Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้าบันทึกภาพ-ตรวจเอกสาร ในงานประชุมที่จัดโดยสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย เกี่ยวกับสถานการณ์เชิงนโยบาย ปัจจัยคุกคามคนลุ่มน้ำโขง อาทิ ประเด็นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง เหมืองแร่โปแตช โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น 



6 ส.ค. 2558 ณ ห้องประชุมธิดารัตน์ โรงแรมไทย-ลาวริเวอร์ไซด์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ประชาชนชาวหนองคายราว 140 คน จากสภาองค์กรชุมชนตำบลต่างๆ เข้าร่วมการประชุมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย ครั้งที่ 2/2558 โดยมีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงนโยบาย ปัจจัยคุกคามคนลุ่มน้ำโขง อาทิ ประเด็นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โครงการผันน้ำ เหมืองแร่โปแตช โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น

ทั้งนี้ในการประชุมผู้นำชุมชนจากตำบลต่างๆ ในจังหวัดหนองคาย จำนวน 54 ตำบล ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ โดยบรรยากาศการประชุมในช่วงเช้าเกิดความตึงเครียดเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้ามาในห้องประชุม และใช้กล้องโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม ขอตรวจดูเอกสาร และขอพบคณะผู้จัดงานในขณะที่วงเสวนาบนเวทีกำลังดำเนินอยู่ โดยได้เชิญผู้ร่วมเสวนาบางคนออกไปคุยนอกห้องประชุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางส่วนได้กลับออกไป โดยอนุญาตให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ แต่ให้เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 2 นายอยู่ร่วมเพื่อบันทึกการประชุม

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า การประชุมนี้จัดตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังความเห็นของสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยสภาฯ จังหวัดหนองคาย มีข้อกังวลและข้อเสนอ คือ 1. โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังขาดข้อมูลข่าวสารว่าชุมชน 13 ตำบลที่ถูกประกาศจะได้รับหรือเสียประโยชน์อย่างไร 2. มีข้อกังวลต่อโครงการโรงไฟฟ้าขยะ นิคมอุตสาหกรรม ที่ตำบลโพนสว่าง อำเภอเมือง และ 3. เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีประชุมให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวทุกพื้นที่ เพื่อร่วมกันตัดสินใจในการวางแผนการพัฒนาจังหวัดหนองคายอย่างยั่งยืน

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อีสาน กล่าวว่ากรณีของเหมืองแร่โปแตชนั้น การขออนุญาตสำรวจเป็นสิทธิของบริษัท แต่หากมันกระทบสิทธิชาวบ้าน เราก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอตรวจสอบข้อมูลได้ ในการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นมาก การจัดเวทีลักษณะนี้ก็เพราะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แนวคิดเรื่องการพัฒนาแตกต่างกัน และเราไม่ได้จะด่าใคร เรายินดีที่จะพูดคุย แต่ถ้าผู้นำคิดผิด มองผิดไปแล้วมันก็ยากที่จะพูดคุยกัน

นางธัญญา ตันตระกูล ประชาชนจากตำบลโพนสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งจะตั้งในชุมชนว่า หน่วยงานใช้เวลานานมากกว่าจะให้ข้อมูลเรา ชาวบ้านต้องดิ้นรนเข้าไปขอผังเมืองมาศึกษาเอง เมื่อไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ แล้วประชาชนอย่างเราจะรับมืออย่างไร

นายกระสันต์ ปานมีศรี ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลเวียงคุก กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การปกปิดข้อมูลความเจริญหรือการพัฒนาที่จะเข้ามาสู่จังหวัดหนองคาย ในขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนกลับไม่มีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net