Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แทบไม่น่าเชื่อว่าระบบการศึกษาไทยแทบทุกระดับจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะปัญหาความอ่อนด้อยคุณภาพทางการศึกษาที่เกิดจากการจิตสำนึกของผู้เรียน ผู้สอนและผู้ตรวจสอบประเมินผลการศึกษาที่แม้ทราบดีว่าการศึกษามีปัญหาแต่ยังคงปล่อยปละละเลยให้สภาพการณ์ดำรงอยู่ต่อไปจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม นานเข้าก็กลายเรื่องปกติหรือแม้แต่กลายเป็นวัฒนธรรมทางการศึกษาไป

ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาไทยมีหลายเรื่อง แต่ที่ปรากฏหลักฐานและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงนี้เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ หรือจ้างทำงานวิจัยในช่วงขณะเป็นนิสิตนักศึกษาของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเครือข่ายการว่าจ้างและรับจ้างดังกล่าวครอบคลุมไม่เฉพาะแต่นิสิตนักศึกษาผู้ว่ากับผู้จับจ้างเอกชนทั่วไปที่ปรากฏอยู่บนออนไลน์จำนวนมากเท่านั้น

หากแต่ที่น่าตกใจจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนคือมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ผู้สอนเป็นผู้รับงานว่าจ้างของนิสิตนักศึกษาด้วยเสียเอง 

กล่าวโดยสรุปก็คือธุรกิจทำวิทยานิพนธ์นั้นเล่นกันทั้งนอกรั้วและในรั้วมหาวิทยาลัย ที่สำคัญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ทราบกันเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรและไม่มีมาตรการป้องกัน รวมถึงไม่มีมาตรการลงโทษอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ว่าไปแล้วการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทุจริต (คอร์รัปชั่น) อย่างหนึ่ง ไม่รวมถึงการปล่อยให้ “ความอยุติธรรมทางการศึกษา” ดำเนินต่อไป เพราะนิสิตนักศึกษาบางคนโดยความร่วมมือจากอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยหันมาเล่นทางลัด ขณะที่นิสิตนักศึกษาคนอื่นๆ เดินตามเส้นทางปกติ

ผสมโรงกับค่านิยมเห่อวุฒิการศึกษาของคนไทย คือ จะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ได้ปริญญาโท หรือเอกก็พอ ให้คนเรียกนำหน้าว่า ดอกเตอร์ จะกำมะลออย่างไรก็ช่าง ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกลวงโบ๋และความวิบัติทางการศึกษาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้การว่าจ้างและรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ยังสะท้อนถึงรากเหง้าระบบอุปถัมภ์ในระบบการศึกษาไทยที่มีมานมนาน เช่น ระบบอุปถัมภ์ระหว่างนิสิตนักศึกษากับอาจารย์หรือผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่สามารถเกื้อกูลแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้  มหาวิทยาลัยเอง อาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็ได้รับอานิสงส์จากการสนับสนุนของบรรดาศิษยานุศิษย์ในสถาบันที่กำลังอำนาจจากหน้าที่การงานและทรัพย์ โดยเฉพาะการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

กรณีที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากศิษยานุศิษย์ผู้มีกำลังนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ในต่างประเทศอย่างในอเมริกาก็ทำกัน แต่เขาทำกันโดยไม่บังคับกะเกณฑ์ว่านักศึกษาทุกคนต้องบริจาค มหาวิทยาลัยในอเมริกาจำนวนมากมีหนังสือ (จดหมาย) ขอเงินสนับสนุน (fund raising) จากศิษย์และศิษย์เก่าที่จบแล้ว ส่วนศิษย์คนใดจะบริจาคให้หรือไม่นั้นแล้วแต่ศรัทธาของศิษย์คนนั้น ไม่ว่ากัน ในกรณีผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ การบริจาคไม่มีผลต่อความสำเร็จของการศึกษาของศิษย์คนนั้นๆ

ระบบตรวจสอบการผลิตซ้ำ เลียนแบบ ปลอมแปลง ของสถาบันการศึกษาประเภทคุณภาพในอเมริกามีทุกสถาบัน (ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยไร้คุณภาพในอเมริกาก็มีเช่นกันแต่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรรมการกำกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์เบื้องต้น) งานวิทยานิพนธ์จึงผ่านการตรวจสอบทั้งจากเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยี และอาจารย์ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

หลักการสำคัญของคุณภาพการศึกษาของอเมริกันคือ การใส่ใจติดตามผู้เรียนของอาจารย์ที่ปรึกษาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนทราบจุดอ่อนจุดแข็งของผู้เรียนคนนั้นๆ เป็นอย่างดี มิใช่ว่าอาจารย์คนเดียวรับเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาเป็นสิบๆ  เมื่อมีการสอบวัดคุณสมบัติและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ กรรมการผู้สอบจึงสามารถประเมินนักศึกษาคนนั้นๆ ได้เลย โดยไม่มีการเตี๊ยมกันมาก่อน อย่างดีนักศึกษาผู้รอบคอบหน่อย หากทราบเลาๆ หรือพอทายได้ว่าอาจารย์คนนั้นคนนี้จะมาเป็นกรรมการสอบก็จะเข้าไปสอบถามขอความรู้เสียก่อน เช่น ในเรื่องประเด็น วิธีการเขียน วิธีการเรียบเรียง จากอาจารย์คนนั้น แล้วก็กลับมาแก้ไขวิทยานิพนธ์ของตนตามที่ได้คำแนะจากอาจารย์เสียก่อนสอบ เพื่อที่ในเวลาสอบจะได้ไม่ต้องถูกแก้ไขมาก   

ประการสำคัญสถาบันศึกษาในทุกระดับของอเมริกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยจะต้องถูกตรวจสอบจากมวลชนนอกรั้วสถาบันการศึกษาด้วย กิจการหรือการบริหาร นโยบาย ผลการศึกษาและคุณภาพของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยต้องรายงานต่อสาธารณะด้วย สาธารณชนสามารถเข้าไปหาอ่านในเว็บไซท์ได้

ประโยชน์ของการรายงานต่อสาธารณะนี้ มีผลต่อเครดิตของมหาวิทยาลัยในแง่ความนิยมของผู้ปกครองและนักศึกษาผู้ประสงค์จะเข้าเรียนในสถาบันนั้นๆ เพราะผู้ปกครองและนักศึกษาสามารถทราบได้ว่ามหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างไร รวมถึงมีผลต่อการบริจาคเงินอุดหนุนให้กับมหาวิทยาลัยนั้นๆ อีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือหากมหาวิทยาลัยใดทำให้คนศรัทธาได้ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่ามหาวิทยาลัยที่คนไม่ค่อยศรัทธา

ดังนั้น มหาวิทยาลัยในอเมริกาเวลามีนโยบายและทำอะไรผู้บริหารจึงคำนึงถึงมวลชนนอกรั้วมหาวิทยาลัยเสมอ มิใช่พอผู้บริหารได้อำนาจก็บริหารแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยไม่สนใจเงาหัวชาวบ้านเอาเสียเลย ถ้าเป็นอย่างนี้มหาวิทยาลัยไปไม่รอด

ย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาของไทย การศึกษาของไทยในส่วนของการประเมินผลเชิงคุณภาพขึ้นกับคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสำนักงานมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษา ผมคิดว่าหน่วยงานทั้งสองซึ่งทำงานสัมพันธ์กันคงทราบปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของไทยเป็นอย่างดีว่าเรามีปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างไรบ้าง เรื่องของการว่าจ้างและรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ก็ไม่น่าจะพ้นไปจากสายตาของหน่วยงานทั้งสอง แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างเกลื่อนกลาดและเปิดเผย (ดังที่สื่อมวลชนไทยได้นำเสนอไป)

โดยเฉพาะการที่มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยลงมาร่วมขบวนการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาด้วย ทั้งโดยความเป็นจริงแล้วในเวลานี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบทบาทหน้าที่ใดควรเป็นของนักศึกษา บทบาทหน้าที่ใดควรเป็นของอาจารย์

นี่ยังไม่รวมถึงการล็อบบี้ตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เพื่อให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องตั้งกรรมการที่ใกล้ชิดกับนักศึกษาคนนั้นๆ  เพื่อให้สอบป้องกัน (วิทยานิพนธ์) ง่ายขึ้น โดยไม่พิจารณาว่ากรรมการที่แต่งตั้งนั้นมีคุณสมบัติตรงกับเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ที่สอบหรือไม่ เสมือนมวยล้มต้มคนดู

ไม่รวมถึงการคัดลอกเนื้อหางานวิจัยของคนอื่นมาเป็นของตน หรือ plagiarism  โดยมหาวิทยาลัยไม่สนใจที่จะตรวจสอบ ไม่พยายามที่จะใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ  ปล่อยให้มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หรือการไม่ให้เครดิตกับเจ้าของผลงานความคิด ซึ่งเท่ากับเป็นการขโมยผลงานหรือขโมยความคิด

การศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา หากนำงานหรือความคิดของคนอื่นที่มิใช่ความคิดของตนเองมาใช้ ผู้นำความคิดหรืองานเขียนมาใช้ ต้องให้เครดิตกับเจ้าของงานวิจัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำผลงานนั้นมาจากแหล่งใด แม้แต่งานที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ก็มิใช่เป็นข้อยกเว้น

ความรู้ในระบบออนไลน์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การประเมินผลการศึกษาของนักศึกษาของอาจารย์ผู้สอนและมหาวิทยาลัยมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น โดยอาจารย์ประจำวิชาหรือผู้มีหน้าที่ประเมินผลการศึกษาเพื่อมาตรฐานการศึกษา ต้องรอบคอบและใส่ใจต่อผู้เรียนเป็นรายตัวมากขึ้น การประเมินแบบกลุ่มหรือการประเมินด้วยวิธีการเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะอาจารย์หรือผู้ประเมินผลจะไม่มีทางทราบว่า บุคคลใดเป็นผลิตงานด้วยด้วยตนเองหรือเอาความคิดของคนอื่นมาใช้

ในอเมริกาการประเมินผลการศึกษาจึงเน้นไปความคิดสร้างสรรค์และบุคลิกภาพความเป็นตัวของตัวเองของนักศึกษามากกว่าการการประเมินผลจากกระดาษหรือรายงานการบ้านที่นักศึกษาส่งอาจารย์ แม้ในการประเมินผลการศึกษาเลี่ยงเอกสารกระดาษไม่พ้น แต่ระบบการประเมินผลผู้เรียนในปัจจุบันของโลกตะวันตกถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคำถึง “ความแตกต่างหรือลักษณะจำเพาะของบุคคล”เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อตัวผู้เรียนของอาจารย์ผู้สอนในมิติที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อพัฒนาคนแต่ละคนให้ไปเข้าอยู่ในระบบงานที่ถูกต้องเหมาะสมและมีคุณภาพ

คงจะดีไม่น้อยครับ หากจะมีผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจว่าจ้างและรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ในเมืองไทยว่า ตอนนี้มียอดเงินหมุนเวียนในตลาดมืดประเภทนี้จำนวนหาศาลเท่าใด และมีอาจารย์ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยได้รับอานิสงส์กันอย่างไรบ้าง.
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net