วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ห่วงสถานการณ์ด้านอาหาร อยู่ใต้เผด็จการของทุน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.biothai ชี้สถานการณ์ด้านอาหาร อาจจะตกอยู่ภายใต้เผด็จของนายทุน เผยอำนาจทุนพยายามครอบงำวิทยาศาสตร์ ย้ำงานวิจัยผลกระทบ GMOs ถูกถอดออกจากนิตยสารวิทยาศาสตร์เพราะอำนาจทุน

ภาพจาก :มูลนิธิชีววิถี

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และมูลนิธิชีววิถี(BioThai) ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 18-19 ส.ค. 2558 ที่ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นต์เตอร์ โรมแรมรามาการ์เด้นส์ โดยภายในงานได้มีการจัดเวทีอภิปรายนำ ในหัวข้อ ประชาธิปไตยด้านอาหาร โดยวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธีชีววิถี

คลิปจาก : มูลนิธิชีววิถี

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : ประชาธิปไตยด้านอาหาร

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วรัฐสภาอเมริกาได้ร่วมกันผ่านกฎหมายที่เรียกว่า Dark Act ซึ่งย่อมาจากคำว่า Deny Americans the Right to Know Act กฎหมายที่จะปฏิเสธที่จะให้คนอเมริกันทราบว่าอาหารที่ตัวเองกินนั้นเป็น GMOs หรือไม่ เพื่อที่จะสกัดกั้นรัฐต่างๆ ไม่ให้ออกกฎหมายบังคับติดฉลาก เพื่อปฏิเสธเสียงของคนอเมริกัน 90 กว่าเปอร์เซ็นที่ต้องการรู้ว่าอาหารนั้นมันมาจากไหน ตอนนี้กฎนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร์ไปแล้ว และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะผ่านวุฒิสภา และถ้าประธานาธิบดีไม่วีโต้กฎหมายนี้ก็จะออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งกับประเทศที่ได้ชื่อ และเรียกตนเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย และเคารพสิทธิมนุษยชน นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการไม่เป็นประชาธิปไตยที่เราเห็นในระบบอาหาร

แต่ความไม่เป็นประชาธิปไตยในระบบอาหารไม่ได้มีแค่นี้  อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ ประชาธิปไตยในเรื่องอาหารขณะนี้เป็นปัญหาในระบบการศึกษาด้วย อย่างที่พบยกกรณีให้เห็นอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่หลายคนเรียนจบกันที่นั่น แต่ถ้าเรามองภาพใหญ่ออกไป สิ่งที่เรียกว่าสถาบันการศึกษาหรือจะใหญ่กว่านั้น คือวิทยาศาสตร์เองก็อยู่ภายใต้การครอบงำบริษัทอาหารเช่นเดียวกัน

ขณะนี้ระบบอาหารของโลก อยู่ในมือของบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท ขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์มีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่บริษัท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในมือบริษัทเพียงแค่ 10 บริษัท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์มีผู้รายใหญ่อย่างในประเทศไทย ในขณะตอนนี้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็กลายเป็น บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีการผลิตอาหารสัตว์มากที่สุดของโลก ถ้ามองดูบริษัทเหล่านี้แล้วเราจะเห็นความเชื่อมโยงกัน นี่เป็นการผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเดียวในสหรัฐอเมริกา บริษัทเดียวคือ Monsanto ตอนนี้ผูกขาดตลาดเมล็ดพันธ์ฝ้ายในสหรัฐอเมริกาไป 89% เกณฑ์ในการรับรู้ว่าบริษัทไหนมีอำนาจเหนือการตลาดโดยทั่วไปแค่ 30% ก็ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้ว ถ้าดูถั่วเหลือง 83% อยู่ในบริษัทเดียวคือ Monsanto บริษัทเดียวที่มีการปลูกพืช GMOs ในประเทศไทยนั่นเอง

แต่ถ้าดูลงไปรายละเอียดอีกหน่อยมีคู่แข่ง Monsanto มีคู่แข่งคือบริษัทอื่นประมาณ 7% เท่านั้นที่ขายพันธุ์ฝ้าย พันธุ์ถั่วเหลือง GMOs แข่งกับบริษัท Monsanto แต่บริษัทกลุ่มที่ว่าต้องซื้อสิทธิบัตรของบริษัทของ Monsanto ในการถือพันธุ์เมล็ดถั่วเหลือง เห็นไหมว่าเทคโนโลยีนี้อยู่ในมือของบริษัทเพียงบริษัทเดียว ข้าวโพดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่าฝ้าย ยิ่งไปกว่าถั่วเหลืองอีก เห็นมั้ยครับการเปลี่ยนไปสู่การปลูก GMOs มันมีผลอย่างสัมพันธ์ของการผูกขาดฐานการผลิตที่สำคัญของระบบอาหาร ก็คือเมล็ดพันธุ์

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราพบว่าไม่ใช่แค่อาหาร ไม่ใช่แค่เมล็ดพันธุ์ แต่คราวนี้ฐานของการผลิตเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ดี ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ แต่อยู่ในมือบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังเชื่อมโยงกัน และบริษัทเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมาเกือบ 20 ปีของการปลูกพืช GMOs ในโลก มีรายงานที่พูดถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ทั้งหมดอยู่ 22 รายการ เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ทราบไหมว่าชะตาของนักวิทยาศาสตร์ที่ขึ้นมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับ GMOs ประสบชะตากรรมจากการผลักดันให้มีการจัดการโดยบริษัทคนแล้วคนเล่าผมตามเรื่องนี้มาเกือบ 20 ปี ครั้งแรกสุด ดร.พุสไทช์ ทำงานวิจัยค้นพบว่ามันฝรั่ง GMOs ทำให้เกิดการเจริญเติบโตภายในของหนูทดลองผิดปกติ หลังจากนั้นไม่นาน ก็ถูกกดดันให้ออกจากมหาวิทยาลัยจากสถาบันที่ท่านทำการเรียนการสอนอยู่

คนต่อมา Professor John Lucy อยู่ ในอเมริกา มหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีทั้งคนที่ทำเรื่อง GMOs และทำการศึกษาเรื่องผลกระทบ แต่ Lucy ก็ประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน งานของ Lucy ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารที่มีชื่อว่านิตยสาร Nature John Lucy เจอการวิพากษ์วิจารณ์ว่างานใช้ไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วงานวิจัยนั้นไม่ได้บอกในทางปฏิบัติว่า หนอนมากินเกสรข้าวโพด GMOs หนอนจะสูญพันธุ์ อย่างดีก็สร้างผลกระทบแค่นั้น ฉะนั้นงานวิจัยของเขาเป็นงานวิจัยที่อยู่ในแค่ห้องทดลอง ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่ว่าในสิ่งที่ Lucy พบก็คือว่า GMOs ไม่ปลอดภัย ต่อแมลงที่ไม่ได้เป็นศัตรูเป้าหมายก็คือผีเสื้อ Monard butterfly เด็กทุกคนในอเมริกันต้องรู้จักทุกคน เพราะเป็นผีเสื้อที่อพยพย้ายถิ่นจากอเมริกาไปแม็กซิโกทุกปี และยังเป็นสัญลักษณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ แต่ว่า John Lucy ถูกวิจารณ์อย่างขนาดหนักจากอุตสาหกรรม GMOs

คนสุดท้ายคือ Seralini วิจัยเรื่องผลกระทบจาก GMOs ชื่อ NK603 คือข้าวโพดซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรกำลังเตรียมการให้มีการทดลองในภาคสนาม จากการผลักดันของบริษัท Monsanto  โดยเขาทำการทดลองข้าวโพด NK603 กับหนูทดลอง พบว่าหนูทดลองที่ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งจริงแล้วการทดลอง GMOs จะใช้เวลาสั้นๆเพียงไม่กี่เดือน แต่เขาใช้เวลา 2 ปี และค้นพบว่าหนูมีการเติบโตอวัยวะภายในที่ผิดปกติที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งเป็นต้น ปรากฏว่าหลังจากที่งานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เป็นวารสารที่ขึ้นชื่อมาก ปรากฏว่างานของเขาถูกถอดออกจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้เป็นไปตามมาตราฐานที่ต้องการ แต่ในท้ายที่สุดวารสารวิชาการอีกเล่มหนึ่งชื่อ environmental science europe กลับเอามาตีพิมพ์ และได้มีนักวิทยาศาสตร์อีกประมาณร้อยกว่าคนมาลงชื่อสนับสนุนงานของเขาว่าเป็นไปตามมาตราฐานที่ควรจะเป็น แล้วหากผู้ใดจะถอดบทความของเขาออก งานที่เกี่ยวข้องกับ GMOs ประมาณ 95% ก็ควรจะถอดออกมาจากรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นี่คืออิทธิพลของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของบริษัท

ในเมืองไทยคิดว่าจะมีสิ่งนี้ไหมครับ? หนีไม่พ้นเราติดตามการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเราทราบได้เลยนะครับว่างานวิจัยที่บอกว่าปลอดภัยทั้งหลายมาจากการทดลองของบริษัท ไม่ได้จากสถาบันวิจัยอิสระ และบางทีการวิจัยอิสระเหล่านั้นก็มีบริษัทที่ให้เงินอยู่เบื้องหลังแบบมหาวิทยาลัยเนศวรที่กำลังทำอยู่ ได้เงินไปหลายล้านบาท เรายังสามารถเชื่องานวิจัยนั้นได้อยู่หรือไม่

ผมกำลังพยายามให้ท่านเห็นภาพใกล้ตัว นักวิทยาศาสตร์บางคนที่ประกาศว่าตนเองเป็นศัตรูกับวิทยาศาสตร์จอมปลอม ในภาษาวิชาการมีคำหนึ่งที่เรียกว่า Pseudo-Science หรือที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์จอมปลอม บางคนเหล่านั้นที่ด่าวิทยาศาสตร์จอมปลอมก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทนั้น บางทีไม่รู้ตัวเลย หรือบางทีรู้ตัวแต่ไม่เต็มที่

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วสถานนีโทรทัศน์ Thai PBS จัดดีเบตทางวิชาการระหว่างนักวิทยาศาสตร์มีชื่อท่านหนึ่ง ระหว่างการดีเบต เขาได้มีข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก และผมติดตามเรื่องนี้มานาน ผมทราบดีว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากที่ใด แต่ไม่สามารถบอกแก่ที่ผู้ฟังผู้ชมได้ว่าข้อมูลเขาได้มาจากที่ใด แต่ก่อนที่การดีเบตเหล่านี้จะจบลง นักวิทยาศาสตร์นี้ได้ยื่นหนังสือเล่มหนึ่งให้กับผม ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาค้นคว้ามา เป็นสิ่งที่เขาเอามาถกเถียงเรื่อง GMOs ซึ่งคำนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าใช้ข้อมูลจาก Croup Life  และสนับสนุนการจัดพิมพ์จาก Croup Life  ซึ่งคือจัดตั้งโดยสมาคมบริษัท Monsanto, DuPont, Syngenta, SMC, Dow Chemical คือพวกที่ผลักดัน GMOs และสารเคมีนั่นเอง

เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์จอมปลอมที่สุดโดยไม่ต้องพึ่ง GT200 ไม่ใช่เหรียญควอนตั้ม แต่คือวิยาศาสตร์ที่จะนำพาประเทศ นำการพัฒนาการเกษตรไปสู่การเป็นเมืองขึ้นพึ่งพาบริษัทนั่นเอง

ขณะนี้บริษัทข้ามชาติยักษ์เหล่านี้ไม่ได้ทำเพียงเมล็ดพันธุ์ ขณะนี้ Monsanto ได้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ GMOs และเป็นการผูกขาดตลาดใหญ่ที่สุดในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ขณะนี้กำลังเสนอซื้อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Syngenta ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกที่ผลิตสารเคมี Monsanto ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ GMOs ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ บรรทัดฐานเหล่านี้ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้ว

ขณะที่ Monsanto ก็ขายสารเคมีด้วย แต่ยักษ์ใหญ่ในด้านสารเคมีคือ Syngenda ผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาดอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์  Monsanto เป็นรองลงมาในเรื่องของสารเคมี แต่ตอนนี้ 2 บริษัทนี้กำลังควบรวมกิจการ ไม่ใช่แค่นั้น บริษัทที่ว่าก็กำลังซื้อบริษัทที่เกี่ยวกับการทำนายสภาพภูมิอากาศ อย่างล่าสุด 2 ปีที่แล้ว Monsanto ก็ได้ซื้อบริษัทที่ทำงานจัดการข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำนายสภาพภูมิอากาศ เพื่อใช้ในเรื่องของการเกษตร และหลายคนก็กังวลว่าในที่สุดแล้วว่าต่อไปเทคโนโลยีและข้อมูลเหล่านั้นมันจะกลายเป็นของบริษัทมากกว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ

นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น มีการกังวลขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ องค์กรที่ชื่อ ETC ในอเมริกาไปสำรวจเรื่องสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องการพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้ต้านทาน เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ตอนนี้ใครเป็นเจ้าของ เขาพบว่ามีสิทธิบัตรเหล่านี้ประมาณกว่าพันสิทธิบัตร แต่ใน 2 ใน 3 ถูกครบครองโดย Monsanto DuPont นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรกรรม และอาหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ดร.วันนาดา ชิวา นักฟิสิกส์ของอินดีย นักคิดคนสำคัญของโลก และของเอเชีย บอกว่านี่คือเผด็จการทางอาหาร ฉะนั้นประชาธิปไตยทางอาหารคืออะไร ประชาธิปไตยทางอาหาร หมายถึงอำนาจจะได้มาซึ่งอาหารที่หลากหลายตามวัฒนธรรม มีคุณค่า ปลอดภัย และอยู่ในมือของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกร แรงงาน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง หรืออยู่ในภาคการผลิตที่ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมหรืออาหาร นี่ความหมาย ก็คืออำนาจต้องอยู่ในมือของประชาชนทุกส่วน  ประชาธิปไตยทางด้านอาหารเป็นกระบวนการแสดงออกซึ่งสิทธิในอาหาร ที่ถูกรองรับโดยองค์กรสหประชาชาติ ว่าทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับอาหาร เช่นเดียวกับยารักษาโรค

การจัดการอาหารต้องเป็นการจัดการของประชาชน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบริโภค ตั้งแต่สิทธิครอบครอง และสิทธิในที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิต การกระจายอาหาร การกำหนดมาตราฐานของอาหาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหาร หรือในอีกแง่หนึ่งราษฏรได้กลายเป็นประชาชนที่มีอำนาจในด้านอาหาร เป็นพลเมืองด้านอาหาร

ดังนั้นอาหารที่เราพูดถึงนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดีไม่ดีอาจใหญ่กว่าพรรคการเมือง ประชาธิปปัตย์ เพื่อไทย กระทั่งรัฐบาลรักษาการที่มีอยู่ ผมขอเชื่อมโยงว่ารูปธรรมของการขับเคลื่อนด้านอาหารทั้งโลกได้ตื่นขึ้นมาแล้ว และพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยทางด้านอาหาร ซึ่งแต่ละคนมีพื้นที่การแสดงออกที่สามารถแสดงสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยทางด้านอาหารที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งขบวนการโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท