Skip to main content
sharethis

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังสมาชิกเว็บไซต์ pantip.com ชื่อ ‘PARENTAL ADVISORY’ ตั้งกระทู้ "ขอคำปรึกษาด้วยครับ น้องสาวโดนร้านกาแฟข่มขู่ให้โพสต์ภาพขอโทษทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน" โดยผู้ตั้งกระทู้ ต้องการปรึกษาประเด็นทางกฎหมาย และเล่าว่า น้องสาวได้แวะใช้บริการร้านกาแฟริมทางแห่งหนึ่ง ก็เช็คอินในเฟซบุ๊ก จากนั้นก็มีเพื่อนในเฟซบุ๊กคอมเม้นท์ถามถึงรสของกาแฟ ซึ่งน้องสาวตอบไปในลักษณะไม่ประทับใจ สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของร้านดังกล่าว จนมีการแคปเจอร์ข้อความ พร้อมกล่าวหาว่าเป็นการทำให้ร้านเสียชื่อเสียงและผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยร้านได้ส่งภาพและข้อความให้น้องสาวขอโทษทางร้านทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน ด้วย

เจ้าของร้าน ชี้เรื่องมันจบไปแล้ว

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ได้พยายามติดต่อสอบถามข้อเท็จจริง กับเจ้าของร้านกาแฟดังกล่าว แต่เจ้าของร้านตอบเพียงสั้นๆว่า ไม่อยากเป็นข่าว เพราะเรื่องมันจบไปแล้ว และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ยืนยันว่าร้านนี้เป็นเพียงแค่ร้านกาแฟเล็กๆ ที่ขายกับลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาเท่านั้น

นัก กม. ชี้วิจารณ์ร้านกาแฟ โดยสุจริต ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า กรณีนี้น้องสาวเจ้าของกระทู้ไม่เข้าข่ายความผิด ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นการติชม วิจารณ์โดยสุจริต ส่วนคำแนะนำถึงชาวเน็ต ขอให้อย่ากังวล หากเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตใจสามารถทำได้ สำหรับความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วงเล็บ 2 นั้นหลักๆ จะอยู่ที่การทำฟิชชิ่ง (เว็บไซต์ปลอม, อีเมล์ปลอม) รวมถึงการปลอมแปลงตัวตนแอบอ้าง ซึ่งยังมีหลายคนสับสนกับกฎหมายหมิ่นประมาท เมื่อถามว่าการโพสต์แบบไหนจะเข้าข่ายความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ อาจารย์ไพบูลย์ ระบุว่า ถ้าหากโพสต์ว่า นาย A รับสินบนจากนาย B แบบไม่มีหลักฐาน การกระทำแบบนี้จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14

‘กล้า’ เสริมถึงเวลาที่คดีหมิ่นฯ จะเป็นเรื่องทางแพ่ง และใครอยากฟ้องต้องพิสูจน์เอง

กล้า สมุทวณิช นักเขียน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Kla Samudavanija’ ในลักษณะสาธารณะเสริมด้วยว่า ถูกแล้วครับ ในทางกฎหมาย การติชมอย่างเป็นธรรมโดยสุตจริตไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นเล่าครับ การที่หมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา ที่ใครๆ ก็ฟ้องเองหรือไปแจ้งความดำเนินคดีได้ คนไม่รู้กฎหมาย เห็นใครไปแจ้งความ มีชื่อตัวเองอยู่ในบันทึกประจำวันตำรวจ ก็นอนไม่หลับแล้ว หรือถ้าคนฟ้องขยันฟ้องศาล ก็ได้หมายศาลมาปะหน้าบ้าน ขนาดคนรู้กฎหมาย เจอหมายศาลมาแปะหน้าบ้าน จิตไม่แข็งจริงก็อยู่ไม่เป็นสุข

หรือถ้าเรื่องถึงศาล ต้องขึ้นศาล ต้องประกันตัว ฯลฯ ก็ไม่สนุกแล้วครับ ยังไม่ต้องพูดถึงแนวการตีความจากศาลว่า การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มูลคดีเกิดทุกที่ที่คำโฆษณานั้นไปถึง ดังนั้นการโพสต์ในอินเตอร์เน็ต เปิดเน็ตได้ที่ไหน มูลคดีเกิดได้ที่นั่น ไปแจ้งความได้ที่นั่น ส่งผลให้ผู้เสียหายที่ไม่สุจริต ไปแกล้งแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล ที่ผู้ถูกกล่าวหาไปได้ไม่สะดวกอีก

กล้า ยังตั้งคำถามอีกว่า “ถึงเวลาหรือยัง ที่คดีหมิ่นประมาทจะเป็นเรื่องทางแพ่ง  ใครอยากฟ้องต้องพิสูจน์เอง เรียกค่าเสียหายก็ต้องมีเงินวางศาล”

สำหรับกรณีเช็คอินเฟซบุ๊ก วิจารณ์ร้านกาแฟ ‘PARENTAL ADVISORY’ ผู้ตั้งกระทู้ใน pantip.com ดังกล่าว เล่าด้วยว่า หลังจากที่น้องสาวของตนวิจารณ์กาแฟผ่านเฟซบุ๊ก ทางร้านก็ตามมาอ่าน คงเป็นเพราะเช็คอินผ่านเฟซบุ๊ก แล้วเกิดความไม่พอใจ จึงแคปเจอร์รูปข้อความที่น้องตนตอบเพื่อนไว้ พร้อมกล่าวหาหาว่าน้องผมทำให้ร้านเขาเสียชื่อเสียง ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยทางร้านได้ข่มขู่ ให้น้องตนโพสต์ภาพขอโทษทางร้านทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน โดยทางร้านได้ทำภาพส่งมาให้น้องตนเสร็จสรรพ ข้อความระบุว่า

"ดิฉัน….ซึ่งได้โพสต์กล่าวหา สร้างความเสียหายให้กับร้านกาแฟ.... ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์/คึกคะนอง อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายร้ายแรงมาก ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งทางร้านกาแฟก็ไม่ได้ดำเนินคดีเอาโทษ ดิฉันต้องกราบขอโทษ และขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูง ดิฉันขอไถ่โทษด้วยการโพสต์ภาพและข้อความนี้ทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือนค่ะ ดิฉันขอยืนยันว่า ร้านกาแฟนั้น กาแฟและเครื่องดื่มทุกประเภท อร่อยมากค่ะ ดิฉันขอเชิญชวนทุกท่านที่อ่านโพสต์นี้ ได้แวะชิมนะคะ"

ภาพพร้อมข้อความที่ผู้ตั้งกระทู้ระบุเป็นของที่เจ้าของร้ายกาแฟส่งให้โพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net