Skip to main content
sharethis
ครอบครัวโต๊ะมีนาและชาวปาตานีรำลึก 61 ปีการหายสาบสูญของวีรบุรุษท้องถิ่น ฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา ครูสอนศาสนาชาวปัตตานีและผู้นำการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รัฐไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการบังคับสูญหายนี้เลยในตลอด 61 ปีที่ผ่านมา 
 
“รัฐไทยอยากเหยียบฮัจยีสุหลงให้จมดิน ไม่อยากให้พูดอะไรเกี่ยวกับฮัยจีสุหลงทั้งนั้น นี่คือรัฐไทย ตั้งแต่ต้นมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐไทยก็มองอย่างนี้ ก็เลยแก้ปัญหาไม่ได้” เด่น โต๊ะมีนา บุตรชายคนที่สี่ของฮัจยีสุหลง 
 
อดีต ส.ส. จังหวัดปัตตานีกล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่า รัฐไทยมองฮัจยีสุหลงในแง่ร้ายตลอดมา ทั้งยังพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกัฮัจยีสุหลงอีกด้วย เช่นการยึดเอกสารเกี่ยวกับฮัจยีสุหลงต่างๆ และห้ามมิให้ใช้ชื่อฮัจยีสุหลงตั้งเป็นชื่อในการจดทะเบียนมูลนิธิ ซึ่งผ่านไปหลายปีจึงได้ตั้งเป็น “มูลนิธิ อาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา” ในที่สุด
 
บ้านฮัจยีสุหลง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม
 
 
ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เป็นอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ได้รับการยกย่องว่า เป็นแบบอย่างทางการเมืองของชุมชนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มามากกว่าหกทศวรรษ ในปี 2490 ฮัจยีสุหลงนำการยื่นขอเสนอเจ็ดข้อต่อรัฐบาลไทย ซึ่งประกอบด้วย สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, สิทธิในภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลาย และการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวทำให้เขาถูกจับตามองโดยรัฐไทย และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย ต่อมาเขาถูกบังคับสูญหายไปพร้อมๆ กับผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่อีกหลายคน รวมถึงนายอาหมัด โต๊ะมีนา ลูกชายคนโตของเขาด้วย มีเรื่องเล่าว่า ศพของฮัจยีสุหลงถูกผ่าและยัดด้วยแท่งปูน และเอาไปทิ้งที่ทะเล 
 
 
การบังคับสูญหายฮัจยีสุหลง ทำให้เขากลายเป็น สัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ และจุดกระแสให้เกิดขบวนการทางสังคม และขบวนการก่อความไม่สงบต่างๆ การหายตัวไปของฮัจยีสุหลงถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุที่จุดประกายความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน
 
เมื่อปีที่แล้ว ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของการบังคับสูญหาย ทางครอบครัวโต๊ะมีนาได้จัดงานเพื่อรำลึกถึงฮัจยีสุหลง ซึ่งงานนั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการรวมสมาชิกครอบครัว และเพื่อนฝูง และจุดประกายให้ครอบครัวและเครือข่ายชาวมลายูมุสลิมร่วมกันจัดงานลักษณะเดียวกันนี้อีกทุกๆ ปี  
 
ในงานมีการเสวนาหัวข้อ รู้จักและเข้าใจตัวตนของฮัจยีสุหลง โดยอิสมาอิล เบญจสมิทธิ์ ประธานศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม จังหวัดชายแดนภาคใต้ (PUSTA) กล่าวว่า ฮัจยีสุหลงเป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ที่มีวิสัยทัศน์ ได้นำเอาความรู้ที่เรียนมาจากเมืองเมกกะห์ ซาอุดิอารเบีย มาปฏิรูปสามจังหวัดตามแนวทางอิสลาม เมื่อมาปฏิรูปการศึกษาในบ้านเกิด ก็ไม่ได้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาแบบเดิม แต่ยกระดับโรงเรียนสอนศาสนาให้มีมาตรฐาน และให้ได้รับการยอดรับ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ พร้อมๆ กับรักษาอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นชาติมลายูปาตานี 
 
คนที่สองจากซ้ายคือ ฮัจยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำ PULO, เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี, อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฎอนี, เด่น โต๊ะมีนา และ อิสมาอิล เบญจสมิทธิ์
 
“การเรียกร้องของฮัจยีสุหลง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้มีตัวแทนของคนในพื้นที่เป็นผู้นำ เจ็ดข้อนั้นเป็นเรื่องที่บอกว่า อยากปฏิรูปการเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม ให้ก้าวหน้าทันสากล แม้ว่าศาลไม่รับฟ้องข้อหากบฎ สังคมไทยก็ยังฝังใจเรื่องนี้ ทำให้ภาพของฮัจยีสุหลงเป็นกบฎจนถึงทุกวันนี้”
 
ในขณะที่ ณายิบ อาแวบือซา นักนิเวศวัฒนธรรมปาตานี เริ่มด้วยกาถามผู้ฟังว่า ฮัจยีสุหลงเป็นใครกันแน่ 
 
วงเสวนา "รู้จักและเข้าใจตัวตนของฮัจยีสุหลง" โดย (จากซ้ายไปขวา) นวลน้อย ธรรมเสถียร เฉลิมชัย สืบแสง อิสมาอิล เบญจสมิทธิ์ ณายิบ อาแวบือซา และมูฮัมหมัด อาลาดี เด็งนิ ดำเนินรายการโดย วาหามะ แวกือจิก
 
“ฮัจยีสุหลงเป็นใครกันแน่ นักการเมืองหรอ หรือโต๊ะครู หรือนักปฏิรูป หรืออะไรกันแน่ โต๊ะครูที่เราเห็นทุกวันนี้คือ โต๊ะครูสอนศานา แต่ฮัจยีสุหลงคำนวนตารางเวลาละมาด ต้องใช้ควาาสรู้ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีคนบอกว่า ท่านเป็นแพทย์รักษากระดูกด้วย อะไรหล่อหลอมท่านให้เป็นแบบนี้ ” ณายิบกล่าวว่า นั่นแสดงถึงว่า โต๊ะครูสมัยก่อน มีความรูหลายด้าน เหมือนนักปราชญ์ที่ไม่ได้รู้แต่ด้านศาสนาอย่างเดียว สิ่งแวดล้อมจากดินแดนอาหรับที่ฮัจยีสุหลงไปศึกษานั้นมีผลมากที่หล่อหลอมฮัจยีสุหลงให้เป็นนักปราชญ์ ซึ่งในยุคนั้น อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นช่วงก่อร่างสร้างประเทศใหม่ๆ รวมถึงซาอุดิอารเบีย 
 
“สภาพแวดล้อมดังกล่าวได้สร้างให้ท่านเป็นคนค่อนข้างมีความคิดริเริ่ม มีความกล้าคิดกล้าทำ” ณายิบกล่าว และว่า เมื่อฮัจยีสุหลงกลับมาที่ดินแดนปาตานี ก็เป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่านเช่นกัน ประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเป็นประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นยุคที่อังกฤษมีอิทธิพลสูงในคาบสมุทรมลายู เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยที่ผลิบาน 
 
“ผมสงสัยว่า โต๊ะครูคนอื่นทำอะไรตอนนั้น ทำไมฮัจยีสุหลงได้รับความนับถือมากกว่าคนอื่นๆ ความต่างก็คือ โต๊ะครูคนอื่นเปิดปอเนาะอยู่กับที่ ให้คนที่สนใจมาเรียนเอง โต๊ะครูเหล่านั้นจึงไม่เห็นสภาพปัญหาสังคม แต่ฮัจยีสุหลง เดินไปหาศิษย์โดยการเคาะประตูตามบ้านแบบ direct sale ทำให้ท่านเห็นปัญหา” ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จอมพลปอ พิบูลย์สงคราม บังคับใช้นโยบายทางวัฒนธรรม ซึ่งกระทบต่อวิพีชีวิตชาวมลายู และการเรียนการสอนศานา “มันน่าสงสัยว่า ทำไมฮัจยีสุหลงถึงกล้าชนกับรัฐบาลขนาดนั้น”
 
ในขณะที่ มูฮัมหมัด อาลาดี เด็งนิ มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ตัวแทนคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดเห็นว่า รัฐไทยได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำให้ผู้คนไม่กล้าพูดคุยหรือศึกษาเรื่องราวของฮัจยีสุหลง การศึกษาเรื่องฮัจยีสุหลง ต้องทำแบบแอบๆ เพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ เขายังตั้งคำถามถึงบทเรียนของรัฐไทยต่อกรณีฮัจยีสุหลงว่า รัฐไทยได้เรียนรู้อะไรบางไหม 
 
“ฮัจยีสุหลงเลือกที่จะเรียกร้องโดยสันติวิธีแล้วถูกทำให้สูยหายไป ประชาชนในสามจังหวัดเลือกที่จะเรียกร้องโดนสันติวิธี แต่สุดท้ายแล้ว ความตายนำมาสู่คนที่เรียกร้อง หลังจากนั้นก็เกิดขบวนการต่อสู้โดยใช้อาวุธถึงทุกวันนี้ รัฐยังกดหัวเราจนกระทั่งทุกวันนี้ เราควรที่จะถามรัฐมากกว่า รัฐได้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนั้น” 
 
เครือญาติของฮัจยีสุหลง เล่าเรื่องฮัจยีสุหลงในหนังสั้น
 
นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากบีบีซีไทย กล่าวว่า ภายของฮัจยีสุหลงในสังคมไทยถูกแช่แข็งไว้ในสองภาพ คือ ภาพของกบฏแบ่งแยกดินแดน หรือไม่ก็เหยื่อของความรุนแรง  อย่างไรก็ตาม ความสนใจที่พุ่งไปที่สามจังหวัดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มีความพยายามทำความเข้าใจต้นตอของความรุนแรง และมีความเข้าใจเรื่องฮัจยีสุหลงมากขึ้น จากเดิมที่คนมักมองเป็นเรื่องนักการเมือง การมีบุคคลหนุนหลัง ก็เริ่มมีความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจแบบนี้ยังวนเวียนจำกัดอยู่ในนักวิชาการ และปัญญาชนไม่กี่คน “ดิฉันเชื่อว่า ยังมีช่องว่างของความเข้าใจอยู่มาก สังคมไทยเหมือนชาล้นถ้วย ที่คุ้นชินกับความรุนแรง และเลือกจะปล่อยปัญหาทิ้งไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คน”  
 
ท้ายสุดแล้ว ณายิบกล่าวว่า การกระทำของรัฐที่ใช้การกดทับและความรุนแรง ไม่เคยได้ผลอย่างที่รัฐต้องการ แต่ยิ่งเป็นการทำให้ผู้คนจำภาพของคนเหล่านั้นได้ดีขึ้น  “61 ปี รัฐสอบตก ซ้ำชั้นตลอดเวลา รัฐพลาดโอกาสอย่างแรงที่ได้ปล่อยโอกาสหลุดลอยไป  ในยุคนั้น อาจเป็นยุคของอัศวินตำรวจ ที่ใช้วิธีแบบ อุ้มฆ่าเยอะที่โดนกระทำนอกจากฮัจยีสุหลงก็มีนายเตียง ศิริขันท์ เป็นต้น ตอนนั้นรัฐทำแล้วได้ผลอะไรบ้าง ทำแล้วก็ไม่เคยลดภาพของคนเหล่านั้นไปได้ และปัญหาไม่ได้หายไปไหน และไม่มีอะไรดีขึ้น” 
 
ซะการีย์ยา อมตยา อ่านบทกวี "บ้าน" และ "ฮิกายัต"
 
สอดคล้องกับบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ชื่อ ฮิกายัต (ตำนาน) โดย ซะการีย์ยา อมตยา ซึ่งอ่านในงานว่า  
 
“อาจเป็นสายน้ำ 
ไม่ก็สัตว์ประหลาด 
ที่กลืนกินร่างเขา
ไม่เหลือร่องรอย 
ไม่มีข่าวคราว
บ้างก็เล่าว่า เขาอยู่ในนิทาน
หลายคนอยากให้
เขาอยู่ในฮิกายัต 
ไม่มีใครเรียกชื่อเขา
นอกจากบันทึกของทางการ
หรือจำได้ก็เพียงปรารถนา 
เจ็ดประการที่ถูกถ่วงลงน้ำ 
 
ไม่มีใครจดจำเขาได้ 
หากว่าเขากลายเป็นภูเขา 
เป็นแม่น้ำ
เป็นผืนดิน
ทอดตัวเป็นคาบสมุทรมลายู”
 
(อ่านบทกวีฉบับเต็มได้ที่นี่)
 
วิดิโอช่วงเสวนาโดย Wartani
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net