Skip to main content
sharethis

พูดถึงเพลงเมทัล (Metal) คนที่ไม่ใช่คอเพลงแนวนี้อาจนึกถึงดนตรีหนักๆ เนื้อหาตรงไปตรงมา หรืออาจถึงขั้นใช้คำหยาบ โดยอาจจะเรียกรวมๆ กันไปว่า เพลงร๊อค แต่ในความเป็นจริงเพลงเมทัลแบ่งออกเป็นหลายประเภทและมีซับเซตย่อยๆ พร้อมรายละเอียดความเป็นมาที่แตกต่าง แต่มีอยู่ตระกูลหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะกับสถานการณ์การเมืองไทยช่วงหลายปีมานี้ นั่นคือ แนวที่เนื้อหาพูดถึงเรื่องการเมืองซึ่งเรียกว่าThrash Metal

ต้นกำเนิดของ Thrash Metal นั้นเริ่มในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นยุคที่เพลงเฮฟวี่เมทัลเริ่มแตกแขนงแยกเป็นแนวใต้ดิน (ค่ายเล็กนอกกระแส) และบนดิน เพลงบนดินจะไม่พูดเรื่องการเมือง เช่นพวกแฮร์แบนด์ ซึ่งเนื้อหาจะวนๆ กับ Sex, Drugs, rock n' roll เพลงThrash Metal  ก็มาจากเพลงใต้ดินของเฮฟวี่เมทัลนั้นเอง

กล่าวโดยสรุปเนื้อหาของวง Thrash Metal ในต่างประเทศมักเป็นเพลงแนวต่อต้านสังคมหรือเป็นขบถต่อแนวคิดหรือค่านิยมกระแสหลัก ซึ่งวงที่บุกเบิกแนวทางนี้ (ที่ตอนนี้เป็นร็อคสตาร์กันไปหมดแล้ว) ได้แก่ Metallica, Slayer, Megadeth และ Anthrax ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาดนตรีวิพากษ์สังคมอย่างไม่มากก็น้อยถ้าเทียบกับเหล่าวง "ป็อปเมทัล" (ซึ่งบางคนก็จะเรียกว่าพวกฮาร์ดร็อคเท่านั้น ไม่ใช่เมทัล) รวมสมัยกันอย่าง Motley Crue, Bon Jovi, Poison, Winger, Dokken, Guns N' Roses ฯลฯ นอกจากนั้นจริงๆ แล้ว วงขนบดนตรีเฮฟวี่เมทัลก็มีการวิพากษ์สังคมมาก่อนหน้า Thrash Metal แล้วเช่น วง Black Sabbath ที่เป็น Heavy Metal รุ่นบุกเบิกก็เขียนวิพากษ์วิจารณ์สงครามเวียดนามในเพลง War Pigs และ Children of the Grave หรือวง Iron Maiden นี่เป็นวง Heavy Metal ที่โด่งดังที่สุดในรุ่นที่สองก็มีเพลง Run to the Hills พูดถึงการคุกคามคนพื้นเมืองในอเมริกาหรือชาวอินเดียนแดงางวง
 
นอกจากนี้หลังจาก Thrash Metal เสื่อมความนิยมไป วง Metal แขนงอื่นๆ เช่น Rap Metal ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมในเนื้อหาบ้างประปราย เช่น Rage Against The Machine ซึ่งนักร้องนำมีเชื้อสาย Mexican  ก็มีเนื้อหาการเมืองจัดๆ และเป็นแกนนำในการประท้วงในอเมริกาหลายๆ ครั้ง  แต่วงเมทัลไทยที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างโดดเด่นกลับนำมาซึ่งความประหลาดใจ เพราะแนวทางของหลายวงดูเหมือนไปกันได้และสนับสนุนแนวคิดกระแสหลักในสังคมอย่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม
 
ในปี 2557 ช่วงการชุมนุมของเหล่ามวลมหาประชาชนผู้เป่านกหวีด หรือกลุ่ม กปปส.  ปรากฏการณ์หนึ่งที่ น่าสนใจคือการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวงเมทัลไทยที่ฝีไม้ลายมือทางการดนตรีระดับแนวหน้าอย่างวง DEZEMBER วงนี้ขึ้นแสดงดนตรีบนเวที กปปส.  และไม่ใช่เพียงเท่านั้นแต่ได้แสดงออกจุดยืนทางการเมืองด้วย
 
