Skip to main content
sharethis

ต้อนรับ “อาวาบีนซำซูดิง” รองแชมป์ประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายูนานาชาติที่มาเลเซีย ในฐานะตัวแทนประเทศไทยแต่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่ เจ้าตัวเผยไม่ได้หวังไกลแค่อยากให้โลกรู้ว่าที่นี่ยังใช้ภาษามลายูกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้สนใจภาษาของตัวเอง เพราะเป็นไปได้สูงที่มลายูจะเป็นภาษาโลกแล้ว


 

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา ตัวแทนโรงเรียนประทีปวิทยา ต.มะรือโบตก อ.ระแง จ.นราธิวาส พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มารอต้อนรับนายอาวาบีน ซำซูดิง และนางสาวพาตีเมาะ มะนอ ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายูนานาชาติครั้งที่ 9 (Pidato PABM 2015) ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 1 – 12 สิงหาคม 2558 โดยมีญาติมารอรับด้วย

โดยนายอาวาบีนได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 (อันดับ 3) ประเภทตัวแทนประเทศที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่ (Alam Melayu) โดยสามารถเอาชนะคู่แข่งทั้งจากประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์และบรูไน ส่วนตำแหน่งชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เป็นของผู้เข้าประกวดจากประเทศมาเลเซีย

สำหรับการประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายูนานาชาติครั้งนี้ ได้แบ่งผู้เข้าประกวดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทตัวแทนประเทศที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่ (ไม่ใช่ภาษาราชการ) มี 5 ประเทศ ประเทศละ 2 คน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน และไทย ซึ่งถือว่าตัวแทนจากประเทศไทยใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่ด้วยเช่นกัน และ 2.ประเภทนักศึกษาต่างต่างประเทศที่เรียนในประเทศมาเลเซีย และ 3.ประเภทระหว่างประเทศซึ่งมีตัวแทนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประกวด 71 คนจาก 51 ประเทศจากทุกทวีป

สำหรับการประกวดแบ่งออกเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบคัดเลือกคัดเหลือ 5 คน รอบสองคัดเหลือ 3 คน และรอบสุดท้ายคือหาผู้ชนะ แต่อย่างไรก็ตามในการประกวดครั้งนี้ก็มีตัวแทนบางประเทศไม่พอใจผลการตัดสินการประกวดครั้งนี้ด้วย

สำหรับการประกวดระดับนานาชาตินี้ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าประกวดเป็นครั้งที่ 2โดยครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วและตัวแทนจากไทยได้รองชนะเลิศอันดับที่ 2 เช่นกัน

 

BahasaMelayuMudahLagi Indah

นายอาวาบีน กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากและไม่คิดว่าจะได้ถึงอันดับที่ 3 เพราะคิดว่าการประกวดครั้งนี้ยากพอสมควร โดยหวังแค่เพียงว่าอยากให้โลกได้รับรู้ว่าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานีก็ใช้ภาษามลายูด้วย เพราะมีการถ่ายทอดสดการประกวดครั้งนี้ออกไปทั่วโลก

“ก่อนไปประกวดครั้งนี้มีเวลาซ้อมแค่ 1 สัปดาห์ ต่างจากการประกวดค้นหาตัวแทนประเทศไทยก่อนหน้านี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่มีเวลาเตรียมตัวมากกว่า ทำให้การประกวดครั้งนี้ยังซ้อมไม่เต็มที่มากนัก” นายอาวาบีน กล่าว

นายอาวาบีน กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าประกวดครั้งนี้แน่นอนคือประสบการณ์เพราะได้ไปอยู่ร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติศาสนา แต่สามารถพูดภาษามลายูได้ ดังนั้นจึงคิดว่า เป็นไปได้สูงมากที่ภาษามลายูจะเป็นภาษาโลกไม่ใช่แค่ภาษาอาเซียนแล้ว เพราะชาวต่างชาติให้ความสนใจภาษามลายูเป็นอย่างมาก

นายอาวาบีน กล่าวอีกว่า ประสบการณ์ที่ได้ก็จะนำมาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้รับรู้ถึงความเป็นไปได้นี้ เพื่อจะได้ให้ความสำคัญกับภาษามลายูมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นภาษาดั้งเดิมของตัวเองอย่างเดียว และจะช่วยรุ่นน้องที่จะเข้าร่วมประกวดในครั้งต่อไปด้วย

“อยากจะบอกว่า เราคนมลายูต้องช่วยกันพัฒนาภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาของเราเอง เริ่มที่ตัวเราเองก่อน เพราะปัจจุบันคนมลายูบ้านเราเข้าใจภาษาไทยถึง 80% ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราเข้าใจภาษามลายูของเราเองถึง 80% หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาการใช้ภาษามลายูของเรา เพราะเป็นภาษาแม่ของเรา เป็นตัวตนของเรา” นายอาวาบีน กล่าว

“ตอนนี้ฝรั่งเองก็หันมาเรียนภาษามลายูกันมาก เพราะเป็นภาษาที่ง่ายและสวยงาม (Bahasa Melayu Mudah Lagi Indah) เรียนรู้ได้ไม่ยาก แต่เราเองกลับอายที่จะเรียน” นายอาวาบีน กล่าว

นายอาวาบีน เปิดเผยด้วยว่า ตอนนี้ตนเพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 กำลังวางแผนที่จะเรียนต่อด้านภาษามลายู และอนาคตหวังว่าอยากเป็นนักข่าวภาษามลายู

ด้านนางสาวพาตีเมาะ กล่าวว่าต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้สามารถมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าไปประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายูระดับนานาชาติครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ และ ศอ.บต. แม้ตนไม่ได้รับรางวัลใด ๆ แต่ประสบการณ์ที่ได้ก็มีค่ามาก โดยเฉพาะการนำมาช่วยยกระดับภาษามลายูให้คนปาตานี และการเข้าประกวดครั้งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ปัญหาภาษามลายู ก่อนที่มันจะหายไปจากพื้นที่นี้ไป

นางสาวพาตีเมาะ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนกำลังเรียนเอกภาษามลายู ชั้นปี 3 ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี อนาคตจะเรียนต่อปริญญาโทด้านภาษามลายู เพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาภาษามลายูให้คนปาตานีได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net