Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ธนาคารกลางของจีน ลดค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องตลอด 3 วันที่ผ่านมา ที่ทำให้หยวนอ่อนค่าลงไปเกือบ 5% แม้วันนี้ (14 ส.ค.58) จะมีประกาศตรึงค่าเงินหยวนที่ 6.397 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยกว่าราคาปิดเมื่อวานที่ 6.3982 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ตาม Money Channel  รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการเร่งด่วนในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบจากกรณีเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างหนักจากนโยบายของทางการจีน ดังกล่าว

นักการเงินชี้ กระทบส่งออก-การท่องเที่ยว

มติชนออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่อกรณีการลดค่าเงินหยวนด้วย โดย สมเกียรติ กล่าวว่า "ผลกระทบที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะเห็นผลใน 1 เดือนหลังจากนี้ เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้ามีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเดือนๆ และมีการตกลงราคาซื้อขายตามค่าเงินก่อนที่จะมีการประกาศลดค่าเงินหยวน"         

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การที่จีนลดค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนั้น มองว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวแต่เห็นผล 2 ทางคือ เพื่อต้องการให้เงินหยวนได้รับการพิจารณาเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก โดยการทดสอบกลไกตลาดว่าสามารถเคลื่อนไหวและทำงานอย่างเต็มที่ได้หรือไม่ อีกทางหนึ่งคือ อาจเป็นการเดินหมากเพื่อเดินเกมสงครามค่าเงินช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกจากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวและเป็นแรงผลักดันในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนด้วย

อมรเทพกล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแบ่งได้ 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จะเกิดความผันผวนต่อค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไม่น่าเป็นกังวลและน่าจะเห็นเงินหยวนกลับมามีเสถียรภาพได้ในสัปดาห์หน้า แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของจีน หากยังคงชะลอต่อเนื่องก็จำเป็นต้องใช้มาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป ส่วนระยะยาว หากเงินหยวนอ่อนค่าแรงกว่านี้ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เดินเกมสงครามค่าเงินได้

"ผลกระทบกับไทย มองว่าอาจจะเกิดกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยจีนอาจมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้นจากราคาสินค้าจีนที่ถูกลงในสายตาต่างชาติ ขณะที่สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนจะแพงขึ้นจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลง จึงกระทบต่อการส่งออกไทยได้แต่ไม่รุนแรง หากปัญหาลากยาวออกไปอาจส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนอาจไม่เติบโตอย่างในอดีต ซึ่งผู้ส่งออกไทยอาจต้องมีการปรับโครงสร้างการส่งออกให้มีสินค้าที่มีประสิทธิภาพแข่งขันกับจีนได้สูงขึ้น โดยราคาโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบหนัก"

อมรเทพกล่าวว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนักกว่านี้ และเงินหยวนที่อ่อนค่าแรง จะส่งให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวจากชาวจีนที่อาจลดจำนวนลงในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นจุดที่น่ากังวล เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังคงขับเคลื่อนได้ในภาวะที่การลงทุนของภาครัฐยังล่าช้า และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังต่ำอยู่

ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้า คาดส่งออกไทยติดลบมากกว่า -3 ถึง -4%

โดยวานนี้(13 ส.ค.58) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานความเห็นของ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต่อกรณีจีนลดค่าเงินนี้ด้วย โดย ธนวรรธน์ กล่าวว่า อาจจะส่งผลให้แนวโน้มส่งออกไทย อาจจะติดลบมากกว่า -3 ถึง -4% เพราะเศรษฐกิจโลกอาจจะชะงัก และชะลอการจับจ่ายใช้สอย แต่ก็เชื่อว่าการส่งออกไทยอาจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแทนที่จะพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบเพราะนักท่องเที่ยวจีนอาจจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะการลดค่าเงินหยวนอาจจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยได้ไม่เต็มที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net