ชูความมั่นคงทางอาหาร ผ่าน “ข้าวดอย..น้ำพริกชนเผ่า” ลบมายาคติชาติพันธุ์

9 ปี สภาชนเผ่าพื้นเมือง รณรงค์กลางกรุง ชูความมั่นคงทางอาหารผ่าน “ข้าวดอย...น้ำพริกชนเผ่า” ดึงความสนใจสาธารณะ ลบมายาคติด้านลบต่อชนเผ่าพื้นเมืองในไทย หวังให้รัฐ และสังคมเห็นความสำคัญ ตัวตนและรับรองสถานะทางการให้สภาชนเผ่าพื้นเมือง

แม้อัตลักษณ์และความหลากหลายเชิงชาติพันธุ์จะเป็นที่รับรู้และยอมรับในทางสากล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อคติเชิงชาติพันธุ์ต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาร่วมสมัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งทัศนคติดูแคลนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นคนล้าหลัง สกปรก พูดภาษาไทยกลางไม่ชัด ไปจนถึงมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัญหาของประเทศ เช่น เป็นผู้ทำลายป่า เนื่องจากทำไร่อยู่บนภูเขา เป็นผู้ค้ายาเสพติดเนื่องจากในอดีตปลูกฝิ่น ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกผลิตซ้ำผ่านทั้งจากสื่อกระแสหลักและในแบบเรียน ในขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นในอดีตแต่มายาคติด้านลบเหล่านี้กลับไม่หายไป ขณะที่มิติเรื่องความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตชนเผ่าที่สัมพันธ์กับธรรมชาติกลับไม่เป็นที่ปรากฏแต่อย่างใด

9 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และเมื่อวันที่ 8-10 สิงหาคม 2558 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ “9 ปีปฏิญญาฯ: วิถีคน ดินน้ำป่า พลัง...สภาชนเผ่าพื้นเมือง” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานนอกจากเวทีประชุมสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย คือการรณรงค์ทางสาธารณะให้มีการยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สภาชนเผ่ามีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสากล

สุพจน์ หลี่จา (จะแฮ) ผู้จัดการโครงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร เพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์  มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เปิดเผยถึงรายละเอียดของงานว่า การจัดการวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในปี 2558 นี้ นับเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งในแต่ละปีจะหมุนเวียนสถานที่จัดแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก ซึ่งมีชนเผ่าพื้นเมืองเข้าร่วมกว่า 37 กลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากต้องการผลักประเด็นเรื่อง “สภาชนเผ่าพื้นเมือง” ให้ได้รับการรับรองมีสถานะชัดเจน อีกทั้ง การใช้เมืองหลวงเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อน เพราะต้องการใน “คนเมือง” เข้าใจการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ไปจนถึงเปลี่ยนทัศนคติด้านลบที่เคยมีต่อพี่น้องชนเผ่าในอดีต

สุพจน์ หลี่จา ผู้จัดการโครงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร เพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)

นอกจากนี้ภายในงาน ยังใช้ “ข้าวดอย น้ำพริกชนเผ่า” เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องชนเผ่าที่สัมพันธ์กับเกษตรกรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตเรียบง่ายที่ยึดโยงกับธรรมชาติ โดยนำมาจัดแสดงและให้ความรู้กับประชาชนในกรุงเทพฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าต่างๆ อยู่กันอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ ไม่ได้เป็นผู้ทำลายป่า หรือมีความคิดล้าหลังอย่างที่คนส่วนใหญ่ยังมีมายาคติด้านลบต่อชนเผ่าพื้นเมือง

น้ำพริกชนเผ่า กับความมั่นคงทางอาหาร

“ อยู่พอดี กินพอดี เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน” หนึ่งในข้อค้นพบของคณะทำงาน พชภ. หมายรวมถึงความสัมพันธ์ระว่าง คนกับธรรมชาติ ซึ่งถูกผลิตออกมาในรูปแบบของอาหารหลักพื้นถิ่น คือ “ข้าวดอย น้ำพริกชนเผ่า” ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละชนเผ่าจะมีน้ำพริกประจำถิ่นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้ชื่อเรียกชนเผ่าแทนน้ำพริก เช่น น้ำพริก อาข่า น้ำพริกลีซู น้ำปลามอญ น้ำพริกล่าหู่ เป็นต้น

ชัชวาล หลียา หนึ่งในคณะทำงานจาก พชภ. กล่าวถึงมิติของข้าวดอย น้ำพริกชนเผ่ากับความมั่นคงทางอาหารว่า ในทุกชนเผ่ามักบริโภคน้ำพริก ผักพื้นบ้าน และข้าวดอย(ชื่อเรียกพันธุ์ข้าวที่ปลูกในพื้นที่สูง หรือ พื้นที่ดอย) เป็นอาหารหลักประจำถิ่น วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้จากการทำเกษตรในท้องถิ่น เกลือ เป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวที่ซื้อจากภายนอก นอกจากนี้ “ข้าวดอย” ยังเป็นหนึ่งในอาหารหลักของชนเผ่า

ข้าวดอย นับเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านที่มีความต้านทานโรคและคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังมีจุดเด่นเรื่องการทนแล้ง สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล เพราะสามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ซึ่งจะต่างกับพันธุ์ข้าวที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมที่แม้จะให้ผลผลิตเร็วและทนโรค แต่ยังเสียเปรียบในเรื่องการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับทำการเกษตรรุ่นต่อไปได้ ดังนั้นแต่ละหมู่บ้านจะมีข้าวจากการเกษตรในท้องถิ่นไว้บริโภคทั้งปี ทั้งจากผลผลิตในชุมชนและการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และพืชผักต่างหมู่บ้าน

ไม่เพียงแค่เป็นปัจจัยหลักในการบริโภค ข้าว และผักพื้นบ้าน ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสมาชิกในแต่ละชุมชนเข้าด้วยกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนอาหารและเมล็ดพันธุ์ เช่น หมู่บ้านชนเผ่าอาข่า มีเมล็ดพันธุ์เหลือก็จะแบ่งให้ชนเผ่าล่าหู่ เมื่อปีต่อไปไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ เผ่าอาข่าก็จะไปขอแบ่งเมล็ดพันธุ์ที่เคยแบ่งให้ไว้มาปลูก เช่นเดียวกับผลิตประเภทอื่นๆ จึงสามารถกล่าวได้ว่าวิถีการบริโภคแบบดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองนั้นแทบไม่ต้องซื้อหาวัตถุดิบจากต่างถิ่น กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบความมั่นคงทางอาหารที่ประสานเข้ากับความสัมพันธ์ของแต่ละชุมชน

“เราบริโภคอาหารไม่ใช่แค่กิน แต่เราอยู่กับอาหารที่เรากินตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บผลผลิต เติบโตไปพร้อมกับเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เรารู้ว่าเราดูแลมันอย่างไรให้สะอาด ปลอดภัย เพราะความมั่นคงทางอาหารของเราไม่ใช่แค่กินอิ่ม แต่รวมไปถึงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงจากการบริโภคอาหารในท้องถิ่น สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติและพี่น้องต่างชนเผ่าที่เราส่งผ่านอาหารของเรา” ชัชวาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มรุกเข้ามาในชุมชน ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวและผักพื้นบ้านถูกแทนที่ด้วยพืชอุตสาหกรรม สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อสังคมชนเผ่าในหลายพื้นที่ เพราะจะทำให้วิถีการบริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำการเกษตรได้เองและแจกจ่าย ก็ต้องซื้อใหม่ในทุกฤดูกาล รวมถึงการซื้ออาหารจากนอกชุมชนที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้พี่น้องชนเผ่ายังเห็นความสำคัญถึงความมั่นคงทางอาหารที่ผูกโยงกับมิติของชุมชนดั้งเดิมเช่นในอดีต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท