Skip to main content
sharethis

ตัวแทนชาวบ้านจาก5พื้นที่พิพาทภาคอีสานบอกเล่าถึงสถานการณ์เรื่องที่ทำกินและทรัพยากร การคุกคามแกนนำและชาวบ้าน การสมคบระหว่างทหารและทุนทั้งในระดับพื้นที่และในระดับมหภาคเพื่อช่วงชิงสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจากประชาชนส่อให้เห็นถึงระดับการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่ลดลงต่อเนื่อง

18 ก.ค.58 กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ “ดาวดิน” จัดงานครบรอบ 12 ปี ที่บ้านดาวดิน จังหวัดขอนแก่น ช่วงหนึ่งของงานเป็นการเสวนาในหัวข้อ “การมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 หลักการของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านจาก 5 พื้นที่ปัญหา ได้สะท้อนสภาวการณ์ที่ “การมีส่วนร่วม” ถูกทำให้หายไปภายหลังการรัฐประหาร และภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนจัดการตนเอง และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว

ระเบียง แข็งขัน ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ห้วยเสีอเต้น-โคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  เล่าว่า หลังรัฐประหารมีโรงงานเชือดไก่ของซีพีเข้ามาในพื้นที่โดยผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นนายหน้าให้นายทุน เช่นเดียวกับก่อนรัฐประหาร ไม่ถามความคิดเห็น ไม่ปิดประกาศ ทำประชาคมอย่างเร่งรีบ เราไม่พอใจจึงทำการคัดค้าน โรงงานเชือดไก่ก็ไม่สามารถตั้งได้

ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเขามักไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน มีอะไรก็เข้าหาผู้นำ หลังรัฐประหาร ยิ่งทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรเขาก็จับตามอง แม้แต่วันนี้เราจะมาที่นี่ก็มีตำรวจเข้ามาถามว่าจะไปทำไม แล้วมีปลัดอำเภอจะโทรเช็คตลอดว่า จะไปไหน ไปทำอะไร เราอัดอั้นตันใจ แสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้ บางครั้งก็โมโห ไปไหนก็ต้องขออนุญาต จะไปเยี่ยมลูกนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ก็ต้องขออนุญาต

ข้อเสนอของเราคือ เราอยากทำอะไรในหมู่บ้านอย่ามาห้าม อย่ามาทำลายสิ่งแวดล้อมของเรา ถ้าจะมีโรงงานอะไรที่จะมีผลกระทบ ให้ชาวบ้านคิดเอาทำเอา จัดการปัญหาของตนเองโดยตัวเราเอง ผู้นำหรือรัฐบาลไม่ต้องมาจัดการให้

นิด ต่อทุน ตัวแทนชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เล่าถึงความเดือดร้อนที่มีมานานแล้ว โดยรัฐประกาศเขตป่าสงวน ให้สัมปทาน ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) ปลูกป่าตั้งแต่ปี 21 เราลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ เพราะทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว แต่ ออป. ไม่ฟัง บอกว่าป่าสงวนแห่งชาติคุณไม่มีสิทธิ

ต่อมาเรารวมกันไปอยู่ที่บ่อแก้ว ปฏิบัติการจัดการทรัพยากรโดยตนเอง ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ภาครัฐไม่ฟัง รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ฟังหน่อย แต่หลังรัฐประหารหนักมากเลย ประชาชนไม่สามารถออกความเห็น หรือออกสิทธิเสียง มีแต่ผิดอย่างเดียว ทหารเข้าไปหาที่บ่อแก้ว บอกลุงจะเอายังไงจะอยู่ที่ของรัฐหรือ  เราพยายามบอกว่า เราอยู่ก่อนประกาศเขตป่าสงวนแล้ว อยากสะท้อนให้รัฐบาลว่า ต้องฟังประชาชนหน่อย เอาแต่กฎหมายมาพูดไม่ได้ เราเคยอยู่กับป่ามาก่อน ต้องการการจัดการเอง แต่เขาจะเอาคืนไป เขาว่าประชาชนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ ให้ออกไปเลย ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านมาก 

อดีตรัฐประกาศเขตป่าทุกประเภทไม่มีการกันเขตของชาวบ้านออก ก็เลยมีผลกระทบต่อมา เราทำอะไรได้ เราก็ลุกมาทวง เราเป็นคนกลุ่มน้อย เขาว่าเราทำลายทรัพยากรป่าไม้ เราอึดอัดมาก เรามีแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ที่ทำกิน  บ่อแก้วจะจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน เป็นแปลงรวม พื้นที่ที่สวนป่าคอนสารปลูกทับ 4,401 ไร่ เราจะเอาพันกว่าไร่ ไม่เอาหลาย รับรองจะจัดการป่าไม้ให้สมบูรณ์ ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ คือจุดยืนของเรา

การมีส่วนร่วมคือ ให้ชาวบ้านเป็นผู้เสนอ ข้าราชการเป็นผู้รับฟัง สิ่งใดไม่ถูกต้อง เรามาคิดกัน จับเข่าคุยกัน ให้ประชาชนออกแบบร่วมกัน ทั้งดิน น้ำ ป่า อยู่จุดใด ที่ทำมาหากินอยู่จุดไหน ป่าชุมชนอยู่จุดไหน ต้องถามชาวบ้าน ชาวบ้านจะดูแลแบบไหนต้องคุยกัน เราเคยอยู่กับป่ามาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่รวมศูนย์อยู่กรุงเทพฯ แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการชาวบ้าน ข้อเสนอของเราคือ ให้รัฐบาลไม่ว่ารูปแบบไหน รัฐประหาร คุณอยากอยู่นานก็ต้องแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ไม่งั้นก็เลือกตั้งดีกว่า ประชาธิปไตย ความคิดเห็นหลากหลายคิดต่างได้ ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว  คำว่าประชาธิปไตยทุกคนต้องมีส่วนร่วม ทั้งความคิดเห็น และการไปการมา ตอนนี้ออก พ.ร.บ.ชุมนุม จำกัดสิทธิ พวกเราที่รักความเป็นธรรมทำอย่างไรจะก้าวข้ามได้ ต้องรวมพลังกัน พลังประชาชนคือเสียงสวรรค์

ด้านตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ทบทวนสถานการณ์ในพื้นที่ก่อนรัฐประหารว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทำงานกันมาพอสมควรก้าวถึงขั้นนโยบาย เราได้มติ ครม.ในปี 54 นี่คือการเมือง ทหารถามว่าเราเล่นการเมืองหรือเปล่า เขาทำกันมาก่อนที่คุณจะรัฐประหารอีก กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเรียกร้องมาทุกรัฐบาล ได้รับคำตอบตลอด แต่หลังรัฐประหารรัฐบาล คสช. เรียกร้องไปกี่ฉบับไม่เคยมีคำตอบเลย มีแต่บอกให้อยู่เฉยๆ เดี๋ยวแก้ปัญหาให้เอง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีส่วนร่วม ชาวบ้านเขาร่วมกันมานานแล้ว ยังจะมาปิดกั้นกันไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ก่อนหน้านี้บริษัทได้ปิดตัวลง เนื่องจากอีไอเอบอกว่า บ่อเก็บกากสารพิษไซยาไนด์สามารถทนฝนได้ประมาณ 100 ปี แต่เปิดได้ 5 ปีพังแล้ว กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก็เลยสั่งปิด สินแร่ที่เหลืออยู่ประมาณ 1,000 ตัน ก็มีการลักลอบขนวันที่ 15 พ.ค. 57 ที่เราถูกตี หลังจากนั้น 7 วัน ก็รัฐประหาร ทหารก็เข้าคุมพื้นที่ มาไกล่เกลี่ยว่า กำแพงที่คุณสร้างทำลายได้มั้ย บังเกอร์ที่กรุงเทพ ที่เสื้อแดงทะเลาะกันผมยังเอาออกเลย พวกคุณเป็นใคร พวกเรางงมาก เพราะนั่นคือการเมืองในสภา ทะเลาะกันก็เรื่องของคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเรา เรายืนยันจุดนี้ พวกเขาก็เปลี่ยนวิธี

พวกเราน่าจะเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกที่โดนเรียกรายงานตัวโดยกฎอัยการศึก ผมถูกเรียกประมาณ 3 รอบ เขาก็เอาแร่ที่เหลือออกจนได้ แลกกับคดี ข่มขู่ทุกๆทาง พี่น้องที่ถูกคดีทั้งหมด 33 คน มีอยู่ 2-3 คน ที่สภาพจิตใจก็ไม่ไหวด้วยกฎทหาร ก็ต้องยอม การขนแร่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากใช้กฎอัยการศึก ก่อนที่เขาจะขนแร่ได้ พี่น้องมีการเคลื่อนในชุมชนตลอด และมีการเรียกรายงานตัวตลอด มันเป็นความรู้สึก ไม่ใช่การเมือง เป็นความรู้สึกที่สะท้อนว่า รัฐต้องฟังเรา คุณอยากเป็นใหญ่ก็ต้องฟังประชาชน เราไมได้พูดตามหลักการการเมือง แต่พูดด้วยจิตสำนึกว่า คุณต้องฟังเรา เพราะเราได้รับผลกระทบ ถ้าจะเปิดโรงงานต่อ ให้เคลียร์คดีวันที่ 15 ให้เสร็จก่อนจนกว่าจะสิ้นสุดถึงฎีกากัน ปัจจุบันคดีก็ยังไม่เดินไปไหน ช่วงนี้ทหารมีอภิสิทธิสูง ทหารที่ถูกจับก็เป็นนายพล

ความเห็นส่วนตัว รัฐบาลไหน เราก็เรียกร้อง คุณอยากเป็นรัฐบาลพวกเราก็เรียกร้องว่า ปิดเหมืองฟื้นฟู

การมีส่วนร่วมต้องเริ่มในทุกกระบวนการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ แต่ส่วนใหญ่เราจะได้แค่ 2 กระบวนการ มีการลงมาทำประชาคม แต่คนตัดสินใจไม่ใช่ชาวบ้าน ยิ่ง พรบ.แร่ใหม่ พื้นที่ไม่ถึงร้อยไร่ ผู้ว่าฯ สามารถอนุมัติได้ ที่จริงถ้าประชาคมแล้วชาวบ้านไม่เห็นด้วย ก็ควรสิ้นสุดแค่กระบวนการนั้น ไม่ว่าเรื่องพลังงาน เหมืองแร่ ป่าไม้ ถ้าชาวบ้านไม่เอา จะขึ้นไปให้ข้างบนอนุมัติทำไม กฎหมายที่เว้นแต่ทั้งหลายยกเลิกซะ พี่น้องเราก็เรียกร้องมาเยอะแล้ว เครือข่ายแร่ก็คุยเรื่องนี้เยอะมาก แต่ทำอย่างไรให้รัฐมนตรี ให้ประยุทธเข้าใจพี่น้องเรา ถ้าทำไม่ได้ก็ออกซะ

มาถึง สงกรานต์ ศรีนุเดช ตัวแทนชาวบ้านจากหนองแซง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสำรวจปิโตรเลียม เล่าให้ฟังว่า ปิโตรเลียมเข้ามาบ้านหนองแซงตั้งแต่ปี 53 แต่ชาวบ้านไม่รู้จักว่าเข้ามาแบบไหน ทำอะไร เพราะเข้ามาหาผู้นำ เทศบาล จัดเวทีที่เทศบาล ไม่เชิญชาวบ้าน ปี 56 ก็มาจัดเวทีเพิ่มเติม ช่วงนี้ชาวบ้านเริ่มรู้จัก และเข้าไปตั้งคำถามในเวทีได้

แต่หลังรัฐประหารการไปไหนไม่เหมือนเดิม จะเคลื่อนตัวไปไหน เขาก็มาดูตลอด จะมาเฝ้าในหมู่บ้าน เฝ้าดูว่าจะทำอะไร จะไปไหน เขาก็ไม่ได้ข่มขู่ บอกทำตามหน้าที่ แต่เราทำงานยาก ทำอะไรก็ยาก ไม่เหมือนเดิม เคยไปหาพ่อที่บ้านครั้งหนึ่ง ก็ไม่อยากให้เขาไปหา มันเป็นการข่มขู่ เพราะกลุ่มของเราบางคนก็ใจเต็มร้อย บางคนก็ห้าสิบห้าสิบ พอเห็นเสื้อลายๆ เข้าไป ก็ทำให้เขากลัว ทำให้คนแตกตื่น อยากสู้เพื่อความถูกต้องอยู่ แต่เขาเอาความข่มขู่มาบังคับ เราก็กลัวสู้ไม่ได้

ชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมแต่ถูกปิดกั้น ขอให้ข้าราชการอย่าปิดกั้น แม้แต่ข่าวสาร พยายามเปิดให้ชาวบ้านรู้จักด้วย จะทำอะไรก็อย่าปิดบัง การขุดเจาะการสัมปทานก็ให้ยกเลิก อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน ให้รับฟังเสียงของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านคือเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง เป็นเจ้านาย รับฟังเขาบ้าง รับใช้เขาบ้าง อย่ามาบังคับเขา ให้ยกเลิกอันไหนที่มันไม่ดี ปฏิบัติกับประชาชนให้มันดีๆ กว่านี้ การพัฒนาอะไรก็จะดีขึ้น

สุดท้ายคือพ่อยุทธ แพนดี  ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่บ้านนามูลเริ่มขึ้นหลังรัฐประหาร พ่อยุทธกล่าวว่า กระบวนการในการสำรวจหรือขุดเจาะก๊าซ ประชาชนมีส่วนเข้าไปรับฟังความคิดเห็นน้อย แล้วก็อยู่ในกรอบของทหาร เข้าไปนั่งฟัง ทหารก็ล้อมรอบไปหมด แล้วก็มีรถผู้ต้องขัง ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เขาทำไม่ชอบธรรม คือโกงอำนาจ สิทธิของคน บังคับคนให้ยอมรับมาตรการที่เขาเสนอมา ปกติอำนาจที่แท้จริงคือ ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ทุกวันนี้ กลุ่มธุรกิจเป็นใหญ่ รัฐประหารสร้างอำนาจให้นายทุน กดขี่ข่มเหงประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของตนเอง

ผลกระทบของชุมชนยังมีการข่มขู่ทุกวัน ตอนที่ผมมาวันนี้ก็มีการข่มขู่ มีการตรวจค้น ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหว ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ความเห็นของผมประเด็นหลักรัฐประหารคือการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน เพื่อกลุ่มตนเองเสวยอำนาจ วางรากฐานให้กลุ่มของตนเอง ที่ดาวดินเคลื่อนไหว เขาบอกว่าเป็นการเมือง แต่ความเห็นของผม การเมืองมันขึ้นอยู่กับปากท้องเรา ถ้าระบบการเมืองไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนก็ลำบาก ทุกข์ยาก ก็ต้องมีการเมืองประกอบกับประชาชน เป็นภาคประชาชน ถ้าตัดประชาชนออก เป็นอำนาจของตนเอง โดยอ้างอันนั้นอันนี้ แล้วประชาชนอยู่ที่ไหนในพื้นที่ประเทศไทย

ในการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี มีชาวบ้านเข้าไปเป็นกรรมการด้วย แต่ที่จริงกรรมการไตรภาคีเป็นคนของบริษัทจัดตั้ง ไม่ได้เป็นคนของประชาชน ไตรภาคีตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ดูประชาชนมีส่วนร่วม แต่จริงๆ แล้วเป็นไตรภาคีจัดตั้งเพื่อให้ผ่านเข้าสู่ขบวนการขุดเจาะ

อยากให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนทำอีไอเอต้องรับฟังเสียงประชาชน คนในพื้นที่เองถึงจะรู้ว่าอันไหนผิดอันไหนถูก หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงคือหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ต้องรับฟังปัญหาและการตัดสินใจของคนในพื้นที่ อย่าเอาชาติมาอ้างว่า ผลประโยชน์ชาติจะหมด แท้จริงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ถ้าบริหารเป็นไม่เอาให้นายทุน อีกร้อยปีก็ไม่หมด   ให้เคารพสิทธิเสียงประชาชน สำคัญที่สุดคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้รีบเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net