มอตโต้สำคัญของวงคือ
 
“การฝึกฝนกีตาร์ไปพร้อมๆ กับการปกป้องรักษา ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สามารถทำได้ อยู่ที่ว่า...เราจะสำนึกในคุณค่าของทั้งสามสถาบันมากน้อยเพียงใดเท่านั้น”  
 
“เพราะประเทศไทยไม่ได้มีไว้เพียงโยกหัวอย่างเดียว”  
 
ด้วยปรากฏการณ์เช่นนี้ ประชาไทจึงทดลองสุ่มสัมภาษณ์วงเมทัลเมืองไทย ในประเด็นดนตรีกับแนวคิดและบริบททางการเมืองไทย โดยพูดคุยกับ 2 วง คือ  Killing Fields ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นวง ‘เมทัลหัวก้าวหน้า’ และอีกวง The Past of The Pain ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น ‘สลิ่มเมทัล’ และปรากฏว่าสมาชิกในวงอยู่กันได้แม้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน น่าเสียดายที่ขาดส่วนผสมที่สามคือ วงที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่าง DEZEMBER ด้วยเหตุที่เวลาของสมาชิกวงไม่เอื้ออำนวย

วง Killing Fields

ประสาน เค้าแคน  : ร้องนำ

บัณฑิต รักวีรธรรม :กีต้าร์  (อาชีพหลัก วิศวกร)

อาฆาต วิญญาณพิโรธ : เบส

สารัตน์ วงศาโรจน์  : กลอง (อาชีพหลัก กราฟิคดีไซน์)

วง KILLING FIELDS


ชื่อวงมีความเป็นมายังไง ?

บัณฑิต : ชื่อวงมาจากความรุนแรงของเพลง พอเล่นแล้วจะเกิดความโกหาหล แปลตรงๆ ก็คือทุ่งสังหาร

ทำไมถึงเลือกทำแนว Thrash metal พูดถึงการเมือง ?

บัณฑิต : เริ่มต้นมาจากมือกลองที่ชอบแนวนี้ แต่ส่วนตัวชอบ Death metal มากกว่า พอมารวมกันก็มาหาจุดตรงกลาง จริงๆในอัลบั้มแรกพูดถึงสงครามในจิตนาการ เป็นแนวแฟนตาซี แต่พอมาอัลบั้มที่ 2 ช่วงที่วงทำเพลง เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองพอดี เรารู้สึกว่ามันกระทบกับพวกเรา ทุกคนในวงคิดเหมือนกันว่าทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราอยากจะพูดในมุมมองของเราก็เลยเขียนเพลงออกไป เรียกว่ามาจริงจังกันในอัลบั้มที่2 ช่วงปี 2553  

จริงๆ วงเราอาจจะเหมือนวงเพื่อชีวิตที่เขียนเรื่องปัจจุบันที่เราเห็น เช่นวันหนึ่งถ้าการเมืองมันสงบขึ้นมา เราจะไม่เขียนเรื่องพวกนี้ แต่เรามองสิ่งที่เราเห็น ความไม่ปกติของสังคม ความไม่ยุติธรรม ตามสถานการณ์

ด้วยความที่เนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษและไม่ได้บอกชัดเจนมาก มันเปิดให้คนฟังตีความมากกว่า คุณอาจจะโยงไปเข้ากับการเมืองในลิเบีย ในอิสราเอลก็ได้  เพราะมันไม่มีตัวละครที่ชัดเจนในเพลง เรามองที่ความไม่ถูกต้องมากกว่า  เช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกลียดกันถึงขนาดฆ่าคนได้  บ้านเรามันก็บิ้วท์กันมาถึงจุดนี้แล้ว ถึงขนาดมีการพูดว่าฆ่ากันเลย ตายไปเลย

มุมมองทางการเมืองสมาชิกในวงเป็นยังไง ?

บัณฑิต : คิดว่าบางทีคนเราก็เหมือนตกเป็นเครื่องมือให้อะไรบางอย่าง เขาอาจจะบิ้วท์เราจนเราเป็นทุ่นให้เขา ถึงเราจะฆ่ากันตายหมด คนนำเขาก็ยังอยู่ เป็นเครื่องมือให้เขาเปล่าๆ แต่ก็อยากให้เคารพซึ่งกันและกัน ไม่อยากจะให้คิดว่าใครถูกใครผิด เราอยู่ด้วยกันเราต้องแชร์กัน อย่างงานวิศววกรรมเราต้องหาค่าเฉลี่ยของความผิด ซึ่งมันจะมีค่ากลางอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเชื่อค่าใดค่าหนึ่งไปเลย อีกฝั่งหนึ่งไม่เชื่อเลย

สารัตน์ : แต่ในสังคมจริงๆ มันไม่ได้คิดแบบนั้น มีการทำลายฝั่งตรงข้าม มีการล่าแม่มด ซึ่งผมก็เคยโดนด้วย จากที่โพสต์ข้อความแสดงความคิดในเฟซบุ๊ก

บัณฑิต : ทำไมในอีกฝั่งหนึ่งเขาพูด เขาคิด เขาแสดงออกได้ แต่ทำไมเราถึงแสดงออกไม่ได้

เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางเมืองอะไรบ้างไหม ?

บัณฑิต : เต็มที่เลยก็คือใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์อื่นไม่มีโอกาสมากกว่า

สารัตน์ : ไม่ครับ เป็นคนไม่สู้คน กลัวโดนอุ้ม (หัวเราะ) แต่เลือกตั้งก็ไปครับ ผมคิดว่าบางทีวิธีการเลือกตั้งก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว ถ้าเราเห็นต่างกันก็มาลงคะแนนกัน เราเกลียดกันได้ เราทะเลาะกันได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้เราฆ่าใคร หรือบังคับให้เราเชื่อแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณ อย่างเพลงของเรา เราก็ไม่ได้บังคับให้คนฟังมาคิดแบบเรา เพราะบางคนเขาก็ฟังในแง่ของดนตรี

ช่วยยกตัวอย่างเพลงของวงที่เกี่ยวกับการเมือง 

บัณฑิต : เพลง 6th October ในอัลบัมที่ 2 หยิบยกเอาเหตุการณ์ 6 ตุลามาเป็นตัวหลัก เนื้อหาหลักจะกล่าวถึงคนคนคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเขาต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของประเทศ ใช่ประชาชนไหม หรือว่าเป็นคนอื่น

ปกอัลบั้ม Gigantrix Extinction

“Who the command and who is he and who agree the killing man

Why they do that why they kill man and who is who you can tell me”

“Finally this land why not we cannot stand

This land who are the owner who are the throne”

“คนสั่งคือใคร ใครคือคนสั่งฆ่า

ทำไมต้องฆ่าประชาชน  และคนสั่งคือใคร บอกเราได้ไหม”

“ผืนดินนี้ ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของ”

https://www.youtube.com/watch?v=QVttZTzNYLo

สารัตน์ : มีเพลงในอัลบั้มที่ 3 อัลบั้มใหม่ ชื่อเพลง Death to the Dictator หลังจากประกาศ ม.44 ก็อัพโหลดเลย แล้วตั้งชื่อเพลงเลย แต่ยังไม่ได้แต่งเนื้อ

คิดยังไงกับการที่เมทัลไทยสนับสนุนสนุบสนุนฝั่งอนุรักษ์นิยม ?

บัณฑิต : ผมเห็นด้วยกับการที่มีฝั่งตรงข้ามนะ เพราะมันจะได้มีการคานอำนาจกัน แต่มันก็แปลกที่เมทัลมาสนับสนุนฝั่งขวา ถ้าให้นึกถึงวงเมทัลของตะวันตกที่เป็นฝ่ายขวายังนึกไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นยังไง น่าจะมีแต่ก็คงน้อยมาก อย่างที่บอกเพลงเมทัลของเมืองนอกมันจะเรียกร้องความเป็นธรรม ด่ารัฐบาล ด่าความไม่ชอบมาพากล อย่างวงเมทัลขวาจัดวงหนึ่งที่เคยขึ้นเวที กปปส. ผมชื่นชมเขาในแง่ดนตรี ผมชื่นชมเขาตั้งแต่เด็กนะ ไปดูเขาเล่นสด ถึงแม้ในแง่การเมืองเราจะคิดไม่เหมือนกัน

ปัจจัยอะไรที่ทำให้นักดนตรีเมทัลในไทยมีแนวคิดขวา ?

