Skip to main content
sharethis

บทความในบอสตันโกลบระบุถึงเรื่องการกลั่นแกล้งและกดดันเหล่านักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งชวนให้เกิดข้อกังขาเรื่องเสรีภาพทางวิชาการและทำให้เกิดความสงสัยไปทั่วว่าทางการกลางของจีนอาจอยู่เบื้องหลัง

16 ส.ค. 2558 เว็บไซต์บอสตันโกลบนำเสนอรายงานของ ซูซานน์ ซาทัลไลน์ นักข่าวชาวสหรัฐฯ ที่รายงานสถานการณ์ในฮ่องกงถึงเรื่องปัญหาเสรีภาพทางวิชาการของฮ่องกงหลังจากที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว (2557)

ซาทัลไลน์ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในศูนย์ศึกษาด้านสื่อและงานข่าวของมหาวิทยาลัยฮ่องกงเปิดเผยในรายงานว่ามีการพยายามกลั่นแกล้งอาจารย์รายหนึ่งที่ชื่อโจฮันเนส ชาน หลังจากที่เขาให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ประท้วงต่อต้านเผด็จการจีน โดยมีการไม่พิจารณาเลื่อนขั้นทางวิชาการให้กับชานโดยอ้างว่าเขา "ละทิ้งหน้าที่" และ "ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่" ในฐานะคณบดีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง

ชานเป็นอาจารย์ที่ได้รับการเคารพนับถือในฐานะผู้ออกแบบนโยบายเชิงสิทธิมนุษยชน ตัวเขาสนับสนุนให้ชาวฮ่องกงเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างเสรีหลังจากที่ทางการจีนอนุญาตให้พวกเขาเลือกตั้งแบบมีเงื่อนไขว่าผู้แทนที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งจะต้องมาจากการคัดเลือกของทางการกลางของจีนเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้ชานคอยหนุนหลังคณะของเขาที่ช่วยจัดตั้งการปักหลักประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งดำเนินไปเป็นเวลา 79 วันและมีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน

ไม่ใช่แค่กรณีของชานเท่านั้น หลังจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้วทำให้อาจารย์และนักวิชาการในฮ่องกงหลายคนถูกสอบสวนและในบางกรณีก็ถูกสั่งลดขั้น ประชาชนชาวฮ่องกงกลัวว่านักวิชาการจะไม่สามารถร่วมท้าทายรัฐบาลกลางของจีนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีประวัติมายาวนานในเรื่องการปิดปากนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พวกเขามองว่าทางการกลางของจีนพยายามแทรกแซงนักวิชาการในฮ่องกงเพราะเกรงว่าจะทำให้อำนาจการควบคุมของพวกเขาลดลง

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมายังมีประเด็นที่สภาฮ่องกงซึ่งมาจากการคัดเลือกของผู้ว่าการของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเลื่อนการพิจารณาให้ชานได้เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ทำให้นักวิชาการ นักข่าว และศิษย์เก่ารวมหลายร้อยคนลงชื่อเรียกร้องให้สภาฮ่องกงดำเนินการลงมติในเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งใน ส.ส. ที่เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮ่องกงเกรงว่ากำลังมีการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการในฮ่องกง

ทางด้านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นชาวอังกฤษมองว่าการเลื่อนพิจารณาของสภาฮ่องกงเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเขตฮ่องกง เรื่องนี้ทำให้ประชาชนกังวลว่ากระบวนการที่ควรจะเป็นอิสระจากอำนาจของทางการกลางเริ่มมีความไม่โปร่งใสและไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปแล้วฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีเสรีภาพมากกว่าทั้งเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพทางวิชาการต่างจากในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีระบบการศึกษาภายใต้การควบคุมของรัฐและการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมก็เป็นไปได้ยาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ทางการจีนมีท่าทีต้องการควบคุมประชาชนชาวฮ่องกงมากขึ้นเช่นการเสนอให้มีกฎหมายความมั่นคงและหลักสูตรการเรียนการสอนปลูกฝังความรักชาติในห้องเรียน สื่อในฮ่องกงก็มีท่าทีอ่อนข้อลง บางแห่งถูกปิดหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงทำร้ายบรรณาธิการ 2 กรณี ในกรณีหนึ่งเกือบจะทำให้บรรณาธิการเสียชีวิต

นอกจากนี้หลังจากมีการประท้วง "ประชาธิปไตยเทียม" ของทางการจีน มีอาจารย์ในฮ่องกงหลายคนที่ถูกสอบสวนเรื่องทัศนคติทางการเมือง ที่แม้จะอ้างว่าเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยยังคง "เป็นอิสระและเป็นกลาง" ทางการเมือง แต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบ๊บติสต์มองว่ามันเป็น "การลิดรอนสิทธิทางการเมือง"

หนึ่งในผู้ที่ถูกสอบสวนคือโจเซฟ เฉิง หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮ่องกง เขาถูกสั่งลดขั้น ปลดออกจากหัวหน้าภาควิชา และถูกสื่อเขียนโจมตีหลังจากที่กลุ่ม 'สหพันธ์เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง' ซึ่งมีเฉิงเป็นผู้นำเสนอการเลือกตั้งแบบเสรีแทนการเลือกตั้งแบบของทางการจีน มีผลสำรวจพบว่าประชาชนต้องการให้จัดการเลือกตั้งในรูปแบบของกลุ่มสหพันธ์ดังกล่าวมากกว่าการเลือกตั้งแบบจีน เขาถูกกล่าวหาว่าเอากิจกรรมทางการเมืองเข้ามาพัวพันกับงานของเขามากเกินไป

รายงานของซาทัลไลน์ระบุว่าถึงแม้นักวิชาการหลายคนจะรอดพ้นจากการกลั่นแกล้งเหล่านี้และเดินหน้าทำกิจกรรมของพวกเขาต่อไป แต่พวกเขาก็เริ่มระวังตัวเช่น คินแมน ชาน ผู้ช่วยจัดตั้งการประท้วงยึดครองย่านใจกลาง (Occupy Central) ซึ่งบอกว่านักวิชาการต่างก็รู้สึกได้ถึงแรงกดดัน มีบางคนได้รับจดหมายคุกคาม และเขามองว่าน่าจะเป็นฝีมือของรัฐบาลกลางของจีน

มหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2454 ถูกขนานนามว่าเป็น "ฮาร์วาร์ดแห่งฮ่องกง" ซึ่งดึงดูดนักวิชาการและนักเรียนคะแนนสูงๆ เข้าไปเรียน ฝ่ายนักศึกษามองว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ใช้พื้นที่ปะทะกับอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ มหาวิทยาลัยนี้เคยส่งเงินสนับสนุนให้กับผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีบทความจากนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบเรียกร้องให้ฮ่องกงประกาศอิสรภาพจากจีนจนทำให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงไม่พอใจ

รายงานของซาทัลไลน์ยังระบุถึง เบนนี ไท ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่เป็นผู้นำประกาศเริ่มการชุมนุมยึดครองย่านใจกลางเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2557 มีคนที่อ้างตัวว่าเป็น "นักวิชาการที่รักมหาวิทยาลัย" ส่งหลักฐานรูปเช็คเงินบริจาคที่ไทได้รับ 187,040 ดอลลาร์ ที่ให้กับสื่อโดยไม่ระบุแหล่งที่มาของเงินนี้

ทางกลุ่มยึดครองย่านใจกลางให้ความกระจ่างในเรื่องนี้โดยทันทีว่าเป็นเงินบริจาคที่ บาทหลวง ชูเย้าหมิง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มยึดครองย่านใจกลางมอบให้กับไท แต่ไทก็ถูกสอบสวนในเรื่องนี้อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังมีการลากตัว โจฮันเนส ชาน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ชานปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ซึ่งไทอธิบายว่าเพราะมันเป็นเรื่องข้อกล่าวหาเล็กๆ น้อยๆ และชานก็แทบจะไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องอะไร ไทกล่าวอีกว่าดูเหมือนทางการจีนจะมองมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นฐานของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลาง

ปีเตอร์ แมธีสัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮ่องกงมองว่าการพยายามลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจะส่งผลเสียต่อทางการกลางของจีนเองเนื่องจากถ้าทำให้ประชาชนรู้สึกสงสัยในความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยแล้วพวกเขาก็จะเริ่มสงสัยด้วยว่าเมืองฮ่องกงของพวกเขาเป็นอิสระจริงไหม

ไมเคิล ดาวิส หนึ่งในผู้ทำงานในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า คนเริ่มสงสัยถึงอิทธิพลของทางการกลางจีนจากการที่ผู้ว่าการฮ่องกง เหลียงชุนอิง เป็นผู้คัดเลือกประธานบอร์ดของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฮ่องกง ทำให้เขามีอิทธิพลต่อสถานศึกษาเหล่านี้ และจากการที่เหลียงชุนอิงมีท่าทีภักดีต่อทางการกลางของจีนก็ทำให้คนสงสัยเชื่อมโยงไปถึงอิทธิพลของรัฐบาลจีนด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Hong Kong's academic freedom under fire, Suzanne Sataline, Boston Globe, 14-08-2015
http://www.bostonglobe.com/ideas/2015/08/13/hong-kong-academic-freedom-under-fire/hJ6upYtbMalJgE9Ez0MmWI/story.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net