Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


หมายเหตุ.

ผู้เขียนทดลองกวนประเด็นให้กระจัดกระจายจากประเด็นที่เกิดขึ้นระหว่างร่วมกิจกรรมห้องเรียนเพศฯกับเกย์ไพรด์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 58 ผู้เขียนพยายามหางานเขียนที่เข้าถึงได้ทันที (ออนไลน์) เผื่อให้ผู้อ่านช่วยกันรื้อ (ทันที) ต่อไป

ในบทความดังกล่าวประกอบด้วยศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ถ้าคนไทยคุ้นเคยกับศัพท์แสงอย่าง Slow Life, Selfie, hashtag  แม้กระทั่ง Emquartier, Terminal เรื่อยไปจนถึงยี่ห้อรถ เช่น  Peugeot, Volkswagen ได้ ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะคุ้นกับ Gender, Sexuality, Queer, Transgender, Intersexuality, LGBT, MSM ได้เช่นกัน แล้วในเมื่อเรื่องเพศๆ มันกว้างและกระจัดกระจายไปหมด ทั้งยังหาข้อยุติไม่ได้ หลักสูตรจะเป็นเช่นไร?


เกริ่นนำ

  “เจนเดอร์” (Gender) ในฐานะศัพท์ทางวิชาการ กำลังเข้าสู่วัยกลางคนไม่นานมานี้เองในสังคมฝรั่ง [1] ดังนั้น การปรากฎตัวของ “เจนเดอร์” ในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ไม่ต้องพูดถึง การพัฒนาองค์ความรู้ด้าน “เจนเดอร์” ในภาษาไทย เพราะแน่นอนว่า “ใหม่” จนอาจเรียกได้ว่า เพิ่งแกะกล่องออกมาใช้ เมื่อ “เจนเดอร์” ในฐานะตัวแทนความคิดแบบตะวันตก เริ่มเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดพื้นที่แห่งการถกเถียง แง่หนึ่งเป็นเรื่องที่ดี กล่าวคือ เรื่องของคน (Being) และ ความปรารถนาทางเพศของคนต่อสิ่งอื่น (Desire/Sexuality) เป็นข้อถกเถียงจนถึงขั้นทะเลาะวิวาท หรือไม่ก็เลยเถิดจนฆ่ากันตายมาแล้ว สุดท้ายมนุษยชาติก็ยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างรอให้เกิดข้อยุติ (ที่ไม่ได้ลอยมาจากฟ้า) มนุษยชาติกลับเผชิญปัญหาหนักๆ มากมาย เช่น การข่มขืน การกระทำทารุณกรรมทางเพศ การกดขี่ทางเพศสภาพ มากไปกว่านั้นคือ การใช้เรื่องคาวๆเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เพราะประวัติศาสตร์ของ “เรื่องคาวๆ” เป็นมิติส่วนตัว (Privacy) ไม่ว่าจะเป็น การพูดถึงเพศรูปปรากฎ / พูดถึงรสนิยมทางเพศ / พูดถึงการมีเซ็กซ์  แต่ประวัติศาสตร์ของ “คนดีมีศีลธรรม” เป็นมิติสาธารณะ (Public) ซึ่งทั้งสองมิติข้างต้นมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อกันนัก  พูดให้ชัดคือ มิติสาธารณะของคนดีมีศีลธรรมย่อม “กดบังคับ” เรื่องคาวๆ  พร้อมทั้งแปะป้ายตีตราอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ “เซ็กซ์” ให้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ก็อย่างที่รู้ “กฎมีไว้แหก” ฉะนั้น ในพื้นที่ส่วนตัวจึงมีอะไรต่อมิอะไรที่เป็นผลมาจากการกดบังคับดังกล่าว จึงไม่เกินเลยถ้าจะกล่าวว่า “ระบบคนดีอาจสร้างความโรคจิต” มากไปกว่านั้น “ระบบคนดีเคยเรียกเสรีภาพตามธรรมชาติว่าความโรคจิต” แม้จะถอนคำพูดไปแล้ว แต่ก็ถือว่าเคยพูด [2]

ดังนั้น เมื่อมนุษย์ผู้พยายามชำระตนให้สะอาดจากเรื่องเซ็กซ์ (Puritan) ดันประสบความสำเร็จน้อยกว่าลิงโมโนโบที่ใช้เซ็กซ์เพื่อระงับความขัดแย้ง  [3][4] จึงดูเหมือนว่า แนวคิดแบบลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phallogocentrism) [5] หรือ “ผู้ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) ที่เป็นวาทกรรมหลักน่าเชื่อว่าจะมีปัญหา และเพื่อไม่ให้ติดกับดักของความคิดแบบสุดโต่งก็ควรรู้อีกว่า ไม่มีอะไรการันตีเลย ถ้ากล่าวว่าพอเปลี่ยนลึงค์เป็นโยนี (Vagina) แล้ว ปัญหาจะจบ เพราะอะไรก็ตามที่มีลักษณะรวมศูนย์มักมีปัญหา แล้วถ้าจั่วว่า จะสร้างหลักสูตรเจนเดอร์ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้อยู่ในวังวนเดิมๆ 


1. ขบวนการเพื่อสิทธิเสรีภาพเพศสภาพ/เพศวิถี “สร้าง” จากการ “รื้อ” และแถม “คำใหม่ๆ” เข้ามามากมายด้วย

ควรเข้าใจให้ชัดว่า ขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดแบบสตรีนิยม แนวคิดเรื่องข้ามเพศ รวมไปถึง ประเด็นท้าทายทางศีลธรรมจรรยาเดิม เกิดขึ้นได้จากการ “รื้อ” (Deconstruction) นั่นคือ บรรดานักคิดอย่างน้อยก็เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว เริ่มศึกษาจากการตั้งคำถามว่า “ทำไม” (WHY) ซึ่งความสงสัยอันยียวนเหล่านี้ โลดโผนโจนทะยานมากพอที่จะกลายเป็นเรื่องใหม่ หรือแปลกของผู้คนทั่วไปในสังคม บรรดานักคิดเหล่านั้นขุดคุ้ย ค้นแคะ แงะ และบิดรูป “ภาษา” ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่” / “ช่องว่าง”  จนกลายมาเป็น อาณาบริเวณของเหล่าเฟมินิสต์และรสนิยมทางเพศอื่นๆ ที่ทยอยตามมาจับจองพื้นที่เปิดใหม่นี้ และเมื่อผ่านพ้นระยะเห่อร้านใหม่แล้ว หลายคนก็วนกลับไปสร้างโครงสร้างแบบเดิมๆขึ้น และสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ชนชั้นทางเพศในอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะสร้าง “พื้นที่”/”ช่องว่าง” ใหม่ๆ หลายคนกลับตั้งรกรากอย่างมั่นคง และชวนกันประกอบสร้างความเป็นอื่นขึ้นมา เป็นต้น เพศปรกติคือคนอื่นไม่ใช่พวกเรา (Heterosexuality as The other) ซึ่งท่าทีเช่นนี้ ก็ผลักดันในนักคิดต้องเข้ามาก่อกวนอีกโดยเสนอทฤษฎีที่เรียกว่า “การทำลายเส้นแบ่งกั้น” (deterritorialization) [6]  นั่นคือ ทำลายทั้งเส้นกั้นแนวดิ่ง คือเรื่อง ชนชั้น (Hierarchy)  และทำลายเส้นกั้นแนวนอน คือเรื่องความเป็นอื่น (Otherness)  แล้วพื้นที่ใหม่ๆ ขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะทุกอย่างถูกตัดข้ามอย่างเป็นแนวราบ (Plateaus/ Transversalité) [7]

อาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมีคำศัพท์ใหม่ๆมากมายแล้วก็เป็นคำประสมที่ซับซ้อนเสียด้วย เช่น deterritorialization [ คำอุปสรรค: de + คำยืมจากภาษาฝรั่งเศส: territorial + การทำให้เป็นคำกริยาด้วยปัจจัย –ize + การทำให้ทั้งหมดของคำเป็นนามด้วย –tion] ซึ่งถอดออกมาตรงๆว่า เป็นการทำลายเส้นแบ่งกั้นที่ยังดำเนินอยู่เสมอด้วย (Active) ดังนั้น จะไม่ใช่ deterritorialation ที่ไม่ปรากฎรูปกริยา คำถามคือ “จะรู้ไปทำไม?” / “ทำไมต้องมี?”

ตอบแบบไม่เคร่งครัดนัก คือ ถ้าไม่มีคำแผลงๆพวกนี้ ย่อมไม่มีพื้นที่ใหม่ เพราะพื้นที่เดิมมีคำเดิมๆอัดแน่นเต็มไปหมด คำต่างๆประดิษฐานและตีตราไปเรียบร้อยแล้วเพื่อครอบงำ/ชักจูงให้ผู้ใช้ภาษาคิดและมีทัศนคติตามต้องการ เช่น พวกรักร่วมเพศ, พวกลักเพศ ดังนั้น จึงต้องมี “คำใหม่” ขึ้นมาเบียดแทรกและแทนที่อย่างสร้างสรรค์ ส่วนเหตุผลที่คำใหม่ๆ ของพวกนักคิดสมัยหลังมีความซับซ้อน นั่นเพราะ คำเดิมมีปัญหาในการสื่อความหมายหรือความหมายที่สื่อนั้นผิดรูปไปจากที่นักคิดต้องการ (Différance) เช่น การจัดการอย่างบูรณาการ คำว่า “บูรณาการ” (น.) กลายเป็นคำที่เริ่มแข็งและตายไป เนื่องจากถูกใช้ผลิตซ้ำแบบเครื่องจักรกล (Mechanism) เป็นต้น เอะอะอะไรก็พูดบูรณาการไว้ก่อน แต่สิ่งที่เรียกว่าบูรณาการกลับไม่ปรากฎ เพราะ “รัฑ”[8] เอาไปใช้จนเฝือเสียแล้ว ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือทื่อๆไม่แหลมคม

ส่วนเรื่องจะรู้ไปทำไมนั้น คำตอบคือ รู้เพื่อนำไปรื้อทำลายกำแพงนั่นเอง  รู้เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้กับการถกเถียงอภิปรายในประเด็นต่างๆ อย่างสนุก เพื่อตัดข้ามศาสตร์ไป-มาอย่างฉวัดเฉวียน (Interdisciplinary) ให้ท้ายที่สุด การก่อรูปของวงเสวนาแบบถกอภิปรายอาจเกิดขึ้นได้จริง และอาจเกิดประโยชน์จริงๆ เพราะ ถ้าเราไม่รู้มาก่อนว่า กำแพงมันมีปัญหา เราจะก้าวข้ามมันไปทำไม? ที่สำคัญถ้าเราไม่รู้ว่ากำแพงมันมีขนาดเท่าไร เราจะก้าวข้ามมันไปได้อย่างไร?

แนวคิดในศตวรรษที่ 21 (และก่อนหน้านั้นเล็กน้อย)  เรียกร้องให้เราตัดข้ามศาสตร์ไปเผชิญหน้ากับบรรดาความรู้ของโลกที่ค่อนข้างเฟ้อเต็มโลกเหมือนคนอ้วนพุงพลุ้ยที่กำลังป่วยด้วยโรคอ้วนของตัวเอง เพื่อจะรักษา บรรดานักคิดเสนอให้ วิพากษ์  ขุดคุ้ย ค้นแคะ แงะ และบิดรูป เพราะ ประวัติศาสตร์โลกได้สอนเราแล้วว่า การมองแบบเดิมๆยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั่นเอง อย่างน้อยๆ การมองแบบใหม่ก็อาจทำให้พอหวังลมๆแล้งๆได้บ้าง


2. เขาคิดอะไรกันไปแล้วบ้าง เขาเถียงอะไรกันไปแล้วบ้าง เขาได้เรียนรู้อะไรกันไปแล้วบ้าง? และเรา?

เนื่องจากหลักสูตร “เจนเดอร์” ย่อมมีส่วนท้าทาย/สั่นคลอนความคิดความเชื่อเดิม เป็นต้น ความคิดเรื่องกรรม ความคิดเรื่องพระเจ้า ความคิดเรื่องความผิดปรกติทางจิต ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเข้าปะทะ (Encounter)[9] ซึ่งการปะทะแบบไร้ข้อมูล หรือแค่ดราม่าไป ก็น่าเชื่อได้ว่า จะไม่ทำให้เกิดอะไรใหม่ตามต้องการ เพราะเรากับคู่สนทนาอาจกำลังถกเถียงกันในเรื่องเดียวกับเมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาลก็เป็นได้ และการที่เขาอาจเถียงได้ดีกว่าเราก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะเขามีเวลาว่างกว่าเรา ซึ่งการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางย่อมทำให้เกิดการสะสมองค์ความรู้ เมื่อองค์ความรู้ถูกสะสมไปแล้ว ก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สำนักคิด” (School of thought) และการจัดหมวดหมู่แบบคร่าวๆ (Category) ของสำนักคิดก็ทำให้เราง่ายขึ้นในการหาว่า แต่ละสำนักเถียงกันเรื่องอะไร มากไปกว่านั้น สิ่งที่พวกเขาเถียงนำไปสู่อะไร และเมื่อวันเวลาผ่านไปเราได้รู้อะไรบ้างจากผลลัพธ์ที่ได้จากการเถียงนั้น


ตัวอย่างเช่น

ความต้องการทางเพศสูง (Excessive Sexual Behavior/Hypersexuality) คือ การเสพติดเซ็กซ์ (Sexual Addiction) หรือไม่? แล้วถือเป็น ผู้มีแนวโน้มว่าจะกระทำความผิดทางเพศหรือไม่ (Sex offender) สมมติคุณคิดว่า การเสพติดเซ็กซ์เป็นเรื่องของโรค (Symptoms) คุณก็อาจเห็นด้วยกับทัศนะของคานส์ (Carnes, 1983) นั่นอาจเก่าเกินไป คุณก็เลยอาจจะคล้อยตามกับทัศนะที่ใหม่กว่า ที่เห็นว่าคนเหล่านี้ควรจะได้รับการรักษา เพราะพวกเขากำลังทนทุกข์ (People who struggle with sex addiction) ตามคำเชิญชวนบนหน้าหนังสือของฮอล  (Hall, 2013) [10] ในฐานะผู้ได้รับมรดกทางความคิดของคานส์มาอีกที และถ้าคุณต่อยอดไปไกลกว่านั้น ด้วยมายาคติที่ว่า รักร่วมเพศเป็นกลุ่มคนที่มีความต้องการทางเพศสูง คุณอาจเห็นด้วยกับความคิดอนุรักษ์นิยมของรีสมัน (Reisman, 1998) ผู้เสนอว่า “ความเป็นรักร่วมเพศอาจมีนัยสำคัญต่อการก่อรูปของความรุนแรงในขบวนการนาซี” [11] ก็เป็นได้