บัณฑิต: ตอนที่ผมทำเพลงอยู่อันเดอร์กราว ผมสังเกตว่าคนที่เล่นเพลงเมทัลนั้นไม่ใช่คนชนชั้นล่าง แต่เป็นคนที่ค่อนข้างมีเงิน สรุปแบบหยาบๆ ก็น่าจะได้ว่าคนที่มีฐานะมักจะเทไปทางฝั่งอนุรักษ์นิยมหมด คนเล่นเพลงเมทัลก็เช่นกัน แต่ตอนแรกที่เมทัลมาบ้านเรา มันไม่ใช่เรื่องการเมือง เราฟังดนตรี เรารู้สึกว่ามันหนัก มันพิเศษ มันวิธีเล่นที่แบบยาก จริงๆ เรื่องของเรื่องมันคือดนตรี

เพลงเมทัลมีอิทธิพลด้านความคิดทางการเมืองต่อคนฟังไหม ?

บัณฑิต : คิดว่าน้อยมาก ถ้าเป็นเพลงเพื่อชีวิตจะชัดเจนกว่า ผมว่าสำหรับเมืองไทยดนตรีเมทัลทุกแนวพระเอกมันคือดนตรีนะ เนื้อร้องอาจจะส่วนหนึ่ง แต่ดนตรีมันเป็นเรื่องอลังการ ทั้งในแง่การเล่น ในแง่ความพีคของมัน

ในวงการการวิจารณ์ดนตรี เคยหยิบยกเพลงของ Killing Fields ไปวิจารณ์ไหม ?

บัณฑิต : ส่วนใหญ่จะในแง่ดนตรี แต่ในเนื้อเพลง เขาไม่เข้าใจอย่างเรา อย่างที่เคยลงหนังสือ กีตาร์แม๊ก เขาก็จะวิจารณ์ในด้านของดนตรี เขาอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่จะเราสื่อ หรือเขาอาจจะคิดว่าเรื่องการเมืองไม่ควรพูดก็ได้ (หัวเราะ)

สารัตน์ : เอาง่ายๆ ครับผมเคยแชร์เพลงของวง Killing Field ลงไปในกลุ่ม ‘ชาวพุทธหูรุนแรง’ สมาชิกในกลุ่มเขาก็มาชื่นชมกัน ผมว่าเพลงของ Killing Fields มันเป็นภาษาอังกฤษ นี่ก็หนึ่งชั้นแล้ว แล้วต้องตีความอีกกว่าจะเข้าไปถึงในใจคนเขียนว่ามันต้องการสื่ออะไรอีก  มันไม่ใช่ ทักษิณ ทักษิณ อะไรอย่างนั้น

หมดหวังที่จะสื่อสารทางการเมืองในกลุ่มเมทัลไหม ?

บัณฑิต : ยังครับ ที่เขาคิดต่างเพราะเขามีข้อมูลด้านเดียว แต่วงพวกผมมีข้อมูลอีกด้านให้เขาฟัง อย่างน้อยมันอาจจะกระตุ้นบ้าง

0000

วง The Past of The Pain

ธีรวัฒน์ ปิ่นพานิชการ ร้องนำ, กีตาร์ (อาชีพหลัก นักมวยปล้ำมืออาชีพ)

ศักดิ์สิทธิ์ สมิทธิธรรม กีตาร์ (อาชีพหลัก อาจารย์ประจำสอนคณะดุริยางค์ศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี)

สุรเชษฐ์ บุญด้วง กีตาร์, เบส

บัณฑิต เชยประเสริฐ กลอง

วง The Past of The Pain

จุดเริ่มต้นของวงเป็นยังไง ?

ธีรวัฒน์ : ตั้งวงมาตั้งแต่ปี 2007 โดยผมกับมือกลองชื่อ ตูน ตอนปี 2010 เริ่มทำเพลงแบบจริงจัง ตอนตั้งวงแรกๆ แต่งเพลงไว้ 2 เพลง มีการเล่น cover ทัวร์ ปี 2012 มี 2 ep คือ war กับ dark ritual ชื่อวงมาจากนักร้องนำ วงแตกมาจากวงเก่าเลยคิดชื่อภาษาอังกฤษง่ายๆ คือ อดีตของความเจ็บปวด เคยจะเปลี่ยนชื่อรายปี แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนสักที คิดว่าชื่อนี้เป็นพวกเราแล้ว เป็นแนว Speed Thrash Death metal เล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคม แต่เพลงที่ยิงไปทางการเมืองมีประมาณ 4 เพลง เป็นแนวเปรียบเทียบมากกว่า ตอนนี้กำลังทำอัลบั้มใหม่จะปล่อยช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ชื่อ Kingdom in Crisis

ทำไมถึงเลือกทำแนว Thrash metal ที่พูดเรื่องการเมือง ?

ศักดิ์สิทธิ : ที่จริงเมทัลหยิบยกเรื่องมาพูดได้หลายอย่าง หัวข้อในการจับประเด็นของเราจริงๆ มันมีอยู่มาก แต่มันประกอบกับช่วงที่ราทำเพลงอยู่ในช่วง 193 วันที่มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนำมาซึ่งการรัฐประหารปี 2549  รวมถึงเรื่องคาบเกี่ยวต่างๆ  ภายหลังที่มีการชุมนุมของเสื้อแดง ปี 2553  มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกลับบ้านไปก็เจอ

ธีรวัฒน์ :  เพลงที่เอามาแต่งไม่ได้พูดถึงตรงๆ แต่จะเป็นเชิงเปรียบเทียบ แต่ถ้าเป็นดนตรีพังก์จะพูดถึงตรงๆ เลยเมทัลที่ดังที่สุดสายการเมืองคือ DEZEMBER ที่แนวคิดทางการเมืองชัดเจน ผมคิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่คุยกันได้ ไม่ก้าวก่าย ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ดี เราก็เอามาแต่งเป็นเพลง

ช่วยนิยามความคิดทางการเมืองของของวง

ธีรวัฒน์ : เรียกว่ากลางเลยเพราะสมาชิกในวง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยแต่ละกลุ่มก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  เอาง่ายๆ ครับ เรียกเราว่าสลิ่มเมทัลก็ได้ คือเรายอมรับครับว่าด้านการเมืองเราไม่ชัดเจน แต่จะชัดเจนในด้านการทำดนตรีมากกว่า

ศักดิ์สิทธิ์ : อย่างผมอยากมีเสรีภาพ ผมชอบคำพูดของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรกุล ที่แกบอกว่า  “ยกเลิกก่อนซิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” แต่เสรีภาพของผมมันไม่ใช่เสรีภาพแบบสุดโต่ง เรื่องจริงบางเรื่องผมคิดว่ามันยังไม่ควรพูด มันไม่ใช่ว่าคุณจะพูดอะไรก็ได้ บางทีมันยังไม่ใช่ตอนนี้ เขาบอกว่าถ้าทุกคนบนโลกพูดความจริงทั้งหมด โลกนี้จะสงบสุข ซึ่งผมว่ามันไม่จริง

ธีรวัฒน์ : อย่างแรกเลย ผมมองความเป็นอยู่ของคนมากกว่าว่าประชาชนเขาเป็นอยู่แบบไหน ที่พวกผมเข้าไปร่วม กปปส. ผมรู้สึกแค่ว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส แล้วมันก็เป็นความจริง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า โลกเราตอนนี้ ถ้าในเรื่องการปกครองมันเป็นระบอบทุนนิยม แต่ประชาชนอย่างเราต้องการคล้ายๆ กับความเท่าเทียมกันในแบบสังคมนิยม  ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าวัดด้วยความจริงคือใครทำอะไรแบบไหนก็ได้แบบนั้น ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยกว่า เพียงแต่บางทีเราโดนใส่ความคิดไปว่าเราต้องเท่าเทียมกันไปทุกๆ เรื่อง รวมถึงคนที่ไม่ได้ทำอะไรก็ต้องได้เท่ากับคนที่ทำ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไร แน่นอน คนรากหญ้าหลายๆ คนก็เข้าใจผิดว่า สิทธิเสรีภาพที่เขาควรจะได้รับต้องเท่าเทียมกันกับคนอื่นในชนชั้นสูง แต่ลองย้อนกลับไปดูเหตุก่อนว่า คนชั้นสูงที่ดี ที่เขาทำมาหากินแบบสุจริต เขามีเครื่องมือทำมาหากินที่ดี ผมคิดว่าเขาก็สมควรจะได้ ในขณะที่บางคนงอมืองอเท้า เฝ้ารอแต่ความช่วยเหลือ ผมเลยเชื่อว่าระบบการศึกษาที่สอนให้คนสามารถพึ่งตัวเองได้และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั้นคือสิ่งที่เวิร์คที่สุด เพราะไม่ว่าจะสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างไร เราสามารถพึ่งตนเองได้

ถามว่าความจริงดีไหม ดีครับ  แต่ความจริงที่ไม่เกิดประโยชน์พูดไปแล้วมีแต่เสียกับเสีย ผมว่ามันก็ไม่ดี

เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองไหม ?

ธีรวัฒน์ : ผมไปชุมนุมกับ กปปส. ตอนไปผมรู้สึกว่าผมรับไม่ได้จริงๆ กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่พอหลังจากนั้นที่มีการจัดระเบียบใหม่ของ กปปส. ผมก็ไม่ได้ไป ผมแค่อยากแสดงพลังในส่วนของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้นและเคยร่วมลงชื่อต่อต้านตระกูลชินวัตร ตอนที่ทักษิณเป็นนายกอยู่ ช่วงแรกๆ เลย

ศักดิ์สิทธิ์ : เคยเข้าร่วมนะ ไปออกเครื่องเสียงให้เขาด้วยกับนิติราษฎร์ ต้านเขื่อนแม่วงษ์ กินแซนวิช อ่านหนังสือ 1984 ส่วนช่วง 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่โดนจับ เพื่อนชวนไปแต่ผมติดซ้อมเครื่องเลยไม่ได้ไป

ความคิดทางการเมืองของสมาชิกในวงสวนทางกันมีวิธีอยู่ด้วยกันยังไง ?

ธีรวัฒน์ : อยู่ด้วยกันด้วยดนตรี เพราะเวลาเล่นจริง เราก็ไม่ได้คุยกันเท่าไร พูดกันด้วยดนตรีมากกว่า

มีเพลงอะไรของวงบ้างที่เกี่ยวกับการเมือง ?

ธีรวัฒน์ : เพลง WAR เขียนไว้ในช่วงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลายเป็นว่ามันใช้ได้ทุกยุค อย่างช่วงที่เกิดข้อพิพาทกับกัมพูชา ผมก็เคยส่งเพลงนี้บอกว่า แด่ทหารที่ไปประจำการที่กัมพูชา หรือแม้กระทั่งกรณีเกิดเหตุยิงนักศึกษาที่รามคำแหง ผมก็ใส่เพลงนี้ เข้าไป

“ศึกนองเลือด มันเกิดจากใครเพื่ออะไร ใครช่วยบอกที

คนที่ตายไม่ใช่แค่ทหาร ศึกสงคราม เทพแห่งความตาย  

ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องมาตาย จากความต้องการ ก่อความวุ่นวาย

อำนาจเป็นใหญ่ ไม่สนวิธี มึงจะเป็นใคร เดินหน้าฆ่ามัน

แด่ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องมาหลั่งเลือด ให้แก่พวกบ้าอำนาจ และผู้ที่กระหายในสงคราม”

https://www.youtube.com/watch?v=gaMHLjM_dt8

เพลง Freedom for fighter เพลงนี้จะออกแนวแอบกัด พวกที่เชื่อผู้นำแบบถวายหัว ไม่ว่าจะสีไหน แต่ไม่ได้ดูว่าเจตนาของผู้นำจริงๆ คืออะไร ไม่ได้ว่าสีใดสีหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้ทุกคนดูเจตนาผู้นำก่อนไหม ว่าทำไมเราถึงต้องสนับสนุนเขา เป็นแนวแต่งแบบเสียดสีมากกว่า

เพลง Congratulation you die เอาง่ายๆ คือไปตายซะ ตอนที่แต่งเพลงนี้ผมก็นึกถึงคนคนนั้นละครับ คนที่ทำให้ประเทศวุ่นวาย คนที่กลับมาเมืองไทยไม่ได้

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เพลงเมทัลในไทยกลายพันธุ์มาสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ?

ธีรวัฒน์ : ถ้าถามว่าทำไมถึงกลายพันธุ์ ก่อนอื่นต้องบอกว่า เราอยู่เมืองไทย ประมาณว่าถ้าคุณได้กินข้าวมันไก่บ้านเราแล้วไปกินข้าวมันไก่ที่ต่างประเทศ รสชาติมันย่อมไม่เหมือนกัน  ต้มยำกุ้งบ้านเราเอาไปขายที่ต่างประเทศก็ต้องเปลี่ยนรสชาติให้มันเข้ากับต่างประเทศ  เพราะฉะนั้นเพลงมันก็เหมือนกัน บ้านเมืองไหนเป็นยังไง วัฒนธรรมการแต่งเพลงมันก็เป็นแบบนั้น แค่เราเป็นเมทัล เพลงแนวนี้มันก็กลายพันธุ์มาจากวัฒนธรรมไทยเยอะแล้วนะ

ศักดิ์สิทธิ์ : อีกอย่างก็คือแรกๆ เลยที่บอกว่ากลายพันธุ์เพราะเขาอาจจะซึมซับมาจากต้นฉบับ พอระยะเวลาเปลี่ยนไป บริบทอะไรบางอย่าง การปรับตัวเขาก็เลยสื่ออกมาว่าตอนนี้ฉันเป็นแบบนี้

คิดอย่างไรที่วงเมทัลหัวก้าวหน้าในไทยถูกกีดกัน ?

ธีรวัฒน์ : ไม่หรอกครับ สุดท้ายมันก็คือความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่พอความขัดแย้งมันเกิด เอาง่ายๆ ก็คืออย่ามาเจอกัน

ศักดิ์สิทธิ์ : ในวงการเมทัลก็มีการแบ่งก๊กเช่นกันถึงขั้นไม่เผาผี ถึงขั้นไม่นับญาติกันแล้ว ซึ่งอันนี้น่ากลัวมากสำหรับสังคมเมทัลไทย ถ้าคุณจัดงานคอนเสิร์ตถึงแม้เป็นวงที่อยากดูแต่ใครจัด ไม่ชอบหน้าก็ไม่ไป แต่ผลของการประกาศตนของวงฝ่ายซ้ายวงหนึ่งในครั้งนี้ ด้วยผลของการประกาศตนแบบนั้นทำให้หลายๆ งานมีการถูกแบน ไม่ได้เล่นงานดนตรีของกลุ่มฝ่ายขวา และถ้าวงฝ่ายซ้ายจัด ฝ่ายขวาก็ไม่ได้ไปเหมือนกัน

0000

ปัจจัยที่ทำให้วงเมทัลในไทยเปลี่ยนไปจากแหล่งกำเนิดกลายเป็น “ เมทัลแบบไทยๆ” ดูยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็น่าจะทำให้เราเห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นในวงการนี้ ส่วนว่าเมทัลแบบไทยๆ จะดีหรือไม่ดีก็เป็นอีกประเด็นที่เปิดแก่การอภิปราย

ที่มา:

https://www.facebook.com/pastofthepain?fref=ts

https://www.facebook.com/killingfieldsband?fref=ts

https://www.facebook.com/BangkokThrash?fref=photo

หมายเหตุ  : Bangkok Thrash เชิญท่านมาร่วมเสพความเมาและความมันกันอีกครั้งกับเทศกาลดนตรี Bangkok Thrash 2015: Bitches & Beer พบกับวงดนตรีทั้งหน้าเก่าและใหม่ที่พร้อมขึ้นมาถล่มเวทีอันชุ่มไปด้วยแอลกอฮอล์ร่วมดื่มด่ำกับความมันได้ในบ่ายวันที่ 19 กันยายน 2558 ณ Mongkol Studio A, RCA (ตึก Tops เก่า) วง Killing Field และ The Past of The Pain เข้าร่วมในงานนี้ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net