Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ดูภาพยนตร์ไทยมาเป็นเวลานาน เพราะคิดว่าหนังไทยคุณภาพต่ำ มีแต่ตลกกับผี อาจจะไม่ทราบว่าในระยะไม่กี่ปีมานี้ หนังไทยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ เรียกว่าได้ว่ามีมาตรฐานพอดูได้เป็นส่วนใหญ่ มีหลายเรื่องที่ถือว่าดีได้เลย เช่น รักแห่งสยาม (ตุลาคม 2550) รักที่รอคอย หรือ October Sonata (ธันวาคม 2552) เอทีเอ็มเออรักเออเร่อ(มกราคม 2555) พี่มากพระโขนง(มีนาคม 2556) คิดถึงวิทยา (มีนาคม 2557) เป็นต้น

แต่ในกรณีที่จะกล่าวถึงนี้คือเรื่อง “ละติจูดที่ 6” โดยการกำกับของ ธนดล นวลสุทธิ์ ที่เข้าฉายในเดือนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนังคุณภาพปานกลาง แต่ที่น่าสนใจเพราะเป็นหนังที่มีลักษณะการเมือง และมุ่งที่จะสื่อถึงปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ปัจจุบัน และยังเป็นหนังที่สร้างขึ้นภายใต้การสนับสนุนของกอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) โดย พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รอง ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติ หมายเลข 5  กอ.รมน. ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ได้อธิบายว่า หนังเรื่องนี้ เป็น “เรื่องของราชการ ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาภาคใต้ สะท้อนความสวยงาม ของภาคใต้ และวิถีชีวิต" และต้องการ “สร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนผ่านทางสื่อภาพยนตร์” ก็น่าจะลองมาติดตามดูกัน

เนื้อเรื่องเล่าถึงความรักของหนุ่มสาว 2 คู่ ต้นซึ่งเป็นพนักงานธนาคารอิสลามถูกส่งจากกรุงเทพฯให้มาประจำที่สาขาปัตตานี เพื่อปรับปรุงระบบงาน โดยมีฝ้ายฝูที่เป็นหลานสาววัยน่ารักที่อยู่ในความดูแลของต้นมาอยู่ด้วย แรกสุดต้นก็มีความหวั่นวิตกจากคราวคราวความไม่สงบในเขตสามจังหวัด แต่เมื่อต้นมาอยู่ที่ปัตตานีก็ได้พบฟาติมา หรือ ฟ้า ที่เป็นครูสาวชาวมุสลิมสอนที่โรงเรียนประถมของฝ้ายฝู ซึ่งเป็นธิดาของฮัตซัน ที่เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ต้นกับฟ้าเริ่มใจให้กัน และฮัตซันไม่เห็นด้วยที่ฟ้าจะมีคนรักเป็นคนต่างศาสนา ทำให้ต้นต้องปรับตัว ส่วนอีกคู่หนึ่ง คือ เฟิร์นนักเรียนมัธยม ที่เป็นลูกสาวของนายทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ที่รักอยู่กับชารีฟ เด็กหนุ่มมัธยมที่อยู่บ้านใกล้กัน และเป็นผู้มุ่งมั่นด้านกีฬาปันจักสีลัต โดยมีคู่แข่งคือกอเซ็ม ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนที่มีความสามารถมากกว่า แต่บิดาของชารีฟ ต้องการให้เขารักษาการแสดงดจิเก(ลิเก)ฮูลู การละเล่นพื้นเมือง มากกว่าที่จะมุ่งมั่นฝึกซ้อมกิฬา แต่ในที่สุด ความรักของทั้งสองคู่ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ท่ามกลางฉากความรุนแรงของระเบิดที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนสถานการณ์

ชื่อของหนังก็ได้น่าสนใจไม่น้อย เพราะละติจูดที่ 6 คือ ชื่อของเส้นรุ้งที่ผ่านจังหวัดปัตตานี และในเนื้อเรื่องยังให้เป็นชื่อรายการเพลงของวิทยุชุมชนปัตตานี ที่เฟิร์นเป็นผู้จัดรายการอยู่ เนื้อเรื่องของหนังพยายามเล่าว่า ชีวิตที่ดำเนินไปของชาวปัตตานียังคงสงบ ราบรื่น ไม่มีความขัดแย้งในชุมชนอย่างรุนแรง ชาวพุทธและชาวมุสลิมก็ยังคงอยู่ด้วยกัน และมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน ดังนั้น จากความรู้สึกที่หวาดระแวงของต้น ที่เป็นคนจากกรุงเทพฯ และรับรู้เรื่องราวความรุนแรงโดยผ่านสื่อ ก็คลี่คลายไปสู่ความเข้าใจ ความรัก และความผูกพันกับปัตตานี มีฉากที่สำคัญที่ต้นตกใจ คิดว่าหีบไม้ของบังเจ้าบ้านชาวปัตตานีจะเป็นอาวุธร้ายแรง แต่ความจริงเป็นเพลงหีบเครื่องดนตรี เหตุการณ์จึงไม่ได้ร้ายแรงเท่าที่คาดหมาย และต้นที่เป็นนักแต่งเพลง ก็ได้แรงบันดาลใจจากเพลงของบังเจ้าของบ้าน

สรุปแล้วหนังเรื่องนี้ ต้องการที่จะสร้างแบบโลกสวยสำหรับปัตตานี ที่คนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันได้ตามปกติ ข้อดีอย่างมากของหนังเรื่องนี้ คือการสร้างให้เข้าใจศาสนาอิสลามในทางที่ดีมากขึ้น ไม่โยงความแตกต่างทางศาสนาเข้ากับปัญหาการเมือง และในทางตรงข้าม ยังพยายามสร้างสะพานเชื่อมศาสนา โดยสร้างให้ความรักที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทั้งต้นและฟ้า ทั้งเฟิร์นและชารีฟ จึงเป็นความรักระหว่างคนต่างศาสนา เน้นความน่ารักและความมีน้ำใจของชาวมุสลิม การทักทายแบบมุสลิมว่า ”อัสสะลามุอะลัยกุม" (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ก็เป็นเรื่องปกติ รวมถึงการที่ฟ้าเปลี่ยนจากการไม่สวมฮิญาบ(ผ้าคลุมหน้า) กลับมาสวมก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้งอะไรมากนัก

หนังยังพยายามอธิบายด้วยว่า เหตุใดคนจำนวนมากที่อยู่ปัตตานีในหนังเรื่องนี้ จึงไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่ โดยให้คำตอบถึงความผูกพันทางใจกับสถานที่ที่เป็นบ้านเกิด และอยู่กันด้วยความหวังที่ว่า สักวันสังคมสามจังหวัดภาคใต้ก็จะกลับมาสู่ปกติสุขเหมือนเดิม และหนังยังจงใจถ่ายทำฉากที่งดงามของเมืองปัตตานีด้วยมุมกล้องที่สวย ทั้งแม่น้ำปัตตานี สะพานข้ามแม่น้ำ ตลาด มัศยิศ ศาลเจ้าแม่ลิ้มโกวเหนี่ยว ตลอดจนอาคารแบบเก่าคือวังยะหริ่ง บ้านพักที่มีห้องนอนและเตียงสมัยเก่า และใส่การแสดงลิเกพื้นเมือง เพื่อเป็นการโฆษณาเมืองปัตตานี สร้างภาพสามจังหวัดภาคใต้ให้ดูเป็นปกติสุขและงดงามมากขึ้น

ในเรื่องมีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้ง และเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเนื้อเรื่อง แต่หนังไม่ได้พยายามที่จะไปอธิบายหรือเข้าใจปัญหา ไม่สนใจรากฐานทางประวัติศาสตร์ของปัญหา แต่แสดงราวกับว่าระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความคุ้นชินของสังคม ไม่ทราบและไม่จำเป็นต้องทราบว่าใครทำและทำเพื่ออะไร การวางระเบิดเหล่านี้ จึงเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมที่มาทำลายชีวิตปกติของประชาชน และไม่มีใครต้อนรับ แต่การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ กลายเป็นเรื่องอธิบายว่า เหตุใดปัตตานีจึงจะต้องมีกองทหารไปตั้งประจำการ หนังต้องการที่จะสื่อว่า ทหารเข้าไปช่วยรักษาความสงบ และสร้างชีวิตปกติสุข ภาพในหนังจึงเห็นว่า ทหารอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนปัตตานี คอยเข้าไปช่วยเหลือ คุ้มครอง ไม่มีภาพความขัดแย้งระหว่างทหารกับประชาชน ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ก็บรรลุเป้าหมายในการสร้างภาพของทหารประจำการในหนังเรื่องนี้ ให้เป็นภาพที่งดงามประดับเมืองปัตตานี

ละติจูดที่ 6 จึงเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ แต่ชวนให้ทำความเข้าใจกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้แบบผิวเผิน แต่มุ่งแต่เน้นความงามของสถานที่ และเน้นโฆษณาให้กับฝ่ายทหาร แต่ถ้าเอ่ยถึงความเป็นหนังรักโรแมนติก ก็ยังไม่ได้สะท้อนความรักที่ลึกซึ้งกินใจอะไรมากนัก เพราะความรักระหว่างต้นกับฟ้า ก็ดูไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นไปกว่าความประทับใจรูปร่างหน้าตา

ถ้ามองมะลุภาพอันงดงามในหนังเรื่องนี้ กลับให้ความรู้สึกว่า ประชาชนสามจังหวัดภาคใต้น่าจะเป็นด่านหน้าที่ชีวิตถูกทำให้คุ้นชินกับการมีทหารมาประจำการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 สังคมไทยทั้งประเทศถูกทำให้คุ้นชินกับการที่ทหารประจำการกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เรามีทหารมาพูดเจื้อยแจ้งอยู่ทางโทรทัศน์ มีเหตุการณ์โน้นเหตุการณ์นี้ ที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้กระทั่งการจัดงานวิชาการ งานวัฒนธรรม ทหารก็เข้ามามีส่วนร่วมหมด

กอ.รมน.น่าจะต้องสร้างหนังอีกสักเรื่องฉายทั่วโลกที่สะท้อนความเป็นปกติสุขของคนทั้งประเทศภายใต้ระบบทหาร โดยเน้นฉากและมุมกล้องที่สวยงามของกรุงเทพฯไปโฆษณาเสียเลย

แต่สำหรับผมคิดว่า อย่าไปทำดีกว่า ควรปล่อยให้ประเทศเป็นตามความคิดฝันที่แท้จริงของประชาชน คือ ให้ประเทศกลับฟื้นคืนสู่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ไม่มีกองท้พเข้ามาเกี่ยวข้องควบคุม ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่กลายเป็นนักโทษการเมืองในคุก จะได้กลับออกมาอยู่กับครอบครัวอย่างเป็นปกติสุข ถ้าเป็นเช่นนั้น สังคมของประเทศไทยจะดีขึ้นในสายตาของนานาชาติเอง โดยไม่ต้องไปสร้างหนังโฆษณา

ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ ผมกำลังสงสัยว่าจะเป็นการดีกว่าไหม ถ้าให้เขาฝันถึงชีวิตแบบปกติสุข โดยไม่ต้องมีทหารเข้าไปประจำการแบบนั้น นี่คงเป็นเรื่องนอกกรอบที่ละติจูดที่ 6 คงตอบไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net