Skip to main content
sharethis
บทสัมภาษณ์ ‘โยชิมิ โฮรุจิ’ หญิงสาวบกพร่องทางสายตาชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัล ‘ผู้สร้างแรงบันดาลใจ คนค้นคน’ ปี 2556 แม้ว่าดวงตาเธอจะมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก แต่เธอกลับเต็มเปี่ยมไฟฝัน และมีชีวิตเติบโตมาได้จากการอ่านหนังสือ จนทำให้เธอมีความฝัน เดินทางไกลไปหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เธอเป็นอีกผู้หนึ่งที่ฝันอยากส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ และคนพิการ ที่อยู่ตามชนบทของไทยให้มีความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา
 
 
 
 
โยชิมิ โฮรุจิ (Yoshimi Horiuchi) หญิงสาวบกพร่องทางสายตาชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัล ‘ผู้สร้างแรงบันดาลใจ คนค้นคน’ ปี 2556 แม้ว่าดวงตาเธอจะมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก แต่เธอกลับเต็มเปี่ยมไฟฝัน และมีชีวิตเติบโตมาได้จากการอ่านหนังสือ จนทำให้เธอมีความฝัน เดินทางไกลไปหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เธอเป็นอีกผู้หนึ่งที่ฝันอยากส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ และคนพิการ ที่อยู่ตามชนบทของไทยให้มีความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา จนได้ก่อตั้ง สมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) สร้างศูนย์การเรียนรู้บนดอยหลายแห่ง รวมไปถึงการสร้างห้องสมุดรังไหม ขึ้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดยเธอย้ำว่าการอ่านหนังสือนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนแปลงโลกได้.  
                          
.......................................................
           
 
โยชิมิ โฮรุจิ (Yoshimi Horiuchi)
 
อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าชีวิตครอบครัวในวัยเยาว์คุณเป็นอย่างไรบ้าง?
 
โยเกิดที่เมืองโคจิ ซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่นนะคะ ห่างจากโตเกียว ประมาณกรุงเทพ-เชียงใหม่นี่แหละ ประมาณ 800  กิโลเมตร  ขึ้นเครื่องบินไปประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ครอบครัวของเรา คุณพ่อทำไร่ ทำสวน ทำนา ทำทุกอย่างที่เป็นดินน่ะ  ส่วนแม่ทำงานอยู่ที่บริษัทเล็ก ๆ เกี่ยวกับขายประกัน แล้วก็มีพี่สาวคนหนึ่ง  ตอนนั้นถือว่าเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งหมด 7 คน มีทั้งพ่อแม่ ตายาย แล้วก็มีน้องสาวของตาอยู่ด้วย แล้วก็มีแมว หมา มีไก่ มีนกด้วย อยู่บ้านแบบชาวนาๆ นั่นแหละ
 
แล้วคุณมีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่แรกเกิดเลยหรือเปล่า ?
 
คือตอนนั้น โยเกิดมาได้วันที่สอง หมอก็เรียกคุณยาย ๆ มาคุยกับหมอหน่อยสิ  แล้วยายก็ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าน้องคนนี้เหมือนจะมีปัญหาเกี่ยวกับสายตานะ  แต่อย่าเพิ่งบอกแม่นะ เดี๋ยวแม่ช็อคอะไรเงี้ยะ แต่ยายก็อดไม่ได้ ยายก็บอกกับแม่ว่าเออ ลูกน้อยมีปัญหาเกี่ยวกับสายตานะ หมอตรวจดู  ปรากฏว่าเป็นโรคต้อกระจก  เหมือนกับว่ากระจกตามันเสื่อมทำให้เลนส์นัยน์ตาเราเสีย  คือจริงๆ แล้ว คนที่เป็นต้อกระจกกันเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ถ้าเกิดมาปุ๊บแล้วเป็นมันจะรักษายาก  ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะคะ  ก็เลยผ่าตัดหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่... หมอก็เลยก็รักษา ทำได้แค่นี้แหละ 
 
ตอนเด็กๆ ยังพอมองเห็นบ้างไหม ?
 
ก็เห็นนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คือเห็นสีเห็นแสงลางๆ ค่ะ  แต่ก็ไม่เห็นเยอะ  แม่ก็เลย อืม เอาแค่นี้แหละ  เลี้ยงให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ก็เลยได้ชีวิตเป็นคนที่มีความพิการทางสายตาตั้งแต่เด็กเล็กเลย  คือโยไม่เคยเห็นแบบสิ่งของเป็นแบบคนที่มีสายตาเป็นปกติเลย  ก็เลยเหมือนว่าชีวิตที่เราไม่ได้ใช้สายตานี้เป็นชีวิตที่ปกติไปเลย(หัวเราะ) แต่มันก็มีบางอย่างที่ไม่สะดวกบ้าง  อย่างเช่น ขับรถไม่ได้ มันก็ไม่สะดวก แต่ว่ามันก็มีหลายอย่างที่เราทำได้ ก็ค่อยทำไป เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
 
ตอนนั้นรู้สึกน้อยใจไหมที่เกิดมาแล้วบกพร่องทางสายตาแบบนี้?
 
ไม่ได้น้อยใจค่ะ  เพราะว่าตอนนั้นเราก็เป็นเด็ก เราก็อยู่ธรรมดาของเรานั่นแหละ  ก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนตาบอดด้วยซ้ำ  เราไม่รู้
 
ทราบมาว่าคุณพ่อคุณแม่ จะเน้นส่งเสริมให้คุณเรียนหนังสือตั้งแต่เล็กเล็ก?
 
ใช่ค่ะ  คือพ่อแม่บอกว่า  การเรียนหนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เพราะถ้าเกิดโตแล้วจะต้องทำงาน  เราจะทำงานหลากหลายอาชีพเหมือนคนทั่วไป เราทำไม่ได้  คือถ้าเราเกิดมาเป็นคนทั่วไป  เราจะรับจ็อบแบบปลูกโน่นนี่นั่นก็ได้  หรือว่าขายขนมปังก็ได้  ขายโน่นนี่นั่นก็ได้  ทำอะไรก็ได้หมด  แต่ว่าถ้าเกิดเราเป็นคนตาบอด ทำงานอะไรหลายอย่างก็มีข้อจำกัด  พ่อแม่ก็เลยบอกว่าอยากให้เรียนหนังสือเก่ง ๆ ค่ะ เริ่มต้นด้วยการที่พ่อแม่กับพวกญาติ ๆ ที่บ้าน เขาอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่อายุได้ 2-3 ขวบ ถึงแม้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าเขาก็อ่านหนังสือให้ฟัง ก็เลยชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเลยค่ะ
 
เริ่มต้นการอ่านหนังสือแนวไหนบ้าง ?
 
เนื่องจากเรามองไม่เห็น จึงไม่ค่อยอ่านนิทานภาพนะ นิทานภาพ คือดูไปอ่านไป ใช่ไหมคะ  แต่เราจะเน้นฟังไงคะ  ญาติๆ เขาก็เลยอ่านเป็นวรรณกรรมไปเลย ตั้งแต่ 4-5 ขวบนะคะ เช่น สี่ดรุณี,เจ้าชายน้อย,เจ้าหญิงน้อย  อะไรพวกนี้  คือโยก็ชอบ  ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจบ้างแหละ  คืออายุ 4-5 ขวบ จะเข้าใจลิตเติ้ลปริ้นเซสได้ยังไงละเนอะ(หัวเราะ)  แต่ชอบฟัง  ก็ฟังเพลิน  ตอนนั้นคุณตา จะเป็นคนหลักในการอ่านหนังสือให้ฟัง  เพราะว่าตาไม่ค่อยสบาย เขาไม่ได้ทำงานข้างนอกเหมือนพ่อแม่  พ่อแม่ทำงานข้างนอกไง แต่ว่าตานี่ถ้าเกิดว่าไม่ได้อยู่โรงพยายบาลเขาก็จะอยู่บ้านเฉย ๆ เขาก็อ่านหนังสือให้ฟัง  คือไม่ใช่แหละ  พี่บังคับให้แกอ่านมากกว่า(หัวเราะ) 
 
จากนั้นจึงเข้าโรงเรียน เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง ?
 
ใช่คะ พอเข้าโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิด เขาก็จะสอนอักษรเบรลล์  อักษรเบรลล์คืออักษรนูน ๆ ที่ทำขึ้นมาสำหรับคนตาบอดหรือว่าคนที่ใช้สายตาในการอ่านไม่ได้นะคะ  จริงๆ แล้ว อักษรเบรลล์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ที่ประเทศฝรั่งเศสค่ะ โดยทหารคนหนึ่ง เขาใช้จุดมือ ใช้ในการสื่อสารกันตอนกลางคืนในช่วงสงคราม ให้เป็นข้อความลับ ตอนนั้นใช้ตัวอักษรที่ประกอบด้วยตัวอักษร 12 จุด แต่มันใหญ่เกินไปสำหรับปลายนิ้วของเรา ต่อมา ‘หลุยส์ เบรลล์’  ซึ่งเป็นคนตาบอดเหมือนกันที่อยู่ฝรั่งเศส สอนอยู่ที่ปารีส เขาก็เลยคิดปรับปรุงระบบของทหาร มาทำเป็นอักษรเบรลล์ขึ้นมา ตอนนี้ก็เลยได้อักษรเบรลล์ 6 จุด ซึ่งเป็นอักษรระบบเดียวที่คนตาบอดอ่านได้เขียนได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนที่มองเห็นน่ะค่ะ นั่นแหละ เจ้าพ่อเรา
 
ก็พอได้อ่านหนังสือด้วยอักษรเบรลล์ ได้แล้วก็รู้สึกดีใจมาก เพราะเราไม่ต้องรอคนที่อ่าน เราสามารถอ่านจบคนเดียวเป็นเล่มได้ ดีใจมากเลย เราไม่ต้องกลุ้มใจในการรอ ให้คนอื่นมาอ่านให้ฟังเนี่ย(หัวเราะ)  จนกระทั่งโยเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว มาอยู่โรงเรียนประจำ เป็นโรงเรียนคนตาบอดแห่งชาติเลย มีห้องเรียน มีเพื่อนเยอะมากคะ  ห้องก็มีเพื่อนประมาณ 10-20 คน พอเรียนจบมัธยมปลาย ก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา 1 ปี เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เพราะว่าตอนนั้นจะชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก ก็เลยสนใจเรียนภาษาอังกฤษโน่นเลย จะได้ฝึกภาษาจริง ๆ
 
แล้วชีวิตของคุณมาสนใจเมืองไทยได้อย่างไร ?
 
ตอนที่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา นี่แหละ ได้รู้จักกับคนไทย  และเพิ่งจะรู้จักเมืองไทยตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลย  ก่อนนั้นไม่รู้จักเลยเมืองไทย มาก่อนเลย ไม่เคยรู้จักคนไทยมาก่อนด้วย  อยู่ไหนก็ไม่รู้(ยิ้ม) แล้วก็ประเทศไทย  วัฒนธรรมประเทศไทยเป็นยังไง  อาหารไทยเป็นยังไงไม่เคยกินเลย  แต่พอรู้จักกับฝ้าย เพื่อนคนไทยที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้วยกัน ถึงรู้ว่า วัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่น นั้นคล้าย ๆ หลายอย่าง หลายแนว เช่น วัฒนธรรมที่ว่าเราต้องเคารพนับถือผู้ใหญ่  เรื่องอาหารการกิน คนไทย คนญี่ปุ่นก็กินข้าวเหมือนกัน ไม่ได้กินขนมปังเหมือนฝรั่ง ก็เลยได้ความรู้สึกว่าน่าสนใจดี  ฟังภาษาไทยก็เออเพลินดี  ก็เลยอยากเรียนภาษาไทยขึ้นมาทันที  พอกลับมาโตเกียว ก็เริ่มเรียนภาษาไทยที่โตเกียว ตอนนั้นอายุ19 ปี
 
ใช้เวลาเรียนภาษาไทยนานไหม ทำไมถึงพูดภาษาไทยได้คล่องอย่างนี้ ?
 
ตอนแรกเรียนภาษาไทย อยู่ที่โตเกียวก็ไม่ได้พูด  พูดไม่ได้เยอะนะคะ  พูดได้แค่ประมาณว่า ฉันชื่อโยชิมิค่ะ  ฉันชอบอาหารไทยมากค่ะ  พูดได้นิด ๆ หน่อย ๆ อะไรงี้  แต่ว่าตอนที่เรียนอยู่ปี 1 ของมหาลัยเนี่ยมีโอกาสได้มาเที่ยวประเทศไทยเป็นคราวแรก แล้วก็ตั้งแต่ตอนนั้นก็ได้มาเที่ยวไทยปีละครั้งสองครั้ง ทุกปีเลย  ก็เลยฝึกมาเรื่อย ๆ จนมีช่วงหนึ่ง ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปี 3 ได้มาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน 1 ปี ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยนะ
 
ตอนมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับประเทศไทย ?
 
ได้เรียนรู้หลายอย่างเลยคะ ทั้ง ประวัติศาสตร์ไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย รัฐบาลไทย  อะไรแบบนี้ คือเกี่ยวกับเมืองไทยทั่วๆ ไป  แล้วก็ได้เพื่อนคนไทยเยอะมากในช่วงนั้น
 
ทำไมถึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะมาส่งเสริมเรื่องการอ่าน เรื่องทำห้องสมุดตามชนบทห่างไกลแบบนี้ ?
 
เพราะว่าตัวเองชอบอ่านหนังสือคะ  ชอบอ่านหนังสือมาก ๆ แล้วก็แปลกใจที่ว่า ทำไมที่ประเทศไทยคนที่ชอบอ่านหนังสือน้อยมาก ๆ  และห้องสมุด ก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่  คือมันก็มีนะ แต่ว่าห้องสมุดมันน้อย แล้วเวลาจะอ่านหนังสือก็ต้องเดินทางไปไกล ๆ  ก็แปลกใจอยู่นานละ  ก็ถามเพื่อนไป  ไปหาเพื่อนคนโน้นคนนี้ ไปตามจังหวัดโน่นนี่นั่น  ก็สังเกตว่ามันก็หลายเหตุผล เช่น ราคาหนังสือแพงกว่าของต่าง ๆ ในตลาด  แล้วก็ห้องสมุดหนังสือก็จำนวนน้อยมาก 
 
ห้องสมุดโรงเรียนก็ชอบล็อคกุญแจไว้ ไม่ให้อ่าน เก็บไว้ให้ผู้บริหารมาประเมิน หนังสือใหม่ก็ไม่ให้อ่านให้ยืม กลัวฉีกขาด แบบนี้ด้วยไหม ?
 
นั่นแหละค่ะ ก็เลยอืม..อยากจัดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงพี่น้องคนพิการที่อยู่ในเขตชนบทของประเทศไทย ทำอย่างไรถึงจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการอ่าน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการอ่านที่เท่าเทียมกันในเด็กจากหลากหลายภูมิหลัง นอกจากนั้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างเด็กพิการและไม่พิการ เพราะเรารู้ว่า คนชนบทและคนพิการยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในเรื่องการอ่านกันอยู่  แม้ว่าอัตราการรู้หนังสือของคนไทย มีการรายงานว่า สูงถึงร้อยละ 92.3 แต่ในขณะเดียวกัน เด็กไทยกลับมีการอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปี และคนไทยอย่างน้อย 1.1 ล้านคนเป็นคนพิการ และร้อยละ 77 ของคนพิการเหล่านั้นอาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย                                         
 
เริ่มต้นโครงการแรกที่ไหน อย่างไร ?
 
ก็ได้ตัดสินใจเขียนโครงการหนึ่งขึ้นมา จนกลายเป็น “สมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC)” แล้วเริ่มเคลื่อนที่ไปไปตามชุมชนต่างๆ ของประเทศไทย      เพราะเรามีความฝันว่า อยากทำห้องสมุดเคลื่อนที่ เหมือนรถขายไอศกรีม ที่เด็กๆ และผู้ใหญ่สามารถเลือกอ่านหนังสือได้ตามชุมชนต่างๆ ที่ผ่านมา มีกิจกรรมเกิดขึ้นตรงนี้ตรงโน้นหลายพื้นที่ อาทิ ห้องสมุดใบหม่อน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, ห้องสมุดเคลื่อนที่โดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ บรรทุกหนังสือไปให้เด็กๆ รวมทั้งผู้สูงอายุ ในหมู่บ้าน ในโรงเรียนต่างๆ  รวมไปถึงการตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กชนเผ่า เพื่อให้ได้ความรู้เท่าเทียมกับเด็กพื้นราบ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้บ้านผึ้งน้อย บ้านแม่สูน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และศูนย์การเรียนรู้ บ้านพระอาทิตย์ บ้านห้วยทราย  อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย รวมไปถึง ห้องสมุดรังไหม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นี้ด้วย                                                                    
 
เป็นไงบ้างหลังจากมาทำห้องสมุดรังไหมที่พร้าว ?
 
ก็ดีคะ ที่ตัดสินใจเลือกมาทำห้องสมุดรังไหม ที่ อ.พร้าว  ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้นได้รู้จักคนทำงานมูลนิธิบ้านอุ่นใจ เป็นชาวต่างชาติ แต่มาช่วยเหลือดูแลเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูงในเขตอำเภอพร้าว ให้มีมีโอกาสลงมาเรียนหนังสือในตัวอำเภอ ได้แนะนำว่า เมืองพร้าวเป็นอำเภอเล็กๆ สงบ และมีหลากหลายวัฒนธรรม จึงสนใจและตัดสินใจก่อตั้งห้องสมุดรังไหมขึ้นมา ก็ได้รู้จักกับน้อง ๆ ที่พร้าว  ตอนนี้มีสมาชิกห้องสมุดประมาณ 600 คน  หนังสือในห้องสมุดของเราก็มีประมาณหกพันกว่าเล่มแล้ว แล้วก็มีดีวีดีส่งเสริมการเรียนรู้ให้ยืมด้วย ก็ดีใจนะคะ แล้วก็มีหลายคนถามว่าได้ผลไหม  ซึ่งเรารู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่างานห้องสมุดนั้น เป็นงานที่ใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่าได้ผลหรือไม่  แต่ที่แน่ๆ เรารู้อยู่แล้วว่ามันมีผลแน่ ๆ เพราะเราก็เคยเติบโตกับหนังสือ  ถ้าเกิดเราไม่มีหนังสือเป็นเพื่อนเราก็ไม่ได้ทำงานอย่างนี้ 
 
มองวัฒนธรรมสังคมการอ่านของไทยกับญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
 
มากๆ.....(เน้นเสียงยาว) พอได้ยินคำว่าอ่านหนังสือ คนญี่ปุ่นจะนึกถึงงานอดิเรก คือว่างๆ ก็หยิบหนังสือออกมาอ่าน
สังคมญี่ปุ่นนั้นจะเน้นให้ทุกคนในครอบครัวรักการอ่าน และทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุก แต่สังคมไทยถูกทำให้การอ่านเป็นเรื่องยาก หนักและเครียด ทำให้หนังสือถูกมองเป็นเพียงแค่อุปกรณ์การเรียน ไม่ใช่สิ่งบันเทิงใจ เมื่อพูดถึงการอ่าน หรือการศึกษาของไทยนั้นจะเน้นชอบสอนให้เชื่อ เถียงครูก็ไม่ได้ ไม่ได้สอนให้คิดเอง ค้นคว้าเอง นั่นอาจมีส่วนทำให้มีผลต่อสังคมไทยด้วยกระมัง ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมคิดเอง วิเคราะห์เอง ก่อนจะเชื่อ จึงทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งกันในขณะนี้ ซึ่งอาจมีส่วนไม่มากก็น้อย....ยกตัวอย่าง รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ขนาดดาราญี่ปุ่น เวลาออกรายการ เขาก็เอาหนังสือที่ขายดี ๆ มาแนะนำให้ผู้ชมได้รู้กัน ในขณะที่ดาราไทยนี่คุยเรื่องอื่นๆ หรือเรื่องส่วนตัว
 
ที่สำคัญ การอ่านหนังสือทำให้ชีวิตเรามีจินตนาการด้วยใช่ไหม ?
 
ใช่  มันทำให้เรามีจินตนาการ สนุกสนานกับการอ่าน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็ทำให้เรารู้จักกับคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน  มันเป็นสิ่งที่มีความสนุกมากกว่าได้ความรู้ อย่างเรื่อง เจ้าชายน้อย โต๊ะโตะจัง หรือความสุขของกะทิ เป็นต้น หนังสือทำให้เรารู้จักอะไรอีกมากมาย  อย่างเช่น ตัวเองเกิดมาในบ้านนอกเล็กๆ พ่อทำไร่ทำนาใช่ไหม แต่พอเราได้อ่านหนังสือของคนที่มีหลากหลายอาชีพ แล้วทำให้ความคิดชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเลยนะ ไม่ใช่อ่านเฉย ๆ  คืออ่านแล้วเปลี่ยนไปเลย เป็นไปได้หลายๆ เลย แม่มดบ้าง เจ้าหญิงบ้าง หมาบ้าง  แมวบ้าง  ก็เป็นไปเลย  การอ่านหนังสือ จึงเป็นอะไรที่ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าหนึ่งชีวิต
 
มีหนังสือเล่มไหนบ้างที่อ่านแล้วอ่านอีก หรือว่าเล่มไหนที่อ่านแล้วมันเปลี่ยนชีวิต ?
 
อืม... อ่านแล้วอ่านอีกเหรอ ‘โต๊ะโตะจัง’ เล่มนี้ก็อ่านแล้วอ่านอีกเหมือนกันนะคะ อ่านตอนแรกก็คือ ป.1 จำได้เลย หน้าพักร้อนน่ะค่ะ ตอนปิดเทอม ปิดเทอมแรกของเราเลยในชีวิต  แล้วก็ยืม  คืออันนี้อ่านเป็นหนังสือเสียงน่ะค่ะ เป็นหนังสือเสียงแล้วก็คนอ่านก็เป็นคนแต่งเลย  เขาอ่านเองแล้วก็อัดเสียงแล้วก็มอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ เราได้ฟังแล้วก็เออชอบ ตอนนั้นก็ชอบเลย แล้วก็อ่านหลายรอบ ต่อมา ได้อ่าน โต๊ะโตะจัง ที่แปลเป็นภาษาไทยด้วย ก็ทำให้เรากลับมาอ่าน  อยากจะกลับมาอ่านอีก  อีกทั้ง เรายังได้รู้จักกับ โต๊ะโตะจัง คนจริง ๆ ตัวเป็น ๆ ด้วย  ซึ่งเขาทำงานเหมือนไปเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ที่มีเด็กมีชีวิตยากลำบาก เช่น ประสบสงคราม เด็กกำพร้า แบบนี้ ทั้งในแถบแอฟริกาบ้าง เอเชียบ้าง อเมริกาใต้บ้าง คือทำให้เรารู้จัก โต๊ะโตะจัง มาตั้งแต่เด็กแล้วใช่ไหม แล้วพอโตขึ้น โต๊ะโตะจัง เขาก็ทำงานอย่างนี้ ทำให้เรารู้จักกับประเทศต่างๆ ก็บอกได้เลยว่า โต๊ะโตะจัง ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โยมีความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมด้วยคะ
 
แต่ก็นั่นแหละ ที่สำคัญก็คือขอให้เราเลือกหนังสือที่เราชอบ อย่าอ่านตามผู้ใหญ่ หรืออย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก  เพราะการอ่านหนังสือ ทำให้เราคิด บางทีผู้ใหญ่ของเราก็มีความคิดถูกบ้าง ไม่ถูกบ้างละ ทำให้เข้าใจว่าไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือว่าผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ หนังสือจะทำให้เราฝึกว่าเราคิดเป็น และทำให้เราหาเหตุผล ซึ่งมันป็นจุดที่สำคัญว่า หนังสือ จะช่วยให้เราคิดด้วยตัวเองก่อนที่จะเชื่อค่ะ
 
อยากให้ฝากบอกถึงคนทั่วไปที่มีร่างกายปกติ แต่กำลังทุกข์ท้อ ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ?
 
คือไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่พิการ เรามาจากไหน เราเกิดเป็นคนอะไรก็ตาม เราก็มีจังหวะในชีวิตที่เราก็ท้อบ้างเหมือนกัน แต่เราคิดว่า ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตค่ะ คือที่สุดแล้ว เราเป็นคนเดียวในโลกใบนี้ ที่จะทำตัวเราเองนั้นให้มีความสุขก็ได้ หรือไม่มีความสุขก็ได้ มีความทุกข์ก็ได้ ถ้าเราอยากมีความสุขเราก็ต้องให้กำลังใจกับตัวเอง แล้วก็มองคิดในทางแง่บวก  ถ้าเราจะเข้าใจรู้สึกในแง่ลบไปหมด เราก็เป็นคนที่ไม่มีความสุขเลย ฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับพวกเราแต่ละคนนั่นแหละ มันเป็นอะไรที่มันหายได้ทุกวินาทีเลยค่ะ คือถ้ามองตัวเองว่าไม่มีความสุข ก็จะได้ทุกข์ ถ้ามองตัวเองว่ามีความสุข ก็เป็นสุข
 
คุณพออธิบายได้ไหมว่าจริงๆ ชีวิตต้องการอะไร ?
 
ชีวิตเหรอ ไม่รู้เหมือนกันนะ บางคนต้องการมีฐานะ ลาภยศ สรรเสริญ มีที่ดิน มีบ้าน มีรถ อืม... อยากมีอะไรใช่ไหม
ไม่รู้สิ มันยากเนอะ แต่สำหรับเราคิดว่า ขอให้เรารักคนที่อยู่รอบข้างเรา แล้วเขาก็จะรักเรากลับมาแบบนี้ คือถ้าเกิดมาเราอยากได้ความรักจากคนอื่น แล้วก็มัวรอแต่รับมันก็ไม่ได้ ดังนั้น ขอให้มีอะไรที่เราชอบ ก็ลงมือทำ อะไรก็ได้ที่เราชอบทำ มันเป็นงานก็ได้ เป็นอาชีพก็ได้ งานอดิเรกก็ได้ ขอให้มีสิ่งที่เราบอกได้เลยว่า เออเราทำแล้วมันมีความสุขค่ะ
 
คุณมีอะไรที่ต้องทำอีก มีอะไรที่วางแผนไว้ว่าอยากจะทำถ้ามีโอกาส ?
 
ถ้ามีโอกาสอยากเดินทางทั่วโลก  เพราะว่าชอบมีเพื่อนคนใหม่ แล้วก็ชอบรู้จักกับคนที่แปลก ๆ แปลกกว่าตัวเองอะไรอย่างนี้
 
ทุกวันนี้ กิจกรรมของสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) ที่คุณทำอยู่ตอนนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทางไหนบ้าง ?
 
ตอนนี้ เราใช้วิธีการขอการสนับสนุนกิจกรรม โดยการขอรับการบริจาคจากผู้สนับสนุนทั่วไป และยังต้องพึ่งพาอาสาสมัครทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอยู่ ท่านใดสนใจอยากร่วมบริจาคหนังสือวรรณกรรมหรือสารคดีภาษาไทย ที่คัดสรรแล้ว สามารถส่งไปได้ที่ น.ส.โยชิมิ โฮริอุจิ ตู้ป.ณ.6 ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หรืออยากบริจาคทรัพย์สนับสนุนกิจกรรมให้กับน้องๆ และคนพิการในชนบท เชิญ ได้ที่ โยชิมิ โฮริอุจิ ธ.ทหารไทย สาขาอาคารยาดา สีลม เลขที่ 232-2-04920-2 หรือต้องการเป็นอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ตามชุมชนบนดอย ก็ติดต่อสอบถามไปที่โยชิมิ โดยตรงที่ 083 542 7283 เพราะเราเชื่อว่าการส่งเสริมการอ่านหนังสือนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนแปลงสังคม และเปลี่ยนแปลงโลกได้.                                                                                            

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net