Skip to main content
sharethis

ผอ.องค์กรด้านนโยบายการต่างประเทศเขียนบทความถึงความโหดร้ายของภาครัฐและผู้มีอิทธิพลในเม็กซิโกที่ไล่ล่านักข่าวและนักกิจกรรม อีกทั้งพยายามบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อไม่ให้มีการเอาผิดกับพวกเดียวกัน และกล่าวถึงทางออกว่าสหรัฐฯ ควรปรับนโยบายการต่างประเทศกับเม็กซิโกเพื่อแก้ไขปัญหานี้

8 ส.ค. 2558 ลอรา คาร์ลเซน ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาของศูนย์เพื่อนโยบายการต่างประเทศเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการไล่ล่านักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวในเม็กซิโกโดยฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้มีอิทธิพลซึ่งหลายกรณีเป็นการลอบสังหารอย่างโหดร้าย

คาร์ลเซนเขียนบทความลงในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (FPIF) เล่าถึงกรณีสังหารช่างภาพข่าวชื่อรูเบน เอสปิโนซา ผู้ที่หลบหนีออกจากรัฐเวราครูซหลังจากถูกขู่ฆ่า แต่หลังจากนั้นก็พบว่าเขาถูกสังหารในอพาร์ตเมนต์ในกรุงเม็กซิโกซิตี้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา

อีกกรณีที่มีการระบุถึงคือกรณีสังหารนักกิจกรรมชื่อนาเดีย เวรา นักกิจกรรมผู้ที่เคยกล่าวให้สัมภาษณ์โดยมองผ่านกล้องอย่างอาจหาญว่าถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเธอขอให้รู้ว่า จาเวียร์ ดูอาร์เต ผู้ว่าการรัฐเวราครูซและคณะรัฐบาลของเขาเป็นผู้ก่อการ เธอหนีออกจากเวราครูซหลังจากถูกโจมตี แต่ในวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมาก็พบว่าเวราถูกทารุณกรรมทางเพศและถูกสังหารด้วยการยิงในระยะเผาขนในอพาร์ตเมนต์เดียวกับที่พบศพเอสปิโนซา

นอกจากนี้ยังมีกรณีการสังหารผู้หญิงอีก 3 คนในย่านชนชั้นกลางระดับสูงในช่วงบ่ายของวันที่ 31 ก.ค. ทำให้สื่อในเม็กซิโกกล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็น "กรณีฆาตกรรมรูเบน เอสปิโนซาและผู้หญิงอีก 4 คน"

เมื่อไม่นานมานี้มีกลุ่มนักข่าวและผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจที่มีเพื่อนร่วมงานของพวกเขาจำนวนมากถูกสังหาร ถูกอุ้มหาย ถูกสั่งย้าย หรือถูกเซนเซอร์โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ถูกลงโทษ

คาร์ลเซนระบุว่าตามปกติแล้วในเม็กซิโกซิตี้เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะปลอดภัยเพราะเจ้าพ่อค้ายาที่มักจะร่วมมือกับรัฐบาลจะคอยตามติดนักข่าวในพื้นที่ที่มีเหตุขัดแย้งมากกว่า แต่คดีสังหารผู้คนอย่างอุกอาจติดต่อกัน 5 คนในเมืองนี้ก็ทำให้ความเชื่อดังกล่าวพังทลายลง คาร์ลเซนระบุอีกว่าช่วงหลายวันก่อนที่เอสปิโนซาจะถูกสังหารเขายังถูกคุกคามโดยมีคนมาถามว่าเขาเป็นช่างภาพใช่หรือไม่เมื่อเขาตอบว่าใช่ก็ถูกขู่ว่า "คุณควรรู้ว่าพวกเราอยู่ที่นี่" ทำให้เมืองเม็กซิโกซิตี้กลายเป็นลานไล่ล่าแทนที่จะเป็นสถานที่ปลอดภัย

เอสปิโนซาเป็นช่างภาพข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวการเคลื่อนไหวทางสังคมในเวราครูซมาเป็นเวลา 8 ปี แล้วรวมถึงกรณีการประท้วงการสังหารนักข่าวชื่อเรจินา มาร์ติเนซ และเคยรายงานเรื่องการประท้วงกรณีการหายตัวไปของนักศึกษา 43 คนจากมหาวิทยาลัยอโยทสินาปาที่ถูกอุ้มหายโดยตำรวจท้องถิ่นในรัฐเกร์เรโร

เอสปิโนซายังเคยถ่ายภาพผู้ว่าการรัฐเวราครูซในสภาพเปิดให้เห็นท้องใหญ่ๆ สวมหมวกตำรวจ ภาพนี้เผยแพร่ลงหน้าปกนิตยสาร 'โปรเซสโซ' (Proceso) พร้อมข้อความว่า "เวราครูซ รัฐที่ไร้กฎหมาย" ทำให้ผู้ว่าการรัฐโกรธมากและส่งคนไปเอาสำเนาของนิตยสารดังกล่าวมาให้ได้จำนวนมากที่สุดแล้วเผาทำลาย เอสปิโนซายังเคยเล่าอีกว่าเขาเคยถูกข่มขู่เมื่อตอนกำลังถ่ายภาพผู้ประท้วง มีคนของรัฐขู่เขาว่าเขาควรจะหยุดถ่ายรูปพวกนี้ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนเรจินา มาร์ติเนซ นักข่าวที่ถูกสังหาร

สำนักงานอัยการพิเศษสำหรับคดีละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในเม็กซิโกระบุว่ามีนักข่าวถูกสังหาร 102 รายตั้งแต่ปี 2543-2557 ในเม็กซิโก อีกทั้งหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังระบุว่ากรณีเวราและผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ถูกสังหารแสดงให้เห็นว่าพวกเธออาจจะถูกทารุณกรรมทางเพศด้วย


ระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยว

แต่ทางการของเม็กซิโกซิตี้ก็ดูจะหลีกเลี่ยงการทำให้คดีนี้เป็นอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจทางการเมืองโดยถึงแม้จะประกาศว่าจะมีการสืบสวนคดีแต่ก็ไม่ได้ระบุถึงการที่เหยื่อถูกข่มขู่คุกคามมาก่อนและไม่ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่เหยื่อจะถูกข่มขืนหรือถูกทารุณกรรมทางเพศ อย่างไรก็ตามถึงแม้สื่อของรัฐบาลเม็กซิโกจะไม่เปิดเผยเรื่องนี้มากแต่ก็มีการเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมหาศาล ทำให้คนทราบเรื่องราวของเวรามากขึ้นทั้งเรื่องคดีและเรื่องชีวิตของเธอ จนทำให้มีกระแสการรณรงค์เรื่องชีวิตผู้หญิงก็มีความหมาย

คาร์ลเซนระบุในบทความอีกว่านอกจากทางการเม็กซิโกมีท่าทีไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดของคดีแล้ว ยังมีทีท่าพยายามปกปิดรายละเอียดของคดีด้วย เช่นเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ในที่ประชุมแถลงข่าวเรื่องความคืบหน้าของคดีอธิบดีกรมอัยการของเม็กซิโกซิตี้กล่าวในเชิงหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ว่าการสังหารนักข่าวและนักกิจกรรมจะเป็นคดีทางการเมืองและเป็นคดีละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่าเอสปิโนซาเดินทางเข้าเม็กซิโกซิตี้เพื่อหางานทำอันเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงจากมุมมองของเอสปิโนซาที่บอกว่าเขาหลบหนีการตามล่าจากเวราครูซ นอกจากนี้ยังมีการพยายามโยงปมสังหารว่ามีแรงจูงใจเรื่องการชิงทรัพย์ ทั้งๆ ที่ผู้ถูกสังหารมีร่องรอยถูกทารุณกรรมและการสังหารในแบบของนักฆ่า อีกทั้งยังไม่มีการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องจากรัฐบาลรัฐเวราครูซให้การในคดี

"มีสัญญาณว่าทางการเมืองเม็กซิโกซิตี้พยายามชักนำการสืบสวนไปทางใดทางหนึ่งซึ่งเรื่องนี้ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มนักข่าวโกรธมาก การที่อธิบดีกรมอัยการอ้างอย่างไร้สาระว่าเอสปิโนซาไม่มีงานทำในช่วงที่เขาถูกฆาตกรรมเป็นการพยายามสื่อว่าแรงจูงใจในการฆาตกรรมไม่ได้มาจากงานข่าวที่เขาทำ ตรงจุดนี้ทำให้ผู้คนเกิดความไม่พอใจ" คาร์ลเซนกล่าว

และถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมาพนักงานสืบสวนจะประกาศว่าพวกเขาจับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้วจากการตรวจสอบรอยนิ้วมือแต่ก็มีความกังวลว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินคดีเชื่อมโยงไปถึงตัวผู้มีอิทธิพลซึ่งอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกันเองกับรัฐบาล

คาร์ลเซนระบุในบทความอีกประเด็นหนึ่งคือการดำเนินนโยบายต่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เธออ้างอิงข้อมูลจากโครงการ 'เมอริดา อินนิชิเอทีฟ' (Merida Initiative) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกในการปราบปรามอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลระบุว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ให้งบประมาณช่วยเหลือรัฐบาลเม็กซิโกในโครงการสงครามปราบปรามยาเสพติดก็เกิดเหตุโจมตีนักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผู้คนมากกว่า 100,000 คน ถูกสังหารทั้งจากฝีมือของอาชญากรและฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

คาร์ลเซนระบุอีกว่างบประมาณที่สหรัฐฯ ให้นำไปใช้สร้างกลไกคุ้มครองประชาชนกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ แต่กลับยิ่งทำให้ภาครัฐของเม็กซิโกมองว่าตัวเองเป็น "พระเอก" ในการปราบปรามแก๊งอิทธิพล แต่ก็มีกรณีการทุจริต สมรู้ร่วมคิด และใช้อำนาจในทางที่ผิดจากภาครัฐทำให้นักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนกลายเป็นผู้รับเคราะห์ คาร์ลเซนเปรียบเปรยว่า เหมือนกับการพยายามช่วยเหลือเหยื่อแต่ไปติดอาวุธให้ผู้ล่า ซึ่งเธอเรียกร้องให้สหรัฐฯ เล็งเห็นความผิดพลาดตรงจุดนี้

"จนกว่าจะมีความยุติธรรมและมาตรการเอาผิดต่อผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคนที่พูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ การเอาเงินภาษีของชาวอเมริกันไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเม็กซิโกถือเป็นการทรยศต่อมิตรภาพของชาวเม็กซิกันและต่อหลักการอันสูงส่งของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ" คาร์ลเซนระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

In Mexico, Hunted Down for Speaking Out, FPIF, 06-08-2015
http://fpif.org/in-mexico-hunted-down-for-speaking-out/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net