อาศัยการนิรนัย (ที่ไม่สมบูรณ์) อาจกล่าวว่า  1.พวกรักร่วมเพศมีความต้องการทางเพศสูง 2. ความต้องการทางเพศสูงเป็นความผิดปรกติทางจิต ดังนั้น พวกรักร่วมเพศมีความผิดปรกติทางจิต นั่นทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นทันทีว่า อะไรคือเหตุผลที่จะสรุปหรืออ้างเช่นนั้น เพราะถ้ารักร่วมเพศมีความต้องการทางเพศมากหรือน้อยเช่นเดียวกับเพศทั่วไป แล้วทำไมเรื่อง “Bugchasing” ถูกยึดโยงกับ “เกย์” (gay men) ไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับการร่วมเพศทางเว็จมรรคแบบไม่ใช้ถุงยาง (Bareback) [12] เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนจึงมักเปิดไว้ว่า สนใจศึกษารสนิยมทางเพศอื่นๆด้วย  แต่ ก็เป็นที่ทราบดีว่า เกย์ / การร่วมเพศทางเว็จมรรคแบบไม่ใช้ถุงยาง / การติดเชื้อ HIV เป็นความคิดแรกของหลายคน

จะเห็นว่า ถ้าพูดกันแต่เพียงว่า รักร่วมเพศถูก / รักร่วมเพศผิด ด้วยกรอบแบบขาว-ดำ เรื่องทั้งปวงก็คงไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนแบบนี้ แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนมิใช่หรือ จึงกลายเป็นว่า การถกเถียงในเรื่องมนุษย์เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเซ็กซ์จึงมีประเด็นที่แตกแยกย่อยได้มากมายแทบไม่สิ้นสุด และงานเขียนเกี่ยวกับเซ็กซ์ก็เต็มไปด้วยเกร็ดมากมาย ซึ่งดูเหมือนจะยุ่งยากและเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยกันคิดจนเฟ้อแล้วในทางทฤษฎีรอให้ช่วยกันพัฒนา

ถึงตรงนี้ เราคงต้องยอมรับว่า มันมีเรื่องซับซ้อน/ซ้อนทับ อยู่อีกมากที่รอการปลดปล่อยและเปิดเปลือย และต้องทำใจว่า ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนใดที่ใช้วิธีง่ายๆ หรือเป็นสูตรสำเร็จแบบวิทยาศาสตร์ และบางทีเพื่อที่จะเปิดพื้นที่ใหม่นั้น เราอาจต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า “ก้าวข้ามกรอบเก่าๆ” (Paradigm Shift)


3.หลักสูตรเจนเดอร์(Gender) จะต้อง “รื้อ” อะไร

3.1 รื้อมายาคติที่ผู้ร่างหลักสูตรในฐานะนักกิจกรรมมีต่อความเป็นวิชาการ เพื่อให้ได้มาซึ่ง “แนวคิดใหม่”

3.2 รื้อมายาคติที่ผู้ร่างหลักสูตรในฐานะนักวิชาการมีต่อนักกิจกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การใช้ได้จริงของแนวคิดใหม่”
3.3 รื้อการก่อรูปของคณะบุคคลที่จะร่างหลักสูตร เพื่อ “สร้างความเป็นลูกผสม”  มีความหลากหลายในตัวเอง


4. หลักสูตรเจนเดอร์(Gender) จะต้อง “มี” อะไร

4.1 มีกระบวนการย่อยออกเป็น “ภาษาชาวบ้าน” หรือ “ภาษาเข้าใจง่าย” ทั้งนี้ต้องไม่ใช่การลดทอนความหมาย ดังนั้น การทำให้เป็น “ภาษาชาวบ้าน” ย่อมไม่ใช่ การสรุปเอาจากสิ่งที่อ่านหรือคิดแต่อย่างเดียว ต้องเป็นการระดมทรัพยากร  เพื่อสำรวจและจัดจำแนก (Category)  “เรื่องที่เขาคิดไปแล้ว เรื่องที่พอจะมีคำตอบแล้ว เรื่องที่ยังถกเถียงอยู่ และสิ่งที่ได้จากเรื่องเหล่านั้น ในลักษณะที่กว้างขวาง”

กล่าวคือ ไม่เป็นเพียงแต่การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้พบเท่านั้น แต่ต้องรู้หรือพอเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองได้พบนั้นเคยพบมาก่อนหรือไม่ เพื่อให้เราพบกับความไม่ซ้ำ อันจะเป็นประเด็นที่เราจะเปิดไปสู่พรมแดนใหม่ๆในการตีความ เช่น โสเภณีเด็กชายในประเทศไทยเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกับโสเภณีในทวีปยุโรป และสมมติว่าแตกต่าง มีจุดร่วมกันหรือไม่ที่พอจะต่อยอดแนวทางในการแก้ปัญหาได้

และการย่อยออกเป็นภาษาชาวบ้านจะไม่เกิดขึ้นเลย หากความเป็นวิชาการ/ปฏิบัติการ ไม่สมยอมกัน อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องพอจะแลกเปลี่ยนกันไปพลาง แต่ที่น่าสังเกตคือ การพัฒนาผู้ร่วมขบวนการให้เป็นนักฟังที่ดี ทั้งฝ่ายวิชาการ/ปฏิบัติการ อาจเป็นส่วนช่วยให้การย่อยออกเป็นภาษาชาวบ้านเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น และในทางกลับกัน หากผู้ร่วมขบวนการมีทักษะในการรับฟังน้อย (ที่ไม่ใช่แต่เพียงฟัง) ก็กลายเป็นว่า ตัวเองได้ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางเสียเอง

4.2 มีกระบวนการถกเถียงกับขั้วที่เชื่อกันว่าอยู่ฝั่งตรงข้าม เช่น ขั้วแบบอนุรักษ์นิยมทางศาสนา แต่ทั้งนี้ “ทักษะฟัง” / “สุนทรียสนทนา” เป็นเรื่องที่จะต้องเริ่มให้สำเร็จ และแบบอย่างเสียก่อน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศควรแบกรับท่าทีเปิดกว้างและสลายความเป็นอื่นได้ดีกว่าผู้ที่ฝักใฝ่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม เพื่อเชื้อเชิญให้เขาก้าวข้ามออกจากมายาคติแห่งความกลัว/รังเกียจ ที่ขัดขวางคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน  

4.3 ประเด็นที่น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในหลักสูตร (ขอทดสะเปะสะปะไว้เพื่อเปิดประเด็น)

การพูดเรื่องเพศและเครื่องเพศโดยไม่อาย/การก้าวข้ามการจัดจำแนกประเภทของเพศวิถี/ผลของการกดบังคับทางเพศทางสมัยอาณานิคมที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมิติทางจิตวิทยา/สื่อ, ภาพยนตร์, งานเขียนที่สะท้อนให้เห็นถึงการกดบังคับและรวมไปถึงการปลดปล่อยเรื่องเพศวิถี/เพศวิถีเดิมในประเทศไทยในบริบทเทียบเคียงกับเพื่อนร่วมทวีปเอเชีย เป็นต้น กรณีศึกษาชาติพันธุ์ “นา” ในประเทศจีน/การศึกษาเรื่องภาพยนตร์โป๊และเซ็กซ์สตอรี่ในประเทศไทย/การปรากฎตัวของโรคทางเพศและคติเกลียดกลัวความสำส่อน/การเป็นวัตถุทางเพศหลังอาณานิคมในบริบทประเทศไทย/คนไทยกับความปรารถนาจะร่วมเพศกับตัวการ์ตูน (เพราะตุ๊กตายางยังเป็นเรื่องใหม่ และเซ็กซ์ทอย ผู้ใช้ก็มิได้มีความรักใคร่)/ปรัชญาจิตเกี่ยวกับหุ่นยนต์และเพศวิถี/ศาสนธรรมในฐานะสิ่งที่ถูกเพศวิถีสั่นคลอน/การให้ความรู้ทางวิชาการที่ไม่ใช่แต่เรื่องทางการแพทย์แก่โสเภณี/ข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพที่แท้จริงของเพศวิถีในรัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือในรัฐที่นิยมชาย

และทำไมจึงมีแต่นักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้เล่า?
แนวร่วมอยู่หนใด? เพราะอะไร? มีอะไรในความเงียบงันนั้น?
ผมคิดว่ามัน “มี”

จึงทดและรื้อไว้เพียงเท่านี้ ขอให้สนุกครับ
ขอบคุณ พระอาจารย์ ชาย วรธมฺโม สำหรับคำเชิญชวนให้ร่วมฟังเสวนา

 

อ้างอิง

[1] Udry, J.Richard. (1994). The Nature of Gender.  Demography.  31, no.4, November.  Page 561-573
Retrieved August 8,2015, from http://people.virginia.edu/~ser6f/udry.pdf

[2] Mason, Diane Elizabeth. (2003). The secret vice masturbation in Victorian fiction and medical culture (Doctor dissertation).Page  43 Retrieved August 8,2015, from http://researchspace.bathspa.ac.uk/1450/1/Diane%20Mason%20-%202003.pdf
[3] Clay, Z. & de Waal, F.B.M. (2013). Sex and strife: post-conflict sexual contacts in bonobos. Behaviour. Retrieved August 8,2015, from http://www.emory.edu/LIVING_LINKS/publications/articles/Clay_deWaal_2014.pdf
[4] Benjamin & Bo  M. Winegard and Robert O. Deaner. (2014). Misrepresentations of Evolutionary Psychology in Sex and Gender Textbooks. Evolutionary Psychology. 12(3):474-508 Retrieved August 8,2015, from http://www.epjournal.net/articles/misrepresentations-of-evolutionary-psychology-in-sex-and-gender-textbooks/getpdf.php?file=EP1204740508.pdf
[5] Borody, W. (1998) . Figuring the Phallogocentric Argument with Respect to the Classical Greek Philosophical Tradition. Nebula, a Netzine of the Arts and Science. 13:1-27. Retrieved August 8,2015, from  http://kenstange.com/nebula/feat013/agawa.pdf
[6]Parr, Adrian. (2005). The Deleuze Dictionary Revised Edition. Retrieved August 8,2015, from  http://ghiraldelli.pro.br/wp-content/uploads/The_Deleuze_Dictionary-1.pdf
[7]Parr, Adrian. (2005). The Deleuze Dictionary Revised Edition. Retrieved August 8,2015, from  http://ghiraldelli.pro.br/wp-content/uploads/The_Deleuze_Dictionary-1.pdf
[8] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2014). จาก “รัฐศาสตร์ 101” สู่ “รัฑศาสตร์ 010”. Retrieved August 8,2015, from  http://www.prachatai.com/journal/2014/09/55705 และ ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2015). “เซ็กซ์สตอรี่” ในรัฑที่สนับสนุนการข่มขืน? Retrieved August 8,2015, from http://www.prachatai.com/journal/2015/01/57462
[9]Parr, Adrian. (2005). The Deleuze Dictionary Revised Edition. Retrieved August 8,2015, from  http://ghiraldelli.pro.br/wp-content/uploads/The_Deleuze_Dictionary-1.pdf
[10] Hall, Paula. (2013). Understanding and Treating Sex Addiction. London: Routledge. Retrieved August 8,2015, from http://samples.sainsburysebooks.co.uk/9781136170348_sample_491518.pdf
[11] Reisman Judith A. (1998). The Pink Swastika as Holocaust Revisionist History. Circa : The Institute for Media Education, February Retrieved August 8,2015, from http://www.drjudithreisman.com/archives/pink_swastika.pdf
[12] Moskowitz, David A. & Roloff, Michael E. (2007). The Ultimate High: Sexual Addiction and the Bug Chasing Phenomenon. Sexual Addiction & Compulsivity. Taylor &Francis Group, LLC 14:21-40 Retrieved August 8,2015, from  http://www.healthcareguild.com/presentations_files/Sexual%20Addiction%20and%20Bug%20Chasing.pdf
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net