Skip to main content
sharethis

25 ส.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชน พ.ศ...ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ โดย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 และมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากประกาศ คือวันที่ 13 ส.ค.2558 ดังนั้นเมื่อมีการประกาศกฎหมายฉบับนี้แล้วจำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติการที่กำหนดรายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่า แผนที่ สตช.เสนอมากำหนดเป็นเรื่องๆ เรื่องหลักการโดยทั่วไป มีกรอบแนวคิดว่าประชาชนโดยทั่วไปสามารถมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและชุมนุมโดยสงบได้ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ 1.ประสิทธิภาพและความเหมาะสมกับเหตุการณ์สถานการณ์ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป 2.หลักแห่งความจำเป็น ใช้กำลัง มาตรการเท่าที่จำเป็น 3.หลักของการได้สัดส่วน 4.หลักของการห้ามเลือกปฏิบัติโดยอำเภอใจ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า แผนการปฏิบัติจะเน้นเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นหลักว่าจะต้องดูแลการชุมนุมอย่างไร รวมถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ในการชุมนุมตั้งแต่ขั้นแรกคือก่อนการชุมนุมเจ้าหน้าที่ต้องมีการเตรียมข้อมูลด้านการข่าว เตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุมมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้หน่วยเหนือได้รับทราบ ต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรองรับการชุมนุมควบคู่กับการทำงานด้านมวลชนสัมพันธ์

ขั้นที่สอง เมื่อการชุมนุมเริ่มต้นขึ้นเจ้าหน้าที่จะต้องมีการตั้งศูนย์ตรวจค้นอาวุธ มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อน ที่สำคัญคือต้องชี้แจงสิทธิต่างๆ ให้ผู้ชุมนุมรับทราบตลอดเวลา รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุม เพื่อลดความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม

ขั้นที่สามคือการใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ ในกรณีที่การชุมนุมมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายจิตใจ ทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องเจ้าพนักงานที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำได้และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนสากลจากเบาไปหาหนัก เริ่มตั้งแต่การชี้แจงความเข้าใจการแสดงกำลัง จนถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบกติกา

ส่วนขั้นต่อไปเมื่อมีการนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องต่อศาลแล้วศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุมซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมแล้วสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆได้ตามหลักการใช้กำลัง เมื่อรัฐบาลได้มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเฉพาะกรณีขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจเหล่านั้นสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายความมั่นคงเหล่านั้นได้ด้วยและขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนของการฟื้นฟูเมื่อสามารถจัดระเบียบของการชุมนุมได้แล้วจะต้องมีการจัดส่งผู้บาดเจ็บมีการฟื้นฟูสถานที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดมีการบังคับใช้กฎหมายและสรุปผลการประชุม

พล.ต.สรรเสริญ ระบุด้วยว่าขั้นตอนการปฏิบัติดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะต้องรับทราบและต้องมีการฝึกเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความชำนาญในหน้าที่อย่างแท้จริงซึ่งเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่ามีบางประการที่น่าสนใจ ขอให้ลองไปดูในรายละเอียดของขั้นตอนของแผนที่ชัดเจนกว่านี้อีกนิดหนึ่งเช่นการใช้ดุลยพินิจเมื่อมีการแจ้งขออนุญาตชุมนุมเข้ามาเรื่องบางเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยว่าใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคณะกรรมการอะไรสักอย่างเข้ามาช่วยกลั่นกรอง ซึ่งสตช.ก็จะรับเรื่องนี้ไป

โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีร่างประกาศที่เกี่ยวกับเรื่องการแจ้งการชุมนุม ที่กำหนดว่าผู้ว่าที่จะจัดการชุมนุมสาธารณจะต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้รับทราบ คือหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่นั้นที่มีการชุมนุม ถ้าเป็นใน กทม.ก็เป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะแจ้งที่ตำรวจภูธรภาค ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะต้องแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้าที่จะมีการชุมนุมไม่น้อยกว่า24ชั่วโมง ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดระหว่างแจ้งโดยตรงต่อผู้ที่รับแจ้ง หรือแจ้งทางโทรสารหรือแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ก็ได้

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกฯ เรื่องเครื่องมือควบคุมฝูงชน ซึ่งหลักการสำคัญคือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง จะต้องปฏิบัติการใดๆ ที่จำเป็นที่จะเข้าแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ จะต้องเลือกใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net