุดนี้ เหมือนกับไม่รู้ใครมาจากไหน ไม่รู่ใครพันธุ์แท้ ทุกคนกลายเป็นคนไร้ราก ต้องเดินทาง ย้ายไปย้ายมา ทุกคนพยายามแสวงหารากของตน พยายามหาชีวิตดั้งเดิม ซึ่งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง

00000

วิภาส นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ซึ่งในปีนี้มีหนังสือถึง 2 เล่มที่เข้ารอบ Long list คือ ‘หมาหัวคน’ และ ‘หลงลบลืมสูญ’

วิภาส เริ่มต้นพูดถึง ‘หมาหัวคน’ ว่าเป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุดแล้วเท่าที่เคยเขียนมา โดยใช้เวลาเขียนถึง 4 ปีเศษ เป็นเรื่องราวของตัวละครที่วิวัฒนาการจากสัตว์กลายเป็นคน วิภาสชี้ว่าจุดที่ยากคือต้องเขียนให้สุนัขเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ สิ่งสำคัญคือต้องเขียนให้น่าเชื่อถือให้ได้ เป็นความท้าทายในการเขียน

นวนิยายเรื่อง ‘หมาหัวคน’ วิภาสกล่าวว่าเขาเขียนโดยไม่รู้ตอนจบ ไม่แน่ใจว่าจะให้นิยายจบลงแบบไหน แต่ไม่ได้เขียนโดยด้นเขียนไปเรื่อยๆ แต่เป็นเพราะกระบวนการสื่อสารกับสังคมมันยาก

ส่วน  ‘หลงลบลืมสูญ’ วิภาสเล่าว่าเป็นนิยายที่เขียนโดยใส่เรื่องราวชีวิตสมัยเรียนแพทย์ฯ เข้าไปกับประเด็นการเมือง จุดประสงค์ที่เขียนเพราะว่าเขารู้สึกว่ามีเหยื่อทางการเมืองมากมายที่ถูกมองข้ามและไม่ได้รับความยุติธรรม เช่น ภาพของคนตอน ตุลา‘19 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ วิภาสบอกว่า เขารู้สึกว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรกับมัน จึงอยากจะจัดการกับความทรงจำตรงนี้

00000

‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ เป็นนวนิยายรักสามเส้าเชิงสัญลักษณ์ ของนักเขียนหญิง วีรพร ซึ่งพิธีกรกล่าวว่าเป็นนิยายที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานี้ วีรพรกล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้เขียนจากความรู้สึกที่เกิดจากการเมืองในประเทศ เป็นความรู้สึกของคนที่รู้สึกว่าประเทศนี้ ‘เสียแบบงี่เง่าเกินไป’ คำถามคือทำไม...และเกิดอะไรขึ้น?

วีรพรกล่าวว่า ส่วนตัวเธอรู้สึกว่าประชากรประเทศเราถูกนิยามว่าเป็นคนที่นุ่มนวลและมีน้ำจิตน้ำใจ แต่วันนี้มันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เราแตกแยกกันได้ถึงเพียงนี้ “เหมือนทุกอย่างมันหายไป หายในระดับที่น่ากลัว” วีรพรกล่าว

วีรพรเสริมติดตลกว่า ด้วยความที่ตนเป็นนักเขียนหญิง จึงคิดว่าเขียนนิยายรักดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามนิยาย ’ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ นั้น ก็พยายามเขียนเพื่อสื่อให้คนอ่านได้รู้ว่า เมื่อคุณรู้สึกสูญเสียคนที่รักอย่างไร คุณก็จะรู้สึกได้ว่าประเทศนี้เสียประชากรของตนไปอย่างนั้น… เขาวงกตในนวนิยายเหมือนกับเป็นมายาคติและอุดมคติ เราพยายามหาความจริงแต่ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างกลายเป็นมายาคติ

00000

จเด็จ อีก 1 นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. 2554 เข้าชิงรางวัลอีกครั้งในปีนี้กับนวนิยาย ‘หรือเป็นเราที่สูญหาย’ นวนิยายที่มีฉากหลังเป็นโลกที่ล่มสลาย เมืองถูกแบ่งกั้นแยกด้วยกำแพงแห่งชนชั้น ในพื้นที่ที่ห่างไกลนั้นเป็นดินแดนของคนมือสองที่มีความทรงจำและภาพชีวิตของพลเมืองในนั้นได้ถูกจับตามองและควบคุม

จเด็จกล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายรัก และกล่าวเพิ่มเติมด้วยอารมณ์ขันว่า ถ้าใครอ่านแล้วคิดว่ามีการเมืองแทรกนี่ ถือว่าเขาล้มเหลว เพราะว่านิยายเรื่องนี้บอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วกับ บก. ว่า ช่วยตรวจดูด้วยนะว่ามีประเด็นการเมืองในนิยายเรื่องนี้ไหม อยากให้การเมืองเป็นแค่แบล็คกราวน์ของนิยาย เพราะอยากให้นิยามนิยายเรื่องนี้เป็นนิยายรักเสียมากกว่า

00000

ปราปต์ ผู้ได้ฉายาว่า ‘แดน บราวน์เมืองไทย’ เป็นนักเขียนซึ่งอายุน้อยที่มีหนังสือเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปีนี้ถึง 2 เล่มด้วยกัน ได้แก่ ‘กาหลมหรทึก’ และ ‘นิราศมหรรณพ’ นิยายประเภทสืบสวนสอบสวน และอิงวิทยาศาสตร์ ปราบต์กล่าวว่า นิยายทั้งสองเรื่องของเขานั้นมีความแตกต่างกันที่อารมณ์และฉาก  

ใน ‘นิราศมหรรณพ’ เขาได้นำเรื่องราวด้านวรรณคดีมาอ้างอิง โดยเฉพาะนิราศเมืองแกลง ส่วน ‘กาหลมหรทึก’ นั้น ใช้ ‘กลโคลง’ (การแต่งโคลงสี่สุภาพในรูปแบบพิเศษ มีการทำเป็นกลซ่อนไว้ในรูปต่างๆ เช่น รูปดวง รูปยันต์ รูปดอกบัว ผู้เล่นกลจะต้องถอดคำออกมาให้ได้ตามที่กวีบรรจุคำ เป็นการประชันไหวพริบระหว่างกวีและผู้อ่าน) มาช่วยเขียน เพราะเคยอ่านมาจากเล่มอื่นแล้วรู้สึกสนใจ เคยอ่านจากนิยายเรื่อง ‘รหัสลับดาวินชี’ ซึ่งมีการใช้กลอนหรือโคลงโบราณประกอบ ซึ่งเป็นกลิ่นอายแบบตะวันตก จึงคิดว่าอยากลองใช้ ‘กลโคลง’ ในนิยายของตนเอง

00000

ปองวุฒิ ผู้เขียนนิยาย ‘ประเทศเหนือจริง’ กล่าวถึงนิยายของตนว่ามีประเด็นที่ค่อนข้างร่วมสมัยอยู่ โดยเขียนจากสังคมปัจจุบันที่เราอยู่ โดยปองวุฒิกล่าวว่า เขาสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันคนนอนดึกมากขึ้น จับกลุ่มคุยงานกันดึกๆ ดื่นๆ ตามร้านคาเฟ่ 24 ชั่วโมง สังคมเรามีกิจกรรมเยอะแยะทำให้ข่มตาหลับยาก โดยตัวเอกในนิยายของเขาเป็นโรคนอนไม่หลับ เกิดความคับข้องใจในสังคมจึงออกตะลอนไปทั่วเมืองในยามราตรี และจึงได้สังเกตเห็นช่องโหว่ในสังคม และได้ใช้ช่องโหว่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงความคิดของคนอื่น

นวนิยายยังสอดคล้องกับคนในสมัยปัจจุบัน ซึ่งปองวุฒิกล่าวว่ามันเป็น ‘ภาวะร่วมสมัย’ เรามีการใช้โซเชียล มีเดีย เพิ่มมากขึ้น เราชอบส่องชีวิตคนอื่น สังเกตและจับจ้องชีวิตของผู้อื่น “5-10 ปีที่แล้วเราอาจจะไม่ได้ฟุ้งซ่านแบบนี้ มันเป็นภาวะร่วมสมัยที่เรารู้สึกได้” ปองวุฒิกล่าว

00000

‘พลิ้วไปในพรายเวลา’ เป็นผลงานของนักเขียน ผาด พาสิกรณ์ ลูกชายของนักเขียนชื่อดัง พนมเทียน ผาด พาสิกรณ์ เล่าว่าจริงๆ แล้วนิยายเรื่องนี้เขาได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน เนื่องจากเรียนที่ต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆ จึงเขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้ ก่อนตั้งใจจะแปลเป็นภาษาไทย แต่รู้สึกว่าแปลไม่ได้เหมือนเดิม จึงเขียนใหม่ทั้งหมดเป็นภาษาไทย โดยเริ่มศึกษาภาษาไทยใหม่ในช่วง 2-3 ปีแรกที่กลับมา

นิยายเล่มนี้เริ่มต้นมาจากคาเเรคเตอร์ตัวละคร ซึ่งเนื้อเรื่องตามมาทีหลัง ตัวละครที่ว่านั้นเขาได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนผู้หญิงต่างชาติคนหนึ่งที่เขารู้สึกชื่นชมและเป็นคนที่มีชีวิตในแบบที่เขาชอบ เป็นคนเท่ๆ นึกอยากทำอะไรก็ทำ เวลาเขามีประท้วงก็ออกไป ทั้งๆที่เธอเป็นลูกคนใหญ่คนโต ผาดกล่าวว่าเขารู้สึกว่าหาได้น้อยที่จะมีคนอย่างเธอคนนี้

เมื่อมาเขียนเป็นภาษาไทยใหม่ เขากล่าวว่าเขาได้เปลี่ยนบริบทตัวละครเอกเป็นลูกครึ่ง ดังนั้นตัวละครก็ยังมีความคิดแบบตะวันตกหรือเสรีชนอยู่พอดี ผาด พาสิกรณ์ กล่าวต่อว่า แต่การเขียนในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง ภาษาไทยเขียนแสดงความรู้สึกรักได้มากกว่าจากสรรพนาม เช่น คุณ-ผม, เธอ-ฉัน ฯลฯ ในขณะที่ภาษาอังกฤษใช้ I และ You เท่านั้น แต่ข้อดีก็คือภาษาอังกฤษสามารถเขียนให้คิดในเชิงภาษาได้มากกว่า

00000

‘รักในรอยบาป’ เป็นผลงานของ เงาจันทร์ นักเขียนผู้ซึ่งถูกนิยามว่าบรรยายได้ลุ่มลึกและเข้าถึงความเป็นมนุษย์มนาอย่างมาก เงาจันทร์กล่าวในตรงนี้ว่า เธอเป็นนักเขียนที่สนใจข้างในตัวมนุษย์ และด้วยความที่ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกลนัก การเดินทางเข้าไปในใจตัวเองนั้น เธอคิดว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญและไม่เคยจบสิ้นลง

นวนิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่มีประเด็นเกี่ยวกับแม่และลูก แรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้มาจากเธอรู้สึกว่า โลกมันพร่องอยู่เสมอ เธอมีอาชีพเป็นครู ทุกปีการศึกษาจะต้องรับรู้ว่าลูกศิษย์ตั้งท้องและหายตัวไปจากชั้นเรียน 2-3 อาทิตย์ ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่กำลังจะจบการศึกษา เธอและครูคนอื่นๆ ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพื่อให้เด็กไปคลอดแล้วกลับมาเรียนให้จบการศึกษา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เพราะพ่อแม่เด็กไม่ได้อยู่กับเด็ก ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ มักจะทิ้งเด็กไว้กับปู่ ยา ตา ยาย ทำให้เด็กต้องแสวงหาความอบอุ่นจากสิ่งอื่นๆ

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจคือ หลานสาวของเธอเจอหมาจรจัดคลอดลูกแล้วกินลูกของตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้เธอได้ใส่ไว้ในบทแรกของนิยาย เธอกล่าวว่าหากได้ยินอาจจะคิดว่ามันช่างโหดร้าย แต่จริงๆ แล้วเธอว่าสิ่งที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันมันสาหัสกว่านี้นัก มนุษย์มีความบิดเบี้ยวและใช้ความบิดเบี้ยวไปกดให้มนุษย์คนอื่นบิดเบี้ยวไปด้วย นิยาย ‘รักในรอยบาป’  จึงถูกวิจารณ์ว่า รุนแรง ล่อแหลม และเกินจะรับได้ ในประเด็นแม่และลูก ซึ่งเงาจันทร์กล่าวว่า ก็เป็นจริง เพราะเธอรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้ไปถึงจุดที่ว่า เราจะไม่รักใครเลย แต่จริงๆ แล้วในโลกแห่งความเป็นจริงก็นั้น มีคนมากมายที่ทิ้งลูกตัวเองและฆ่าลูกตัวเอง

00000

‘ลิงเปลือย’ เป็นนวนิยายของ รัตนชัย เขากล่าวติดตลกว่า ลิงเปลือย ก็คือลิงแก้ผ้า ลิงที่ไม่นุ่งผ้า ก่อนกล่าวต่อว่า ลิงเปลือย สื่อให้เห็นว่า แม้ความเจริญจะมีมากขึ้น แต่สันดานดิบ สันดานสัตว์ป่าของคนก็ยังคงอยู่ ยุคสมัยปัจจุบันนี้แม้ว่าเหมืิอนจะเจริญแล้ว แต่คนนั้นกลับไปป่าเถื่อน

“ย้อนถามตัวเอง ฉันคือใคร เราคือใคร ทุกคนมีปรัชญาเป็นของตัวเอง เราถือปรัชญาคนละเล่ม เราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เราถือคัมภีร์ หรือเราไม่ถืออะไรเลย ลองหาคำตอบใน  ‘ลิงเปลือย’ นิยายเล่มแรกของฉันเล่มนี้ดูสิ” – จากบันทึกนักเขียน

00000

ที่มาภาพ: MatichonBook

ทั้งนี้รอบ Long list คือการคัดเลือกเข้ารอบวรรณกรรมซีไรต์รอบแรก โดยในรอบ Long list รางวัลซีไรต์ปีนี้  (2558) มีผลงานเข้ารอบจำนวน 18  เล่ม จากนักเขียนจำนวน 16 คน ได้แก่

1. กาหลมหรทึก : ปราปต์, แพรวสำนักพิมพ์

2. จุงกิง เซ็กซ์เพรส : อนุสรณ์ ติปยานนท์, แพรวสำนักพิมพ์

3. จุติ : อุทิศ เหมะมูล, สำนักพิมพ์จุติ

4. ดังนั้นจึงสิ้นสลาย : นิธิ นิธิวีรกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

5. นิราศมหรรณพ : ปราปต์, แพรวสำนักพิมพ์

6. เนรเทศ : ภู กระดาษ, สำนักพิมพ์มติชน

7. ประเทศเหนือจริง : ปองวุฒิ รุจิระชาคร, แพรวสำนักพิมพ์

8. พลิ้วไปในพรายเวลา : ผาด พาสิกรณ์, แพรวสำนักพิมพ์

9. พันธุ์ไร้ราก : สุวิชานนท์ รัตนภิมล, สำนักพิมพ์รูปจันทร์

10. พิพิธภัณฑ์เสียง : จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, สำนักพิมพ์ SALMONBOOKS

11. รักในรอยบาป : เงาจันทร์, แพรวสำนักพิมพ์

12. ลิงเปลือย : รัตนชัย มานะบุตร, สำนักพิมพ์ผจญภัย

13. สวนโลก : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, สำนักพิมพ์ Way of Book

14. สายรุ้งกลางซากผุกร่อน : มาโนช พรหมสิงห์, สำนักพิมพ์ Way of Book

15. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : วีรพร นิติประภา, สำนักพิมพ์มติชน

16. หมาหัวคน : วิภาส ศรีทอง, สำนักพิมพ์มติชน

17. หรือเป็นเราที่สูญหาย : จเด็จ กำจรเดช, สำนักพิมพ์ผจญภัย

18. หลงลบลืมสูญ : วิภาส ศรีทอง, สำนักพิมพ์สมมติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท