Skip to main content
sharethis

สมาชิก สนช. ลงคะแนนลับถอดถอนอดีต ส.ส. 248 แก้ รธน. ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง โดยผลลงคะแนนลับเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 จึงไม่สามารถถอดถอนได้ ด้านอดีต ส.ส. เพื่อไทยแถลงขอบคุณ สนช. ระบุเพื่อไทยให้โอกาส คสช. ทำงาน นำไปสู่ปรองดอง

ที่มา: วิทยุรัฐสภา

14 ส.ค. 2558 - วิทยุรัฐสภารายงานว่า วันนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการลงคะแนนลับเพื่อถอดถอน อดีต ส.ส. 248 คน  ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 ในประเด็นที่มาของ ส.ว. จากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เป็นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติ สนช. มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน เนื่องจากเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของสมาชิก

โดยการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ ได้พิจารณาวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ซึ่งขั้นตอนการลงมติสมาชิกได้บัตรลงคะแนนทั้งหมด 7 ใบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามฐานความผิด ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งคำร้องมา ประกอบด้วย กลุ่มที่  1 ฐานความผิดร่วมลงชื่อและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ มีจำนวน 237 คน โดยได้บัตรลงคะแนน 5 ใบ ประกอบด้วย บัตรสีม่วง สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม กลุ่มที่ 2 ฐานความผิดร่วมกันเสนอและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 และ 3 จำนวน 1 คน ใช้บัตรสีขาว  และกลุ่มที่ 3 ฐานความผิดสำหรับผู้ที่ไม่ร่วมลงชื่อและลงมติในวาระ 2 มีจำนวน 10 คน ใช้บัตรสีชมพู

ทั้งนี้ภายหลังจากใช้เวลาลงคะแนนลับและนับคะแนนราวกว่า 7 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงของจำนวนของสมาชิก สนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน

โดยผลการลงคะแนน กลุ่มแรก ที่มีอดีต ส.ส.จำนวน 237 ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และร่วมลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 ปรากฏว่าการลงมติไม่มีคนใดถูกถอดถอน โดยคะแนนเกาะกลุ่มเฉลี่ยเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1 ส่วนกลุ่มสองจำนวน 1 คน คือ นายอภิรัต ศิรินาวิน อดีต ส.ส.พรรคมหาชน ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และลงมติในวาระในวาระ 2 และ3 ผลการลงมติเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 140 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 และ กลุ่มสามจำนวน 10 คน กรณีเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติเฉพาะวาระที่ 1 และ 3 ผลปรากฏว่าไม่มีใครถูกถอดถอน โดยมีคะแนนเฉลี่ย เสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1

ที่มา: เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคอาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี เป็นต้น ร่วมแถลงข่าวภายหลังทราบมติของ สนช.ที่มีมติไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ

พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยขอขอบคุณ สนช.ที่ได้ให้ความเป็นธรรมกับอดีต ส.ส.ทุกคน เพราะเราไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การกล่าวหาของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ พรรคได้แถลงไปแล้วว่ากระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม แม้กระทั่งการแถลงปิดคดีเมือวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ตัวแทนของ ป.ป.ช.รายหนึ่งได้กล่าวต่อที่ประชุม สนช.ว่า สนช.ไม่จำเป็นต้องรักษามาตรฐาน คนที่รักษามาตรฐาน คือศาล แม้ สนช.จะเคยลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ไปแล้วก็ไม่เกี่ยวกับกรณีอดีต ส.ส.248 คน ซึ่งในความเป็นจริงทั้งอดีต ส.ส.และอดีต ส.ว.ได้ทำงานร่วมกัน ทั้งการเสนอญัตติ การพิจารณาและการลงมติ แต่การที่ตัวแทน ป.ป.ช.บอกว่า สนช.ไม่จำเป็นต้องรักษามาตรฐาน ทำให้เสียความรู้สึกว่าให้ สนช.ไปแบบคดๆ ไม่ต้องไปแบบตรงๆ ก็ได้ ทั้งที่ สนช.เป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็นเสาหลักของบ้านเมือง แต่เมื่อผล สนช.ไม่เชื่อ และมีมติไม่ถอดถอนก็ต้องขอบคุณ สนช.ที่ยังคงความเป็นธรรม

เมื่อถามว่าผลการลงมติในครั้งนี้จะนำไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่ พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าใครก็อยากเห็นความปรองดองของบ้านเมือง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทางพรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือกับ คสช.เต็มที่เพื่อให้ท่านมีโอกาสทำงาน ปฏิรูปในสิ่งที่ท่านตั้งความหวังไว้เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นำไปสู่ความปรองดอง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในกระบวนการถอดถอน เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ยืนยันว่าเราทุกคนทำตามทำหน้าตามที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้แนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เราก็ทำตามกรอบกติกา การตัดสินใจแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่จะถอดถอนเราอยู่แล้ว เพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อคิดเห็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เราจะแสดงท่าทีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเป็นการรวบรวมความคิดเห็น และจะส่งถึงประธานกรรมาธิการฯ ในต้นสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ในรายงานของมติชนออนไลน์ พล.ต.ท.วิโรจน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า 1.ที่มาของนายกฯ พรรคไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะมากคนนอกได้ เพราะไม่ใช่แนวทางของประชาธิปไตย  นายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

2.ที่มา ส.ว.ซึ่งกรรมาธิการฯ กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหามากถึง 123 คน ซึ่งไม่ผูกพันกับประชาชน แต่อำนาจของ ส.ว.มีอำนาจมาก ทั้งอำนาจการถอดถอน และกรั่นกรองกฎหมายร่วมกับสภาฯ ดังนั้นพรรคเห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

3.เรื่องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ พรรคเห็นว่าเป็นเหมือนซุปเปอร์องค์กร การที่ให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจในยามเกิดวิกฤตินั้น คำว่าวิกฤตินั้นต้องวิกฤติขนาดไหน ตีความยาก รัฐบาลหรือคณะผู้บริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาน ไม่ควรอยู่ภายใต้การบงการหรือสั่งการของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารมากเกินไป ที่สำคัญพรรคเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และ

4.เรื่องการกีดกันผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เมื่อถูกลงโทษเว้นวรรคทางการเมืองแล้ว ทำไมยังจะถูกลงโทษซ้ำโดยการขาดคุณสมบัติห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net