Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดสงขลา มีคำพิพากษา อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จำคุก 22 ปี 6 เดือน และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เป็นเงิน 126,900 บาท

26 ส.ค. 2558 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า ตามที่ทนายความจาก มสพ. ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาให้ดำเนินการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายเเละดำเนินคดีกับนายอนัส หะยีมะแซ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ในความผิดฐานค้ามนุษย์นั้น ต่อมาปรากฏว่า พนักงานอัยการ จังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้องนายอานัส หะยีมะเเซต่อศาลจังหวัดสงขลาในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ความผิดต่อชีวิต ร่างกายเเละเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญาตลอดทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยในคดีนี้ศาลจังหวัดสงขลายังได้อนุญาตให้ทนายความผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

วันที่ 25 สิงหาคม 2558 เวลา 13.30 ศาลจังหวัดสงขลา มีคำพิพากษาว่า จำเลย คือ นายอนัส หะยีมะเเซ กระทำความผิดตามคำฟ้องจริง ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 252 ในความผิดฐานนำคนต่างด้าวเข้ามาใน
ราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 63 ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เเละความผิดฐานร่วมกันให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรา 64 ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน
2.  จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ในความผิดฐาน
เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นร่วมกับพวกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามมาตรา 9 วรรค 2 ประกอบกับมาตรา 13 เเละมาตรา 52 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี
3. ต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าว โดยเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำตั้งเเต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 6  มาตรา 10 เเละมาตรา 13 ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 15 ปี

ซึ่งศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกรวมทั้งหมด 22 ปี 6 เดือน เเละริบของกลางที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บไว้ตลอดจนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 126,900 บาท

นอกจากนี้ ศาลจังหวัดสงขลายังได้มีคำสั่งถึงสิทธิการเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการดำเนินคดีอาญาต่อนายอนัส หะยีมะเเซ โดยศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไม่อาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
ศาลจังหวัดสงขลาจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมและอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา

สมชาย หอมลออ เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า โดยวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานของมูลนิธิฯ โดยเฉพาะโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านเเรงงานมีเจตนาที่จะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการอำนวยสิทธิให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถเข้ากระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ในกรณีนี้ สมชายเห็นว่า ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มีสิทธิที่จะเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เเม้ความผิดฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์เเละความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองจะเป็นถูกจัดว่าเป็นความผิดต่อรัฐ เเต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเเต่อย่างใด ดังนั้น คำสั่งของศาลในคดีนี้ทางมูลนิธิฯจะนำไปศึกษาทางวิชาการกับนักกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เหตุการณ์ในคดีนี้ เกิดขึ้นวันที่ 10 มีนาคม 2557 เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 6 ได้นำกำลังเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายชาวโรฮิงญา ที่สถานีขนส่ง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังจากได้รับแจ้งว่าจะมีการแลกเปลี่ยนชาวโรฮิงญากับเงินจำนวน 60,000 บาท ซึ่งญาติของผู้เสียหายจะนำมาไถ่ตัวที่สถานที่ดังกล่าว และจากการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ครั้งนี้ทำให้สามารถจับกุมนายอนัส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net