Skip to main content
sharethis
หอพักรอบนิคมฯ ลำพูนว่างเพียบประกาศขายแล้วกว่า 20 แห่ง
 
รายงานข่าวจากจังหวัดลำพูนแจ้งว่า หลังจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน 4 แห่งนำมาตรการลดจำนวนพนักงาน ลดวันทำงาน รวมถึงใช้มาตรา 75 ที่ให้จ่ายเงินเดือนพนักงานเพียง 75% และให้หยุดทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
       
บริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตแผ่นแก้วคุณภาพสูง และฮาร์ดดิสก์ของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 4,400 คน เริ่มใช้มาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 58 ให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75%, บริษัท ทีเอสพีที, บริษัท เคอีซี และบริษัทลำพูนซิงเดนเก้นท์ เป็นต้น ส่วนโรงงานอื่นๆ ยังคงปกติ
       
สาเหตุเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงโรงงานบางแห่งต้องยุบโรงงานในสายการผลิตเพราะไม่มียอดสั่งซื้อเลยอย่างโรงงานผลิตเลนส์กล้องถ่ายรูปได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการมีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน
       
“ASTV ผู้จัดการออนไลน์” ได้ลงพื้นที่สอบถามพ่อค้าแม่ค้าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมกับสำรวจบรรดาหอพักต่างๆ ที่อยู่รายล้อมนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะติดป้ายมีห้องว่างให้เช่า รวมทั้งบางแห่งถึงกับติดป้ายประกาศขายกันบ้างแล้ว
       
นางสุภาวดี สุวรรณวงศ์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่คุณศุ ร้านตั้งอยู่บริเวณทางเข้า-ออกนิคมอุตสาหกรรมฯ เล่าว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่มีข่าวการลดจำนวนพนักงานของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ภายในนิคมฯ ก็ทำให้พนักงานเริ่มหายหน้ากันไปหลายคน ลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มของคนโรงงานก็หายไปเยอะ
       
นางสุภาวดีเล่าต่อว่า เมื่อก่อนจะหุงข้าวโดยใช้หม้อขนาด 10 ลิตร 2 หม้อต่อวัน แต่ตอนนี้ต้องใช้หม้อหุงข้าวขนาดเล็กลง และเคยขายได้วันละ 2,500-3,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขายได้วันละ 1,000 บาทก็ถือว่าเยอะแล้ว ในช่วงเวลาพักเที่ยงจากที่เคยมีคนมาต่อแถวรอกินข้าวจนไม่มีโต๊ะนั่ง แต่ตอนนี้ไม่มีภาพแบบนั้นอีกเลย
       
“ลูกค้าขาประจำที่เคยมากินตลอดหายไปหมดเลย เปิดร้านมา 10 ปีก็ไม่เคยพบเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน”
       
ด้าน น.ส.ดวงเดือน ทานะแจ่ม เจ้าของร้านข้าวซอยและก๋วยเตี๋ยวใกล้เคียงกัน เล่าว่า ตอนนี้ยอดขายลดลงอย่างมากจากเคยขายได้วันละ 2,000 บาท ก็เหลือแค่วันละ 1,000 บาทเท่านั้น 
       
เท่าที่มีการพูดคุยกันระหว่างพ่อค้าแม่ค้าด้วยกันต่างก็เจอสภาพแบบเดียวกัน โดยเฉพาะลูกค้าขาประจำที่เคยลงบัญชีไว้จะชำระให้ทุกสิ้นเดือน ตอนนี้พากันเบี้ยวหนี้ไปตามที่หอพักก็ย้ายออกกันไปหมดแล้ว ซึ่งแต่ละรายมีลูกหนี้ 3 คน บางรายเป็น 10 คนก็มี และแต่ละคนเป็นหนี้ที่ร้านรายละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 บาท
       
เช่นเดียวกับนางนิชาภา อิ่นใจ เจ้าของร้าน อีสานซีฟู๊ด ที่ขายทั้งอาหารอีสาน, อาหารทะเล และอาหารตามสั่ง บอกว่า ตอนนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่มีการปรับลดพนักงานออกมา ที่เคยมากินข้าวที่ร้านในช่วงพักเที่ยงและช่วงหลังเลิกงานหายกันไปเยอะยอดขายลดลง 30% จากที่เคยขายได้อย่างต่ำวันละ 10,000 บาท ทุกวันนี้กลับมีรายได้เพียงแค่ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น
       
ตัวพนักงานเองก็เริ่มรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น จากเคยมากินข้าวตามร้านอาหารเฉลี่ยมื้อละ 100-200 บาท ก็เปลี่ยนไปซื้อของสดไปทำกินเองก็ช่วยประหยัดเงินไปได้ส่วนหนึ่ง
       
นางนิชาภาบอกต่อว่า ทางร้านก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ลูกค้าลดลง ทางร้านได้รับทำอาหารสำหรับจัดเลี้ยงเพื่อลูกค้าต้องการอาหารไปรับประทานในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทางร้านเราก็ยินดีรับทำในราคาที่เป็นกันเอง
       
“เศรษฐกิจแบบนี้มันก็ต้องช่วยๆ กัน เราจะอยู่เฉยรอลูกค้าเข้ามาหาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็ต้องมีทางเลือกให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อจะหารายได้มาดูแลร้านต่อไป”
       
นอกจากร้านค้า-ร้านอาหารแล้ว ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหอพักต่างๆ ที่มีกลุ่มผู้พักส่วนใหญ่เป็นพนักงานตามโรงงานในนิคมฯ ต่างได้รับผลกระทบตามไปด้วย
       
นางซิม เกตุตเวศ ผู้ดูแลหอพักจันทร์ส่องโครงการ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง ซึ่งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม เล่าว่า หอพักนี้มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 78 ห้อง ราคาห้องพักอยู่ที่ 1,200 บาทต่อห้อง ค่าน้ำประปาคิดเป็นหัว หัวละ 20 บาท และค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6 บาท
       
ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มทำงานโรงงานในนิคมฯ ทั้งหมด เท่าที่ผ่านมาก็มีย้ายออกไปบ้างแล้ว 5-6 ห้อง และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ก็จะมีย้ายออกอีก 10 ห้อง เท่าที่สอบถามคนที่ย้ายออกไป บางส่วนก็จะกลับไปอยู่ที่บ้านกลับไปทำไร่ทำสวน และบางส่วนก็ไปสมัครงานที่อื่น
       
“แต่ก็ยังมีลูกค้าบางคนที่แอบหนีออกไปตอนกลางดึก เพราะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่าห้อง ซึ่งเราก็ไม่รู้จะตามไปเอาเรื่องยังไงก็เลยต้องปล่อยไป”
       
เช่นเดียวกับผู้ดูแลหอพักพิกุลเล่าว่า หอพิกุลมีห้องพักทั้งหมด 30 ห้อง ราคาค่าเช่าห้องอยู่ที่ 1,100 บาท ค่าน้ำคิดเป็นราคาเหมา เฉลี่ยคนละ 50 บาท ค่าไฟฟ้าคิดหน่วยละ 6 บาท คนที่มาเช่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มหนุ่มสาวที่ทำงานอยู่ในนิคมฯ ทั้งหมด แต่ก็มีบางส่วนที่ทำอย่างรับจ้างทั่วไป และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าขอย้ายออกแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ห้อง เนื่องจากโดนสั่งให้หยุดพักงานบ้าง และบางส่วนก็จะกลับไปอยู่บ้าน และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ก็จะย้ายออกอีกประมาณ 3 ห้อง 
       
อนึ่งหอพักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.สันป่าฝ้าย ต.บ้านกลาง และ ต.มะเขือแจ้ ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม และมีหอพักอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะนี้พบว่าหอพักหลายแห่งมีการติดป้าย “ห้องว่างให้เช่า” เป็นจำนวนมาก และบางหอพักติดป้าย “ประกาศขาย” โดยเฉพาะมีการประกาศขายลงในเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 แห่งแล้ว 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13/8/2558)
 
โวยนักบิน ฮ.ไทยตกงาน! ถูกบริษัทฉวยโอกาสนำต่างชาติทำแทน ทั้งๆ ที่ กม.ห้าม
 
(13 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมช่วยแก้ปัญหาอาชีพนักบินเฮลิคอปเตอร์ หลังจากที่มีนักบินเฮลิคอปเตอร์ตกงานแล้ว 13 คน ทั้งที่สภาพปัญหาปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนนักบินวิชาชีพอีกจำนวนมาก
       
โดยนายสนองกล่าวว่า ขณะนี้มีตัวอย่างนักบินในบริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ด้านพาณิชย์ ตกงานแล้ว 13 คน นักบินส่วนใหญ่ที่ตกงานจะเป็นบริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการเฮลิคอปเตอร์พร้อมนักบินในประเทศไทย โดยจัดตั้งบริษัทในรูปแบบนอมินี และอาศัยประโยชน์จากพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2524 เพื่อนำนักบินต่างชาติเข้ามาทำงานในเชิงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค และมีการว่าจ้างค่าแรงที่สูงกว่านักบินไทยในบริษัทเดียวกัน ทั้งที่อาชีพนักบินถือเป็น 1 ใน 19 อาชีพหวงห้าม สำหรับคนไทยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521
       
ด้านนายเกียรติภูมิ แสงธิ สมาชิกสหภาพนักบินเฮลิคอปเตอร์ หนึ่งในนักบินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีอัตราส่วนนักบินเฮลิคอปเตอร์ไทย และนักบินเฮลิคอปเตอร์ต่างชาติ ร้อยละ 50-55 โดยมีอยู่ 4 บริษัทที่มีนักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยทำงานร่วมนักบินเฮลิคอปเตอร์ต่างชาติ คือ บริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น จำกัด บริษัท ไทย เอเวชั่น เซอร์วิส จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด ออฟชอร์ เอวิเอชั่น จำกัด และบริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เช่น กรมการจัดหางาน กรมการพาณิชย์ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์
       
ทั้งนี้ภายหลังจากการรับยื่นหนังสือ พล.อ.อ.ไพศาลกล่าวว่าจะมีการนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่คณะกรรมาธิการเพื่อหารือต่อแนวทางแก้ปัญหาในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ โดยคาดว่าจะต้องมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงถึงปัญหา เช่น กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อให้ความเป็นธรรมอย่างเหมาะสมต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13/8/2558)
 
ผู้ประกันตนเฮ!! โครงการรักษาฟรี 1 ล้านเห็นผลแล้ว
 
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน กล่าวถึงการดำเนินการในโครงการช่วยเหลือรักษาฟรีวงเงิน 1 ล้านบาท ว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน กรณีเกิดเหตุหม้ออัดความดันระเบิดที่โรงงานย่าน จ.สมุทรปราการ ทำให้นายชูเกียรติ ประวะสาร และนายสามารถ พาระแพง ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นโคม่า แต่ได้รับความช่วยเหลือรับการรักษาฟรีถึง 1 ล้านบาทจากกองทุนเงินทดแทน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นลดความเดือดร้อนของประชาชน 
 
นายนพดล  กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสถานพยาบาลมักจะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากลูกจ้าง แต่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน มีนโยบายให้ลูกจ้างและผู้ประกันตนของกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ได้รับการดูแลให้พึงพอใจสูงสุด ล่าสุดกองทุนเงินทดแทนที่นายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนฝ่ายเดียวได้ขยายวงเงินรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วยทุกโรคจากการทำงานถึง 1 ล้านบาท ทำให้ลูกจ้างทั้งสองรายดังกล่าวได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่จนพ้นขีดอันตราย และจะเชิญลูกจ้างทั้งสองเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงานไทย เพื่อเปลี่ยนความสิ้นหวังเป็นพลังสู้ชีวิตต่อไป โดยลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงาน สามารถโทรสายด่วนสำนักงานประกันสังคมได้ที่ 1506 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง 
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการนี้ ที่ผ่านมาตนเองพยายามผลักดันเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างคนทำงานมาโดยตลอด การรักษาพยาบาลเป็นหัวใจสำคัญของคนทำงาน เมื่อเกิดเหตุ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพราะเป็นเงินกองทุนที่นายจ้างจ่าย มุ่งหวังให้กองทุนต้องดูแลลูกจ้างแทนนายจ้างอย่างเต็มที่ และคาดหวังว่ากองทุนเงินทดแทน จะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว 
 
ขณะที่นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเห็นด้วยกับโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุ มันย่ำแย่อยู่แล้ว ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยให้ลูกจ้างนายจ้างคลายความกังวลใจได้ อยากให้เร่งขยายผล เพื่อลูกจ้างจะได้สามารถเข้าถึงสิทธิได้ทั่วถึง ด้านนายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า แรงงานทั้งสองได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรงจากกองทุนเงินทดแทนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ และจะเชิญผู้ป่วยทั้งสองเข้ารับบริการของศูนย์ฟื้นฟูที่มีความพร้อมในการดูแลด้านสภาพจิตใจและทักษะฝีมือแรงงาน ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหารายได้ มีชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
 
(เดลินิวส์, 13/8/2558)
 
จับกุมแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพอิสระแย่งอาชีพของคนไทย
 
ธีรพล ขุนเมือง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2558 ได้มอบหมายให้นายสมพงษ์ แก้ววรรณดี หัวหน้าฝ่ายควบคุมตรวจสอบการทำงานของ คนต่างด้าว กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน จัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่ รวม 10 คน เข้าทำการตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในซอยเพชรบุรี 23 25 และ 27 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรมการจัดหางานได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพอิสระ ประเภทร้านขายอาหาร ซึ่งเป็นการแย่งอาชีพหรือโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย
 
จากการตรวจสอบในร้านอาหาร จำนวน 3 ร้าน พบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 4 คน (ชาย 3 คน หญิง 1 คน) ลาว 3 คน (ชาย 2 คน หญิง 1 คน) และ เวียดนาม 2 คน (ชาย 1 คน หญิง 1 คน) รวมทั้งสิ้น 9 คน กำลังปรุงอาหารให้กับลูกค้า พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของคนต่างด้าวเป็นการละเมิดพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพ และวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คนต่างด้าวทราบ และนำคนต่างด้าวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะทำงานได้เฉพาะในตำแหน่งกรรมกร และผู้รับใช้ในบ้านเท่านั้น
 
ในเบื้องต้นคนต่างด้าวดังกล่าวอ้างว่าตนเองมีนายจ้างเป็นคนไทย ซึ่งแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และ ลาวจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 ไม่ทำงานตามประเภท หรือลักษณะงาน และกับนายจ้าง ณ ท้องที่ และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษตามมาตรา 52 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับนายจ้างมีความผิดตามมาตรา 27 ให้คนต่างด้าวที่มีใบอนุญาต ทำงานนอกเหนือจากประเภทหรือลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ณ ท้องที่ หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีอัตราโทษตามมาตรา 54 ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ในส่วนของแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามมีความผิดตามมาตรา 51 ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 บาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกผลักดันออกนอกประเทศต่อไป สำหรับนายจ้างมีความผิดตามมาตรา 27 รับ คนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน มีอัตราโทษตามมาตรา 54 ปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
 
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน และขอความร่วมมือหากพบเห็นแรงงานต่างด้าวประกอบอาชีพอิสระ เช่น เร่ขายสินค้าประเภทอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือปรุงอาหาร ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 เพื่อดำเนินการตรวจสอบจับกุมต่อไป
 
(โลกวันนี้, 13/8/2558)
 
ลูกจ้างเทศบาลโคราชฮือประท้วง ยื่น “มทภ.2” ขอความเป็นธรรม ผวาถูกเลิกจ้าง
 
(13 ส.ค.) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มลูกจ้างพนักงานเก็บขยะ กวาดถนน คนสวน พนักงานจ้างทั่วไปรายปี กว่า 50 คน นำโดย น.ส.สุกัญญา กระจ่างโพธิ์ อายุ 44 ปี พนักงานจ้างทั่วไป (ทำครัว) รายปี ได้รวมตัวประท้วง ชูป้ายสีดำและขาว พร้อมข้อความต่างๆ เรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีจะถูกเลิกจ้าง โดยได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงแม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เพื่อขอความช่วยเหลือ
       
น.ส.สุกัญญา กระจ่างโพธิ์ แกนนำกลุ่มพนักงานจ้างรายปีเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มพนักงานจ้างทั่วไปทุกคนได้รับแจ้งจาก นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม ว่า เนื่องจากตามที่กฎหมายกำหนดไม่ให้ค่าใช้จ่ายเกิน 40% ของรายได้ที่เทศบาลฯ ได้รับ ฉะนั้นจะต้องปรับลดพนักงานจ้างทั่วไปจากการจ้างรายปีมาเป็นจ้างเหมา ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนลดลงจากเดือนละ 9,000 บาท เหลือ 7,200 บาท คาดว่าจะปรับลดประมาณ 10 ราย หากพนักงานรายใดสมัครใจก็สามารถยื่นความจำนงได้
       
แต่ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาไม่มีลูกจ้างรายใดยื่นความจำนง เพราะส่วนใหญ่ทุกคนทำงานมานานกว่า 10 ปี และในปี 2559 จะมีการปรับเงินเดือนพนักงานจ้างรายปีจาก 9,000 บาท เป็น 10,000 บาท
       
พนักงานจ้างรายปีของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมมีทั้งสิ้น 76 ราย แต่จะถูกปลดหรือลดไปเป็นจ้างเหมาประมาณ 10 คน คาดว่าพนักงานคนเก่าแก่จะถูกปลดออกในครั้งนี้ ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นได้มีการถามนายกเทศมนตรีว่าทำไมไม่พิจารณาลูกจ้างที่มีอายุงานไม่ถึง 3 ปีออกไปก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เข้าพร้อมกับนายกเทศมนตรี และสอบถามว่า หากถูกปรับออกแล้วจะได้เป็นลูกจ้างเหมาหรือไม่ นายกเทศมนตรีก็ไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้
       
“วันนี้พนักงานทุกคนไม่สบายใจ และไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเองว่าจะมีงานทำหรือไม่ จึงอยากให้ฝ่ายทหารเข้ามาช่วยเหลือดูแลและให้ความเป็นธรรมด้วย” น.ส.สุกัญญากล่าว
       
ด้านนายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ นายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม เปิดเผยว่า การปรับลดพนักงานครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายที่ไม่ให้ค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิน 40% ของรายได้ ซึ่งพนักงานจ้างทั่วไปรายปีจะหมดสัญญาจ้างในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตนไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือรังแกใคร การพิจารณามีคณะกรรมการดำเนินการอยู่แล้ว 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13/8/2558)
 
กรมชลประทาน จ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศตามมาตรการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกือบ 1 แสนคน
 
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศโครงการตามมาตรการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการงดการปลูกพืชฤดูแล้ง (ปี 2557/2558) และการเลื่อนการทำนาปี (ปี 2558/2559) โดยจ้างแรงงานภาคการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรมาดำเนินการก่อสร้างงานชลประทาน กำจัดวัชพืช และขุดลอกคู คลอง ทั้งนี้ การจ้างแรงงานอันเนื่องมาจากการงดปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างไปแล้ว จำนวน 89,250 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,221.6557 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะมีแผนการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอันเนื่องมาจากการเลื่อนทำนาปี (ปี 2558/2559) จำนวน 36,673 คน ค่าจ้างงานประมาณ 957.4133 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ในระหว่างที่รอฝนตกเพื่อทำนาปีต่อไป
 
(ไอเอ็นเอ็น, 13/8/2558)
 
คนงานก่อสร้างโรงยิมเมืองตรังกว่า 50 คน บุกนอนศาลากลางร้องผู้ว่าฯ ตรัง หลังบริษัท “เบทเทอร์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง” เบี้ยวไม่จ่ายค่าแรงเกือบ 7 แสน ทำเดือดร้อนไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อน้ำกิน
       
(15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลากลาง จ.ตรัง ว่า คนงานของบริษัท เบทเทอร์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมี นายธวัช อุยสุย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการผู้จัดการ และในฐานะประธานสโมสรตรัง เอฟซี โดยที่คนงานพร้อมครอบครัวกว่า 50 คน นำโดย นายสุนทร บุญนวล อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 123 ม.2 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง เดินทางมายังหน้าศาลากลาง จ.ตรัง เพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือค่าจ้างแรงงานที่ทางบริษัท เบทเทอร์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่ยอมจ่ายให้ 
 
โดยที่คนงานได้เขียนแผ่นป้ายโปสเตอร์ระบุข้อความ “พวกเราไม่มีตังค์ซื้อข้าว ซื้อน้ำ ค่าน้ำค่าไฟไม่มีจ่าย พวกเรามาอยู่ที่นี่ เรามาขอสิทธิความยุติธรรม ทำงานแลกเงินไม่ได้เป็นขอทาน” และ “พวกเรามาเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรม ทำงานแล้วไม่ได้ค่าแรง จากบริษัท เบทเทอร์ ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด”
       
นายสุนทร บุญนวล กล่าวว่า ตนและทีมงานคนงานรับจ้างก่อสร้างโรงยิมเนเซียม 1,000 ที่นั่ง ภายในสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง (ทุ่งแจ้ง) ตั้งแต่ต้น ก.พ.ที่ผ่านมา ต่อมา ก.ค.จนถึง ส.ค. ทางบริษัทฯ ผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายค่าแรง ทำให้ตน และคนงานรวมถึงครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ไม่มีเงินซื้อข้าว ซื้อน้ำกิน เมื่อมีการทวงถามก็ไม่ได้เงินค่าแรงแต่อย่างใด ต่อมา เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือจากทางจังหวัด บริษัทฯ ก็ได้มีการจ่ายเงินให้บ้างในบางส่วน แต่ก็ยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายแต่อย่างใด
       
ซึ่งพวกตนเดินทางมาศาลาลกลางตั้งแต่เย็นวานนี้ (14 ส.ค.) และนอนค้างคืนที่ศาลากลางฯ มาแล้ว 1 คืน เพื่อขอความช่วยเหลือจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หากวันนี้ (15 ส.ค.) พวกตนยังไม่ได้รับการจ่ายเงินค่าแรง ซึ่งมีคนงานที่รับเหมางานด้านต่างๆ เช่น งานปูน งานเหล็ก งานไม้ ฯลฯ อยู่ประมาณ 10 ชุด รวมเป็นเงินประมาณ 600,000-700,000 บาท 
 
เมื่อมีการสอบถามไปยัง นายธวัช อุยสุย ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ก็ได้รับการชี้แจงว่า ได้มอบหมายให้ นายธนิต อุยสุย ผู้ควบคุมงาน แต่ไม่สามารถติดต่อนายธนิต อุยสุย ได้ทราบว่าหายตัวไปแล้ว และยืนยันจะปักหลักอยู่ที่ศาลากลางจนกว่าจะมีการช่วยเหลือ
       
ขณะที่ พล.ต.ต.จีรวัฒน์ อุดมสุด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยให้แก่สถานที่ราชการนั้น ตนได้สั่งการให้ พ.ต.อ.นุกูล ไกรทอง รอง ผบก.ภ.จ.ตรัง ลงไปดูแลสอบถามรายละเอียดทั้งหมด พร้อมทั้งสั่งการให้ พ.ต.ท.ประพันธ์ แก้งรุ่งฟ้า สวป.สภ.เมืองตรัง นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย
       
ส่วนด้าน นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องตน ได้ประสานให้ทางอัยการจังหวัดลงมาดูแลข้อกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือคนงาน และมอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานมาให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14/8/2558)
 
สปส.ชะลอลงทุนต่างประเทศ เหตุ ศก.โลกยังผันผวนอยู่
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงผลประชุมบอร์ด สปส.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้ทบทวนแผนการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 เพื่อให้นำเงินไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับกับสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและมีความผันผวน ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังกองทุนประกันสังคมมีเงินส่วนที่จะนำไปลงทุนกว่า 335,000 ล้านบาท โดยจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งจะพิจารณาเพิ่มช่องทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศจะพิจารณาตามความจำเป็น ทั้งนี้ การลงทุนตามแผนข้างต้นคาดหวังผลตอบแทนไว้ที่ร้อยละ 3.7-4.4 ต่อปี ส่วนวงเงินลงทุนในต่างประเทศที่บอร์ด สปส.เคยอนุมัติไว้ 60,000 ล้านบาท ยังคงให้ชะลอไว้ก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูง
 
นายนครกล่าวว่า ส่วนที่บอร์ด สปส.มีมติว่าจะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเข้าไปประมูลซื้อพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎหมายรองรับเพื่อให้สามารถออกพันธบัตรได้ คาดว่าเป็นวงเงินหลายแสนล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายกองทุนประกันสังคมในช่วงที่ผ่านมาในวงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาทด้วย โดยจะเปิดให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนเข้ามาประมูลซื้อพันธบัตรเป็นงวดๆ ไป
 
(มติชนออนไลน์, 16/8/2558)
 
กระทรวงแรงงานเปิดศูนย์บริการวีซ่า
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน One Stop Service ณ อาคารจัตุรัสจามจุรีสแควร์ ชั้น 18 ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2540 ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้ในลักษณะเบ็ดเสร็จในสถานที่เดียว โดยมีหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการจัดหางาน ซึ่งเปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเป็นอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น ทาง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้มีการปรับปรุงกระบวนการยื่นขอใบอนุญาต (BOI) ซึ่งสามารถยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปยื่นด้วยตนเองและเมื่อออกใบอนุญาตแล้วเสร็จจะแจ้งให้ไปรับซึ่งกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 30 นาที เป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วประหยัดเวลาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 17/8/2558)
 
ปรับนายจ้างส่งเงินสมทบช้า “ประกันสังคม” ชี้ยอดค้างอื้อ 3 พันล้าน
 
สำนักงานประกันสังคมกุมขมับ ยอดนายจ้างค้างจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมตั้งแต่ปี 2533 รวม 3,000 ล้าน จาก 7,000 สถานประกอบการ เตรียมใช้ไม้แข็งตามกฎหมายใหม่ จ่ายช้าปรับร้อยละ 2 ของเงินที่ค้าง!!
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงปัญหานายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ปัญหานายจ้างค้างจ่ายเป็นมาตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนในปี 2533 ซึ่งปัจจุบันมียอดค้างจ่ายสะสมประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้สามารถติดตามคืนมาได้แล้วประมาณ 2,400 ล้านบาท คงเหลือจำนวนเงินค้างจ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท จากสถานประกอบการประมาณ 6,000-7,000 แห่ง
 
ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นต้น จากสถานประกอบการในระบบประกันสังคม 400,000 แห่ง โดยสาเหตุหลักที่นายจ้างค้างจ่ายมาจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้จำนวนเงินไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ ต้องนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของธุรกิจก่อน บางส่วนไม่สะดวกในการเดินทางมาทำธุรกรรมที่สำนักงานประกันสังคมได้ทุกเดือน ใช้วิธีจ่ายรวบยอด 3-4 เดือนครั้ง โดยเงินสมทบในมาตรา 33 ที่ สปส.จัดเก็บได้ในแต่ละเดือนมีจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท
 
นายโกวิทกล่าวว่า ในภาพรวมการติดตามทวงเงินสมทบอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะนายจ้างค้างเงินสมทบอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่ง สปส.ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่มีหน้าที่ยึดและอายัดทรัพย์สิน และส่วนที่มีหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน ซึ่งกรณีที่สถานประกอบการยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ก็จะติดตามให้นายจ้างมาชำระเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง
 
ส่วนกรณีที่ปิดกิจการไปแล้วก็จะฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สิน เพื่อไปขายทอดตลาดและนำเงินมาจ่ายเป็นเงินสมทบ ทั้งนี้ การติดตามทวงเงินสมทบจะใช้ขั้นตอนจากเบาคือ การเตือน เชิญพบเพื่อพูดคุย ตรวจสอบทรัพย์สิน จนกระทั่งถึงการดำเนินการตามกฎหมาย การยึดและอายัดทรัพย์สิน
 
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ได้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบและโทษปรับกรณีจ่ายเงินสมทบล่าช้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยเงินสมทบงวดเดือนกันยายน 2558 นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบอย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 19 ตุลาคม 2558
 
สำหรับเงินสมทบงวดเดือนตุลาคม นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่น เงินสมทบงวดเดือนตุลาคมต้องจ่ายเงินสมทบภายใน 15 พฤศจิกายน หากจ่ายหลังจากวันที่ 15 พฤศจิกายน นายจ้างจะมีโทษปรับเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ค้างจ่าย โดยคำนวนค่าปรับป็นรายวัน แต่เงินที่ปรับต้องไม่เกินจำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างค้างจ่าย จากเดิมที่คิดค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน คำนวณเป็นรายเดือน แม้จะจ่ายล่าช้าไปเพียงวันเดียวก็ถูกคิดค่าปรับเป็นเดือน
 
นอกจากนี้ยังกำหนดโทษกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ลูกจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สปส.ทุกแห่งแจ้งต่อสถานประกอบการให้รับทราบถึงกฎหมายใหม่นี้แล้ว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 17/8/2558)
 
ก.แรงงานหารือทูตบังกลาเทศ การนำเข้าแรงงานประมง-ก่อสร้าง
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ต้อนรับ นางไซดา มูนา ทัสนีม (H.E. Ms. Saida Muna Tasneem) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย เข้าพบหารือประเด็นความคืบหน้าด้านแรงงาน การนำเข้าแรงงานประมงทะเลและกิจการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงร่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานประมงทะเลและกิจการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) เพื่อแนะนำตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ พร้อมทั้งเยี่ยมคารวะหารือความคืบหน้าการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานประมงทะเลและกิจการก่อสร้าง และโอกาสของแรงงานบังกลาเทศที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ต้องเร่งจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ให้แล้วเสร็จก่อน รวมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม สำหรับประเด็นการนำเข้าแรงงานประมงทะเลและกิจการก่อสร้างจากสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศจะต้องมีการหารือถึงความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวต่อไป
 
(ryt9, 18/8/2558)
 
สหภาพแรงงานการบินไทยจ่อเคลื่อนไหว หลังถูกศาลสั่งจ่าย 300 ล้าน เหตุชุมนุมขอขึ้นเงินเดือนปี 2556
 
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กบท. กล่าวว่า กำลังรวบรวมรายละเอียด ข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่ฝ่ายบริหารการบินไทยฟ้องร้องสหภาพฯชุมนุมเรียกร้องการขอปรับขึ้นเงินเดือนเมื่อปี 2556 และผลการพิจารณาของศาลแรงงานที่ตัดสินให้สหภาพฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึง 326.5 ล้านบาท 
 
รวมถึงความคิดเห็นของสมาพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ไอทีเอฟ) ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายบริหารการบินไทย เพื่อยื่นขอความเป็นธรรมต่อกรรมาธิการแรงงานในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ซึ่งตามขั้นตอนกรรมาธิการจะพิจารณาให้ชัดเจนก่อนแล้วนำเรื่องส่งให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร "สหภาพฯ จะเคลื่อนไหวอย่างไรต้องหารือผลการพิจารณาของกรรมาธิการก่อน" นายดำรงค์กล่าว 
 
นายดำรงค์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม มีการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและสหภาพฯ ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่เป็นการประชุมเรื่องทั่วๆ ไป 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ศาลแรงงานมีคำตัดสินให้ผู้นำสหภาพฯ การบินไทยรวม 4 คน คือ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ อดีตประธานสหภาพฯ นายสมศักดิ์ มานพ นายสุภรณ์ วรากร และนายดำรงค์ จ่ายเงินค่าเสียหายกรณีมีการชุมนุมขอปรับขึ้นเงินเดือนตามที่ผู้บริหารการบินไทยฟ้องร้อง ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะการชุมนุมดังกล่าวฝ่ายบริหารได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมว่าจะไม่เอาผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งอาญาและวินัย
 
(มติชนออนไลน์, 18/8/2558)
 
ปรับปรุง 13 หลักสูตรอาชีวะจบแล้วได้ใบรับรองอาชีพสากล
 
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ.2557 ใน 13 สาขาวิชา โดยเทียบเคียงจากมาตรฐานวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 9 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ (ธุรกิจดอกไม้และงานประดิษฐ์) สาขาวิชาการถ่ายภาพและวีดิทัศน์ การถ่ายภาพมัลติมีเดีย สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม) สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย (ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า) สาขาวิชาเสริมสวย/เทคโนโลยีความงาม (ช่าง ทำผม) สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (เทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิตอลคอนเทนต์) สาขาวิชารถไฟความเร็วสูงและระบบราง สาขาวิชาช่างกลโรงงาน/เทคนิคการผลิต (อุตสหกรรม การผลิตและแม่พิมพ์) และสาขาวิชาปิโตรเคมี (อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี) ส่วนอีก 4 สาขาวิชาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาวิชาช่างพิมพ์/การพิมพ์ (อุตสาหกรรมการพิมพ์) สาขาแมคคาทรอนิกส์ (แมคคาทรอนิกส์) และสาขาวิชาช่างยนต์/เทคนิคเครื่องยนต์ (บริการยานยนต์) ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จเพื่อเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2559
 
นายวณิชย์กล่าวต่อว่า การปรับหลักสูตรดังกล่าวเพื่อเป็นการการันตีคุณภาพ มาตรฐานของการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา ทั้งยังสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามที่กำหนดและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ถือว่าเป็นแรงงานระดับที่มีความเชี่ยว ชาญ และในอนาคตจะหารือให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาร่วมจัดการทดสอบระหว่างเรียนไปในคราวเดียว เมื่อผู้เรียนศึกษาจบก็จะได้รับทั้งวุฒิการศึกษาและใบรับรองมาตรฐานอาชีพทันทีโดยไม่ต้องสอบ เพราะปัจจุบันสถาบันคุณวุฒิฯ ก็ใช้พื้นที่ของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.หลายแห่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานอาชีพอยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ สอศ.ยังได้หารือกับนายดรุจ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อทำความร่วมมือในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านในสาขาที่กรมทางหลวงขาดแคลน อาทิ ช่างโยธาฯ ช่างเชื่อม ช่างสำรวจ ช่างเขียน ช่างก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งต่อไปจะหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะให้เด็กที่เรียนในระบบทวิภาคีกับกรมทางหลวงชนบท เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำทันที โดยอาจไม่ต้องทำงานกับกรมทางหลวงชนบททั้งหมด แต่อาจจะเป็นภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีความร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบท.
 
(ไทยโพสต์, 18/8/2558)
 
ดีเดย์!! กระทรวงแรงงาน พร้อมเปิด “ศูนย์วิจัย Labour Poll” 28 สิงหาคมนี้
 
18 ส.ค. 2558 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน รับทราบรายงานจากที่ประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงานจะมีพิธีเปิดศูนย์วิจัย Labour Poll ตามโครงการสำรวจความต้องการของประชาชนต่อภารกิจของกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์วิจัย Labour Poll ชั้น 15 อาคารกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตามที่พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายที่จะใช้เสียงของประชาชนสะท้อนสถานการณ์ปัญหาด้านแรงงาน และการทำงานของกระทรวงแรงงาน เพื่อนำมากำหนดนโยบายและพัฒนาการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัย Labour Poll เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยสถานการณ์ปัญหาด้านแรงงานและความต้องการของประชาชนต่อภารกิจของกระทรวงแรงงาน
 
ด้านนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในที่ประชุมฯ ถึงการจัดประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ว่า การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 2 – 4 กันยายน 2558 ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง กระทรวงแรงงานสนองนโยบายทางด้านการจัดประชุมทางวิชาการด้านแรงงาน ซึ่งเป็นที่มาของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้รับมากกว่าผู้ส่ง โดยมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากปัจจัยเรื่องค่าจ้างที่ประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เป็นแรงจูงใจ
 
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่การค้ามนุษย์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายว่า ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ทำทุกขั้นตอนให้สะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการจูงใจให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย
 
(กระทรวงแรงงาน, 18/8/2558)
 
ทุ่ม 957 ล้านจ้างงานเกษตรกร ตั้งเป้า 3.6 หมื่นคนเยียวยาผลกระทบเลื่อนทำนาปี
 
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการตามมาตรการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการงดการปลูกพืชฤดูแล้ง (ปี 2557/2558) และการเลื่อนการทำนาปี(ปี 2558/2559) โดยจ้างแรงงานภาคการเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรมาดำเนินการก่อสร้างงานชลประทาน กำจัดวัชพืช และขุดลอกคู คลอง
 
“การจ้างแรงงานอันเนื่องมาจากการงดปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างไปแล้ว จำนวน 89,250 คน เป็นเงิน
 
ทั้งสิ้น 1,221.6557 ล้านบาท และมีแผนการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอันเนื่องมาจากการเลื่อนทำนาปี (ปี 2558/2559) จำนวน 36,673 คน ค่าจ้างงานประมาณ 957.4133 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ในระหว่างที่รอฝนตกเพื่อทำนาปีต่อไป”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
 
ด้าน นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่มาสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานให้กับกรมชลประทาน เพื่อทำความสะอาดและลอกตะกอนคูคลอง รวมทั้งงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชลประทานแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่วางไว้คือ 3,000 คน โดยใช้งบในการจ้างแรงงานประมาณ 25 ล้านบาท
 
สำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญว่าจ้างเกษตรกร หรือลูก หลาน เกษตรกรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่มีจำนวนเกษตรกรที่มาสมัครไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องว่างจ้างแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริม ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งรอที่จะทำนาปี เพราะขณะนี้ฝนเริ่มตกบ้างแล้ว คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2558 นี้ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเริ่มทำนาปีได้ หลังจากที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้เลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าฝนจะตกตามปกติ
 
(ryt9, 19/8/2558)
 
ปลัดชวนสมัครสมาชิกสมาคม ขรก.-ลูกจ้าง
 
นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะนายกสมาคมข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร เชิญชวนข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร สมัครสมาชิกสมาคม เพื่อรับสวัสดิการและความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพิ่มจำนวนสมาชิกซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3-4,000 คน โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมได้มีการติดตามผลการดำเนินงาน และแผนการปรับปรุงอาคารกองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์ เป็นอาคารของสมาคมรวมถึงหารือการจัดกิจกรรมแข่งขันกอล์ฟการกุศลในเดือนกันยายน 2558 เพื่อจัดหารายได้นำไปช่วยเหลือเพิ่มเติมสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิกตามความเหมาะสม ช่วยองค์กรกทม.ด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยเหลือกิจการสาธารณะและสังคมภายนอก
 
โดยในปีที่ผ่านมา สมาคมได้จัดกิจกรรมแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศลเพื่อหารายได้ให้แก่กองทุนสวัสดิการของสมาคมเป็นเงินกว่า 3.7 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์รถบัสพลิกคว่ำขณะเดินทางไปศึกษาดูงานและอื่นๆ
 
ทั้งนี้ กทม.จัดตั้งสมาคมข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 โดยนางนินนาท ชลิตานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ต้องการให้ข้าราชการและลูกจ้างกทม. ได้รับการดูแลเอาใจใส่ รวมกลุ่มกันดำเนินงานเพื่อองค์การอย่างสร้างสรรค์ เกิดความเป็นปึกแผ่นและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อข้าราชการและลูกจ้าง ในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินงานได้มีการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น การให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสวัสดิการและสงเคราะห์ข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลที่บำเพ็ญตนเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ รวมถึงครอบครัวของข้าราชการ ลูกจ้างและบุคคลดังกล่าว
 
ซึ่งขณะนี้มีแนวทางการจัดสวัสดิการเบื้องต้น ได้แก่ การช่วยเหลือสงเคราะห์ศพแก่สมาชิก บิดาและมารดาของสมาชิก รายละ 2,000 บาท พร้อมพวงหรีด การช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอัคคีภัย การช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การมอบของขวัญแก่บุตรแรกเกิดของสมาชิก และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเมื่อเกิดปัญหาการถูกฟ้องร้องกรณีปฏิบัติงานตามหน้าที่
 
ขอเชิญชวนข้าราชการ ข้าราชการครูและลูกจ้างกทม. ทั้งลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างโครงการ สมัครเป็นสมาชิก โดยสมัครด้วยตนเอง หรือเป็นกลุ่มคณะให้ตัวแทนรวบรวมเอกสารนำส่ง ณ ส่วนความมั่นคงภายใน และราชการส่วนภูมิภาค สำนักงานปกครองและทะเบียน ชั้น 5 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) โดยมีค่าสมัครสมาชิก 150 บาทเป็นค่าแรกเข้า 50 บาท และค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ 100 บาท สอบถามโทร.02-2242940 หรือภายในโทร.1363 ดาวน์โหลดใบสมัครทางเฟซบุ๊ค “สมาคมข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร”
 
(แนวหน้า, 19/8/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net