Skip to main content
sharethis

คนทำงานช่วงเวลากลางคืนในสหราชอาณาจักรพุ่งถึง 3 ล้านคนแล้ว สภาสหภาพแรงงานศูนย์กลางแห่งชาติ (TUC) หวั่นกระทบปัญหาครอบครัว ชี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำงานในช่วงเวลากลางคืนนั้นต้องผ่านการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงานเสียก่อน

(ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/heylen/CC BY 2.0)

22 ส.ค. 2015 เว็บไซต์ของสภาสหภาพแรงงานศูนย์กลางแห่งชาติ (Trades Union Congress หรือ TUC) รายงานเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2015 ที่ผ่านมาว่าจากรายงาน A Hard Day's Night: The effect of night shift work on work/life balance พบว่าคนทำงานในสหราชอาณาจักรทำงานในช่วงเวลากลางคืนมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว

สัดส่วนของคนทำงานในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี ค.ศ. 2007 เป็นร้อยละ 12.3 ในปี ค.ศ. 2014 โดยในปี ค.ศ. 2014 มีคนทำงานในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2007 ประมาณ 200,000 รวมเป็น 3,168,000 คนแล้ว เทียบเป็นอัตราที่พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 6.9 ระหว่างปี ค.ศ. 2007-2014

ในด้านเพศสภาพพบว่าพนักงานเพศชายเป็นคนทำงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในช่วงเวลากลางคืนโดยในปี ค.ศ. 2014 มีพนักงานชายทำงานในช่วงกลางคืนร้อยละ 14.9 ส่วนพนักงานหญิงทำงานในช่วงเวลากลางคืนร้อยละ 9.7 แต่กระนั้นพนักงานหญิงยังคงมีแนวโน้มทำงานในช่วงเวลากลางคืนมากขึ้นกว่าผู้ชายโดยมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ส่วนผู้ชายมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 ซึ่งงานของผู้หญิงในช่วงเวลากลางคืนหลัก ๆ แล้วก็อยู่ในภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นงานดูแลเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงงานด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ ส่วนผู้ชายนั้นมักเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม

ตารางแสดงสัดส่วนของพนักงานที่ทำงานในกะกลางคืนเปรียบเทียบชายหญิงในภาคการทำงานต่าง ๆ ปี ค.ศ. 2014

ที่มา: A Hard Day's Night: The effect of night shift work on work/life balance

 

ผลกระทบต่อสมดุลชีวิต

TUC ระบุว่าแม้จะไม่คัดค้านการให้พนักงานทำงานในช่วงเวลากลางคืน แต่นายจ้างควรพิจารณาผลกระทบสำหรับพนักงาน นอกจากนี้การให้พนักงานทำงานหรือขยายเวลาการทำงานในเวลากลางคืนนั้นควรผ่านการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานหรือตัวแทนของพนักงาน เพื่อให้แน่ใจถึงสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมและปลอดภัยสำหรับพนักงาน

ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพนั้น พบว่าการทำงานคืนทำให้พนักงานมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน, โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งภาวะซึมเศร้า รวมทั้งการไม่มีเวลาให้ครอบครัวนั้นอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวโดยเฉพาะบุตรหลาน และการทำงานในเวลากลางคืนนั้นก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ TUC แนะนำว่านายจ้างจะต้องให้พนักงานทำงานในช่วงเวลากลางคืนเท่าที่จำเป็น ไม่ควรบังคับให้พนักงานทำงานเพิ่มในช่วงเวลากลางคืน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้มาทำงานในช่วงเวลากลางคืนนั้นต้องผ่านการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงานเสียก่อน

นายจ้างจะต้องแจ้งข้อมูลที่เพียงพอให้พนักงานทราบก่อนการเปลี่ยนกะเวลาในการทำงานเวลากลางคืน ไม่ควรแจ้งอย่างกระชั้นชิดมากเกินไปเพื่อให้พนักงานได้มีเวลาเตรียมตัว รวมทั้งค่าตอบแทนสำหรับพนักงานในเวลากลางคืนนั้นจะต้องสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของพนักงานด้วย เช่น ค่าดูแลเด็กในช่วงเวลากลางคืน เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net