Skip to main content
sharethis

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เผย กมธ.รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง" สมาชิก 23 คน มีอำนาจพิเศษ 5 ปีหลัง รธน.ประกาศใช้ หากมีความขัดแย้งจนคุมไม่ได้ให้มีอำนาจจัดการได้ สามารถสั่งและยับยั้งฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร และยังเตรียมประชามติถาม ปชช. ว่าต้องการรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ส.ค. (ที่มาของภาพ: วิทยุรัฐสภา)

ตามที่มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 142 เมื่อวันอังคารที่ 11 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยมีระเบียบการประชุมเป็นการพิจารณาบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต่อมาวิทยุรัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุม กมธ.รัฐธรรมนูญ มีมติกำหนดให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง" มีสมาชิก 23 คน ที่มา 3 ส่วน ได้แก่

1. มาจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. มาจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา

และ 3.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน  11 คน เป็นผู้เชียวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง ซึ่งแต่งตั้งจากมติรัฐสภา

ส่วนอำนาจหน้าที่นั้น ได้ให้อำนาจพิเศษคือ ภายใน 5 ปี หลัง รธน.ประกาศใช้ ระหว่างนั้น หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ ให้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นจัดการสถานการณ์นั้นๆ ได้ และสามารถสั่งการและยับยั้งการกระทำของ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารได้ และให้ถือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด

ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยด้วยว่า เขาเองเตรียมที่เสนอคำถามประชามติต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ถามประชาชนว่าต้องการให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรังในประเทศหรือไม่

โดยรูปแบบของรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ นั้น กำหนดให้ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ใน 4 ปี แรก ให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ  ด้วยคะแนนเสียง ส.ส.  4 ใน 5 ซึ่งจะทำให้ได้รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และพรรคการเมืองต่างๆ ก็น่าจะยอมรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net