เสวนากับนักกิจกรรมฉุกเฉิน (emergency activism) ของอินโดฯ ยุคหลัง 1998

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปสัมมนางาน Inter-Asia Cultural Studies 2015 ที่มหาวิทยาลัยไอร์ลางกา เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย  การสัมมนาครั้งนี้มีหัวข้อของงานว่า Undercurrents: Unearthing Hidden Social and Discursive practices มีผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความมากกว่า 400 คน ทั้งจากจำนวนและความน่าสนใจของบทความที่นำเสนอคงไม่เป็นการง่ายสำหรับผู้เข้าร่วมที่ต้องจัดโปรแกรมการเข้าฟังตามห้องสัมมนาต่างๆใช้พร้อมกัน 15 ห้องใน 3 อาคาร แต่แล้วช่วงเย็นของวันที่ 7 ก็มีโปสเตอร์แผ่นเล็กๆมาติดหน้าลิฟท์ว่า มีโปรแกรมเพิ่มเข้ามาเป็น Workshop เกี่ยวกับเมืองและกิจกรรมสื่อศิลปะ จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมอินโดนีเซีย 3 กลุ่ม ผมรีบจดเวลาและห้องเอาไว้...อย่างไรต้องไม่ให้พลาดโปรแกรมวันเสาร์ที่ 8 ช่วง 5 โมงเย็นถึงทุ่มครึ่ง 

(1)

หลังจากวิ่งวุ่นทั้งวันกับการนำเสนอและเข้าฟังการนำเสนอที่น่าสนใจตามห้องต่างๆ  ผมไปถึงห้องเวิร์คช็อปราว5 โมงเศษๆ คาธาลีน อัซซาลี (Kathaleen Azali) ผู้นำเสนอคนแรกจาก C2O Library & Collabtive เริ่มพูดคุยไปบ้างแล้ว  คาธาลีนเหมือนเป็นเจ้าบ้านเพราะอยู่ในสุราบายา เธอก่อตั้ง C2O ในปี ค.ศ. 2008 โดยเริ่มจากใช้บ้านของตนเองเป็นห้องสมุด  คาธาลีนรวบรวมหนังสือ ภาพยนตร์ มาจากการบริจาค และให้บริการห้องสมุดสำหรับสมาชิกพร้อมๆกับใช้พื้นที่ของห้องสมุดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่นจัดฉายหนังเล่นดนตรีไปด้วย เธอยังพูดถึงการทำงานของ  C2O ที่ใช้ระบบอาสาสมัคร ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็มีอาสาสมัครหมุนเวียนเข้ามาช่วยอยู่เรื่อยๆ เธอเห็นว่าแม้ว่าสุราบายาจะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากจาร์กาต้า แต่เนื่องด้วยเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจ ผู้คนที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มุ่งมาทำธุรกิจและการค้า ฉนั้นหากเทียบกิจกรรมต่างๆด้านสื่อและศิลปะในสุราบายากับเมืองต่างๆเช่นบันดุง จาร์กาต้า ยอร์คยาการ์ต้าแล้วยังถือยังไม่มาก  ประกอบกับสุราบายาไม่มีพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้มีแหล่งโบราณสถาน ย่านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และไม่มีสถานศึกษามากนัก โดยรวมสุราบายาจึงมี “สิ่งดึงดูด”ทางด้านกิจกรรมสื่อศิลปะร่วมสมัยค่อนข้างน้อย  แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเธอมุ่งไปที่สร้างกิจกรรมบนพื้นที่ทางเลือกอย่างเช่น C2O  

คาธาลีนกล่าวว่าสิ่ง C2O ทำในตอนนี้ก็คือรวบรวมเครือข่ายต่างๆ ของกลุ่มและนักกิจกรรมสื่อศิลปะในสุราบายา และริเริ่มจัดเทศกาลงาน Design It Yourself Fair (DIY Fair) โดยเทศกาลเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นการจัดกันเองในกลุ่มคนที่สนใจ  ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสถานศึกษาและหน่อยงานท้องถิ่นของรัฐ  โดยจะมีการจัดงานในเดือนตุลาคมของทุกปี   ในช่วง 3-4 ปีหลัง C 2 O ยังมีโอกาสร่วมงานวิจัยและทำโครงการด้านศิลปะและเมืองสร้างสรรค์กับองค์กรของรัฐบาลอินโดนีเซียและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร  ที่จริงหากเทียบกันแล้วใน 3 กลุ่มของเวิร์คช็อป C2 Oของคาธาลีน ดูจะเป็นน้องใหม่สุด แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่บุกเบิกงานด้านกิจกรรมสื่อศิลปะและวัฒนธรรมในสุราบายา

ภาพประกอบ โดย วิริยะ  สว่างโชติ

(2)

ก่อนที่การพูดคุยของกลุ่มที่สองจะเริ่มขึ้น ผมสังเกตว่าคนทยอยกันเข้ามาจนแน่นห้องขนาด 50 ที่นั่ง ซึ่งจัดว่าคนเยอะ โดยเฉพาะกับโปรแกรมในช่วงเย็นที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะรู้สึกอ่อนล้า บางส่วนก็ขอตัวกลับไปก่อน แต่ห้องนี้บรรยายกำลังเริ่มคึกคัก ซึ่ง อันตาริกซา( Antariksa )จาก Kunci Cultural Studies Center ก็ไม่ได้ทำให้ใครๆผิดหวัง แม้เขาจะมาด้วยท่าทางที่ดูเหมือนคนเพิ่งลุกมาจากเตียงนอน แต่ก็คุยเรื่องการทำงานของกลุ่มของเขาอย่างสนุกสนาน อันตาริกซาเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่านี้ไม่ใช้การบรรยายแบบวิชาการ ไม่ใช้การนำเสนอบทความ เป็นเพียงการเอาประสบการณ์ของการทำงานมาแลกเปลี่ยนกัน  ที่จริงผมคุ้นเคยกับ Kunci Cultural Studies Center เนื่องจากเคยร่วมเวิร์คช็อปกับนูไรนิ จูเรียสตูติ( Nuraini  Juliastuti)( ปัจจุบันเธอเรียนปริญญาเอกด้านวัฒนธรรมศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยไลเดน เนเธอแลนด์)เมื่อ 3 ปีก่อน  นูไรนิกับอันตาริกซาร่วมกันก่อตั้ง Kunci Cultural Studies Center เมื่อปี ค.ศ.1999 ในขณะที่ทั้งคู่กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในยอร์คยาการ์ต้า  อันตาริกซาเริ่มการพูดคุยด้วยที่มาของชื่อศูนย์ฯ Kunci แปลว่า “กุญแจ” ส่วนว่าทำไมต้องมีคำว่า “Cultural Studies”ต่อท้ายด้วย อันตาริกซาบอกแบบติดตลกว่าเขาได้คำนี้จากหนังสือในห้องสมุด  ตามความเข้าใจของเขากับนูไรนิมันคือ “จะศึกษาอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้” ดังนั้นเขาจึงใช้มัน แต่เขาก็บอกว่าผ่านมาหลายปี พวกเขาทำกิจกรรมมาหลายด้านและก็เปลี่ยนพันธกิจ (mission) ของกลุ่มมา 3 ครั้ง ดังนั้น ในปัจจุบันคำว่า Cultural Studies จึงเป็นเพียงแค่ชื่อ (เข้าใจว่าหมายถึงชื่อของศูนย์ Kunci Cultural Studies Center) 

อันตาริกซาบอกว่า Kunci โชคดีที่เริ่มมาก่อนกลุ่มอื่นๆ และพอดีเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองหลังจากถูกปิดกั้นเสรีภาพมานานกว่า 30 ปีในยุคเผด็จการซูฮาร์โต ช่วงหลังปี ค.ศ. 1998 ในอินโดนีเซียสิทธิและเสรีภาพได้การยอมรับ รวมทั้งมีรูปแบบของการแสดงออกและการสื่อสารหลากหลายขึ้น  ในยุคก่อตั้ง Kunci แรกๆนั้นพวกเขาทำด้วยความสนุกแบบคนหนุ่มสาว ด้วยความคิด Do It Yourself มีการจัดเสวนา จัดดนตรี งานแสดงสื่อใหม่ ฯลฯ มีทีมงานอาสาสมัครที่เข้า-ออก หมุนเวียนอยู่เรื่อยๆ เขายังย้ำว่าแม้ว่า Kunci จะไม่มีโครงสร้างการจัดการใดๆ แต่กิจกรรมต่างๆที่ Kunci ทำมาในในช่วง 10 กว่าปี ได้ทำให้ Kunci เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ มีหลายหน่วยงานและองค์กรทั้งในท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติยื่นโอกาสในเขาทั้งในแง่ของทุนการจัดการ ทุนทำกิจกรรมต่างและสถานที่ เขาบอกว่าเมื่อราว 3 ปีก่อนพวกเขาจำเป็นต้องหาออฟฟิศใหม่  ได้มีหน่วยงานของรัฐบาลหน่วยหนึ่งเสนอออฟฟิศให้พวกเขาเข้าไปใช้  พร้อมทั้งเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่รับข้อเสนอจากหน่วยงานดังกล่าว เพราะได้บ้านหลังหนึ่งให้ใช้ทำออฟฟิศ  

ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้นตอนนี้พวกเขากำลังวางแผนที่จะเปิดแนวรบด้านการผลิตความรู้ให้มากขึ้น โดยจะมีคอร์สวิชาที่คนเรียน/คนสอนสามารถออกแบบเนื้อหาวิชาและการเรียนการสอนร่วมกันได้ โดย Kunci จะเป็นผู้สนับสนุน(และประชาสัมพันธ์)ในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ การเรียนดังกล่าวไม่มีเครดิตและไม่มีใบรับรอง ไม่มีค่าลงทะเบียน ทุกอย่างเกิดขึ้นบนฐานของ “การแชร์ร่วมกัน” หากจะกล่าวว่า Kunci เหมือนเป็นพี่ใหญ่สุดในแวดวงของนักกิจกรรมสื่อศิลปะในยุคหลังปี 1998 ของอินโดนีเซียก็ดูจะไม่ผิดนัก หากแม้แต่ว่าจะเป็นพี่ใหญ่ อันตาริกซาก็ยังบอกว่า Kunci ยังคงลักษณะแบบ Do It Yourself ไว้ให้มากที่สุด

(3)

มิราวาน อันดัน ( Miranwan Andan)จากรวงรูปา ( Ruangrupa) หรือ ruru จากจาร์กาตาคือผู้พูดคุยคนสุดท้าย  เขาใช้เวลาบรรยายไม่นานนัก  โดยใช้เวบไซต์ของรวงรูปาประกอบคำบรรยาย (http://ruangrupa.org/15/) ปัจจุบันรวงรูปามีอายุครบ 15 ปี ในปีนี้ (ก่อตั้ง ปี ค.ศ.2000) และกำลังจะปรับตัวเป็นสถาบันรวงรูปา ( Institut Ruangrupa) ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมารวงรูปาทำกิจกรรม วิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อ ศิลปะ พื้นที่กับการใช้ชีวิตสาธารณะของคนในเมืองจาร์กาตา งานใหญ่ที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อใหม่ก็คือเทศกาล OK Video Festival  จากการที่ฟังเขาบรรยายถึงกิจกรรมและแผนงานต่างๆในเวบไซต์นั้น จะเห็นว่ามีทั้ง วิทยุออนไลน์  ช็อปขายสินค้า สตูดิโอศิลปะและแกลลอรี่  เป็นต้น  ดูเหมือนว่ารวงรูปาจะมีรูปแบบขององค์กรและทีมงานที่จัดเจน  มีระดับของการทำงานที่ร่วมกับทั้งองค์กร ชุมชนและสาธารณะ และสร้างตนเองได้อย่างมั่นคงที่สุดจากหากเทียบกับน้องเล็กอย่าง C2O และพี่ใหญ่อย่าง Kunci

หลังจบการพูดคุยประสบการณ์ของทั้ง 3 กลุ่ม ผู้ร่วมฟังก็เริ่มคำถาม โดยหลักๆมุ่งไปเรื่องสถานะของความเป็นตัวตนของพวกเขา คำถามหนึ่งที่น่าสนใจจากผู้ร่วมฟังก็คือ จะเรียกได้ไหมว่าพวกเขาเป็น neo-tribe (นิยามของ Michel Maffesoli นักสังคมวิทยาฝรั่งเศส) แม้ว่าดูเหมือนพวกเขาจะไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นไปตามนิยามดังกล่าวเท่าไร  แต่ด้วยการที่เป็นคนรุ่นที่ไม่เอาการบริโภคนิยม (ด้วย Do it yourself ethos ) การพยายามสร้างชุมชนของตนเองในเมือง (ในแบบ post-community)  การเล่นกับอำนาจบนพื้นที่ทางเลือกและพื้นที่สาธารณะของเมือง  ผมก็ยังเห็นว่าพวกเขาน่าจะเรียกได้ว่าเป็น neo-tribe แต่คำถามสำคัญที่ทุกคนอยากได้คำตอบจริงๆก็คือเรื่องการรับเงินทุนมาทำโครงการ ทั้ง 3 กลุ่มตอบคล้ายกันว่าพวกเขาระวังตนเองกับการรับเงินสนันสนุนจำนวนมากที่จะเข้ามากำหนดทิศทางการทำงานของตนเองและกลุ่ม 

มิราวานย้ำว่าเขาไม่เคยไปหานักกิจกรรมการเมืองหรือพวกเอ็นจีโอ แต่คนเหล่านี้ต่างหากที่จะมาหาพวกเขา และก็เสนอโปรเจคต์ให้ทำ อีกคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสิ่งที่พวกเขาทำนั้นสามารถเลี้ยงปากท้องได้หรือเปล่า? พวกเขาอยู่ได้อย่างไร? คำตอบ(ที่มักได้ยินอยู่เสมอ)ก็คือ ทำงานหลายอย่างที่ไม่ใช่งานประจำ (ออกแบบงานศิลปะต่าง ผู้จัดกิจกรรม  ทำสินค้าขาย  ชงกาแฟ ฯลฯ) เพราะจำเป็นต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว บางครั้งก็ยังต้องพึ่งพาเงินจากพ่อแม่  อย่างไรก็ตามประสบการณ์ทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะต้องหาทางจัดการกับเรื่องนี้หากยังคงต้องทำกิจกรรมในด้านนี้ต่อไป  ปัญหาเรื่องช่วงว่างระหว่างรุ่น (ของคนรุ่นก่อนปี 1998 และรุ่น 1998) ก็เป็นประเด็นสำคัญ  แต่ไม่ได้มีการอภิปรายกันมากนักเนื่องจากหมดเวลาเสียก่อน ซึ่งประเด็นนี้ผมได้คุยกับอูการาน ปราสาท(Ugoran Prasad)จาก Teater Garasi สั้นๆเพราะเนื่องจากนั่งติดกัน และคิดว่าจะหาโอกาสคุยเพิ่มเติมให้ได้

(4)

ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 9 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับมิราวานและอูการานถึงลักษณะของการเมืองของกลุ่มกิจกรรมสื่อศิลปะที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียในยุคหลัง 1998 เพิ่มเติม ผู้เขียนสงสัยเรื่องว่านักกิจกรรมสื่อศิลปะอย่างพวกเขาแยกตนเองออกจากลุ่ม(หรือขบวนการ)เคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างอื่นๆ อย่างไร ทั้งมิรานและอูการานไม่นิยามว่าเป็นนักกิจกรรมแบบนักพัฒนาในสายเอ็นจีโอ มิราวานบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในสังคมอินโดนีเซีย พวกเขาไม่สามารถรับรู้มันได้ทั้งหมด และก็ไม่อาจจับจดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะ พวกเขายินดีเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้าน  เข้าร่วมการรณรงค์ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) กับกลุ่มนักพัฒนาเอกชน นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักการเมืองนักวิชาการ  ชาวบ้าน คนงาน นักศึกษา ฯลฯ ด้วยการใช้สื่อศิลปะหลากหลายรูปแบบเพื่อแสดงสิทธิของการสื่อสารและเพื่อส่งสาร  อูโกรันแม้ว่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงละครเวที  แต่เขาก็อยู่ในกลุ่มดนตรีด้วย เขามีวง Melancholic Bitch ของตนเองและใช้เพลงเพื่อสื่อในการวิพากษ์สังคม

คลิป Mars Penyembah Berhala  ของวง Melancholic Bitch ที่มีเนื้อหาวิจารณ์การบูชาไอดอลในสื่อโทรทัศน์

ทำไมปี 1998 จึงเป็นเส้นแบ่งที่สำคัญ? อูการานบอกว่าพวกเขานั้นเป็น “emergency activism” ดังคำนิยามของเมลานี บูเดียนตา (Melani Budianta)นักวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาที่มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย เมลานีเห็นว่า emergency activism จะเข้าร่วมเข้าในในสถานการณ์ที่สุกงอม (ในความหมายที่พวกเขาไม่ได้เป็นทั้งผู้นำหรือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมการเมือง หรือถูกมองว่าเป็นพวกอยู่นอกพื้นที่ทางการเมือง) เป็นกลุ่มที่มีพลวัตสูง ไม่มีองค์กรจัดตั้ง ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองใด ผู้เขียนแสดงความเห็นแย้งว่าดูเหมือนพวกเขาเป็นพวกไม่จริงจังกับปัญหา? จะเรียกได้ไหมว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม-การเมืองเป็น “การต่อต้านโดยไม่ตั้งใจ” ( resistance by accidence) ทั้งอูการานและมิราวานบอกว่าพวกเขาใช้งานศิลปะและรูปแบบของการสื่อสารหลากหลายซึ่งไม่ตายตัว  พวกเขาสนใจการเมือง สนใจปัญหาสังคม แต่พวกเขาไม่ใช่พวกที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ผมก็เลยพูดเล่นๆว่าพวกเขาน่าจะเป็นพวก “the newest left” (พวกซ้ายใหม่สุด) อูการานพูดย้ำว่า “ the newest leftist, the newest leftist” ผมไม่แน่ใจว่าเขาเห็นคิดเห็นอย่างไรกับคำๆนี้  เราล่ำลากันหลังจากควันบุหรี่มวนที่สองจางลง ผมสรุปให้ตัวเองอย่างสั้นๆว่าการได้ฟังและได้คุยพวกเขา คือประเด็น Undercurrent ที่ผมได้จากไปสัมมนาวัฒนธรรมศึกษาที่อินโดนีเซียในครั้งนี้

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท