Skip to main content
sharethis

เปิดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน 2015 วันแรก คุยหลังฉายหนัง "This Kind of Love" อดีตนักศึกษารุ่น 88 จากพม่า เตือนว่ายังมี "นักโทษการเมืองโฉมใหม่" ในพม่า โดยเป็นชาวบ้าน-นักศึกษา ที่ถูกจองจำเพียงเพราะเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันยังหวังเห็นพม่าเป็นสหพันธรัฐนิยม-มีวัฒนธรรมไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

เสวนาหลังฉายภาพยนตร์ "This Kind of Love" ในงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนประจำปี 2015 ภายใต้ธีม "All About Love" โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และฟิล์ม กาวัน โดยจัดวันแรกเมื่อวันที่ 8 ส.ค.

8 ส.ค. 2558 - ในงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนประจำปี 2015 ภายใต้ธีม "All About Love" จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ ฟิล์ม กาวัน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กทม. ซึ่งวันนี้ (8 ส.ค.) จัดเป็นวันแรกนั้น

เมื่อเวลา 13.00 น. มีการฉายภาพยนตร์ "This Kind of Love" ผลงานของ เจนนี มารี ฮอลลาซี (Jeanne Marie Hallacy) ซึ่งเป็นนักข่าวและผู้ผลิตสารคดีอิสระชาวอเมริกัน โดยก่อนหน้านี้มีการเปิดตัวภาพยนตร์แล้วที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ในงานเทศกาลภาพยนตร์เพื่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Rights and Human Dignity International Film Festival- HRHDIFF) ครั้งที่ 3 (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) และเทศกาลภาพยนตร์ No His-tory but ours: Stand Up for LGBTIQ Rights ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

โดยการฉายภาพยนตร์ในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในการรำลึก 27 ปี  ครบรอบเหตุการณ์ปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) และครบรอบ 48 ปีการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

"This Kind of Love" หรือ "รักเช่นนี้" เป็นภาพยนตร์สารคดี เปิดเรื่องราวของอ่อง เมียว มิน นักกิจกรรมนักศึกษาพม่าในปี 1988 ที่ต้องหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่ามาเข้าร่วมกับกองทัพนักศึกษาพม่า "แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวล" (ABSDF) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่่ป่าเขาในรัฐกะเหรี่ยง ใกล้ชายแดนไทย-พม่า และต้องเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายปี

อีกด้านหนึ่งในช่วงของการต่อสู้ในป่า เขาได้เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะว่าเขาเป็นเกย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในสังคมที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงในพม่า อย่างไรก็ตามแม้แต่ในองค์กรที่ควรจะเคารพในเสรีภาพของปัจเจกบุคคลอย่างกองทัพนักศึกษาก็ไม่อาจยอมรับเพศสภาพและมองว่าเป็นเรื่อง “ผิดธรรมชาติ” ทำให้เขาแสวงหาอิสรภาพอีกครั้งและได้เริ่มทำงานด้านสิทธินุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาและตระหนักในสิทธิของตัวเองแก่เด็กๆ ผู้พลัดถิ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของการค้ามนุษย์ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ก่อนจะกลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้งในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับประชาชนสามัญในพม่า และเผชิญความท้าทายอีกหลายด้านเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบ้านเกิดของเขา

000

อ่อง เมียว มิน อดีตนักศึกษาพม่ายุค 1988 และนักแสดงนำในภาพยนตร์ "This Kind of Love"

"นักโทษการเมืองรูปโฉมใหม่" ในสมัยพม่ายุคเปลี่ยนผ่าน

ภายหลังการฉายภาพยนตร์ มีวงเสวนากับ อ่อง เมียว มิน ผู้อำนวยการ Equality Myanmar นักแสดงนำของเรื่อง ดำเนินรายการและร่วมตอบคำถามโดย พิณพกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท

โดยออง เมียว มิน กล่าวถึงสถานการณ์ในพม่าปัจจุบันว่า ถ้าเปรียบกับเทียบเมื่อ 10 ปีก่อน เดี๋ยวก็ดีกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ก็มีคำถามใหญ่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของพัฒนาการทางการเมือง แต่เดิมสมัยรัฐบาลทหาร พม่าเคยมีนักโทษการเมือง 3,000 คน ปัจจุบันหลังจากมีรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้ง ได้รับการปล่อยตัวเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามมี "นักโทษการเมืองรูปโฉมใหม่" ในพม่า อ่อง เมียว มิน นิยามคนเหล่านี้ว่า "พวกเขาไม่ได้มีชื่อเสียง พวกเขาเป็นชาวนา เป็นนักเรียน นักศึกษา พวกเขามีเสรีภาพการรวมตัว ชุมนุม แต่เขาโดนจับเพราะการทำกิจกรรมพวกนี้ นี่เป็นนักโทษการเมืองโฉมใหม่ ที่ปัจจุบันยังถูกจองจำ ดังนั้นเราต้องระมัดระวังระหว่างสิ่งปรุงแต่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพม่า"

อ่อง เมียว มิน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องนักโทษการเมืองอาจมีจำนวนน้อยลง ปัญหาการใช้ทหารเด็กเริ่มลดน้อยลง แต่พม่ายังมีรูปแบบการกดขี่รูปแบบอื่น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน การที่ประชาชนถูกยึด ถูกเวนคืนที่ดินโดยกองทัพ บรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งนี้ประเทศพม่าเป็นเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร อย่างไรก็ตามพวกเขาเข้าไม่ถึงความยุติธรรมโดยเฉพาะกับกรณีการเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้แม้แต่การเรียกร้องเงินชดเชย พวกเขาก็ไม่สามารถได้รับสิทธินั้นเต็มที่

 

ผลตอบรับทั้งบวกทั้งลบจากผู้ชมในพม่า

ต่อคำถามว่า ผลตอบรับหลังการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้กับคนในพม่าเป็นอย่างไร อ่อง เมียว มิน เล่าว่า เมื่อตอนเปิดตัวภาพยนตร์ที่พม่า หลายๆ คนที่มาชมภาพยนตร์นึกว่าเป็นเรื่องความรักของเขากับใครคนหนึ่ง แต่เมื่อดูหนังจบพบว่า เป็นความรักต่อประเทศ ความมุ่งมั่นที่จะสู้เรื่องประชาธิปไตย ซึ่งหลังการฉายก็ได้รับผลตอบรับดี ผู้ชมระบุว่าสร้างแรงบันดาลใจกับพวกเขา อย่างไรก็ตามในช่วงตอบคำถาม ก็มีคนพม่าที่ถามในประเด็นเรื่องโรฮิงญา ที่เป็นส่วนหนึ่งในสารคดี คนพม่าถามว่าทำไมถึงพูดเรื่องโรฮิงญา โดยที่ผู้ถามใช้คำว่า "เบงกาลี" ด้วยซ้ำ เพราะไม่ยอมรับเรื่องนี้ โดยออง เมียว มิน เล่าด้วยว่า ในวันนั้นเขาตอบว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ข้ามพรมแดน ไม่ว่าประเด็นใดที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน เขาต้องมาต่อสู้ ทั้งนี้บางคนที่ได้ยินคำตอบ ก็เดินออกจากห้องฉายภาพยนตร์ก็มี โดยออง เมียว มิน กล่าวว่าก็เป็นทางเลือกของเขาแต่ก็ดีที่ไม่มีใครมาทำอะไรเขา

 

เล่าเรื่องเผยตัวตนเมื่อหนีจากเมืองต่อสู้กับรัฐบาล - เผยในป่า "เกย์ดาห์" ยังทำงานได้ดี

ต่อคำถามจากผู้ชมภาพยนตร์ว่าทำไมเขาจึงเปิดเผยตัวตน เมื่อหนีมาอยู่ในป่า อ่อง เมียว มิน กล่าวว่า ตอนที่เขาเป็นนักศึกษาอยู่ในเมือง ประกอบกับสภาพสังคมในเวลานั้น ทำให้เขาไม่มีความมั่นใจพอที่จะเปิดเผยตัวตน แต่เมื่ออยู่ในป่า เมื่ออายุ 22 เขาได้เรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยกลางป่า เขาเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล เลยเกิดความคิดว่า "ผิดด้วยหรือที่ผมจะปกปิดว่าเป็นเกย์" และถ้าเก็บเรื่องนี้เป็นความลับตลอด คนจะคิดว่าเรื่องนี้ผิดไปตลอดกาลในโลกใบนี้  ดังนั้นเขาเลยเปิดเผยออกมา และใช้เรื่องนี้ท้าทายความคิดของผู้คนในป่าที่เคยคิดกันว่าความรักของเพศเดียวกันนั้นผิด นอกจากนี้เป็นการตั้งคำถามกับกองทัพนักศึกษาด้วย ที่เชื่อว่า ทหารต้องเป็นผู้ชาย ทหารเป็นเกย์ไม่ได้ ทั้งนี้ในกองทัพนักศึกษายังมีกฎที่พวกเขาตั้งขึ้น โดยกฎข้อหนึ่งก็คือต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน ถ้าใครก็ตามเป็นคนรักเพศเดียวกัน มีโทษจำคุก 10 ปี เขาจึงใช้เรื่องที่เขาเปิดผยว่าเป็นเกย์ ท้าทายต่อกฎเกณฑ์ของกองทัพนักศึกษา และท้าทายต่อค่านิยมในสังคมของกองทัพนักศึกษา

ออง เมียว มิน กล่าวด้วยว่า "แต่เรื่องแน่ๆ เรื่องหนึ่งก็คือการพบรักของคนรักเพศเดียวกันนั้น แม้จะอยู่ในป่า แต่ "เกย์ดาห์" ก็ยังทำงานได้ดี ทั้งนี้ไม่ต้องการแอพลิเคชั่นอะไร มองตาก็รู้เลยว่าคนนี้ใช่แล้ว"

 

หวังให้พม่าเป็นสหพันธรัฐ ไม่ใช้ความรุนแรง ยึดสิทธิมนุษยชน

ต่อมามีผู้ชมภาพยนตร์ถามว่า ออง เมียว มิน มีความเห็นต่อรูปแบบการปกครองของพม่าที่เหมาะสมอย่างไร เขาตอบว่า กาปกครองแบบ "สหพันธรัฐ" จะเป็นคำตอบกับเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ทั้งนี้ในอดีตประเทศมักถูกปกครองโดยคนพม่า และไม่ให้อำนาจต่อผู้แทนของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นเขาเชื่อว่ารูปแบบการปกครองแบบ "สหพันธรัฐ" จะเป็นทางออก เพราะให้เกียรติ เคารพกลุ่มชาติพันธุ์ และยึดหลักการมีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ

ส่วนประเด็นการแก้ไขเรื่องความรุนแรง และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ เขาเสนอว่า "ทางออกคือสร้างวัฒนธรรมของการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแนวคิดแง่ลบ ที่แต่เดิมคิดเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ คือต้องยอมรับความหลากหลายและหาทางทำงานร่วมกัน และส่งเสริมวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรง" ออง เมียว มิน กล่าวด้วยว่า เขาเคยลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยหลายสิบปี แต่เมื่อได้กลับไปทำงานในพม่า เขาก็ยังคงส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน โดยทำงานกับคนรุ่นใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการจัดการศึกษากับชุมชน"

และนอกจากการทำงานในระดับประชาชนต่อประชาชนแล้ว ออง เมียว มิน กล่าวด้วยว่า เขายังต้องทำงานกับรัฐบาลพม่าไปพร้อมกันด้วย เพราะรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย การทำงานกับรัฐบาลก็เพื่อส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย โดยเฉพาะในเรื่องการยอมรับแนวคิดสหพันธรัฐนิยม และการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

กองทัพพม่ายังมีบทบาทการเมือง - เสียดายอาเซียนไม่เน้นประชาชน

ออง เมียว มิน กล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า ในพม่ากองทัพยังคงมีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มแข็ง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ที่นั่งร้อยละ 25 เป็นที่นั่งของกองทัพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ กองทัพก็ใช้เสียงในมือร้อยละ 25 นี้ ลงมติอย่างเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งผลก็คือทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เสียงในสภายังไม่พอที่จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้แม้ ส.ส. ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่เป็นเสียงข้างมากเกินร้อยละ 75 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอีกร้อยละ 25 คือ ส.ส. ที่แต่งตั้งจากกองทัพยังไม่ยอม นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือนปัจจุบัน ก็คือรัฐบาลทหารพม่าในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแบบ ขณะที่ชุดทัศนคติก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดของกองทัพ ทั้งนี้เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าหลักฐานไม่แน่นหนาก็เอาผิดกองทัพไม่ได้

ออง เมียว มิน ตอบคำถามเรื่องสมาคมอาเซียนต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในพม่าว่า น่าเสียดายเพราะอาเซียนไม่ควรเป็นหน่วยงานของรัฐ อาเซียนต้องเป็นองค์กรประชาชน ให้ผลประโยชน์ของประชาชน แต่โชคร้ายอาเซียนไม่ได้เป็นแบบนี้ โดยที่อาเซียนยังสนใจแต่มิติทางเศรษฐกิจ แต่ขาดการสนใจประชาชน ทั้งนี้เขาหวังว่าจะเห็นภาพของอาเซียนที่มีความร่วมมือกันในระดับประชาชน

ต่อมาผู้ชมภาพยนตร์ถามเขาเรื่องเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างไทยกับพม่า ออง เมียว มิน ตอบว่า ที่ผ่านมาเขาเห็นว่ารัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ทำให้มีพันธะกรณีด้านสิทธิมนุษยชนอยู่หลายฉบับ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาล ทั้งนี้หากจะชี้วัดสถานการณ์ในไทย ก็ต้องถามผู้ชมชาวไทยในที่นี้ว่า ยังปลอดภัยหรือไม่ เสรีภาพการพูดการแสดงความคิดเห็นยังใช้ได้หรือเปล่า ทั้งนี้เรื่องสิทธิเสรีภาพ มีสองเรื่องหลักคือ เสรีภาพจากความกลัว และเสรีภาพตามความต้องการ ซึ่งต้องสมดุลกัน ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะสนับสนุนประชาชนเรื่องอาหาร เรื่องเศรษฐกิจแต่ถ้าประชาชนไม่สามารถที่จะมีเสรีภาพจากความกลัว ไม่สามารถพูดได้อย่างเสรี หรือวิจารณ์สิ่งที่เขาประสบ ก็ถือว่ายังไม่มีเสรีภาพ

 

 

หวังให้คนพม่าพูดเรื่อง LGBT มากขึ้น

ช่วงท้ายการเสวนา อ่อง เมียว มิน พูดถึงสถานการณ์สิทธิของ LGBT ในพม่า โดยเขากล่าวว่าในสังคมพม่ายังไม่กล้าพูดเรื่องนี้เปิดเผย ทั้งนี้คนในสังคมยังไม่ได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นคนรักเพศเดียวกัน และในพม่ายังมีกฎหมายสมัยอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งในประเทศอดีตอาณานิคมอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินเดียก็มีกฎหมายนี้อยู่ ที่ระบุว่าคนรักเพศเดียวกัน เป็นสถานภาพทางเพศที่ไม่เป็นตามธรรมชาติ โดยในพม่ากำหนดโทษจำคุก 10 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต โดย อ่อง เมียว มิน ตั้งคำถามว่า ถ้ากล่าวหาว่าคนรักเพศเดียวกันเป็น "เพศที่ผิดธรรมชาติ" ขอถามว่าอะไรคือ "เพศตามธรรมชาติ" เรื่องนี้จะนิยามอย่างไร โดยปัจจุบันกลุ่มของเขากำลังรณรงค์ทางนโยบายเพื่อแก้ไขเรื่องนี้

อ่อง เมียว มิน กล่าวด้วยว่า สังคมพม่าเหมือนสังคมไทย ที่ประชากรส่วนมากเป็นชาวพุทธ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ตีความพุทธศาสนาบิดเบือนไป โดยหลายคนเชื่อว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นบาป ทำผิดทำชั่ว หรือ เพราะชาติก่อนทำชั่ว ชาตินี้เลยต้องรับกรรมแบบนี้ นอกจากนี้ LGBT ในพม่า ยังถูกล้อเลียน ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และมีเรื่องตีตรา ให้ภาพจำ โดยที่คนพม่าคิดว่า LGBT เป็นคนตลก เป็นคนเอนเตอร์เทน ต้องมีอาชีพเป็นช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ซึ่งตัวเขาเองได้รับผลกระทบจากเรื่องท้าทายนี้ เขาจึงท้าทายต่อสังคมว่าเป็นเกย์ไม่ต้องเป็นช่างแต่งหน้า ทำผม หรือทำตลกก็ได้ โดยเขาพยายามที่จะมุ่งทำงานอย่างจริงจังในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ส่วนคำถามเรื่องสถานการณ์ LGBT ในพื้นที่ของรัฐกลุ่มชาติพันธุ์นั้น อ่อง เมียว มิน กล่าวว่า พื้นที่ LGBT ในพม่าเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นแต่ก็เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น ยังไม่ใช่พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์เล่าให้เขาฟังว่า สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องของการขาดปัจจัยสนับสนุน เช่น ไม่มีสังคมเปิดแบบเมือง ยังไม่มีกลุ่มรณรงค์ในพื้นที่ ขณะที่โครงสร้างทางสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังขึ้นอยู่กับครอบครัว กับชุมชน นอกจากนี้อ่อง เมียว มินยังเสนอว่า ต้องมีการรณรงค์เชิงการศึกษาเรื่อง LGBT ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ต้องส่งเสริมบทบาทของผู้ที่เป็น LGBT ในพื้นที่ เพื่อให้คนอื่นๆ ในชุมชนเห็นบทบาทของเขาด้วย

สุดท้าย อ่อง เมียว มิน เห็นว่า สื่อมวลชนเองก็มีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่อง LGBT ในพม่า ที่ผ่านมาพวกเขาสร้างภาพประทับต่อ LGBT เวลาที่มีคนทำภาพยนตร์เกี่ยวกับ LGBT ก็มักให้รับบทเกย์ตลก หรือทำเรื่องแปลกๆ คนดูภาพยนตร์ก็จะรู้สึกว่าเกย์นี่มันตลกๆ จริงๆ หรือมีภาพจำในแง่ลบ

ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนประจำปี 2015 ภายใต้ธีม "All About Love" จะจัดระหว่างวันที่ 8-9 และ 15-16 สิงหาคม 2558 วันละ 2 รอบฉาย เวลา 13.00 และ 16.00 น. ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กทม. โดยสามารถตรวจสอบกำหนดฉายภาพยนตร์ได้ที่แฟนเพจฟิล์ม กาวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net